จากลำพูนสู่เชียงใหม่ ตามรอย "พระแก้วขาว" แห่งล้านนา
กู่กุด หรือสุวรรณจังโกฏ ที่วัดจามเทวี
หากพูดถึงพระแก้ว หลายคนคงจะนึกถึงพระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของเมืองไทย แต่ยังมีพระแก้วอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นจากแก้วสีขาว และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวล้านนามาเป็นเวลานานแล้ว นั่นก็คือ "พระเสตังคมณี" หรือ "พระแก้วขาว" พระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากหินสีขาวใส
ซึ่งอาจยังไม่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปนัก แต่ประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้นั้น ถือว่าไม่ธรรมดา
ตำนานและความเป็นมาของพระแก้วขาว เกี่ยวเนื่องกับหลายคนและหลายสถานที่ด้วยกัน โดยการกำเนิดของพระแก้วขาว มีตำนานเล่าว่า พระยารามราชเจ้าเมืองละโว้กับพระกัสสปเถระเจ้า มีความประสงค์จะสร้างพระแก้ว ซึ่งพระอรหันต์ไปได้แก้วขาวบริสุทธิ์บุษยรัตน์มาจากจันทเทวบุตร แล้วขอพระวิษณุกรรมมาเนรมิตสำเร็จเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร สุเทวฤๅษี ผู้สร้างนครหริภุญไชย และฤๅษีองค์อื่นๆ ก็ได้ประชุมช่วยในการสร้างองค์พระด้วย โดยได้บรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) 1 พระนลาต (หน้าผาก) 1 พระอุระ (หน้าอก) 1 พระโอษฐ์ (ปาก) 1 รวม 4 แห่ง เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระแก้วขาวก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองละโว้สืบมาเป็นเวลานาน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี
และหากจะกล่าวถึงพระแก้วขาว ก็ต้องกล่าวถึงพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริยาแห่งนครหริภุญไชย หรือนครลำพูนด้วยเช่นกัน เพราะพระแก้วขาวถือเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ โดยเมื่อพระนางจามเทวี พระราชธิดาของเจ้ากรุงละโว้ เสด็จมาครองเมืองหริภุญไชย ก็ได้อัญเชิญพระแก้วขาวจากเมืองละโว้มายังเมืองหริภุญไชย มาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ด้วย พระแก้วขาวจึงได้มาประดิษฐานอยู่ในนครหริภุญไชยตั้งแต่บัดนั้น
เส้นทางตามรอยพระแก้วขาว เริ่มต้นที่ "วัดจามเทวี" ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตามประวัติกล่าวไว้ว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระนางจามเทวี และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 60 พรรษา ก็ได้ทรงสละราชสมบัติออกบวชชีบำเพ็ญบุญอยู่ที่วัดแห่งนี้ และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 92 พรรษา ก็ได้เสด็จสวรรคต ดังนั้นพระเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรสทั้งสองพระองค์จึงได้นำอัฐิของพระองค์มาบรรจุไว้ในเจดีย์สี่เหลี่ยมในวัดแห่งนี้
เจดีย์สี่เหลี่ยมที่ว่านั้น รู้จักกันในชื่อ "กู่กุด" หรือ "เจดีย์สุวรรณจังโกฏ" ซึ่งเป็นเจดีย์ศิลาแลงทรงสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น แต่ละชั้นจะประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยรวมทั้งหมด 60 องค์ พระเจดีย์องค์นี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมต้นแบบให้แก่เจดีย์ต่างๆ ในภาคเหนือต่อมาอีกด้วย
ไม่ไกลกันนักเป็นที่ตั้งของ "วัดพระธาตุหริภุญไชย วรมหาวิหาร" ในจังหวัดลำพูนเช่นกัน วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวมาตลอดระยะเวลาของการตั้งเมืองหริภุญไชย โดยภายในวิหารหลวงของวัดพระธาตุหริภุญไชย นอกจากจะมีพระประธานก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง บนแท่นแก้วรวม 3 องค์ และพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้นและชั้นกลางอีกหลายองค์แล้ว ก็ยังมีบุษบกซึ่งภายในประดิษฐานพระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาวองค์จำลอง ซึ่งสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพระแก้วขาวเคยประดิษฐานอยู่ที่นี่เมื่อนครลำพูนยังรุ่งเรืองอยู่ แต่ปัจจุบันหอพระแก้วขาวในอดีตนั้น ถูกแทนที่ด้วยหอระฆังของวัดไปแล้ว
หอพระแก้วขาวที่ปัจจุบันเป็นหอระฆังภายในวัดพระธาตุหริภุญไชย
ภายหลังจากที่พระนางจามเทวีเสด็จสวรรคต นครหริภุญไชยยังคงมีกษัตริย์ปกครองต่อมาถึง 47 พระองค์ด้วยกัน และทุกพระองค์ต่างก็นับถือพระแก้วขาวเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านเมือง จนกระทั่งถึงในสมัยของพระยายีบา กษัตริย์เมืองหริภุญไชยองค์ที่ 47 เมืองหริภุญไชยได้ถูกพญามังราย เจ้าครองนครเงินยวง (เชียงแสน) ยกกองทัพมาปราบ เมืองหริภุญไชยทั้งเมืองถูกเพลิงไหม้จนพ่ายแพ้ แต่หอพระแก้วขาวเป็นเพียงจุดเดียวที่ไม่ถูกเพลิงไหม้ตามไปด้วย
ด้วยความศรัทธาในปาฏิหาริย์นั้น พญามังรายจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐาน ณ ที่ประทับของพระองค์ และทรงเคารพสักการะพระแก้วขาวเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ตั้งแต่นั้น ส่วนพระแก้วขาวก็ได้ชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองป้องกันอันตรายและอำนวยความสุขสวัสดิ์แก่ผู้ที่เคารพสักการะด้วยเช่นกัน
การเดินทางของพระแก้วขาวจากลำพูนสู่เมืองเชียงใหม่จึงเริ่มขึ้นตรงนี้ เมื่อพญามังรายมาสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานี เมื่อปีพุทธศักราช 1839 และได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาด้วย โดยพระองค์ได้สร้างพระราชมณเฑียรขึ้นเป็นที่ประทับชั่วคราวเพื่อควบคุมการสร้างเมืองเชียงใหม่ และหลังจากที่สร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงได้สร้างพระเจดีย์คร่อมทับหอนอนที่พระราชนิเวศน์ที่ประทับชั่วคราวนั้นเสีย เพราะทรงดำริว่า “ที่แห่งนี้เป็นหอนอนของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เกรงจะเป็นเสนียดจัญไรแก่ผู้นอนทับในภายหลัง” อีกทั้งยังได้สร้างวัดขึ้นในที่แห่งนี้ด้วย นั่นก็คือ “วัดเชียงมั่น” ซึ่งถือเป็นวัดแรกที่สถาปนาขึ้นในนครเชียงใหม่อีกด้วย
พระธาตุหริภุญไชย
พระแก้วขาวมีอันต้องย้ายที่ประดิษฐานอีกหลายครั้ง ทั้งยังเคยตกไปอยู่กับอาณาจักรล้านช้างอีกเป็นเวลาถึง 225 ปี จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จไปปราบล้านช้างได้สำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่กรุงเทพฯ ส่วนพระแก้วขาวโปรดฯ ให้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น ที่ซึ่งพญามังรายทรงมีศรัทธาอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นครั้งแรก โดยได้มีรับสั่งว่า "องค์เขียวเอาไปบางกอก องค์ขาวเอามาไว้ให้ชาวล้านนาเจ้าของเดิม"
ที่วัดเชียงมั่นแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยมีเจดีย์วัดเชียงมั่น เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา ฐานช้างล้อม สร้างโดยพญามังราย และได้รับการบูรณะอีกหลายครั้ง อีกทั้งด้านหน้าอุโบสถหลังเก่า ก็ยังเป็นที่เก็บรักษาหลักศิลาจารึกอักษรล้านนาที่กล่าวถึงประวัติวัดเชียงมั่น และประวัติเมืองเชียงใหม่ด้วย
พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ที่วัดเชียงมั่น
หากผู้ที่สนใจในพระราชประวัติของพญามังราย ผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ ก็สามารถเดินชมภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถหลังใหม่ได้ด้วย และหากต้องการกราบสักการะพระแก้วขาว ก็ต้องไปที่วิหารจตุรมุข ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวแล้ว ก็ยังมีพระศีลา พระพุทธรูปแกะจากหินเป็นปางปราบช้างนาฬาคีรี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองล้านนาด้วยเช่นกัน
องค์พระแก้วขาวในวันนี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีและอย่างระมัดระวัง โดยจะอัญเชิญออกมาจากวิหารเพียงปีละครั้งในวันสงกรานต์เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำเท่านั้น แต่ในตอนนี้ หากใครมีศรัทธาอยากจะได้พระแก้วขาวมาบูชา ทางชมรมอาสาสมัครชาวพุทธร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ก็ได้ร่วมกันจัดสร้างพระพุทธรูปบูชา พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาวองค์จำลองขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมบูชาพระศักดิ์สิทธิ์คู่พระบารมีของกษัตริย์ที่มีความยิ่งใหญ่ทั้งสองพระองค์
อุโบสถตั้งอยู่ข้างเจดีย์ช้างล้อมของวัดเชียงมั่น
และที่สำคัญก็คือ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของพระแก้วขาว รวมถึงวัดเชียงมั่น วัดแห่งแรกของนครเชียงใหม่ ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาที่มีความเป็นมายาวนานถึง 711 ปี แห่งนี้ด้วย
* * * * * * * *
ผู้ที่มีศรัทธาสนใจจะสั่งจองพระแก้วขาว สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ชมรมอาสาสมัครชาวพุทธ โทร.0-2784-6050 ศูนย์เช่าบูชา โทร.1577 และวัดเชียงมั่น โทร.0-5321-3170, 08-1386-4335 รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จะนำไปบูรณะวัดเชียงมั่น
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|