หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ห้องสนทนา : วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ จับธรรมะกับวิทยาศาสตร์มาหลอมรวมกัน




ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะหาหนังสือธรรมะมาอ่าน เพื่อกล่อมเกลาจิตใจสักเล่ม เพราะปัจจุบันมี หนังสือแนวนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งธรรมะขั้นสูงสำหรับผู้ใหญ่ และธรรมะอย่างง่ายๆสำหรับวัยรุ่น วัยทำงาน ที่เพิ่งจะเริ่มสนใจศึกษา แต่ทว่า ‘DHARMO DYNAMICS’ หนังสือธรรมะภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งนำเสนอพุทธศาสนาผ่านมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ดูจะสร้างความตื่นเต้นให้แก่วงการหนังสือในบ้านเรา มิใช่น้อย

ทั้งนี้เพราะปัจจุบัน ยิ่งวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ เจริญก้าวหน้ามากขึ้นเท่าใด ผู้คนก็ยิ่งถอยห่างออกจาก หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ด้วยเห็นว่าไม่สามารถพิสูจน์ให้เป็นเหตุเป็นผลได้ เนื่องเพราะคนเหล่านั้นไม่ได้เข้ามาสนใจศึกษาหลักการในพระพุทธศาสนา อย่างจริงจังนั่นเอง

ในขณะที่ ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ อดีตนักเรียนที่สอบได้ที่ 1 ของประเทศไทย ในสายวิทยาศาสตร์ ร่ำเรียนจนได้รับทุนเล่าเรียนหลวงและทุนร็อคกี้เฟลเลอร์ และปัจจุบันเป็นกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันสหัสวรรษ เจ้าของงานเขียนดังกล่าว ได้ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าเรื่องราวในพระไตรปิฎกเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งเขาได้พบคำตอบด้วยตัวเองว่า พุทธศาสนาสามารถอธิบายสิ่งต่างๆได้กว้างกว่าวิทยาศาสตร์ และแนวคิดบางเรื่องของวิทยาศาสตร์ เช่น เรื่องการเกิด เรื่องอะตอม เป็นต้น กลับเป็นเรื่องที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่ นานมานี้ ขณะที่พระพุทธศาสนาบอกไว้กว่า 2,000 ปีมาแล้ว

เราจึงหาโอกาสไปพูดคุยกับเขา เพื่อถามถึงแนวคิด และแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้




• จุดเด่นของ DHARMODYNAMICS คืออะไรคะ

หนังสือเรื่อง DHARMO DYNAMICS เป็นการอธิบายพุทธศาสนาผ่านแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันก็นำเสนอวิทยาศาสตร์ตามแนวทางของพุทธศาสนา กล่าวได้ว่าเป็นการหลอมรวมทั้ง 2 สิ่งเข้าด้วย กัน วิทยาศาสตร์ต่างๆที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน อย่างเรื่องการกำเนิดจักรวาล (Bing bang) ควันตัม ฟิสิกส์ ชีวเคมี แต่เรานำเสนอในเชิงพุทธ ซึ่งทำให้เห็นว่ามันมีวิธีมองวิทยาศาสตร์อีกแบบหนึ่งซึ่งกว้างกว่า

งานเขียนของผมเป็นการนำเสนอมุมที่ค่อนข้างแปลก ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านที่อ่านหนังสือเล่มนี้จะมองว่ามันสด เพราะว่าเราพูดถึงอะตอม คว้ากซ์ นิวเคลียส อิเล็กตรอน โปรตรอน โดยนำเอาเรื่องปฏิจจสมุปบาท มาอธิบายเปรียบเทียบ เรามองเรื่องการกำเนิดจักรวาล (Bing bang) และเรื่องหลุมดำ(Black Hole) ว่าคือนิพพาน เรามองเรื่องชีวิตว่าไม่ใช่แค่เรื่องชีวเคมี แต่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เนื้อหาของหนังสือไม่ได้ขัดแย้งกันแต่สอดรับกัน



• หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาหลักๆอะไรบ้าง

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 6 บท คือ ธรรมะ จักรวาล ชีวิต มนุษย์ กรรม และนิพพาน โดยในบทของธรรมะ จะพูดถึง กฎไตรลักษณ์ อัตตา-อนัตตา ความเป็นจริง ของธรรมะ และสมมติฐานในเรื่องต่างๆ สำหรับเรื่องจักรวาล จะอธิบายถึงวิวัฒนาการของจักรวาล วงโคจร ของจักรวาล และทฤษฎีหลุมดำ(Black Holes) ส่วนเรื่องชีวิต จะเป็นการอธิบายการเกิดตามหลักทางวิทยาศาสตร์และหลักธรรมะ เช่น พูดถึงเรื่องดีเอ็นเอและกรรม เปรียบเทียบทฤษฎีของดาร์วินกับแนวคิดเรื่องกรรม

เรื่องมนุษย์ เป็นการอธิบายถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ และอารยธรรมต่างๆ ส่วนเรื่องกรรม จะพูดถึง กฎแห่งกรรม การกลับชาติมาเกิด รวมถึงการปฏิบัติธรรม และเรื่องนิพพาน จะอธิบายความหมายของคำว่านิพพาน การทำสมาธิ และหนทางสู่นิพพาน



• อาจารย์นำวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่อยู่กันคนละขั้วมาผสมผสานกันได้ อย่างไรคะ

ผมอธิบายเรื่องหลุมดำ กาแลคซี่ สุริยจักรวาล จาก พระสูตรต่างๆในพระไตรปิฎก นำเอาหลักของควันตัม ฟิสิกส์ที่พูดถึงอนุภาคเล็กๆ เช่น อิเล็กตรอน โปรตรอน มาเปรียบเทียบกับหลักอนัตตา หรือปฏิจจสมุปบาท การอธิบายในลักษณะนี้อาจจะทำให้ผู้อ่านเห็นวิทยาศาสตร์ในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งชัดเจนขึ้น เป็นการสร้างความหลากหลาย ไม่ใช่ความขัดแย้ง

พูดถึงการกำเนิดชีวิตในเชิงวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าเกิดจากกระบวนการทางชีวเคมี ประกอบขึ้นเป็นตัวตน จากกระดูก เนื้อ หนัง ซึ่งเป็นโมเลกุล เป็นสารประกอบของคาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน เปรียบเทียบกับมุม มองทางพุทธศาสนาที่บอกว่านอกจากชีวิตจะเกิดจากเนื้อหนังที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายแล้ว ชีวิตยังต้อง ประกอบด้วยวิญญาณซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ขณะที่วิทยาศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้




• แสดงว่าแนวคิดของพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ผมมองว่าพุทธศาสนาสามารถอธิบายสิ่งต่างๆได้กว้างกว่านะ อย่างเรื่องวิวัฒนาการของชีวิต ถ้ามองใน มุมวิทยาศาสตร์บอกว่าการเกิดของมนุษย์เกิดจากกระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์ และโครโมโซมเป็นตัวกำหนดรูปร่างหน้าตา แต่ในมุมของพุทธศาสนาบอกว่า กรรมเป็นตัวกำหนด สิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา คือเกิดมาตัวเตี้ยหรือสูงใหญ่ หน้าตาดีหรืออัปลักษณ์ เป็นผล จากกรรมที่สั่งสมมาในอดีตและในชาติปัจจุบัน

หรือถ้าจะอธิบายว่าทำไมยีราฟจึงคอยาว ในเชิงวิทยาศาสตร์บอกว่ายีราฟที่มีลักษณะคอยาวในปัจจุบัน เกิดจากการผ่าเหล่า ประกอบกับยีราฟที่ผ่าเหล่าพวกนี้สามารถกินใบไม้ที่อยู่สูงๆได้มากกว่ายีราฟคอสั้น ทำให้ยีราฟคอยาวสามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์มาถึงปัจจุบัน ขณะที่ยีราฟคอสั้นต้องสูญพันธุ์ไป แต่พุทธศาสนาบอกว่าเกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติ โดยคอของยีราฟในแต่ละรุ่นค่อยๆพัฒนายาวขึ้นๆเรื่อยๆ ซึ่งนี่คือผลของกรรมหรือการกระทำ



• ถ้าพูดถึง ‘กรรม’ จะมองในแง่ของวิทยาศาสตร์ อย่างไรคะ

ผมพยายามอธิบายความหมายของ ‘กฎแห่งกรรม’ ว่าเป็น Conservation of Karma ซึ่งเป็นหลักเดียวกับหลักการทางวิทยาศาสตร์เรื่องกฎทรงมวลที่ว่า ‘สสารไม่สูญหาย’ กรรมหรือผลของการกระทำก็เช่นกัน จะส่งผลแน่นอน ไม่สูญหายไปไหน เราทำกรรมเช่นไร ก็ต้องได้รับผลเช่นนั้น หากทำกรรมแล้วยังไม่ได้ชด ใช้ในชาตินี้ก็ต้องชดใช้ในชาติต่อๆไป

ซึ่งกรรมจะส่งผลบางเบาหรือรุนแรงขึ้นอยู่กับเจตนาขณะกระทำ นอกจากนั้นการทำกรรมกับแต่ละคนก็ให้ผลไม่เท่ากันด้วย เช่น กรรมจากการฆ่ายุงน้อย กว่ากรรมจากการฆ่าแมว กรรมจากการทำร้ายคนไม่ดี กับการทำร้ายพระสงฆ์ก็ไม่ท่ากัน หรือแม้แต่พระสงฆ์ กับพระอรหันต์ก็ไม่เท่ากัน

ทั้งนี้กรรมอันไหนจะส่งผลก่อนหรือหลัง ส่งผลใน ชาตินี้หรือชาติหน้า ก็ขึ้นกับความรุนแรงของกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมเลว ถ้าเป็นกรรมที่รุนแรงก็จะส่งผลก่อน เช่น ถ้าปฏิบัติธรรมจนถึงฌานขั้นสูง ก็จะไปเกิดในสวรรค์ทันที หลักการเหล่านี้เป็นเหตุเป็น ผลเช่นเดียวกับหลักการทางวิทยาศาสตร์




• พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์มีความเหมือนกันในด้านไหนบ้างคะ

ที่แน่ๆคือทั้ง 2 สิ่งนี้สามารถพิสูจน์ได้ แต่ที่น่าทึ่งคือในบางเรื่องทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสตร์อธิบาย ออกมาเหมือนกันเป๊ะ เช่น เรื่องอะตอม ซึ่งในภาษาอังกฤษเขียนว่า ATOM มีรากมาจากภาษากรีกโบราณ ที่แปลว่า แยกย่อยต่อไปไม่ได้ หรือหน่วยที่เล็กที่สุด ซึ่ง แนวคิดเรื่องอะตอมนี้ ในทางพุทธก็มีการพูดถึงเช่นกัน แต่ใช้คำว่า ‘ปรมาณู’

ในพระไตรปิฎกบอกว่า ในสมัยพุทธกาลมีคนถาม พระพุทธเจ้าว่าปรมาณูมีขนาดแค่ไหน พระพุทธเจ้าก็อธิบายว่า ลองเอาเมล็ดข้าว 1 เมล็ด มาแบ่งเป็น 7 ส่วน แล้วเอา 1 ส่วนที่ได้มาตัดเป็นอีก 7 ชิ้น แล้วเอา 1 ชิ้นมาแบ่งเป็น 36 ส่วน แล้วเอา 1 ส่วนมาแบ่งอีก 36 ส่วน จนท้ายที่สุดจะได้ของที่เล็กที่สุดที่เรียกว่าปรมาณู เป็นเรื่องแปลกที่เมื่อนำมาคำนวณแล้วจะพบว่าความยาวของปรมาณูจะเท่ากับ 1 ส่วน 100 ล้านเซนติเมตร ซึ่งเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของอะตอม และที่น่าสนใจคือเรื่องปรมาณูถูกเขียนไว้เมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน แต่เรื่องอะตอมเพิ่งถูกค้นพบได้ไม่นาน

หรืออย่างด้านชีววิทยา วิทยาศาสตร์อธิบายการ เกิดของมนุษย์ว่ามาจากไข่ของแม่ผสมกับสเปิร์มของพ่อ รวมกันเกิดเป็นเซลล์ใหม่เรียกว่าไซโกท(Zygote) แล้วไซโกทค่อยๆแบ่งเซลล์ไปเรื่อยๆ กลายเป็นตัวอ่อน หรือเอ็มไบรโอ(Embryo) แล้วตัวอ่อนค่อยๆเจริญเติบโต พอครบ 9 เดือนก็คลอดออกมาเป็นทารก

ขณะที่พระไตรปิฎกพูดถึงเรื่องนี้ว่า มีพราหมณ์ คนหนึ่งถามพระพุทธเจ้าว่ามนุษย์เกิดมาได้อย่างไร พระองค์ทรงตอบว่ามนุษย์เกิดมาครั้งแรกตัวเล็กนิดเดียว เล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น พราหมณ์ก็ถามต่อว่าเล็กขนาดไหน พระพุทธเจ้าบอกให้พราหมณ์ลอง เอาขนจามรีซึ่งเส้นเล็กมาก มาจุ่มน้ำมันงาแล้วสลัด 7 ครั้ง น้ำมันงาที่เหลือติดปลายขนจามรีนั่นแหละเท่ากับ

ขนาดของมนุษย์แรกเกิด ซึ่งเรียกว่า ‘กลละ’(กา-ละ-ละ)

ส่วนกระบวนการเกิด ต้องประกอบด้วย 1.มารดามีระดู หมายความว่ามารดากำลังตกไข่ 2.มารดาอยู่กับบิดา ก็คือมีเพศสัมพันธ์กับบิดา ทำให้เกิดสเปิร์มของ พ่อ และ 3. มีวิญญาณมาเกิด ซึ่งหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ กลละจะขุ่นข้นขึ้น มีสีคล้ายๆน้ำล้างเนื้อ เรียกว่า อัมพุทท (อำ-พุด-ทะ)

จากนั้นในสัปดาห์ที่ 3 จะมีลักษณะเหมือนชิ้นเนื้อ เล็กๆ ค่อยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนสัปดาห์ที่ 5 เรียกว่า ปัญจสาขา(ปัน-จะ-สา-ขา) มีลักษณะเป็น 5 ตุ่ม คือมี หัว แขน 2 ข้าง ขา 2 ข้าง จนถึงสัปดาห์ที่ 42 ก็คลอด ออกมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับหลักการทางสูตินรีเวชจะพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับการเติบโตของมนุษย์ตามหลักการทางชีววิทยามาก มันเหมือนกันจนน่าขนลุกนะ



• แล้วทำไมหนังสือเล่มนี้จึงเขียนเป็นภาษาอังกฤษคะ

ที่เลือกเขียนเป็นภาษาอังกฤษเพราะต้องการแนะนำพระพุทธศาสนาให้แก่ฝรั่งต่างชาติ และคิดว่าหากจะนำเสนอเพื่อดึงดูดความสนใจฝรั่งก็ต้องนำเสนอ ในมุมมองที่เขาสนใจด้วย ถ้าเรานำพระไตรปิฎกมา แปลเป็นภาษาอังกฤษเขาก็จะไม่สนใจ เพราะเป็นเรื่องที่ไกลจากประสบการณ์ของเขา ที่สำคัญอาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะเนื้อหาลึกซึ้งเกินไปสำหรับเขา

โดยทั่วไปแล้วฝรั่งส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่พอสมควร และมีจำนวนไม่น้อยที่แม้จะไม่คุ้นเคยกับพุทธศาสนาแต่ก็มีความสนใจอยากรู้เรื่องพุทธศาสนา ดังนั้นถ้าเราสามารถคุยกับเขาโดย สื่อสารผ่านเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์โดยใช้ภาษาอังกฤษ เชื่อว่านอกจากจะทำให้เขาสนใจพุทธศาสนา แล้วยังทำให้เขาเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้น

ผมว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก แต่ปัจจุบันกลายเป็นมรดกของคนเพียงไม่กี่ประเทศเท่า นั้น ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ควรนำเสนอสู่สากล ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่คนทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์




• รูปแบบการนำเสนอค่อนข้างแปลก เพราะมีการ นำการ์ตูนมาอธิบายธรรมะด้วย

หนังสือเล่มนี้นำเสนอด้วยภาษาอังกฤษแบบง่ายๆ พร้อมทั้งมีรูป มีการ์ตูน และกราฟ ประกอบในแต่ละเรื่อง เช่น ถ้าพูดถึงปฏิจจสมุปบาท หรือการเวียนว่าย ตายเกิด ก็จะอธิบายด้วยรูปภาพและกราฟ เนื่องจากธรรมะเป็นเรื่องยากที่ชาวต่างชาติซึ่งไม่ได้นับถือหรือศึกษาศาสนาพุทธมาก่อนจะเข้าใจ คนที่จะสนใจหรือซาบซึ้งกับเรื่องนี้ก็จะต้องเป็นคนที่มีความสนใจเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนาตะวันออก ขณะเดียวกันคนที่ สนใจศาสนาแต่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ก็จะอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ค่อยเข้าใจ

ผมรวบรวมเรื่องจากพระสูตร จากพระไตรปิฎก ตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง แล้วพยายามเรียบเรียงเป็น เรื่องราว และอธิบายด้วย diagram หรือแผนภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด กฎแห่งกรรม ก็เขียนเป็นแผนภาพให้เข้าใจ ถ้าพูดถึงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดผมจะอธิบายเป็นโมเดลหรือแบบจำลอง เพื่อให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอนเช่นเดียวกับการนำเสนอแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ มีการอธิบายในเชิงทฤษฎี เชิงสมมติฐาน(Hypothesis)



• ตอนนี้เสียงตอบรับดีไหมคะ

ถ้ามองเฉพาะผู้อ่านต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในไทยก็ถือ ว่าเป็นหนังสือขายดีนะ แต่คงสู้หนังสือที่เจาะตลาดคน ไทยไม่ได้ เนื่องจาก DHARMODYNAMICS เขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่คนไทยไม่ถนัด อีกทั้งคนที่จะอ่านต้องสนใจทั้งธรรมะและมีความเข้าใจวิทยาศาสตร์ด้วย ทำให้กลุ่มเป้าหมายค่อนข้างแคบ

แต่ก็น่าชื่นใจนะ เพราะหลังจากที่หนังสือออกมา ผู้ หลักผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็น นายแพทย์ นักวิชาการ อย่าง ดร.ระวี ภาวิไล และอีกหลายๆท่าน ต่างก็บอกว่าชอบมาก เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เขาก็เสียดายว่าเรื่องอย่างนี้คนไทยน่าจะมีโอกาสได้รับรู้บ้าง แต่ยังติดเรื่องภาษา เพราะยังเป็นภาษาอังกฤษอยู่



• อาจารย์คิดจะแปลเป็นภาษาไทยบ้างไหมคะ

ถ้าหาสำนักพิมพ์ได้ก็น่าสนใจนะ ติดที่ว่าไม่รู้จะให้ใครแปลเพราะมันเป็นเรื่องยาก แล้วตอนนี้ผมก็ไม่ค่อยว่าง ยังติดงานวิจัยอยู่ คนที่แปลจะต้องมีความรู้ทั้งเรื่องพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญต้องภาษาอังกฤษดีด้วย คิดว่าสุดท้ายผมคงต้องแปลเอง

.......

คำตอบที่ ดร.วุฒิพงศ์ ค้นพบด้วยตัวเอง จนนำมา สู่การลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้ เรียกได้ว่า เป็นสิ่งที่มีคุณ ค่ามิใช่น้อย เชื่อว่าน่าจะทำให้ฝรั่งต่างชาติหันมาสนใจ และเข้าใจหลักธรรมในพุทธศาสนาได้มากยิ่งขึ้น ดังที่ผู้เขียนได้ตั้งใจไว้

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"


ไปข้างบน