ไทยจะเป็นศูนย์พุทธโลก
ขณะนี้มีการประชุมชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ 4 เนื่องใน “วันวิสาขบูชาโลก พ.ศ.2550”
นับเป็นเกียรติสำหรับประเทศไทย ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานที่มีความสำคัญยิ่ง 2 ปีซ้อน
อีกทั้งยังเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หัวข้อการประชุมนานาชาติครั้งนี้กำหนดไว้ว่า “คุณูปการของพระพุทธศาสนาที่มีต่อธรรมาภิบาลและการพัฒนา”
น่าคิดและน่าสนใจมาก
เพราะก่อนหน้านี้องค์การสหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบให้บรรดาประเทศสมาชิกซึ่งมีผู้นับถือศาสนาพุทธจัดกิจกรรม “วันวิสาขบูชาโลก” ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติได้และเป็นที่มาของการยอมรับให้ไทยเป็นเจ้าภาพ เพราะที่กรุงเทพฯ มีศูนย์ประชุมสหประชาชาติตั้งอยู่
รวมทั้งยังเห็นชอบให้ “พุทธมณฑล” เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกด้วย
ผู้นำชาวพุทธโลก 61 ประเทศ ที่ประชุมครั้งนี้ยังมีความเห็นร่วมกันที่จะประกาศแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่พระศาสนาหลักธรรมให้ก้าวหน้าไปทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา ซึ่งต้องการที่พึ่งจากศาสนามากขึ้น
จะมีการผลิตสื่อหลายรูปแบบเพื่อให้ความรู้เผยแพร่หลักธรรมโดยใช้หลายภาษา จัดทำเป็นหนังสือเล่ม และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่เข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้บรรดาประเทศต่างๆ ที่มีมหาวิทยาลัยด้านพระพุทธศาสนา ซึ่งมีตัวแทนมาประชุม 21 ประเทศ ยังได้ร่วมกันจัดตั้ง “สมาคมมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลก” โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยของไทย เป็นสำนักเลขาธิการ
นานาชาตินั้นต่างชื่นชมว่าประเทศไทยเรามีปัจจัยเอื้อต่อการมี “ธรรมาภิบาล” และ “การพัฒนา” ที่ยั่งยืนแบบเศรษฐศาสตร์แนวพุทธอยู่แล้ว
พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในประเทศไทยมานาน ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง คือมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และมหามกุฎราชวิทยาลัย
ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ถึงขนาดมีบางกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้บรรจุข้อความว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
แต่ทำไมประเทศไทยจึงยังมีปัญหาผู้นำการเมืองที่มีการทุจริต และการบริหารที่ขาดหลักธรรมาภิบาล จนถึงขนาดถูกมวลชนชุมนุมขับไล่และเป็นที่มาของการรัฐประหารต้องมากระตุ้นเตือน ถูกสังคมเรียกร้องให้ทำต่อเนื่องถึงขนาดรัฐบาลนี้ต้องออกกฎหมายเพื่อควบคุมให้มีธรรมาภิบาล
ทั้งๆ ที่ประชาชนต่างยืนยันว่า มีความเคารพแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบอกว่าจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสอันทรงคุณค่าที่พระราชทานในวโรกาสต่างๆ มากมาย เป็นแนวทางดำเนินชีวิตและการทำงาน
นับตั้งแต่พระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
เป็นข้อคิดสำหรับผู้มีตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการ ซึ่งมีหน้าที่ทำงานเพื่อส่วนรวมสมควรจะน้อมนำมาเป็นแนวปฏิบัติที่จะต้องทำงานด้วย“ความเป็นธรรม” โดยคำนึงถึงผลเพื่อให้เกิด “ประโยชน์และสุข” แก่คนส่วนใหญ่
อีกตัวอย่างหนึ่งจากพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ประชาชนเพื่อเป็นแนวปฏิบัติตามหลักคุณธรรม 4 ประการ ได้แก่
1.เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
2.ฝึกใจตนเองให้เป็นผู้ประพฤติดี
3.อดทน อดกลั่น และอดออม
4.รู้จักละความทุจริต
หากทุกคนทุกวงการน้อมนำพระราชดำรัสมาเป็นแนวปฏิบัติ ป่านนี้เราคงไม่ต้องมาเผชิญกับภาวะวิกฤติทางการเมืองอยู่ในขณะนี้
องค์พระประมุขของชาวไทยทรงเป็นพุทธมามกะ ที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาและปฏิบัติตามหลักธรรม
พระราชกรณียกิจนานัปการ ที่เห็นได้จากโครงการพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ แสดงถึงความเป็น พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงมีพระเมตตาธรรม องค์การสหประชาชาติจึงได้น้อมยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาและทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งปวง ขณะที่ชาวโลกชื่นชมพระบารมี
หัวข้อการประชุมชาวพุทธนานาชาติในประเทศไทยครั้งนี้ ที่ว่า “คุณูปการของพระพุทธศาสนา ที่มีต่อธรรมาภิบาลและการพัฒนา” จึงท้าทายต่อกรณีศึกษาสำหรับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
“พระพุทธศาสนา” มีคุณูปการแน่นอน แต่ก็มีคำถามว่า ขณะที่ความเจริญด้านวัตถุและรูปแบบพิธีกรรมที่ดูน่าเลื่อมใส ทำไมการกระทำตามหลักธรรมาภิบาลซึ่งเป็นหลักที่ส่งเสริมคุณธรรมและความสุจริต จึงยังเป็นปัญหา
การศึกษาและการปลูกฝังสร้างค่านิยมในการใฝ่ดี ทำดี ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่ดีนับเป็นโจทย์สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม ที่น่าจะใช้ปัจจัยเอื้อที่เป็นศักยภาพ พลิกฟื้นให้สังคมไทยมีคุณภาพชีวิตและจิตวิญญาณที่ดี
|