หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

สักการะ 4 สังเวชนียสถาน (จบ)สงบงาม...ในแดนภารตะ


พาราณสี เมืองที่เต็มไปด้วยวิถีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวอินเดีย



ก่อนที่ฉันจะพาไปเดินทางท่องแดนพุทธศาสนากันต่อนั้น อยากรู้จังว่าวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ผู้อ่านทั้งหลายแวะไปทำบุญไหว้พระกันที่ไหนมาบ้าง สำหรับฉันมีโอกาสแวะไปเวียนเทียนที่สนามหลวง จากการสังเกตผู้คนคลาคล่ำทีเดียว ถ้าใครจะมาบอกฉันว่าคนสมัยนี้ เขาไม่ค่อยเข้าวัดทำบุญฉันขอค้านว่าไม่จริง

เพราะจากที่เห็นมีพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อย ที่สนใจเรื่องการทำบุญสุนทาน อย่างน้อยการทำบุญก็ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้สงบลงได้บ้าง โดยเฉพาะในสภาวะบ้านเมืองที่ไม่ค่อยปรกติอย่างนี้ การได้มาสักการะสังเวชนียสถานที่ "อินเดีย" ของฉันก็เฉกเช่นเดียวกัน กลับมาเมืองไทยช่วงแรกๆเพื่อนฝูงทักเป็นเสียงเดียวกันว่า กิริยาสงบขึ้นกว่าเดิมเยอะ อินเดียจึงเป็นเสมือนครูคนหนึ่งที่สอนการท่องโลกให้ฉัน

เมื่อเดินทางออกจากสังเวชนียสถานแห่งที่ 2 (พุทธคยา) นั้น ฉันได้มุ่งหน้าไปขึ้นรถไฟที่สถานีคยา เพื่อไปยังจุดหมายต่อไปคือที่ สังเวชนียสถานแห่งที่ 3 "สารนาถ" (Sarnath) ที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองพาราณสี (Varanasi) เมืองที่มีความเป็นอินเดียอย่างแท้จริง


พระวิหารปรินิพพาน ตั้งตระหง่านในกุสินารา



ใครอยากมาสัมผัสวิถีแบบอินเดียเดิมต้องมาที่นี่ เพราะเป็นศูนย์กลางแห่งการสักการบูชาของชาวฮินดู เราจะได้เห็นประเพณีโบราณเก่าแก่อย่างการ การอาบน้ำล้างบาป การเผาศพ การลอยศพในแม่น้ำ การบวงสรวงเทพเจ้า และอีกมากมาย ริมฝั่งแม่น้ำคงคามหานที สำหรับคนภายนอกมาเห็นแรกๆอาจออกอาการอึ้ง แต่สำหรับคนที่นี่กลับทำเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

มองความเป็นไปในพาราณสี ฉันก็ยิ่งปลงได้มากยิ่งขึ้น เดินทางออกจากตัวเมืองพาราณสีประมาณ 8 กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือฉันก็ถึงจุดหมายที่ "สารนาถ" ซึ่งเดิมเรียกกันว่า "ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน" คือสถานที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 หลังการตรัสรู้ธรรมที่พุทธคยา

เมื่อถึงสารนาถมีสิ่งที่พลาดไม่ได้ คือการแวะสักการะ "ธัมเมกขสถูป" ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ ปัญจวัคคีย์ สร้างขึ้นในยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช ในราวพุทธศตวรรษที่ 3 พระสถูปเป็นยุค "เมารยัน"


หนึ่งในสถานที่ควรศึกษาเจาคันทีสถูปในสารนาถ



ตัวสถูปมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมบาตรคว่ำ เส้นผ่าศูนย์กลางราว 28.5 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด 42 เมตร ต่อมามีการก่อสร้างเสริมและมีช่อง 8 ช่อง ล้อมรอบองค์พระสถูป สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ปางต่างๆ พร้อมแกะหินเป็นลวดลายประดับสวยงาม

นอกจากนี้ที่สารนาถยังมี "เจาคันทีสถูป" (Chaukhandi Stupa) เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าพบปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรกหลังจากที่เสด็จมาจากพุทธคยา เจาคันทีสถูป เดิมเรียกกันว่า "โลรี กา กูดัน" หรือ การกระโดดของโลรี

ตามตำนานเล่าว่ามีเด็กเลี้ยงวัวชื่อโลรี ขึ้นไปบนสถูปแล้วกระโดดลงมาเสียชีวิต เดิมที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 240 ต่อมา ได้บูรณะในช่วงของราชวงศ์คุปตะ ปัจจุบันเป็นสถูปลักษณะ 8 เหลี่ยม

บริเวณเดียวกันนั้นยังมี "เสาหินพระเจ้าอโศก" (Ashokan Pillar) ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงสถานที่ ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับแสดงปฐมเทศนา ส่วนยอดสุดของเสามีรูปแกะสลักของสิงโตคู่หันหลังชนกัน ภายหลังทางรัฐบาลอินเดียได้นำไปเป็นตราสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศด้วย

ถ้าใครอยากจะเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์สารนาถให้ลึกซึ้ง ในเวลาที่จำกัดนั้น ฉันขอแนะนำให้ไปที่ "พิพิธภัณฑ์สารนาถ" ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวม วัตถุโบราณที่ขุดได้ในบริเวณสารนาถในยุคสมัยต่างๆ อาทิ เมารยัน กุษาณ คุปตะ เป็นต้น


ธัมเมกขสถูปสถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์



มาอินเดียครั้งนี้ฉันเน้นประหยัดงบ ด้วยการนอนวัดแทบจะตลอดทริป ที่สารนาถก็เช่นกันฉันเลือก พักค้างคืนใน "วัดไทยสารนาถ" (Wat Thai Sarnath) ร่วมกับเหล่านักเดินทางจากไทยอีกหลายคน ก่อนเดินทางไปยังสังเวชนียสถานแห่งที่4 อันเป็นจุดสุดท้ายในการจาริกแสวงบุญเที่ยวนี้

สังเวชนียสถานแห่งที่ 4 คือ "กุสินารา" (Kushinagar) ซึ่งเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ปัจจุบันตั้งอยู่ใน จังหวัดโครักขปูร์ รัฐอุตตรประเทศ ที่นี่มีสถานสำคัญหลากหลายแห่งในรำลึกถึงพระคถาคต ไม่ว่าจะเป็น "พระวิหารปรินิพพาน" ที่ประดิษฐานองค์พุทธปฏิมากรปางมหาปรินิพพาน อายุเก่าแก่เกินกว่า 1,400 ปี

ภายในวิหารปรินิพพาน มีพระพุทธรูปทำด้วยหินทรายแดง หรือ เรียกว่า จุณศิลา องค์พระยาว 21 ฟุต สูง 2 ฟุต 1 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางอนุฏฐิตสีหไสยาสน์ คือปางเสด็จบรรทมครั้งสุดท้าย พบแห่งเดียวเท่านั้นในอินเดีย สร้างในสมัยคุปตะ

องค์พระปฏิมากรนี้ถูกเปรียบเทียบว่า งามดั่งองค์เทพวิษณุงดงามทุกมุมมอง ฉันสังเกตเห็นหลายๆคนนำผ้ามาห่มองค์พระมารู้ภายหลังว่าที่ทำเช่นนั้นเขาเรียก "พิธีถวายผ้าห่มพระพุทธปรินิพพาน" ผ้าที่จะนำมาห่มต้องมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 5.5 เมตรเท่านั้น เพราะเชื่อกันว่าจะสามารถห่มได้พอดี

ห่างออกไปไม่ไกลนักยังมี "มกุฎพันธนเจดีย์" (Makutabandana Stupa) เป็นสถูปที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระหลังวันปรินิพพานได้ 7 วัน มองเห็นเป็นโนนสูงราวตึกห้าชั้นมาแต่ไกล เคยมีนักสำรวจลงไปดูพบกองขี้เถ้าและรอยดินไหม้ไฟ จึงเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ถวายพระเพลิง


พระพุทธรูปปางอนุฏฐิตสีหไสยาสน์ หรือ ปางเสด็จบรรทมครั้งสุดท้าย



ที่นี้มักมีนักจาริกแสวงบุญมานั่งสมาธิและเดินประทักษิณให้เห็นตลอดเวลา ฉันก็ถือโอกาสดีเดินไปกับเขาด้วย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้เด่นชัด อีกอย่างหนึ่งในตัวเหล่าผู้แสวงบุญคือ แม้ต่างชาติ ต่างภาษา หากเมื่อเอ่ยคำสวดพระธรรมปิฎกเป็น บาลี สันสกฤตแล้ว กลับเป็นหนึ่งเนื้อเดียวกันมิผิดแผก

ที่กุสินารานี้ฉันพักอาศัยที่ "วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์" เป็นเวลา 2 คืน เพราะตามกฎวัดหากต้องการพักเกิน 3 คืน ขึ้นไปต้องยื่นเรื่องเป็นกรณีพิเศษกับทางวัด วัดแห่งนี้เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อน้อมเป็นพุทธบูชาและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ชื่อวัดก็เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่วัดไทยแห่งนี้ฉันก็ประพฤติตนเป็นชีพราหมณ์ นั่งปฏิบัติธรรมเช่นเคย เมื่ออยู่จนครบกำหนดกลับเมืองไทย ฉันบังเกิดความรู้สึกอยากจะร้องไห้ไม่อยากจากไปเสียอย่างนั้น เพราะเกิดความผูกพันกับดินแดนต้นกำเนิดพุทธศาสนาแห่งนี้เข้าแล้ว

* * * * * * * * * * * * * *

สายการบินที่จะนำท่านสู่อินเดียมีหลายสายการบินด้วยกัน อาทิ การบินไทย , Indian Airlines,airindia อัตราการแลกแปลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ 1 บาท=1 รูปี

จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ Online" งานเขียนโดย มะเมี้ยะ


ไปข้างบน