หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ศิลปะบนจตุคามฯ ความงามที่มาคู่กับความศรัทธา


ช่างเม้า-ประชา สมจิตร



อภินิหารขององค์จตุคามที่กลับมาช่วยชาติในวันนี้คือการจุดประกายให้เศรษฐกิจที่กำลังซบเซาอยู่ได้ฟื้นตัวขึ้นมา ใครที่เกาะเกี่ยวคลื่นกระแสจตุคามฯ ฟีเวอร์ต่างร่ำรวยกันเป็นแถว เมื่อก่อนนี้จตุคามดังๆ แต่ละรุ่นที่ออกมาสู่ท้องตลาดนั้นจะต้องมีเกจิชื่อดัง-มวลสารดี-พิธีศักดิ์สิทธิ์ แต่หลังจากรุ่น "โคตรเศรษฐี" ไปจนถึงรุ่น "ราชันดำ" ที่เน้นการออกแบบพิมพ์สวยงาม กลับโดนใจเซียนพระถึงขนาดแห่เช่ากันหมดภายในพริบตา จากนี้ไปจตุคามกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคของศิลปะการออกแบบที่วิจิตรงดงาม และไม่แน่ว่าสักวันจตุคามอาจจะกลายเป็นงานศิลปะที่นักสะสมทั้งหลายต้องตามเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็เป็นได้



• กระแสจตุคามรามเทพ

ในท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจกำลังซบเซาเช่นตอนนี้ คนค้าขายบ่นกันเป็นแถวว่าขายของแทบไม่ได้เลยเพราะคนไม่มีเงินและคนไม่กล้าใช้เงิน แต่ต้องยอมรับว่ากระแสองค์จตุคามรามเทพมาช่วยต่อลมหายใจทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยทีเดียว

กระแสคลั่งจตุคามรามเทพลุกลามยิ่งกว่ากองเพลิงยามถูกเติมเชื้อด้วยน้ำมันเสียอีก เพราะทุกวันนี้มีทั้งวัด สมาคม หน่วยงานราชการ และส่วนบุคคลต่างลุกขึ้นมาประกาศสร้างเป็นรายวันไปเสียแล้ว

วิเคราะห์กันว่าการสร้างจตุคามแต่ละรุ่นจะมีเงินรายได้หมุนเวียนประมาณ 10-100 ล้านบาท เงินเหล่านี้กระจายไปเข้ากระเป๋าตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงพ่อค้า เรียกได้ว่าตอนนี้ถ้าใครพลิกตัวเกาะเกี่ยวกับกระแสจตุคามได้แล้ว เงินทองจะไหลมาเทมาไม่ขาดมือ

ตัวอย่างที่เห็นๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าบรรดาเกจิอาจารย์หรือพระชื่อดังที่ทำพิธีปลุกเสก ต่างตบเท้าได้รับผลประโยชน์กันเป็นทิวแถว อย่าง โกผ่อง และ อ.จวบ คงเหลือ เกจิชื่อดัง กลายเป็นคน "คิวทอง" เดินสายไม่หยุดหย่อน ถ้าไม่ได้คิว 2 อาจารย์นี้ก็มีเกจิชั้นรองๆ มาอีกหลายคนให้เลือกหา หลายรายหาคิวอาจารย์ดังไม่ค่อยได้ก็เริ่มหันไปมองหาคนดังในสังคมรวมถึงดาราไปเข้าร่วมในพิธีปลุกเสกเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและดึงดูดให้กับประชาชน

รวมไปถึงจังหวัดที่เป็นต้นน้ำของจตุคามรามเทพอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะเป็นหนึ่งในสถานที่ๆ จะต้องมาทำพิธีปลุกเสกจตุคามทุกรุ่น โดยเฉพาะที่ศาลหลักเมืองนครฯ อันเป็นสถานที่ปลุกเสกองค์จตุคามตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อเป็นการยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้คิวจองสถานที่ศาลหลักเมืองนครฯ ยาวเหยียดไปจนถึงสิ้นปีแล้ว จนต้องจัดสรรเวลาเช่าสถานที่เพื่อทำพิธีปลุกเสกวันละ 2 รอบ โดยแต่ละรอบสนนราคาจองไว้ประมาณ 50,000 บาท

ถามถึงเรื่องอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ต่อองค์จตุคามนั้นบางคนก็เชื่อบางคนก็ไม่เชื่อ แต่เด็กวัยรุ่นในจังหวัดนครศรีฯ ศรัทธาขนาดเปลี่ยนพฤติกรรมกันทั้งเมืองจากที่เคยขับรถสนุกไปวันๆ หันมายึดอาชีพขับรถส่งจตุคามหรือตั้งร้านรับปัดทองกันทั้งเมือง

กระแสจตุคามรามเทพฟีเวอร์ ไม่ได้อยู่เพียงแค่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ยังคงแผ่ขยายไปทุกย่อมหญ้า ตั้งแต่ร้านริมทางจนถึงศูนย์พระใหญ่ๆ ล้วนมีผู้มีจิตศรัทธาเดินเข้าออกไปจองพระกันแน่นขนัด เล่ากันว่าทุกวันนี้โรงงานหล่อพระและโรงงานทำกล่องบรรจุพระรับงานผลิตจตุคามฯ กันเต็มมือจนต้องเริ่มผลิตกันตลอด 24 ชั่วโมงและมีงานล้นไปถึง 5 ปีก็ยังผลิตไม่หมด

ลามไปถึง "ใบจอง" จตุคามรุ่นดังๆ สามารถปั่นให้สูงลิ่วได้อีกเป็นเท่าตัว เหมือนกับครั้งหนึ่งที่มีการปั่นใบจองรถยนต์ฮอนด้าเช่นกัน


อ.สมพงศ์ ปัญญาวงศ์



• ศิลปะบนองค์จตุคามรามเทพ

องค์จตุคามรามเทพเพิ่งถือกำเนิดมาไม่ถึง 10 ปี โดยก่อนหน้านั้นมีอยู่เพียงไม่กี่รุ่น แต่มาช่วงกลางปี 2549 เริ่มเกิดเป็นกระแสฟีเวอร์ขึ้นมาจึงมีการสร้างกันขึ้นมามากผิดปกติ จนแทบจะจำกันไม่ได้ว่ารุ่นไหนชื่ออะไรกันบ้าง

อีกอาชีพหนึ่งที่พลอยฟ้าพลอยฝนไปกับกระแสร้อนแรงนี้คือ "ช่างปั้นและออกแบบ" องค์จตุคาม ที่ทุกวันนี้มีงานจนล้นมือเช่นกัน

แต่เดิมการสร้างจตุคามแต่ละรุ่นจะเน้นเรื่องความขลังของมวลสาร เกจิอาจารย์ที่ปลุกเสก แต่ ณ วันนี้ จตุคามรามเทพเริ่มเข้าสู่ยุคของความงดงามด้านศิลป์แล้ว เพราะคนเช่าจำนวนไม่น้อยที่เริ่มมองไปที่ความสวยงามในการออกแบบ หรือที่เรียกว่า "พุทธศิลป์" มากขึ้น โดยเฉพาะการออกแบบด้วยลวดลายใหม่ๆ เน้นความสวยงามประณีตก็จะยิ่งทำให้จตุคามรามเทพเป็นที่นิยมมากขึ้น

สนนราคาจ้างช่างปั้นจตุคามนั้นเริ่มตั้งแต่ 3 หมื่นบาทไปจนถึงหลักล้านบาท ขณะที่แต่เดิมช่างปั้นเหล่านี้เคยปั้นพระพุทธรูปได้ค่าแรงครั้งละ 3 พันบาทเท่านั้น


ศ.ธนะ เลาหกัยกุล



• "ช่างเม้า" ชีวิตเปลี่ยนไป

ประชา สมจิตร หรือ "ช่างเม้า" เด็กหนุ่มจากอาชีวศิลป์อุบลมาใช้ชีวิตเป็นช่างแกะพระอยู่ในกรุงเทพฯกว่า 20 ปีแล้ว รับจ้างออกแบบและปั้นพระพุทธรูปสารพัดแบบ ตั้งแต่ขนาดใหญ่เท่าองค์พระประธานจนถึงเล็กเท่าหัวไม้ขีด แต่ก็คงยังมีชี่ออยู่ในระดับสายการผลิตเท่านั้น จนกระทั่งวันที่ได้มีโอกาสมาปั้นองค์จตุคามรามเทพทำให้ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนแปลงไป

ช่างเม้าเล่าให้ฟังว่า ได้เริ่มปั้นจตุคามรามเทพครั้งแรกเมื่อประมาณปลายปี 2549

ตอนนั้นกระแสจตุคามฯ ยังคงดังอยู่ในกลุ่มของเซียนพระ เขาได้ยินข่าวว่าใครปั้นแล้วจะโชคดีก็เลยอยากลองปั้นบ้าง และในที่สุดเขาก็ได้งานออกแบบปั้นจุตคามรุ่นนราธิวาสเป็นครั้งแรก แต่รุ่นนั้นไม่หวือหวาตูมตามเท่าไหร่ จนมาออกแบบรุ่นโคตรเศรษฐี, รุ่นรวยไม่เลิก, รุ่นปาฎิหาริย์มั่งมีทรัพย์ และรุ่นราชันดำหันข้าง ส่งผลให้ชื่อของช่างเม้าติดทำเนียบในอันดับแรกของคนออกแบบจตุคาม เพราะความงดงามของทุกรุ่นที่เขาออกแบบล้วนโดนใจเซียนพระ จนกลายเป็นรุ่นที่ฮิตติดตลาดมากที่สุด

เพียงแค่ระยะเวลาไม่ถึงปี ท่านพ่อจตุคามรามเทพก็ได้ส่งผลให้ช่างปั้นธรรมดาคนหนึ่งกลายมาเป็นช่างปั้นระดับมือหนึ่งของประเทศ และที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดคือจากชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ทำงานไม่มีเงินเก็บ ทำงานได้พอใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ แต่ตอนนี้ชีวิตของเขาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น มีงานปั้นหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย

ด้วยสไตล์การออกแบบที่ไม่เหมือนใคร เรียกได้ว่าช่างเม้าเป็นคนแรกที่พยายามฉีกแนวการออกแบบจตุคามในรูปแบบเดิมๆ ให้มีความงดงามทางพุทธศิลป์เข้าไปด้วย




• จากโคตรเศรษฐี ถึง ราชันดำ

ก่อนที่ช่างเม้าจะลงมือออกแบบองค์จตุคามรามเทพ เขาจะต้องไปศึกษาประวัติของท่านว่ามีที่มาอย่างไร ตามตำนานที่ปรากฏทำให้สืบทราบได้ว่า ท่านคือผู้ที่คอยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัย เพราะจากหลักฐานที่พระธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีรูปปั้นของท่านอยู่ตรงบันไดทางขึ้น ก็พอจะอนุมานได้ว่าท่านภาวนาตัวอฐิษฐานจิตเป็นพระโพธิสัตว์มีฐานะเป็นชั้นเทพนั่นเอง

ช่างเม้าเปิดเผยว่า ครั้งแรกเคยมีคนมาจ้างให้ปั้นองค์จตุคามรามเทพซึ่งเป็นรุ่น "นราธิวาส" แต่ก็ไม่โดนใจเซียนพระเท่าไหร่ โดยช่างเม้าได้ให้เหตุผลว่ารุ่นนั้นเป็นรุ่นที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนดรูปแบบมาทั้งหมด ไม่ได้ปล่อยให้เขาได้มีความคิดสร้างสรรค์ที่เขียนแบบเพื่อสร้างองค์พ่อจตุคาม

หลังจากนั้นไม่นานจึงมีกลุ่มนายทุนอีกกลุ่มหนึ่งมาว่าจ้างให้ช่างเม้าออกแบบและปั้นองค์จตุคามรุ่น "โคตรเศรษฐี" โดยปล่อยให้เขาใช้ความคิดอิสระในการออกแบบได้อย่างเต็มที่ และรุ่นนั้นเองที่ทำให้ทั้งช่างเม้าและผู้ว่าจ้างมีชื่อติดอยู่ในวงการจตุคามขึ้นมาในทันที ด้วยความที่รูปแบบขององค์จตุคามรุ่นนี้ที่ฉีกแนวไม่เหมือนใคร

ช่างเม้าอธิบายถึงจุดเด่นของรุ่นโคตรเศรษฐีที่กลายเป็นพิมพ์นิยมของรุ่นอื่นๆ ตามมาว่า ด้านหลังจะเป็นเจดีย์ของพระธาตุ ด้านหน้าจะมีงูเป็นบริวารที่คอยปกปักรักษาพระองค์ เพราะที่ผ่านมาจะเป็นราหู 8 ตัวล้อมรอบองค์ท่านตลอด และที่เห็นได้ชัดเจนคือพระพักต์ของท่านจะดูมีเมตตา อ่อนโยนให้ความหมายถึงความเมตตาต่อสรรพสัตว์ ส่วนงูแสดงถึงความดุร้ายซึ่งจะขัดแย้งในเรื่องขององค์ประกอบทางศิลปะ

"การออกแบบรุ่นโคตรเศรษฐีนี้ ผมต้องการฉีกแนวออกไปจากอดีตทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เคารพครูบาอาจารย์ แต่ผมต้องการให้มีการพัฒนาฝีมือขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะถ้าทำให้องค์ท่านมีความอ่อนโยนทั้งหมดไม่มีความขัดแย้งในองค์ประกอบก็จะทำให้รู้สึกเลี่ยนเกินไป และถ้าใส่เครื่องประดับมากเกินไปจะทำให้ดูรุงรัง" ช่างเม้าให้เหตุผล

เมื่อรุ่นโคตรเศรษฐีปรากฏบนแผงพระก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ยอดใบจองหมดภายใน 2 สัปดาห์เท่านั้น ผลงานถัดมาของเขาคือ "รุ่นรวยไม่เลิก" ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานประติมากรรมนูนสูงที่มีความลงตัวมากที่สุดในองค์ประกอบด้านศิลปะ

ลักษณะขององค์จตุคามรุ่นนี้มีความงดงามและสง่างามมาก เป็นท่านั่งประทับบนบัลลังก์ อยู่ในประพามณฑลล้อมลอมด้วยกลีบบัว ที่แตกต่างคือด้านหลังได้เปลี่ยนจากราหูอมจันทร์ที่นิยมออกแบบกันทั่วๆ ไปมาเป็นราหูคลายจันทร์ ซึ่งช่างเม้าให้ความหมายว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาว่าชีวิตคนเราก็มีขึ้นและลงสลับกันไป

รุ่นราชันดำหรือเจ้าแห่งท้องทะเลเป็นรุ่นถัดมาที่เขาได้ออกแบบ และรุ่นนี้เองที่นับได้ว่าส่งให้ชื่อช่างเม้าทะยานขึ้นสู่ทำเนียบช่างออกแบบจตุคามแถวหน้าอย่างเต็มตัวชื่อช่างเม้าติดปากเซียนพระทั้งเมือง เพราะผลตอบรับในรุ่นนี้หมดภายใน 2 วันเท่านั้น

ช่างเม้าเปิดเผยที่มาของการออกแบบรุ่นราชันดำว่าเดิมมีคนออกแบบมาแล้วแต่ยอดจองไม่พุ่ง คณะผู้จัดทำจึงต้องมาจ้างให้เขาออกแบบใหม่อีกครั้ง

รุ่นราชันดำหลังจากแปลงโฉมใหม่ด้วยฝีมือของช่างเม้าแล้ว มีลักษณะเป็นภาพพอร์เทรตคือเน้นแค่พระเศียรหันข้าง 45องศา โดยช่างเม้าให้เหตุผลว่าการที่ทำเป็นภาพครึ่งตัวเพราะต้องการแสดงออกถึงสีหน้า แววตา และอารมณ์ทางใบหน้าของท่านด้วยการให้มีพระพักต์ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ทำให้คนกราบไหว้รู้สึกอิ่มใจเวลากราบไหว้ในยามที่ไร้ที่พึ่ง

และที่สำคัญที่เขาพยายามจะสอดแทรกในผลงานการออกแบจตุคามมาโดยตลอดคือ การนำพระพุทธรูปมาใส่ไว้ที่เศียรขององค์จตุคามรามเทพทุกองค์ที่เขาออกแบบ เพื่อเตือนใจให้ทุกคนระลึกถึงแนวทางศาสนาพุทธที่สอนเรื่อง "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" มากกว่าที่จะไปเชื่อเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์




• ศิลปินต้องกล้าแตกต่าง

อ.สมพงศ์ ปัญญาวงศ์ อาจารย์ประจำแผนกประติมากรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นอีกหนึ่งคนที่สนใจและรักงานประติมากรรมเป็นชีวิตจิตใจ ด้วยการอุทิศตนสอนลูกศิษย์มาถึง 17 ปี

แล้วในวันหนึ่งชีวิตของ อ.สมพงศ์ก็ได้มาผูกพันกับจตุคาม โดยมีผู้มาว่าจ้างให้ อ.สมพงศ์ออกแบบจตุคามรุ่น "ทรัพย์ราชัน" โดยต้องการให้รุ่นนี้ท่านพ่อจตุคามมี 3 เศียร ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ให้อ.สมพงศ์สามารถสร้างสรรค์ได้ตามใจชอบ

อ.สมพงศ์ได้นำหลักการทางศิลปะมาใช้ในการออกแบบเพื่อให้เกิดความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการจัดองค์ประกอบเศียรขององค์จตุคาม 3 เศียรซึ่งต้องใช้เส้นขอบเพื่อไม่ให้รูปแบบกระจาย และการนำเครื่องประดับสมัยอาณาจักรศรีวิชัยมาประดับที่องค์ท่านให้ดูสง่างาม รวมไปถึงการนำสุริยันและจันทรามาใส่ไว้ เพื่อเป็นการบ่งบอกแนวความคิดของพระพุทธศาสนาว่าชีวิตเมื่อมีมืดก็ต้องมีสว่าง

"ทรัพย์ราชัน" ผลงานการสร้างสรรค์ศิลปะบนองค์จตุคามครั้งแรกของพ่อพิมพ์ศิลปะอย่างอาจารย์สมพงศ์ ซึ่งรุ่นทรัพย์ราชันถือได้ว่าเป็นการนำแนวความคิดที่ต่างจากรุ่นโคตรเศรษฐีมาใช้อย่างสิ้นเชิง

ความงดงามทางศิลปะของรุ่น "ทรัพย์ราชัน" เมื่อได้ออกสู่สายตาบรรดาเซียนถือได้ว่าได้รับการต้อนรับจากตลาดเป็นอย่างดี ส่งผลให้ อ.สมพงศ์ ก็มีงานปั้นจตุคามเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นมั่งมีเงินทอง, มหาเศรษฐีมั่งมีทรัพย์ โดยแต่ละรุ่นนั้น อ.สมพงศ์พยายามที่จะนำวิชาการทางศิลปะที่ตัวเองได้ร่ำเรียนมาใช้ เพื่อสร้างสรรค์ศิลปะบนองค์จตุคามฯ ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าศิลปะไม่มีวันตาย


เทวรูปจตุคามรามเทพ



• ผู้ปิดทองหลังพระ

ศิลปินเมื่อผลิตผลงานออกมามักจะได้รับการจารึกชื่อไว้บนผลงานของตัวเองทุกชิ้น แต่สำหรับงานศิลปะบนจตุคามแล้ว ศิลปินหรือช่างที่รังสรรค์ความงดงามนั้นกลับกลายคนปิดทองหลังพระ

"อาชีพช่างปั้นเหมือนปิดทองหลังพระ เพราะตอนนี้เขาทำธุรกิจกันไม่ได้คำนึงถึงงานศิลปะ คนจ้างได้เงินแต่เราก็ยังคงนั่งปั้นต่อไป" อ.สมพงศ์กล่าว

ทั้งนี้เพราะงานออกแบบจตุคามทุกชิ้นที่ อ.สมพงศ์ได้รังสรรค์ขึ้นมานั้น เรียกได้ว่าแลกกับค่าจ้างจริงๆ คือเมื่อผู้จ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้แล้วรับผลงานไป ถือว่าจบงานกัน ไม่มีแม้แต่จะให้ผลงานที่เขาออกแบบเป็นที่ระลึก

"ลูกศิษย์บางคนพอรู้ว่าเราเป็นคนปั้นจตุคามรามเทพรุ่นนั้น รุ่นนี้ก็อยากจะขอเราบ้าง แต่เพราะคนที่เขามาจ้างเราปั้นนั้นแม้แต่จตุคามสักองค์ก็ยังไม่เก็บไว้ให้เราที่เป็นคนออกแบบเลย ถือว่าเราขายผลงานไปแล้วก็แล้วกันไป"

ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าช่างที่ปั้นจตุคามฯ เหมือนกับผู้ที่ปิดทองหลังพระแต่ก็ไม่ได้ทำให้คนรักในงานศิลปะอย่าง อ.สมพงศ์ถอดใจไปแม้แต่น้อย

เหตุผลที่ทำให้เขาอยากปั้นจตุคามฯ เพราะได้จุดประกายมาจากรุ่นโคตรเศรษฐีที่ดังระเบิด จากนั้นทุกคนก็จะทำตามเป็นพิมพ์เดียวกันหมด ด้วยความที่เป็นอาจารย์สอนทางด้านศิลปะจึงอยากจะทำอะไรที่แหวกแนวและต่างไปจากรุ่นโคตรเศรษฐี จึงได้จับดินสอและร่างสเกตช์ขององค์จตุคามรามเทพอย่างเป็นทางการ จนในที่สุดผลงานที่ได้ร่างขึ้นมานั้นไปโดนใจกลุ่มผู้จัดสร้างจตุคามจึงทำให้พ่อพิมพ์คนนี้ได้ปั้นท้าวจตุคามดังความตั้งใจ


วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ



• อ.ธนะ กับวัตถุประสงค์บนจตุคามรามเทพ

ศ.ธนะ เลาหกัยกุล อดีตคณะบดีคณจิตกรรมภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอดีตศาสตราจารย์ประจำ Department of Art ของมหาวิทยาลัยเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอีกหนึ่งอดีตพ่อพิมพ์ทางศิลปะที่ได้ลุกมาออกแบบจตุคามรามเทพ

ศ.ธนะ ได้เล่าถึงเหตุผลที่ปั้นองค์จตุคามรามเทพว่า เดิมทีเดียวไม่ได้สนใจเรื่องนี้มาก่อน แต่ได้รับการร้องขอจากเพื่อนศิลปินด้วยกันให้ช่วยออกแบบ เพราะจะนำรายได้ที่ได้จากการเช่าบูชาองค์จตุคามไปใช้เพื่อการบูรณะซ่อมแซมวัด ในเวลานี้คงไม่มีหนทางใดที่จะสามารถนำเงินมาบูรณะซ่อมแซมวัดได้ดีเท่ากับการทำจตุคามรามเทพให้ประชาชนเช่าบูชา เมื่อได้ฟังดังนั้นแล้วจึงทำให้อาจารย์เริ่มออกแบบจตุคามรามเทพรุ่น "มหาเศรษฐี มหาสมบัติ"

สำหรับจตุคามรามเทพรุ่นนี้ อ.ธนะเป็นผู้ออกแบบองค์ลอยตัว ขณะที่มีคนอื่นๆ ออกแบบเหรียญ โดย อ.ธนะออกแบบเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ภายใต้ฐานเป็นราหูอมจันทร์ โดยเครื่องประดับทั้งหมดจะเป็นงู 9 ชิ้นด้วยเหตุผลที่ว่าเลข 9 เป็นเลขมงคล ส่วนบริเวณฐานจะเป็นดอกบัวที่มีลักษณะเคร่งขรึมถ้าดูผิวเผินแล้วอาจจะเหมือนราหู ซึ่งดอกบัวเป็นการแสดงให้เห็นถึงมิติทางศิลปะ

"ในการออกแบบจตุคามรามเทพ ผมจะดูที่วัตถุประสงค์ของคนจ้างก่อนเป็นลำดับแรก ถ้ามาในเชิงการค้าผมจะไม่ทำทันทีเพราะถ้าอย่างนั้นผมทำเองดีกว่า"


วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ



• มุมมองของนักสะสม

ทุกวันนี้จุดสูงสุดของความนิยมในจตุคามรามเทพได้แปรเปลี่ยนพัฒนากลายเป็นแฟชั่น เน้นความสวยงามทางศิลปะมากขึ้น ทำให้ผู้คนต่างอยากได้เป็นเจ้าของ จนทำให้มีกลุ่มของ "นักสะสม" เกิดขึ้น

หากย้อนอดีตไปในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาคนไทยได้นิยมบูชาเจ้าแม่กวนอิม เสด็จพ่อ ร.5 หรือถ้านับถอยหลังไปอีกหลายสิบปีก็ได้บูชาพระเครื่องรุ่นต่างๆ อย่างมากมาย โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของการบูชาพระเครื่อง นอกจากจะเป็นไปในทางศิลปะแล้ว ก็ยังคงเกิดจากความมั่นคงทางจิตใจมากกว่า

อ.ฐิติพันธ์ จันทร์หอม อาจารย์ประจำแผนกวิชาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ในฐานะผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการพระเครื่อง เล่าให้ฟังว่าการสะสมพระเครื่องหรือพระบูชาที่ผ่านมามีลักษณะที่ทำออกมาคล้ายคลึงกันซึ่งไม่ได้มีความหลากหลายทางด้านศิลปะ แต่องค์จตุคามรามเทพมีหลายรูปแบบจึงทำให้เกิดคุณค่าทางงานศิลปะ และสามารถตกผลึกเป็นองค์ความรู้แก่คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจในงานศิลปะต่อไป

สำหรับ อ.ฐิติพันธ์นั้น ปัจจุบันเขาเก็บสะสมเหรียญจตุคามกว่า 300 องค์แล้ว โดยเน้นเรื่องความงดงามทางศิลปะเป็นหลัก และมีแผนว่าภายในต้นปีหน้าจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์จตุคามรามเทพขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่นักเรียนนักศึกษา


วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ



• ก็อบปี้ระบาด

ตราบใดที่ศิลปะบนองค์จตุคามรามเทพยังคงไม่หยุดนิ่ง ก็คงหนีไม่พ้นการก็อบปี้งานออกมาเพื่อให้ทันต่อการเช่าจอง เพื่อเกาะกระแสจตุคามให้ทันโดยไม่ตกกระบวนเสียก่อน จึงมีพ่อค้าหัวใสหลายกลุ่มที่ไม่จ้างช่างออกแบบ แต่อาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยของโฟโตชอปมาช่วย โดยการนำแบบของรุ่นที่ดังๆ มาตัดตรงนั้นนิด เพิ่มตรงนี้หน่อยจนกลายเป็นรุ่นใหม่ขึ้นมา

วิธีการนี้กำลังใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่สำหรับเซียนพระแล้ว มองปราดเดียวก็รู้ว่าก็อบปี้มาจากรุ่นไหนบ้าง คนที่ได้ประโยชน์คงเป็นพ่อค้าหัวใส แต่คนที่เสียความรู้สึกกลายเป็นช่างผู้ออกแบบ โดยเฉพาะช่างดังๆ ที่ออกแบบรุ่นดังๆ หลายคนถึงกับออกอาการเซ็งกันเป็นแถว

ผลงานของช่างเม้าก็เป็นหนึ่งในรุ่นที่ถูกก็อบปี้มากที่สุด จนเขาต้องลุกขึ้นมาประกาศจะจดลิขสิทธิ์งานประติมากรรมจตุคามทุกรุ่นที่เขาออกแบบ

"ที่ผมจะจดลิขสิทธิ์นั้น เพราะเกรงว่าฝรั่งจะขโมยผลงานไป แต่สำหรับคนไทยแล้วถ้าอยากจะเลียนแบบก็ไม่เป็นไรถือว่าเป็นวิทยาทานให้พวกเขาได้พัฒนาฝีมือต่อไป" ช่างเม้ากล่าว

คลื่นกระแสของจตุคามฯ จะยังคงรุนแรงต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่และจบลงย่างไร ตราบใดที่คนมองเพียงแค่เรื่องอภินิหารแล้ว สักวันหนึ่งจตุคามฯ ก็จะหายไป แต่ถ้าหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบงานศิลปะแล้วกระแสจตุคามจะอยู่ได้ยืนนาน ตราบที่มนุษย์ยังเสพศิลป์อยู่

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" โดย คุณปาณี ชีวาภาคย์, ศศิวิมล แถวเพชร


ไปข้างบน