จตุคามรามเทพกับประชานิยมที่หลับใหล
วัตถุมงคล จตุคามรามเทพ
จะว่าไปแล้ว ก่อนที่ระบอบทักษิณจะใช้นโยบายประชานิยมนั้น รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็มีนโยบายในเชิงหาเสียงที่ดูคล้ายๆ กับประชานิยมของระบอบทักษิณอยู่เหมือนกัน จะต่างกันก็ตรงที่รัฐบาลยุคก่อนหน้านี้ยังมีความละอายพอที่จะไม่ใช้เงินภาษีอากรของรัฐอย่างอีลุ่ยฉุยแฉกอย่างระบอบทักษิณใช้เท่านั้น
กระนั้นก็ตาม ตอนที่ประชานิยมของระบอบทักษิณเริ่มใหม่ๆ นั้นมีหลายนโยบายที่เราต้องยอมรับว่าเป็นความคิดริเริ่มที่ดี แต่ภายหลังจากนั้นแล้ว หลายนโยบายก็สะท้อนให้เห็นปัญหาขึ้นมา เช่น เป็นนโยบายที่หวังสร้างฐานเสียง เป็นนโยบายที่สร้างหนี้ให้แก่ชาวบ้าน หรือไม่ก็เป็นนโยบายที่ลดทอนพลังการพึ่งตนเองของชาวบ้าน เป็นต้น
โดยทั้งหมดนี้ถูกสรุปรวบยอดให้เห็นว่า เป็นประชานิยมที่ปราศจากความยั่งยืนในการพัฒนา
แต่ดังที่ผมได้เกริ่นไว้แล้วว่า รัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลทักษิณก็มีนโยบายคล้ายๆ กับประชานิยมอยู่เหมือนกัน ดังนั้น การปรากฏขึ้นของประชานิยมโดยระบอบทักษิณจึงไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่คือหลักหมายที่ประกาศอย่างเด็ดขาดและชัดเจนว่า การใช้นโยบายประชานิยมไม่ใช่สิ่งที่ทำไม่ได้ ขอเพียงมีความกล้าและปราศจากความละอายแก่ใจเท่านั้น ใครๆ ก็ทำได้
วัตถุมงคล จตุคามรามเทพ
และเมื่อประชานิยมถูกปล่อยออกไป ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องเป็นที่ชื่นชอบและชื่นชมของชาวบ้านร้านถิ่น เพราะจะหารัฐบาลที่ไหนไม่มีอีกแล้ว ที่จะเล่น “ลด แลก แจก แถม” กันแบบนี้ และพอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง นโยบายดังกล่าวก็เป็นที่ติดอกติดใจของชาวบ้านไปในที่สุด และติดใจมาจนทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารโค่นล้มลงไปแล้ว การจะจัดการกับประชานิยมของระบอบทักษิณโดยกลุ่มอำนาจใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการที่รัฐบาลทักษิณกลายเป็นหลักหมายของการใช้ประชานิยมนั้น หลักหมายที่ว่าก็ได้สร้างคนอย่างทักษิณขึ้นมาอย่างมากมาย (เหมือนอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่าไว้นั่นแหละครับ)
ฉะนั้น การที่จะใช้เศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นนโยบายแทนนั้น ผมจึงมองไม่เห็นอนาคต
ทั้งนี้ก็เพราะประชานิยมเมื่อก่อนหน้านี้ที่ได้ลดทอนพลังการพึ่งตนเองลงไปไม่น้อย และเมื่อพลังถูกลดทอนลงไป ทุกคนที่เสพประชานิยมก็อ่อนเปลี้ยเพลียแรง จนดูไม่ต่างกับคนที่ตกอยู่ในอาการหลับใหล ทั้งที่ยังตื่นอยู่แท้ๆ
เทวรูป จตุคามรามเทพ
แต่ทว่า ในขณะที่ยังหลับใหลและเพรียกหาประชานิยมอยู่นั้น จู่ๆ กระแสความเชื่อเรื่องจตุคามรามเทพก็ปรากฏขึ้นแบบไม่มีใครคาดฝัน คำขวัญหรือที่เรียกกันว่าฉายาของพระเครื่องจตุคามฯ ที่มีนับสิบหรือนับร้อย (?) รุ่นนั้น ต่างมีความหมายร่วมอยู่ประเด็นหนึ่งคือ รวย เสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์แผ่ซ่านไปทั่วประเทศ ไม่เฉพาะแต่ทางปักษ์ใต้ที่เป็นแหล่งกำเนิดพระเครื่องกลุ่มนี้ และด้วยเหตุที่การสร้างพระเครื่องไม่มีสิทธิบัตรทางปัญญาให้แก่คนต้นคิด เราจึงได้เห็นต่อไปว่า มีหลายจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ทางปักษ์ใต้ที่ได้สร้างจตุคามฯ ในรุ่นของตนเองขึ้นมาด้วย
“แรงจูงใจ” ที่ปรากฏในนามของ “แรงศรัทธา” อันเป็นเหตุให้มีการเช่าและสร้างพระเครื่องกลุ่มนี้ดูจะมีอยู่เรื่องเดียวคือ เม็ดเงินนับหมื่นล้านบาทที่หมุนเวียนในตลาดพระเครื่อง
ใครมีไว้ในมือแม้เพียง 1 องค์ซึ่งอาจเช่ามาในราคาไม่กี่สิบกี่ร้อยบาท ตอนนี้อาจกำลังดีใจกับราคาที่ถีบตัวสูงขึ้นเป็นหลักพัน หมื่น หรือแสนบาท
ใครที่มีศักยภาพพอที่จะสร้างได้และได้สร้างไปแล้ว ตอนนี้อาจกำลังนั่งนับเงินกันมือระวิงด้วยตัวเลขหลักร้อยล้านบาทอยู่ก็ได้
ส่วนใครที่มีไว้แล้วเชื่อว่าองค์จตุคามฯ จะดลบันดาลความรวยให้นั้น ตอนนี้ผมเดาไม่ถูกว่าคนกลุ่มนี้กำลังทำอะไรอยู่ นั่งรอให้รวยด้วยการแทงหวยหรือเล่นการพนัน ทำอาชีพที่ผิดกฎหมาย หรือกำลังตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินตัวเป็นเกลียว ฯลฯ เจ้าตัวเท่านั้นที่ย่อมรู้อยู่แก่ใจตนเองดี
รวยง่ายอะไรปานนี้...ฉะนี้แล้ว ใครบ้างเล่าที่ไม่อยากได้จตุคามฯ มาครอบครอง ยิ่งในภาวะที่ประชานิยมของระบอบทักษิณหยุดชะงักไปด้วยแล้ว การปรากฏขึ้นของจตุคามฯ จึงเป็น “ประชานิยม” อีกแบบหนึ่งที่เข้ามาแทนที่นั่นเอง
วัตถุมงคล จตุคามรามเทพ
หากประชานิยมในสมัยรัฐบาลทักษิณมีส่วนทำให้มีการใช้เงินของชาวบ้าน (ที่กู้รัฐมา) แล้วทำให้เงินหมุนเวียนจนเศรษฐกิจดูดีแล้ว ประชานิยมที่เกิดจากพระเครื่องจตุคามฯ ก็ทำให้มีเงินหมุนเวียนไม่ต่างกัน (ถึงจะน้อยกว่าก็ตาม)
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ถ้านโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณทำให้ผู้คน (ที่ชื่นชอบ) ตกอยู่ในอาการหลับใหลฉันใด การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์จตุคามฯ ก็ทำให้ผู้คนหลับใหลฉันนั้น
จะต่างกันก็แต่ว่า ประชานิยมของรัฐบาลทักษิณนั้นสัมผัสจับต้องผลประโยชน์ในเชิงรูปธรรม (เงิน) ได้ในทันทีทันใด (ถึงแม้จะไม่มากนัก ประมาณว่าเหมือนถูกหวยเลขท้าย 2 ตัวหรือ 3 ตัว) ส่วนประชานิยมในเรื่องจตุคามฯ นั้นสัมผัสจับต้องผลประโยชน์ในเชิงนามธรรม คือมีผลในทางจิตใจ
อย่างไรก็ตาม ผมควรกล่าวด้วยว่า ที่ผมเปรียบความนิยมที่มีต่อประชานิยมของรัฐบาลทักษิณและขององค์จตุคามฯ ว่าเหมือนกับการหลับใหลนั้น ก็เพราะผมเห็นว่าความนิยมดังกล่าวอิงอยู่กับความศรัทธาทั้งที่มีปลายทางที่ไม่สู้จะยั่งยืนนัก
ที่สำคัญคือ ไม่เป็นไปตามพุทธคติที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” จนทำให้การตกอยู่ในอาการหลับใหลดังกล่าวไม่ต่างกับการตกอยู่ในไสยศาสตร์ไปในที่สุด ไสยศาสตร์ที่ท่านพุทธทาสแปลตรงๆ ว่า ศาสตร์แห่งการหลับใหลนั่นเอง
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|