ทูตพระพุทธศาสนาวิสาขบูชาโลก
คณะกรรมการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะเป็นหน่วยงานหลัก ต่างเห็นสมควรให้บุคคลในแวดวงสังคมที่มีภาพลักษณ์ชัดเจนในเรื่องความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นทูตพระพุทธศาสนาวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2550 จำนวน 9 คน ประกอบด้วย สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ไชยา มิตรไชย จีรนันท์ มะโนแจ่ม และนักธุรกิจอีก 5 คน ได้แก่ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ ผู้มีผลงานเผยแพร่ธรรมะมากมาย
นอกจากนั้น ยังมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน หนุ่มไฟแรงแห่งค่ายรถบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งติดใจรสพระธรรมจนนำมาปรับใช้ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน ดร.ศุภชัย ผ่องสวัสดิ์ (ไพจิตร) เซเลบริตีเสียงดีที่ใครๆ ต้องรู้จักด้วยผลงานเพลงส่งเสริมศาสนา และยังเป็นตัวตั้งตัวตีจัดทำโครงการรวมดวงใจศิลปินเพื่อพระพุทธศาสนา รัญชา บริบาลบุรีภัณฑ์ สาวสังคมอีกคนที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนา ทุ่มเทกายใจเต็มร้อยกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างไม่เลือกปฏิบัติ มาริษา มหาวงศ์ตระกูล ไฮโซสาวผู้หมั่นทำบุญกุศลสะสมคุณงามความดีมิได้ขาด และทำชุดสังฆทานคุณภาพดีตราใบโพธิ์อีกด้วย
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กล่าวว่า ทูตพระพุทธศาสนาวันวิสาขบูชาโลก มีการแต่งตั้งทุกปี โดยผู้ได้รับแต่งตั้งจะเป็นตัวแทนในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนตามหลักพุทธศาสนา เผยแพร่งานวันวิสาขบูชาให้เป็นที่รับรู้โดยกว้างขวาง รวมทั้งวางตัวเป็นชาวพุทธที่ดีงาม โดยทูตพระพุทธศาสนาทั้งหมดได้เข้ารับการเปิดตัว พร้อมน้อมรับโอวาทจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ณ ตำหนักสมเด็จฯ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และต่างมุ่งมั่นตั้งใจจะปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับเป็นชาวพุทธอย่างดีที่สุด เพื่อรำลึกในพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระบรมศาสดาของชาวพุทธ และน้อมถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม นี้ด้วย ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน สนใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง และนำธรรมะมาใช้ในเรื่องการทำงาน โดยบริษัทของผมเองก็มีจัดฝึกอบรมธรรมะปีละหลายครั้ง ทั้งยังส่งเสริมให้พนักงานลาไปปฏิบัติธรรมโดยไม่ต้องเสียวันพักร้อน บริษัทในเครืออย่างสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี ก็มีความชัดเจนว่า เราจะพิมพ์หนังสืออยู่ใน 3 หัวข้อหลัก ก็คือเรื่องเกี่ยวกับวัด เกี่ยวกับธรรมะ เรื่องเกี่ยวกับวัง เกี่ยวกับราชวงศ์ และสุดท้ายคือเรื่องเกี่ยวกับการตลาด
ผมรู้ซึ้งว่าธรรมะเป็นของดีมีประโยชน์ แล้วก็เป็นเรื่องทันสมัย หากเรานำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน อย่างเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องทางสายกลาง ก็สอดคล้องกับที่ในหลวงทรงสอนเรื่องความพอเพียง ธรรมะถ้ารู้จักนำมาปรับใช้ไม่เคยล้าสมัยเลย”
ทูตวันวิสาขบูชาอีกคนคือดาราและพิธีกรชื่อดัง อย่าง สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ที่ได้สนใจเข้าศึกษาปฏิบัติธรรมกับคุณแม่สิริ กรินชัย ที่ยุวพุทธฯ มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว และเธอก็ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนถึงขั้นเป็นพิธีกรและบรรยายธรรมะตามโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ มาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว รวมทั้งเธอจะจัดพิมพ์หนังสือธรรมะไว้แจกจ่ายแก่เพื่อนดาราและผู้ที่สนใจอยู่บ่อยๆ เธอกล่าวว่า การที่เธอได้รับเลือกให้เป็นทูตวันวิสาขบูชาครั้งนี้ เพราะว่าเธอเป็นชาวพุทธที่ดี และช่วยเผยแพร่บรรยายประสบการณ์ธรรมะของเธอ หลังจากที่เธอสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และพยายามชักชวนผู้ที่สนใจไปลองปฏิบัติธรรมดูบ้าง โดยเฉพาะลูกสาวของเธอก็เริ่มไปเข้าค่ายธรรมะตั้งแต่อายุ 6 ขวบแล้ว
“อย่างงานวันวิสาขบูชาโลกที่ยูเอ็นจัดขึ้นเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา เธอก็ไปเป็นพิธีกร รวมทั้งไปร่วมงานวันวิสาขบูชาที่ท้องสนามหลวงและพุทธมณฑลอีกด้วย”
ส่วน ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน บอกว่า การได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตพระพุทธศาสนาวันวิสาขบูชาโลก ถือเป็นความภูมิใจและยินดี เพราะจะได้มีโอกาสพูดคุยนำสิ่งที่เป็นมงคลไปสู่เพื่อนมนุษย์ ซึ่งการรับรู้เมื่อเป็นเด็กนั้นก็เพียงแค่วันหยุดวันหนึ่ง แต่เมื่อได้มาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา ความหมายว่าวันหยุดจึงเปลี่ยนไป ไม่ใช่เพียงวันหยุดเรียนหรือหยุดงาน แต่หยุดเพื่อที่จะฉุกคิดโดยมีพุทธศาสนาเป็นเครื่องนำทาง ได้คิด ได้ทบทวน ถึงวันแห่งการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าพระองค์ต้องลำบากเพียงใดถึงจะได้พบกับพระธรรม ซึ่งเป็นทางแห่งแสงสว่าง
“เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการรณรงค์ในวันวิสาขบูชาว่า ทำดีได้ไม่ต้องเดี๋ยว ที่ผมชอบมาก เพราะการทำความดีไม่ต้องรออะไร ทำได้ทันที ทำไปวันละน้อย แม้การได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตพระพุทธศาสนาจะไม่ได้มีการระบุว่าต้องทำอะไร แต่ผมถือเป็นหน้าที่ที่ต้องบอกต่อสิ่งที่เป็นมงคล อย่างน้อยที่สุดก็กับคนในภาคส่วนเดียวกัน ถึงได้ใครเพียงคนเดียวที่ผมบอกต่อสิ่งมงคลให้แล้วเขาถือปฏิบัติ แค่นี้ก็ไม่ทำให้เสียเวลาแล้ว เพราะเมื่อก่อนผมก็เป็น ที่ชีวิตจะเครียดกับการทำงานจนหาทางออกไม่ได้ ตราบจนได้มาพบกับพระพุทธศาสนา ที่สอนให้รู้ต้นเหตุแห่งทุกข์ที่ส่วนใหญ่เป็นอกุศล ความโลภ โกรธ หลง ก็ต้องลดทิ้งไปให้ได้ ซึ่งเรื่องของการสนใจในธรรมะนี้ ทุกที่ ทุกเวลา ทำได้ สนทนาแลกเปลี่ยนกันได้ แม้เมื่อไม่ได้อยู่ในวัด”
ด้าน มาริษา มหาวงศ์ตระกูล บอกเล่าถึงความภูมิใจว่า ที่ได้รับแต่งตั้งอาจเนื่องมาจากเธอทำธุรกิจเกี่ยวกับสังฆทาน ซึ่งเป็นเรื่องของการจรรโลงพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง และตัวเธอเองเป็นคนชอบทำบุญ มุ่งถวายสังฆทานเป็นประจำอยู่แล้ว รวมถึงสนใจในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทำให้รู้จักคำว่า พอเพียง พูดดี คิดดี ทำดี เพียงเบื้องต้นเท่านี้ ถ้าทำได้ปัญหาก็จะไม่เกิดกับตัวเองและผู้อื่น
ความหมายของวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ตามความหมาย คำว่า “วิสาขบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7 ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราว คือ
1.เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
2.เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากทรงผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
3.หลังจากตรัสรู้แล้วได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ดังนั้น เมื่อถึงวันสำคัญเช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก
วิสาขบูชาในประเทศไทย
วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะได้แบบอย่างมาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อๆ มาก็ทรงดำเนินรอยตาม
สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) มีพระราชดำริกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราชถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นเป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุและอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยและอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
วันวิสาขบูชานับว่าเป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวันทางพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนควรให้ความเอาใจใส่ และถือเอาวันวิสาขบูชาเป็นช่วงเวลาชำระจิตใจให้สงบ บริสุทธิ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยได้รับฉันทานุมัติจากที่ประชุมผู้นำศาสนาของประเทศต่างๆ ให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ชาวไทยผู้นับถือศาสนาพุทธทุกคนต้องยิ่งทำตัวให้เป็นแบบอย่างแก่พุทธศาสนิกชนจากทั่วโลก ที่เดินทางมาร่วมงานวันวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทย
จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ทูเดย์"
|