พลวัตรความเชื่อ พุทธ-ผี และ “จตุคาม”
เป็นที่รู้กันว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็น “สัตว์สังคม” มีวิถีการดำเนินชีวิตในรูปแบบของการอยู่เป็นกลุ่มก้อน ใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งท่ามกลางคนหมู่มากในสังคมนั้น จำเป็นจะต้องมีแกนกลางเพื่อรวมศูนย์สังคมให้เป็นหนึ่งเดียว และเป็นเสมือนธงและกงล้อ ในการขับเคลื่อนสังคมไปในทางเดียวกันอย่างมีจุดหมายอย่างไม่แตกแยก ซึ่งหนึ่งในแกนนั้นก็คือ “ความเชื่อ”
เมื่อวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสความรุนแรงของการชุมนุมไล่คมช. ที่สนามหลวง แต่ที่มุมเล็กๆ ในร้านหนังสือ “ริมขอบฟ้า” บนถนนสายการเมืองอย่าง “ราชดำเนิน” ได้มีการจัดเสวนาน่ารู้ ด้วยมูลนิธิเล็ก –ประไพ วิริยะพันธุ์ ในหัวข้อ “ผีกับพุทธ ศาสนาของไทย” โดยมีนักประวัติศาสตร์ผู้มากความสามารถอย่าง “รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม” รับหน้าที่ผู้บรรยายเผยแพร่ความรู้ในครั้งนี้
“จริงๆ แล้วสังคมไทยนี่อยู่ด้วยความเชื่อนะครับ” รศ.ศรีศักรเปิดประเด็นก่อนจะกล่าวต่อไปว่า พื้นฐานของมนุษย์แต่ยุคโบราณมาแล้ว เป็นสัตว์สังคม จะอยู่รวมกันเป็นสังคม ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวได้ แต่เมื่อรวมตัวกันเป็นสังคมแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีแกนหลักที่เป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นที่ยึดเหนี่ยวและเป็นเสมือนกติกาของสังคมด้วย แต่ในระยะหลังมานี้คนไทยต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงของชีวิต ทั้งจากปัญหาพิษเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่แตกเมื่อพ.ศ.2540 ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรง ปัญหาการเมือง ปัญหาความมั่นคงในชีวิต เหล่านี้ทำให้จิตใจคนไทยทุกวันนี้ขาดที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว จึงต้องหันหน้าไปพึ่งพาความเชื่อแทน”
• บทบาทพุทธ-ผีในสังคมไทย
รศ.ศรีศักรอธิบายต่อไปอีกว่า สำหรับบทบาทความเชื่อในสังคมไทยอันที่เป็นที่พึ่งทางใจของสังคมนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ ก็คือ “แนวทางพุทธ” หรือทางศาสนา และ “แนวทางผี” หรือไสยศาสตร์ นั่นเอง แต่โดยพื้นฐานของสังคมไทยนั้น นับแต่โบราณมาแล้ว ผีกับพุทธก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน เนื่องด้วยความเชื่อทางผีหรือไสยศาสตร์นั้นยอมสงบอยู่ใต้พระพุทธศาสนาและกรอบจารีตประเพณี ซึ่งในส่วนบทบาทของพุทธศาสนาที่มีต่อจิตใจของมนุษย์นั้น ด้วยเพราะศาสนาสามารถตอบสนองความทุกข์ทางจิตใจ และเป็นแกนหลักในการกำหนดกรอบจารีตประเพณีที่ทำให้มนุษย์ผู้อยู่ร่วมกันในสังคมมีกติกา
“แต่ไม่ใช่ว่าสังคมไทยจะยึดบทบาทพุทธในการดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนสังคมแต่เพียงอย่างเดียว แต่เรายังมีความเชื่ออื่นอีกที่มนุษย์ในสังคมยอมรับ แบบเดียวกับเชิงเทคโนโลยี นั่นคือไสยศาสตร์ ที่ว่าไสยศาสตร์เหมือนกับเทคโนโลยีก็เพราะมันเป็นดาบสองคม มีขาวมีดำ เช่นพิธีพราหมณ์เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล หรือการทำเสน่ห์ยาแฝดที่เป็นไสยดำ”
นักวิชาการประวัติศาสตร์ท่านนี้ได้อธิบายถึงความต่างระหว่างบทบาทความเชื่อของพุทธและผีว่า ไสยศาสตร์เป็นความเชื่อแบบปัจเจกบุคคลที่แต่ละคนจะนำไปใช้ แต่ในขณะที่ศาสนาเป็นเรื่องของการสยบคนหมู่มากให้อยู่ใต้กฎกติกาเดียวกัน ในขณะที่พุทธเป็นแนวทางจิตวิญญาณ แต่ไสยศาสตร์กลับเป็นแนวทางที่บางคนเลือกไปปฏิบัติเท่านั้น
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม
• ว่าด้วยศรัทธานอกเขตเมือง
รศ.ศรีศักรบอกกล่าวถึงคุณลักษณะและนิสัยของสังคมชนบทว่า เป็นสังคมที่ไร้ความเครียด เพราะชีวิตชนบทเป็นชีวิตที่ใกล้วัดและใกล้ผี มีแก่นความเชื่อที่กลมกลืนทางจิตวิญญาณ เป็นสังคมที่มีความกลมกลืนสูงระหว่างพุทธและไสย และแม้ความเชื่อของคนชนบทจะบางสัดส่วนครึ่งๆ ระหว่างพุทธกับผี แต่ผีในชนบทสามารถอยู่ร่วมกับพุทธได้ และผีก็ยอมสยบอยู่ใต้พุทธอย่างกลมกลืน พระสงฆ์ในชนบทเอง ในบางครั้งก็ขับเคลื่อนชุมชนด้วยผี และในขณะที่คนเมืองพยายามไขว่คว้าหาศรัทธากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เรื่อยๆ แต่ความเชื่อของคนชนบทกลับอยู่เท่าเดิม กับผีแบบเดิมๆ ที่ไม่มีท่าทีว่าจะเพิ่มการนับถือผีตนอื่นๆ
“ผีในชนบทตั้งแต่โบราณจนกระทั่งทุกวันนี้ก็เป็นแบบเดิม ผีเป็นระบบความเชื่อที่มีมานาน ชีวิตคนชนบทจะเกาะเกี่ยวกับผี พระสงฆ์ในชนบทเองก็ต้องรู้กาละ คือกาละไหนจะใช้พุทธ หรือกาละไหนจะใช้ผี ตามปกติชีวิตเขาจะผูกพันอยู่กับวัด เรียนในวัด ทำบุญในวัด แต่เมื่อป่วยเขาจะต้องไปหาผี แถมผียังเป็นเครื่องมือความเชื่อที่ชาวชนบทใช้ในการรักษาดูแลทรัพยากรธรรมชาติด้วย เช่นผีน้ำ ผีป่า เพื่อเป็นเครื่องกำหนดมิให้คนมาใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินตัว ในขณะที่ในบ้านก็จะมีผีเรือน ผีบ้าน ที่เป็นผีปู่ย่า ซึ่งถือกันว่าเป็นบรรพบุรุษคนรุ่นก่อนที่เสียชีวิตลงแล้วมาเป็นวิญญาณปกปักรักษาลูกหลาน แล้วก็ผีเมือง ผีเมืองนี่เชื่อกันว่าเป็นผีชั้นสูง เป็นเจ้านาย เป็นเจ้าเมืองที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วกลายเป็นผีปกปักรักษาเมือง” อ.ศรีศักรแจกแจง
วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ
• “จตุคาม” พลวัตศรัทธาสู่ความงมงาย
รศ.ศรีศักรกล่าวว่า ในปัจจุบันด้วยวิกฤติทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทำให้ประชาชนชาวไทยขาดความเชื่อมั่นจนต้องหันมาพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ที่น่าวิตกก็คือแก่นทางจิตวิญญาณของพุทธที่แท้กลับถูกละเลย ซ้ำเทรนด์ความเชื่อของสังคมกลับเบนมาให้ความสำคัญกับคุณไสยในสัดส่วนตาชั่งที่ค่อนข้างจะเอียงไปด้านเดียว
“ในประเด็นนี้มีการพูดถึงปรากฏการณ์ จตุคามรามเทพกันมากทีเดียว ด้วยเพราะกระแสความนิยมและความศรัทธาในขณะนี้พุ่งไปที่องค์จตุคามมากกว่าอย่างอื่น”
นักวิชาการประวัติศาสตร์ท่านนี้กล่าวต่ออีกว่า มูลเหตุแห่งการเกิดจตุคามรามเทพแต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น ในความเป็นจริงแล้วตั้งอยู่บนพื้นฐานของความดีงาม เพราะผู้สร้างนี้ก็หวังจะให้เป็นมงคลต่อตัวผู้นำไปบูชา แต่เมื่อมีกระแสแบบปากต่อปาก รวมถึงการประโคมความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง คนที่กำลังหาที่พึ่งทางใจและต้องการหาที่วางของความศรัทธาและความเชื่อ ก็หันมามองที่องค์จตุคามกันเป็นตาเดียว ทำให้จากที่ความตั้งใจเดิมที่ทำขึ้นก็เพื่อให้เกิดสิริมงคลต่อตัวผู้บูชา บิดเบนจนกลายเป็นการบูชาเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวย
“ถ้ามีกูแล้วมึงไม่จน อันนี้เป็นคุณไสย ถ้าจะให้เป็นพุทธ จะต้องเปลี่ยนความเชื่อเป็น มีกูแล้วมึงไม่โกง…และที่วันนี้กระแสความศรัทธาต่อจตุคามเปลี่ยนไปในแนวของไสยศาสตร์นั้น แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทุกวันนี้อ่อนแอลงและมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้น และหากเปรียบเทียบเรื่องความเชื่อในไสยศาสตร์ระหว่างเขตเมืองใหญ่ เมืองหลวง และชนบทนั้น จากเดิมที่คนเมืองมองว่าคนชนบทงมงาย มีการนับถือผี แต่ในวันนี้ในเมืองหลวง เมืองใหญ่เสียอีก ที่หันกลับไปพึ่งพาผีมากขึ้นกว่าคนชนบท ”
• “แก้บน” แนวใหม่ “ม้าลาย” อินเทรนด์
จากช้าง ม้า ไก่ชน เหล่านี้ล้วนเป็นตุ๊กตาสัตว์ที่นิยมนำมาแก้บน ด้วยความเชื่อว่าเป็นพาหนะของเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ บ้าง เป็นบริวารบ้าง หรือเป็นของชอบของท่านบ้าง แต่ในระยะหลังมานี้ รศ.ศรีศักรได้ทิ้งท้ายเทรนด์สัตว์แก้บนชนิดใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม ชนิดร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ไปจนถึงร้านจำหน่ายศาลพระภูมิต้องมีติดร้านเผื่อมีลูกค้ามาถามหาอยู่เสมอ นั่นก็คือ “ตุ๊กตาม้าลาย” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แก้บนที่ค่อนข้างใหม่
นักวิชาการประวัติศาสตร์ผู้มากความสามารถอย่าง รศ.ศรีศักรได้อธิบายปรากฏการณ์นี้เอาไว้อย่างสมเหตุสมผลว่าจากที่เห็นมีผู้คนพากันนำตุ๊กตาม้าลายไปบูชาตามศาลต่างๆ โดยเฉพาะศาลริมถนนนั้น เป็นเพราะอิทธิพลความเชื่ออันมาจากสัญลักษณ์ เพราะม้าลายก็คือสัญลักษณ์แห่งความปลอดภัยของท้องถนนและการใช้รถใช้ถนนในทุกวันนี้นั่นเอง
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|