ทะไล ลามะประกาศ “ลดบทบาททางการเมือง”
ทะไล ลามะที่ 14 ผู้นำจิตวิญญาณ และผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต
เอเอฟพี—ทะไล ลามะทรงเตรียม “เกษียณ” โดยจะลดภาระทางการเมือง แต่ยังรักษาบทบาทด้านจิตวิญญาณต่อไป Chhime Rigzing เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้นำจิตวิญญาณทะไล ลามะ เผยกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีผ่านทางโทรศัพท์จากสำนักงานที่ธรรมศาลา ตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นที่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต
การแถลงดังกล่าว เกิดหลังจากที่องค์ทะไล ลามะวัย 71 ปี ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต และผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตในอินเดีย ทรงกล่าวกับนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา ว่าพระองค์จะ “เกษียณอย่างเด็ดขาด” ใน 2-3 ปีนี้ และขณะนี้ พระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติภารกิจต่างๆ แบบ “กึ่งเกษียณ” แล้ว โดยขณะนี้ ได้ลดภารกิจประจำวันด้านการบริหาร
Chhime Rigzing กล่าวว่าองค์ทะไล ลามะทรงต้องการปลดเปลื้องภาระทางการเมืองเท่านั้น แต่ในศาสนาพุทธ บทบาทการนำทางจิตวิญญาณไม่อาจที่จะถ่ายโอนได้ ขณะนี้ พระองค์ต้องการให้รัฐสภาพลัดถิ่นทิเบต ซึ่งเป็นองค์กรกำหนดนโยบาย มีบทบาทมากขึ้น ในการนำทิศทางชาวทิเบตอพยพนับแสน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอินเดีย
แม้พระองค์มีบทบาทการเมืองน้อยลง แต่ก็ยังคงเป็นที่ปรึกษาอาวุโสไปจนกว่าจะบรรลุการแก้ไขปัญหาทิเบต
ทิเบตดินแดนหลังคาโลก ที่เปี่ยมมนต์ขลังแห่งพุทธศาสนาวัชรยาน ด้วยอานิสงค์ของเส้นทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต ทำให้ทิเบตกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตแห่งหนึ่งของชาวจีนหรือฮั่น
ทั้งนี้ ทะไล ลามะได้เสด็จหนีจากทิเบต มาจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอินเดีย หลังจากที่จีนนำกองทัพเข้ามา “ปลดแอก” ทิเบตในปี ค.ศ. 1959 และประกาศทิเบตเป็นเขตปกครองตัวเองของแผ่นดินใหญ่ พระองค์ได้ต่อสู้อย่างสันติ เพื่ออิสรภาพทิเบต กระทั่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ.1989
การแก้ปัญหากับรัฐบาลจีนล่าสุด องค์ทะไล ลามะทรงละทิ้งการเรียกร้องอิสรภาพทิเบต และทรงพูดถึงการแก้ปัญหาด้วย “ทางสายกลาง” คือ “การปกครองตัวเองอย่างมีความหมาย” เพื่อรักษาภาษา วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของแดนพุทธศาสนาวัชรยานที่ทรงมนต์ขลังบนหลังคาโลก อย่างไรก็ตาม กลุ่มทิเบตพลัดถิ่น โดยเฉพาะพวกหนุ่มสาว ต่อต้านการเรียกร้องการปกครองตัวเองในจีนของทะไล ลามะ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทะไล ลามะได้ยกเลิกการเยือนบรัสเซลส์ หลังจากที่จีนออกมาคัดค้าน ก่อนที่คณะผู้แทนการค้าเบลเยี่ยมชุดสำคัญจะเดินทางเยือนจีน.
|