“ปอยส่างลอง”กุศลอันยิ่งใหญ่ของชาวไทยใหญ่
ประเพณีปอยส่างลอง หรือประเพณีบรรพชาสามเณรตามแบบไทยใหญ่ เป็นงานสำคัญและยิ่งใหญ่ของชาวแม่ฮ่องสอน (ไทยใหญ่) ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคงถือกันว่าการที่กุลบุตรของตนเองได้อุทิศตนบรรพชาอุปสมบทในพุทธศาสนาและได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะได้กุศลอันยิ่งใหญ่
คำว่าปอยส่างลอง เป็นภาษาถิ่นของชาวไทยใหญ่ เป็นคำสมาสกัน ระหว่างคำว่า “ปอย” หมายถึงการจัดงาน “ส่าง” หรือเจ้าส่าง หมายถึงสามเณร และ “ลอง” หรืออลอง หมายถึงหน่อกษัตริย์ ในความเชื่อของชาวไทยใหญ่นอกเหนือจากบิดา-มารดานำบุตรของตนเองบวชส่างลองด้วยแรงศรัทธาในบวรพุทธศาสนาแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรแต่ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพบวชหรือรับเป็นภาระอุปถัมภ์บุตรผู้อื่น ที่เรียกกันว่า “พ่อข่าม แม่ข่าม” ชาวไทยใหญ่ก็เชื่อว่าจะได้กุศลอันยิ่งใหญ่เช่นกัน
เดิมปอยส่างลองเป็นประเพณีที่จัดเฉพาะในหมู่ญาติมิตรของเจ้าภาพ ปัจจุบันงานประเพณีนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของแม่ฮ่องสอน และจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะขบวนแห่ส่างลอง นับได้ว่ามีความสวยงาม ตามแบบประเพณีโบราณของชาวไทยใหญ่อย่างแท้จริง ที่หาชมได้ที่แม่ฮ่องสอนเท่านั้น ทำให้ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีที่จูงใจให้มีผู้สนใจมามาท่องเที่ยวยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนพร้อมกับการร่วมทำบุญไปพร้อมกัน
ในปีนี้เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และวัดหัวเวียงซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าพลาละแข่ง พระพุทธรูปทรงเครื่องที่งดงามและศักดิ์สิทธิ์ของชาวแม่ฮ่องสอน กำหนดจัดงานประเพณีปอยส่างลองขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2550 (รวม 3 วัน) ณ วัดหัวเวียง อย่างยิ่งใหญ่ โดยคาดว่าจะมีส่างลองมากถึง 80 รูป และยังเป็นกิจกรรมที่ชาวแม่ฮ่องสอนร่วมเฉลิมฉลองปีมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา มีกิจกรรมที่สำคัญ ดังนี้
วันแรก วันเสาร์ ที่ 31 มีนาคม 2550 เรียกว่าวันรับส่างลอง ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลอง นำเด็กชายไปวัดเพื่อแต่งชุดส่างลองคล้ายเจ้าชายไทยใหญ่ ด้วยการสวมโจงกระเบนสีสด ปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วยเข็มขัดนาคหรือเงิน สามเสื้อแขนกระบอกชายโค้งงอน เสื้อปักฉลุลวดลายดอกไม้สีต่างๆ
ที่สวยงามอีกอย่างหนึ่งคือส่วนศีรษะใช้ผ้าแพรโพก เกล้ามวยเสียบแซมด้วยดอกไม้ เช่นดอกเอื้องคำ หรือดอกไม้อื่นๆ การแต่งหน้าส่างลองด้วยการเขียนคิ้ว ทาปากสีแดง แต่งตัวเสร็จส่างลองจะสวมถุงเท้าสีขาว ถือเป็นการแต่งตัวอลองเต็มตัว พระสงฆ์ให้ศีลให้พรและอบรมสั่งสอน และส่างลองขอขมาพระสงฆ์ จากนั้นตะแปส่างลองหรือผู้ที่ให้ส่างลองขี่คอ นำไปนมัสการสถานที่ศักสิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าเมือง เจ้าอาวาส และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในขบวนจะมี ทีคำ หรือ ร่มทองคำกางกั้นบังแดดให้ส่างลอง
วันที่สอง วันอาทิตย์ ที่ 1 เมษายน 2550 เรียกว่าวันแห่ครัวหลู่ หรือวันแห่เครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับขบวนเครื่องไทยทานจากวัดหัวเวียงไปตามถนนสายต่าง ๆ ขบวนแห่ประกอบด้วย จีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมือง
ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กเข้าแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทอง อูต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฎฐบริขาร ดนตรีประโคม และ ขบวนส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยง หรือ "ตะแปส่างลอง" มีกลดทอง หรือ “ทีคำ” แบบพม่ากั้นแดด ตอนเย็นมีการแสดงและมหรสพสมโภชตามประเพณีไทยใหญ่
วันที่สาม วันจันทร์ ที่ 2 เมษายน 2550 เรียกว่าวันข่ามส่าง หรือวันหลู่ เป็นวันบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ และเลี้ยงอาหารไทยใหญ่แก่ผู้มาร่วมงานที่วัดหัวเวียง
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ วัดหัวเวียง โทร. 053-612003 เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน โทร. 053-612016 และ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982-3
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|