หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

“วัดสุวรรณดาราราม” งดงามจิตรกรรมพระนเรศวร


โบสถ์วัดสุวรรณดาราราม



กรุงศรีอยุธยาแม้ไม่สิ้นคนดี

...แต่กรุงศรีอยุธยาก็ย่อมมีคนเลว(เป็นธรรมดา) แถมบางคนยังเลวถึงขนาดกล้าคิดคดทรยศต่อประเทศชาติตัวเองเพียงเพื่อหวังต่อผลประโยชน์ส่วนตน จนเป็นเหตุให้เกิดการเสียกรุงฯครั้งแรกขึ้น

...แต่กรุงศรีอยุธยาย่อมไม่สิ้นคนดี เมื่อหลังจากนั้นพระนเรศวรได้รวบรวมไพร่พลทำการต่อสู้กับพม่าข้าศึกจนได้ชัยอย่างงดงาม

สยามประเทศกลับเป็นเอกราชอีกครั้ง

ส่วนพระนเรศวรได้รับการยกย่องในกาลต่อมาให้เป็น “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่อยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวสยามไปตลอดกาล ซึ่งเรื่องราว ประวัติ วีรกรรม และพระราชกรณียกิจ ของพระองค์ท่านนั้น ก็มีปรากฏอยู่ทั่วไปตามที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ


ภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม



แต่หากจะดูบันทึกเกี่ยวกับตำนานพระนเรศวรที่ออกจะแปลกและแตกต่าง ผมว่าที่ “วัดสุวรรณดาราราม” แห่งเมืองกรุงเก่า คือหนึ่งในนั้น

ความแปลกอันดับแรกคือวัดแห่งนี้หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับพระนเรศวรไม่ หากแต่เป็นวัดที่พระราชบิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย(สังเกตได้จากโบสถ์ที่มีลักษณะตกท้องช้าง) เดิมชื่อ “วัดทอง” แต่เมื่อคราวเสียกรุงวัดนี้ได้ถูกทำลายจนกลายเป็นวัดร้าง ต่อมา รัชกาลที่ 1 เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในราชวงศ์จักรี พระองค์ท่านรำลึกถึงบ้านเกิดที่อยุธยา เลยมาปฏิสังขรณ์วัดทองพร้อมพระราชทานนามใหม่ตามชื่อของพระราชบิดา (ทองดี) และพระราชมารดา (ดาวเรือง) ว่า “วัดสุวรรณดาราราม”


ภาพอัญเชิญพระอิศวรให้มาจุติเป็นพระนเรศวร



จากนั้นวัดสุวรรณฯได้มีการบูรณะเรื่อยมา กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ.2474) ได้มีการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังพระนเรศวรขึ้น ตั้งแต่พระองค์ทรงพระเยาว์ไล่ไปจนถึงบั้นปลายชีวิตขึ้นในวิหารของวัดแห่งนี้ อันถือเป็นความแปลกลำดับต่อมา

เพราะนอกจากจะเป็นการบันทึกเรื่องราวพระนเรศวรรุ่นแรกๆของไทยผ่านงานจิตกรรมฝาผนังแล้ว พระยาอนุศาสน์จิตรกร(จันทร์ จิตรกร) จิตรกรฝีมือฉมังผู้วาดภาพตามข้อมูลฯของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังใช้เทคนิคการวาดแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้กับจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพสีน้ำมันเสมือนจริงทั้งหน้าตา ร่างกาย กล้ามเนื้อ สัดส่วน และเครื่องแต่งกาย นับเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามและแปลกใหม่สำหรับยุคนั้น อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของภาพในอนุสรณ์ดอนเจดีย์ ที่สุพรรณบุรีอีกด้วย

สำหรับภาพจิตกรรมฝาผนังพระนเรศวรวัดสุวรรณฯนั้นวาดไล่เรียงกันไป โดยจุดเริ่มต้น(ภาพแรก)อยู่ตรงมุมวิหารด้านซ้ายมือหลังพระประธาน เป็นภาพที่ตัวอักษรของทางวัดระบุ พระสยามเทวาธิราชทูลอัญเชิญพระอิศวรให้มาจุติเป็นพระนเรศวร ภาพนี้จะว่าไปแล้วหากมองผ่านๆก็ไม่มีอะไรสะดุดตา แต่หากใช้หลักความขี้สงสัยในวิชาประวัติศาสตร์มาจับ หลายๆคนอาจตั้งคำถามว่า พระสยามเทวาธิราชนั้นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี่นา...แต่ทำไมไปปรากฏเป็นองค์เทพตำนานของพระนเรศวรได้เล่า


ภาพการชนไก่ระหว่างพระองค์ดำกับมังสามเกียด



เรื่องนี้หากมองกันแบบใช้หลักวิชาการจับอาจเป็นไปได้ว่า การบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ของคนในยุคนั้นอาจจะไม่ใช่การอิงกับอดีตแท้ๆ หากแต่เป็นการเจือปนความคิดแห่งยุคสมัยเข้าไปด้วยดังที่ปรากฏในภาพแรก

ส่วนถ้ามองกันแบบชาวบ้านๆ ไม่ต้องคิดลึกก็อาจเป็นไปได้ว่าคนที่เขียนอักษรกำกับในภาพนี้อาจเกิดความผิดพลาดทางข้อมูลก็เป็นได้ โดยนักประวัติศาสตร์หลายคนสันนิษฐานว่าภาพนี้น่าจะเป็นภาพพระนารายณ์ทูลอัญเชิญพระอิศวรให้มาจุติเป็นพระนเรศวรมากกว่า

เรื่องนี้คงต้องฝากให้กับนักประวัติศาสตร์สืบค้นกันต่อไป ส่วนผมขอไปดูภาพพระนเรศวรที่น่าสนใจในภาพอื่นๆต่อดีกว่า ซึ่งก็เป็นภาพพระองค์ดำหรือพระนเรศวรเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ รำกระบี่กระบองกับมังสามเกียด(พระมหาอุปราชาในวัยพระเยาว์)หน้าพระพักตร์ของบุเรงนอง แล้วต่อด้วยภาพการชนไก่ระหว่างพระองค์ดำกับมังสามเกียด ที่ถือเป็นหนึ่งในภาพคลาสสิคอันก่อให้เกิดประโยคคลาสสิคอย่าง “ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงนะ” (มังสามเกียด)... “ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่ตีพนันชนเอาเดิมพันเลย ถึงชนเอาบ้านเอาเมืองกันเมื่อไรก็ได้” (พระองค์ดำ) ซึ่งผมเชื่อว่าใครที่เคยดูหนังเรื่อง“ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ภาคแรก ตอนองค์ประกันหงสา คงจะจำฉากการชนไก่ระหว่างพระองค์ดำกับมังสามเกียดได้ดี


ภาพทรงม้าใช้ทวนแทงลักไวทำมูตกม้า



ต่อจากนั้นก็เป็นภาพพระนเรศวรตอนเจริญพระวัย อาทิ ภาพทรงเรือตามพระยาจีนจันตุทรงตีเมืองคัง ภาพทรงม้าใช้ทวนแทงลักไวทำมูตกม้า ภาพหลั่งน้ำประกาศอิสรภาพ ภาพทรงพระสุบินปราบจระเข้ ภาพการทำศึกสงครามตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงภาพสุดท้ายคือภาพขบวนแห่พระศพของพระนเรศวรหลังการสิ้นพระชนม์เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาฯท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของไพร่ฟ้าประชาชน

ส่วนภาพที่ยังเป็นข้อกังขาและข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ก็คือ ภาพพระนเรศวรใช้น้ำจากบาตรล้างเท้าเพื่อกระทำการประหารพระยาละแวก ที่ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ระบุว่า พระนเรศวรแม้จะตีเมืองละแวกได้ แต่ก็ไม่ได้ประหารพระยาละแวก เพราะมีหลักฐานว่าพระยาละแวกหนีไปอยู่ลาวก่อนที่กองทัพพระนเรศวรจะเสด็จไปถึงยังเมืองละแวก ซึ่งภาพที่เห็นดูค่อนข้างขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ยุคใหม่ไม่น้อยทีเดียว


ภาพการประหารพระยาละแวก



จากภาพชวนกังขา ผมว่าสลับอารมณ์ไปชมภาพที่ถือเป็นดังไฮไลท์ในวิหารแห่งนี้กันดีกว่า ซึ่งก็คือ ภาพการทำยุทธหัตถีระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา ที่ผนังด้านหน้าเหนือประตูทางเข้าวิหาร ตรงข้ามกับพระประธาน

ภาพนี้มีความพิเศษโดดเด่นตรงที่เป็นภาพขนาดใหญ่สวยงาม เห็นรายละเอียดการรบทัพจับศึกอย่างชัดเจน ส่วนสิ่งที่ชวนสังเกตในภาพยุทธหัตถีก็คือ ช้างทรงของทั้ง 2 กษัตริย์นั้น จันทร์ จิตรกรวาดออกมาแบบไม่มีเครื่องทรงช้างหรือเครื่องผูกของช้างจอมพล ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายๆคนบอกว่านี่แหละคือสิ่งที่ถูกต้อง เพราะยามรบกัน(จริงๆ)ถ้ามีเครื่องผูกช้างก็จะเกะกะมาก ผิดวิสัยการรบ

ภาพการทำยุทธหัตถีนี้นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ปรากฏและคุ้นเคยต่อสายตาสาธารณะชนทั่วไปมาช้านาน แต่ว่าหลายๆคนไม่รู้ว่าภาพจริงดั้งเดิมนั้นอยู่วิหารวัดสุวรรณดารารามแห่งนี้ ที่แม้เวลาจะล่วงผ่านมา 76 ปีแล้วแต่ภาพบันทึกเรื่องราวพระนเรศวรทั้งหมดในวัดสุวรรณฯยังคงความอมตะและความขลังอยู่ไม่เสื่อมคลาย


ภาพการทำยุทธหัตถีระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาในวิหารวัดสุวรรณดาราราม



หลังเพลินตาจุใจกับการเดินชมบันทึกเรื่องราวพระนเรศวรผ่านงานจิตกรรมฝาผนัง ผมก็อดนึกย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์เมื่อคราวเสียกรุงฯครั้งแรกไม่ได้(หนังเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรถือเป็นตัวช่วยในการทบทวนความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เสียกรุงฯได้เป็นอย่างดี)

เหตุการณ์ครั้งนั้นนอกจากจะเป็นบันทึกสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังให้อุทาหรณ์สอนใจคนรุ่นหลังด้วยว่า สาเหตุสำคัญของการเสียกรุงฯครั้งแรกนั้น เกิดจากความละโมบโลภมากของคนไทยบางคน(ออกยาจักรี) ถึงขนาดยอมคิดคดทรยศขายชาติ(แอบ)เปิดประตูเมืองให้กับพม่าข้าศึก เข้ามาตีเมืองของตัวเอง จนนำไปสู่การเสียกรุงฯครั้งแรกในที่สุด ก่อนที่พระนเรศวรท่านจะใช้ความเพียรพยายามต่อสู้กอบกู้กลับคืนมาได้อย่างยากลำบาก

***********************

วัดสุวรรณดาราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ตั้งอยู่ริมป้อมเพชร หมู่ 1 ถ.อู่ทอง ใน ต.หอรัตนไชย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โทร.0-3524-3313

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"โดย คุณปิ่น บุตรี


ไปข้างบน