สงบจิตสบายใจที่ "วัดป่าเชิงเลน"
พระประธานในอุโบสถวัดป่าเชิงเลน
ในขณะที่กระแสจตุคามรามเทพยังแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ หลายๆ วัดกำลังสร้างจตุคามรุ่นต่างๆ ให้ประชาชนเช่าบูชากันยกใหญ่ เงินสะพัดกันนับล้านๆ บาท แต่เมื่อเห็นหลายๆ วัดแข่งกันสร้างมากๆเข้า บางคนก็ชักจะเริ่มกังขาขึ้นมาบ้าง ว่ามันจะออกแนวพุทธพาณิชย์ที่เน้น "ศรัทธา มาร์เก็ตติ้ง" มากเกินไปหรือเปล่า เพราะตามหลักความจริงแล้ว อะไรที่มีมากเกินไปก็ไม่ค่อยจะดีเหมือนกัน
แต่สำหรับผู้ที่ต้องการความสงบจากวัดจริงๆ ต้องการเข้าวัดเพื่อฝึกสติสมาธิ และกำลังมองหาวัดที่มีบรรยากาศของการปฏิบัติธรรมจริงๆ ฉันก็ขอแนะนำ "วัดป่าเชิงเลน" วัดป่าใจกลางกรุงเทพฯ ที่ยังคงมีความสงบอยู่จริง ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักในกรุงเทพฯ
อาจจะเพราะที่ตั้งของวัดในสุดของซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ซึ่งทั้งลึกและคดเคี้ยว ความวุ่นวายพลุกพล่านต่างๆ จึงเดินทางเข้าไปไม่ถึง อีกทั้งในพื้นที่ของวัดนั้นก็นำรถเข้าไปไม่ได้ หากใครต้องการจะเข้าไปในวัดก็ต้องสละรถไว้ที่ลานจอดรถเสียก่อน แล้วจึงเดินเท้าตัวเปล่าผ่านทางเดินริมคลองเล็กๆ เข้าไปอีกประมาณ 800 เมตร จะว่าไปก็เปรียบได้กับการละกิเลสทิ้งไว้ แล้วมุ่งหน้าเข้าหาพระธรรมที่วัด
ทางเดินเข้าสู่วัด เขียวชอุ่มด้วยกอผักตบชวา
แค่เฉพาะทางเดินเข้าสู่ตัววัดนี่ฉันก็ว่าทำให้จิตใจเย็นลงได้มากแล้ว เพราะนอกจากจะมีต้นไม้ใบหญ้าร่มรื่นแล้ว ก็สองข้างทางก็ยังเป็นลำคลองที่ค่อนข้างจะใส มองเห็นปลาเข็มว่ายวนตามกันมาเป็นฝูง นอกจากลำคลองเหล่านี้แล้ว ระหว่างทางก็ยังต้องผ่านบึงใหญ่ที่เต็มไปด้วยกอผักตบชวาดูเขียวชอุ่มไปทั้งบึง กลมกลืนไปกับทางเดินไม้กระดานที่ทอดยาวสู่ประตูวัดเชิงเลน
เมื่อเดินไปตามทางเดินริมกอผักตบไปอีกไม่กี่อึดใจ ฉันก็มาถึงประตูวัดเชิงเลน หน้าประตูมีก้อนหินจำลองก้อนใหญ่ติดป้ายชื่อวัดไว้ดูสงบเรียบง่ายตั้งแต่ประตูทางเข้ากันเลยทีเดียว
บางคนอาจจะแปลกใจว่าเหตุใดจึงมีวัดป่ามาตั้งอยู่กลางกรุงเช่นนี้ สำหรับประวัติของวัดแห่งนี้ฉันได้สอบถามจากหลวงพี่รูปหนึ่งในวัดได้ความว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ ซึ่งจากการตรวจสอบอิฐและวิธีการก่อสร้างพบว่าเป็นวัดรูปแบบเดียวกับวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าวัดนี้คงมีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี แต่ด้วยความที่สถานที่ตั้งวัดนั้นล้อมรอบไปด้วยคลอง ในหน้าน้ำก็จะมีน้ำท่วมขังอยู่บ่อยครั้ง ในอดีตวัดแห่งนี้จึงชำรุดทรุดโทรมกลายเป็นวัดร้างหลายครั้ง และถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างมาเป็นร้อยปี
ศาลากลางน้ำร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่
จนในปี 2532 พระอาจารย์อุทัย (ติ๊ก) ฌานุตฺตโม พระป่าสายอีสานศิษย์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้ธุดงค์มาพบบริเวณวัดร้างนี้โดยบังเอิญ โดยเห็นเป็นบึงกว้างใหญ่ กลางบึงเป็นต้นอ้อขึ้นสูงกว่าที่อื่น ใต้พงอ้อเป็นกองอิฐปะปนอยู่ ซึ่งเป็นซากโบสถ์นั่นเอง ท่านจึงได้บูรณะวัดนี้ขึ้นใหม่จนเสร็จสมบูรณ์ลงในปี 2533
ด้วยเจตนาที่จะให้วัดนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และละกิเลสในเชิงวัตถุทั้งปวง วัดแห่งนี้จึงไม่มีการก่อสร้างอาคารอะไรใหญ่โต สิ่งปลูกสร้างต่างๆ แทรกตัวอยู่ท่ามกลางร่มไม้ ซึ่งเมื่อฉันได้เข้าเขตวัดแล้วสิ่งแรกที่รู้สึกเลยก็คือความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่น้อยเต็มทั่วทั้งวัด ซึ่งต้นไม้เหล่านี้นอกจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ท่านเจ้าอาวาสก็ได้หามาปลูกเพิ่มเติม อีกทั้งญาติโยมก็ได้นำไม้ดอกไม้ใบและกล้วยไม้ต่างๆ มาถวายที่วัด ทำให้มองไปทางไหนก็เห็นแต่สีเขียวของต้นไม้สบายตายิ่งนัก
นอกจากนั้นแล้ว สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด ซึ่งมีเพียงอุโบสถหลังเล็ก ศาลาการเปรียญ ศาลากลางน้ำ และศาลาร่วมใจซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปก็ยิ่งทำให้ความสงบเรียบง่ายนั้นเด่นชัดขึ้นมาอีก ส่วนกุฏิของพระสงฆ์ก็แยกส่วนกันอย่างชัดเจนเป็นระเบียบ
ทางเข้าสู่วัดเชิงเลน
ด้วยความที่วัดเงียบสงบอย่างนี้ฉันจึงถามพระท่านว่า ในวัดนี้มีพระอยู่กี่รูปกัน ก็ได้คำตอบมาว่า มีพระเพียง 4 รูป และเณรอีก 2 รูป เท่านั้นที่คอยดูแลวัดแห่งนี้ โดยกิจวัตรประจำวันจะเริ่มตั้งแต่ ตี 3 ของทุกวัน ฉันมื้อเดียว และจะต้องทำวัตรเย็นนั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน และผู้ที่มาที่วัดแห่งนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะมานั่งสมาธิฝึกจิตใจกันที่นี่ด้วย ซึ่งในเมื่อเป็นวัดป่าที่เคร่งในเรื่องของการปฏิบัติธรรมเช่นนี้ หลวงพี่รูปนั้นจึงบอกว่าวัดนี้คงไม่สร้างจตุคามแน่นอน
กราบลาหลวงพี่มาแล้ว ฉันจึงเข้าไปไหว้พระบนศาลาร่วมใจ ศาลาลอยน้ำซึ่งมีพระพุทธสิริสัตตราช เป็นพระประธานอยู่ด้านบน และข้างๆ กันนั้นยังมีรูปหล่อของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตและหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งเป็นพระป่าของทางภาคอีสานที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือ นอกจากนั้นก็ยังมีพระบรมธาตุ และอัฐิธาตุของพระเกจิเหล่านั้นด้วย
พระพุทธรูปในศาลาร่วมใจ
ไม่ไกลกันนัก เป็นที่ตั้งของอุโบสถขนาดค่อนข้างเล็ก ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใบไม้ ผนังทั้งสี่ด้านของโบสถ์เปิดโล่งรับลมเย็นๆ ที่พัดผ่านคลองด้านหลังวัด รอบๆ อุโบสถนี้ยังมีเสมาเก่าแก่ของวัดที่ขุดพบ และทางวัดก็ยังคงเหลือแนวอิฐเก่าที่เป็นฐานรากของโบสถ์หลังเก่าสมัยอยุธยา รวมทั้งรูปถ่ายของโบสถ์เก่าก่อนที่จะบูรณะไว้ให้เห็นด้วย
ภายในอุโบสถนี้มีพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่วัด ก่อนนี้มีพระพุทธรูปสามองค์ด้วยกัน แต่ถูกตัดเศียรไป แต่ในขณะที่บูรณะวัดก็พบว่ามีคนนำเศียรพระห่อผ้าขาวมาวางทิ้งไว้ เมื่อลองประกอบดูก็พบว่าพอดีกับองค์พระที่มีอยู่ จึงได้บูรณะขึ้นใหม่ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้นเพราะอีกสององค์ที่เหลือชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว
หลังจากกราบพระภายในอุโบสถแล้ว ฉันก็นั่งพักชมบรรยากาศภายในวัดอยู่สักครู่หนึ่ง และรู้สึกประทับใจกับความเงียบสงบของวัดแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง จนอยากจะแนะนำให้ผู้ที่ต้องการหาวัดเล็กๆ ที่ผู้คนไม่พลุกพล่าน ไม่มีสิ่งฟุ่มเฟือยเกินฐานะของความเป็นวัด อีกทั้งยังมีความสงบร่มรื่นเหมาะแก่การนั่งคิดอะไรเงียบๆ มาที่วัดป่าเชิงเลนแห่งนี้
เสมาเก่าที่ขุดพบภายในวัด
วัดป่าเชิงเลน ตั้งอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ปากซอยทางเข้าอยู่ข้างห้างแมคโครจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ที่สนใจจะทำบุญถวายภัตตาหาร ทำวัตรสวดมนต์หรือปฏิบัติภาวนา สามารถไปที่วัดได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลาประมาณ 08.00 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-2865-5645 ถึง 6
การเดินทาง วัดป่าเชิงเลนจะอยู่สุดซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ให้ขับรถตามป้ายไปจนสุดซอย จากนั้นต้องเดินไปตามทางเดินเลียบคลอง ประมาณ 800 เมตร ก็จะถึงเขตวัดป่าเชิงเลน
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"โดย คุณหนุ่มลูกทุ่ง
|