|
UN เชิดชูวันวิสาขบูชา เป็นวันสันติภาพโลก
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของโลก เป็นวันสำคัญแห่งการเกิดขึ้นขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้ทรงเป็นศาสดาเอกของโลก ทั้งนี้ คำสอนของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ
วันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนทั่วโลก ได้แสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณของโลก และเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยมาหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ รัฐบาลและประชาชนให้ความสำคัญถือเป็นวันหยุดทางราชการ เพื่อให้พี่น้องพุทธศาสนิกชน และสาธุชนทั้งหลายได้น้อมรำลึกปฏิบัติบูชาต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณอันยิ่ง
วันวิสาขบูชา คือวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เป็นความมหัศจรรย์ 2 นัย
นัยที่ 1 พระพุทธเจ้ามีนามเดิมว่า สิทธัตถะ เป็นพระโอรสใน พระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ศากยวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และ พระนางสิริมหามายา พระธิดาในพระเจ้าอัญชนะ กษัตริย์โลลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ ประสูติเมื่อวันศุกร์ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ เวลาใกล้เที่ยง ใต้ต้นไม้รังหรือสาละแห่งลุมพินีวัน ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
เป็นธรรมดา พระโพธิสัตว์ อุบัติขึ้นมาเพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ ย่อมต้องมีอภินิหารเป็นธรรมดา ขณะประสูติมีเทวดามาคอยรับ พอประสูติแล้ว ทรงดำเนินไปได้ 7 ก้าว ขณะที่ทรงดำเนินไปได้ 7 ก้าว ก็หยุดอยู่เพียงเท่านั้น แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจา คือประกาศพระองค์ว่าเป็นเอกในโลก ว่า
“อัคโคหะมัสมิ โลกัสสะ เชฏโฐ เสฏโฐหะมัสมิ อะยะมันติมา เม ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภะโว”
แปลความว่า “ในโลกนี้เราเป็นหนึ่ง เราเป็นยอด เราเป็นเลิศประเสริฐที่สุด การเกิดครั้งนี้ของเรา เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปอีกไม่มีสำหรับเรา”
การตรัสรู้ เมื่อ เจ้าชายสิทธัตถะ ได้เสด็จออกบวชเมื่อพระชนมายุ 29 ชันษา ได้ละทิ้งราชสมบัติกามสุขทางโลกเพื่อแสวงหา โมกขธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดและพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ได้ไปศึกษายังสำนักของ
อาฬารดาบส กาลามโคตร และ อุททกดาบส รามบุตร มหาชนในสมัยนั้นถือกันว่าเป็นคณาจารย์ผู้มีความรู้อันยอดเยี่ยม ทรงใช้เวลาไม่นานก็ได้สำเร็จ สมาบัติ 8 ได้แก่ รูปญาน 4 และอรูปญาน 4
ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางที่จะตรัสรู้ได้ จึงได้บำเพ็ญทุกรกิริยา ด้วยการบำเพ็ญเพียรทรมานตนต่างๆ อันยากที่ใครๆ จะทำได้ เช่น กดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (ฟัน) ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ คือกลั่นลมหายใจ ทรงอดอาหารเสวยแต่วันละน้อยๆ จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง ทรงลูบพระวรกายเส้นพระโลมาก็ร่วงหลุด
กระทั่งทรงเห็นว่าการทรมานกายอย่างนี้ (อัตตะกิละมะถานุโยค) ไม่ใช่ทางตรัสรู้ พระองค์จึงกลับมาเสวยอาหารดังเดิม และทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในวันตรัสรู้ พระองค์ได้ประทับนั่งขัดสมาธิ ณ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แล้วทรงอธิฐานพระทัย (จาตุรงคมหาปธาน) ว่า “จักไม่ลุกขึ้นจากที่นี้ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ แม้ว่าเนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไปจนเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกก็ตามที”
ในคืนขึ้น 15 ค่ำ วันเพ็ญเดือน 6 ขณะทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต มารคือกิเลส ได้เกิดขึ้นท่องเที่ยวอยู่ในพระทัยของพระองค์ นำให้ทรงหวนระลึกถึงความหลังเมื่อครั้งเสวยกามสุขอยู่ในราชสมบัติซึ่งน่าอภิรมย์ยิ่งนัก พระองค์จึงทรงหักห้ามพระทัยและต่อสู้กับกิเลสมารเหล่านั้นด้วย พระบารมี 10 ทัศ คือ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา ที่เคยทรงบำเพ็ญมาในอดีตชาติและในปัจจุบันชาติ พระองค์ทรงไม่หวั่นไหวกับอุปสรรค ก็ทรงสามารถผจญกิเลสมารอันเกิดขึ้นท่องเที่ยวอยู่ในพระทัยให้ปราชัย พ่ายแพ้ ดับไปได้
พระองค์ทรงเจริญสติ สมาธิภาวนาทำจิตใจให้แน่วแน่ปราศจากอุปกิเลส ญาณเกิดขึ้นอันเป็นปัญญาขั้นสูงให้เกิดขึ้นเป็นลำดับๆ
ปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกชาติได้ เป็นเหตุให้ทรงหยั่งรู้อัตภาพขันธสังขารว่าเป็นเพียงสภาวะอย่างหนึ่งเท่านั้นรวมกันเข้าเป็นขันธ์ เป็นผลให้ทรงกำจัดความหลงในขันธ์(นามรูป) อันเป็นเหตุรักและชังเสียได้
มัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ (ทิพพจักษุญาณ) ทรงมองเห็นการจุติและการเกิดของมวลสัตว์ได้ เป็นเหตุให้ทรงหยั่งรู้ว่าขันธ์ (รูปนาม) เป็นไปตามอำนาจแห่งธรรมดาเป็นสัตว์บุคคลในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง แตกสลายไปในที่สุดเหมือนกันหมด จะมีเลว ดี ทุกข์ สุข ก็เพราะกรรมที่ทำเอาไว้ เป็นผลให้ทรงกำจัดความหลงในคติแห่งขันธ์ อันเป็นเหตุสำคัญผิดด้วยประการต่างๆ เสียได้
ปัจฉิมยาม ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ ปัญญารู้เป็นเหตุสิ้นไปแห่งอาสวะเครื่องเศร้าหมองอันหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน เป็นเหตุให้ทรงหยั่งรู้ขันธ์ พร้อมทั้งอาการโดยความเป็นเหตุเป็นผลสืบต่อเนื่องติดต่อกันไป เหมือนลูกโซ่ ซึ่งคล้องเกี่ยวโยงกันเป็นสาย ทรงเรียกว่าอิทัปปัจตาปฏิจจสมุปบาท และอริยสัจ 4 เป็นผลให้พระองค์ทรงรู้และเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างจนสามารถบรรลุถึงความบริสุทธิ์สิ้นเชิงได้สมพระมโนปณิธาน ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 ปี ทรงบรรลุอุดมธรรม (นิพพาน) เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 ชันษา
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เองชอบได้ด้วยพระองค์เอง “อิธะ ตะถาคะโต โลเก อุปปันโน พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก” พระองค์จึงมีนามพิเศษ ว่า อรหํ (อะระหัง) และสัมมาสัมพุทโธ ทรงได้พระนามว่า อรหํ เพราะ พระองค์เป็นผู้ควรและเป็นผู้บริสุทธิ์ ไกลจากกิเลส ทรงได้พระนามว่า สัมมาสัมพุทโธ เพราะ พระองค์ตรัสรู้ได้ตามลำพังพระองค์เอง
จากนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ออกสั่งสอนเผยแผ่สัจธรรม พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 พระโกณฑัญญะ, พระวัปปะ, พระมหานามะ, พระภัททิยะ, และอัสสชิ ได้บรรลุพระอรหันต์ เป็นปัจจัยให้เกิดพระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
พระพุทธองค์ปรินิพพาน หลังจากพระพุทธองค์ได้ทรงเผยแผ่สัจธรรมคำสอนอยู่ 45 พรรษา ทำให้พุทธสาวกบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน, พระสกทาคามี, พระอนาคามี, และพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก จนสามารถตั้งพระพุทธศาสนา (พระธรรมวินัย) ลงในประเทศอินเดียเป็นปึกแผ่น และพระพุทธองค์ได้ตรัสกับเหล่าภิกษุทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้ายว่า “หันททานิ ภิกขะเว อามันตะยามิโว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” แปลความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงล้วนมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
พระพุทธองค์ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ วันเพ็ญเดือน 6 ณ ตำบลสาลวโนทยาน นครกุสินารา รัฐมัลละ
นัยที่ 2 การตีความตามนัยปรมัตถธรรม การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เกิดขึ้นพร้อมกันในวัน เวลานาที เดือน ปี เดียวกัน การประสูติ (การเกิดขึ้นของสภาวะพระพุทธเจ้า) ตรัสรู้ (การรู้แจ้งในขันธ์ 5) และปรินิพพาน (การดับสิ้นกิเลสโดยรอบ) หลังจากบำเพ็ญเพียรมาแล้ว 6 ปี คือเกิดขึ้นพร้อมกันในวันใกล้รุ่งขึ้น 15 ค่ำ วันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธกาล 45 ปี จะเห็นได้ว่าสภาวะพระพุทธเจ้ามีพระชนมายุเพียง 45 พรรษา ส่วนอีก 35 พรรษา เป็นของเจ้าชายสิทธัตถะพระโพธิสัตว์เจ้า
พระพุทธองค์ตรัสปรารภการบูชาว่า “บุคคลผู้ทำการสักการบูชาตถาคต (พระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่าตถาคต) ด้วยอามิสบูชา หาชื่อว่าเป็นการบูชาอย่างยิ่งและแท้จริงไม่ หากแต่บุคคลใดศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนนี้แล จึงชื่อว่าเป็นการบูชาตถาคตอย่างแท้จริง
ดังนั้น การบูชาอย่างแท้จริงของชาวพุทธศาสนิกชน ในวันวิสาขบูชา ก็คือการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา มุ่งให้รู้แจ้งตามความเป็นจริง คือให้รู้แจ้งจริงว่าขันธ์ 5 ย่อลงเหลือรูปกับนาม กายกับจิต (ความคิดปรุงแต่งที่เป็นกุศล อกุศล และกลางๆ) และสิ่งทั้งหลายรอบตัวเราได้แก่รูป, เสียง, กลิ่น, ลิ้น, รส, สัมผัส, และธรรมารมณ์ วัตถุสิ่งของทั้งมวลตกอยู่ในอำนาจกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน) ดูรูปประกอบทำให้เข้าใจได้ง่ายมากๆ
สิ่งปรุงแต่งคือนิวรณ์ 5 (สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม ได้แก่ ความลุ่มหลงในกามคุณ, ความคิดร้าย, ความหดหู่และเซื่องซึม, ความฟุ้งซ่านร้อนใจ, ความลังเลสงสัย และความคิดปรุงแต่ง เป็นกุศล อกุศล และเฉยๆ สังขารทั้งปวงรูปและนาม เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด ไม่มีตัวตน ไร้แก่นสาร “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งมวลนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา” เมื่อไม่ติดยึดในสังขารทั้งปวงจิตก็จะผ่องใส บริสุทธิ์ผุดผ่องดังเดิม จิตเป็นประภัสสร แสดงให้เห็นว่า สภาวะสันติเป็นความจริงแท้ของมนุษยชาติ
เมื่อรู้แจ้งจริงตามความเป็นจริงอย่างนี้ จึงหน่ายในสังขารทั้งปวง และหาทางอิสระจากสังขารทั้งปวง(สิ่งปรุงแต่งทั้งปวง) หมายความว่าอยู่กับสังขารแต่ไม่ยึดติดในสังขาร ประดุจหยดน้ำบนใบบัว “สังขารทั้งปวงนั่นไม่เที่ยง ร้อยเรียงแปรปรวนทุกขณะ สังขารทั้งปวงเป็นทุกขะ ธรรมะทั้งปวง (สังขตธรรมและอสังขตธรรม) เป็นอนัตตา แจ้งจริงจึงหน่ายในสังขาร ละอุปาทานได้หมดสิ้น จิตสิ้นราคิน (ราคะ) จึงวางเฉย แจ้งจริงแท้แน่เอยเปิดเผย ไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ 4 สู่สัมมาญาณ และสัมมาวิมุตติ หลุดพ้นในที่สุด”
ชาวพุทธทั้งหลายสามารถปฏิบัติถวายเป็นพระพุทธบูชาวันหนึ่งได้เป็นร้อยครั้ง พันครั้ง เพียงหายใจเข้าออกทุกครั้ง ให้มีสติสัมปชัญญะให้เห็นรูปนาม ให้รู้แจ้งเห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้แจ้งตามเป็นจริงว่าสังขารทั้งปวงเป็นมายา หาแก่นสารไม่ได้ จึงได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติบูชาอย่างแท้จริงและได้ประโยชน์เกิดปัญญาอันยิ่ง รู้เท่าทัน เป็นมรรค เป็นผล เป็นสันติสุขอย่างแท้จริง สุโข พุทฺธานํ อุปฺปาโท ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายนำสุขมาให้ “ให้ระลึกว่าเราคือพุทธะ ผู้ลดละความกลัว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางลงๆ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สร้างสรรค์ปัญญาญาณให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อรับใช้ประเทศชาติ” UN ยังยกย่อง แต่ผู้ปกครองไทย (กมธ.) บางส่วนมี อคติ 4 ต่อต้านการบัญญัติ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”
| |