หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

เที่ยว “วัดเทพธิดาราม” ชมความงามศิลปะสมัย ร.3


จากมุมนี้จะเห็น “พระปรางค์” ตั้งอยู่ประจำทิศทั้ง 4 ของ “พระอุโบสถ”

แม้ว่าจะฉันจะไม่ใช่คนธัมมะ ธัมโม แต่ว่าหากมีโอกาสฉันก็ชอบเข้าวัดเหมือนกัน เพราะฉันถือคติว่า ชีวิตนี้รีบๆ เข้าวัดทำบุญด้วยสองขาและจิตศรัทธาของเราเอง อย่ารอจนต้องให้มีใครมาหามเข้าวัด คงจะดีกว่าเป็นไหนๆ

อีกอย่างการไปวัดไหว้พระ นอกจากจะทำให้รู้สึกเย็นกายสบายใจแล้ว มันยังทำให้ฉันได้รู้ได้เห็นอะไรต่อมิอะไรดีๆ ขึ้นอีกเยอะ

อย่างคราวนี้ ฉันไปยัง “วัดเทพธิดารามวรวิหาร” ซึ่งชื่อนี้อาจไม่เด่นไม่ดัง แต่มีมนต์ขลังที่จับจิตจับใจฉันหลายอย่าง

มันเริ่มจากที่ฉันได้ไปอ่าน “รำพันพิลาป” ของท่านสุนทรภู่ ซึ่งเป็นนิราศที่แสดงถึงความในใจและประวัติชีวิตของสุนทรภู่ในหลายๆ ส่วน โดยในตอนหนึ่งท่านได้บรรยายถึงวัดเทพธิดารามว่า

“พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง

ที่หน้าบันปั้นอย่างเมืองกวางตุ้ง ดูเรืองรุ่งรูปนกผกผยอง

กระเบื้องเคลือบเหลือบสลับเหลี่ยมรับรอง ศาลาสองหน้ารอบขอบกำแพง

สิงโตจีนตีนตัวน่ากลัวกลอก ขยับขยอกแยกเขี้ยวเสียวแสยง

ที่ตึกก่อช่อฟ้าใบระกาแดง ริมกำแพงตะพานขวางเคียงข้างคลอง”


หมู่พระอริยสาวิกาในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร

จากรสคำและรสความของท่านสุนทรภู่ที่บรรยายจนเห็นภาพนี้เอง ที่ทำให้ฉันต้องมนต์จนอยากจะตามไปดูของจริง ฉันจึงไม่รอช้า มุ่งหน้าไปที่ “วัดเทพธิดารามวรวิหาร” ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลัง “วัดราชนัดดารามวรวิหาร” วัดที่มีโลหะปราสาทตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่นั่นเอง

วัดเทพธิดารามวรวิหาร เดิมชื่อ วัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองศ์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ใน รัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงได้รับใช้เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของพระราชบิดา

ซึ่งคำว่าเทพธิดานี้ น่าจะหมายถึง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ผู้มีพระสิริโฉมงดงาม และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ยังได้ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมในการก่อสร้างวัดเทพธิดารามด้วย

ที่ฉันรู้มาอีกอย่างก็คือวัดนี้มีการจัดวางแผนผังอาคารในเขตพุทธาวาสที่มีรูปแบบทางศิลปะและสถาปัตยกรรมพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 คือพระอุโบสถอยู่ตรงกลาง แล้วเรียงด้วยพระวิหาร และศาลาการเปรียญ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากหลายวัดที่ทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ ไม่ได้ตั้งเรียงเป็นแนวเดียวกัน

นอกจากนี้สิ่งแปลกและแตกต่างของวัดนี้ยังมีอีกมาก


ถ้าเห็นพระพุทธรูปลักษณะนี้ ให้ทราบว่านี่คือ “พระศรีอาริย์”

เพราะเพียงแวบแรกที่มองสำรวจ ฉันก็ว่าวัดนี้หน้าตาแปลกๆ ดูโล่งๆ ยังไงไม่รู้ เพ่งมองสักระยะ จึงสังเกตเห็นว่าทั้งโบสถ์ ทั้งวิหาร ทั้งศาลาการเปรียญ ของวัดนี้ไม่มีช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ ส่วนที่หน้าบันก็ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องจีนแทน

เป็นอย่างนี้ฉันจึงถึงบางอ้อ...เพราะลืมไปว่าศิลปะในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน เนื่องจากเศรษฐกิจและสังคมในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 มีการค้าขายกับจีนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ศิลปะและวัฒนธรรมจีนเข้ามามีบทบาทในงานสถาปัตยกรรมไทย รวมทั้งอาจจะเพราะด้วยที่คนไทยส่วนมากมักจะเป็นช่างไม้ ไม่ถนัดในงานปูน เมื่อมีงานก่อสร้างที่เป็นงานปูน จึงอาศัยช่างชาวจีนเป็นกำลังสำคัญ ฉะนั้นเมื่อช่างชาวจีนมีโอกาสได้ทำงานก็ย่อมที่จะนำเอาศิลปะของตนเองเสนอเข้ามาในการก่อสร้างด้วย

และเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อพระอารามที่ได้เฉลิมพระเกียรติแก่เจ้านายที่เป็นผู้หญิง ด้วยเหตุนี้สิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในวัดก็จึงล้วนแต่มีลักษณะงดงามอ่อนหวาน

จนฉันอดคิดไม่ได้ว่า วัดนี้น่าจะเป็น Unseen Bangkok อีกแห่งหนึ่ง

เพราะเมื่อเข้าไป “พระอุโบสถ” ก็สังเกตเห็นพระพุทธรูปต่างๆ ล้วนแต่มีใบหน้ายิ้มละมุน ลักษณะอ่อนช้อย ดูไม่นิ่งแข็ง ส่วนพระประธานนั้นสร้างด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์จึงเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เฉลิมพระนามว่า "พระพุทธเทวาวิลาศ" ประดิษฐานอยู่เหนือเวชยันต์บุษบก ซึ่งประดิษฐ์อย่างสวยงาม

ที่ผนังพระอุโบสถมีภาพเขียนเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ ไม่ได้เป็นรูปจิตรกรรมฝาผนังเหมือนที่หลายวัดจะนิยมวาดเป็นชาดก นอกจากนี้ยังมีภาพของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งฉันก็ต้องยอมรับว่ามีพระสิริโฉมงดงามจริงๆ


ภายใน “กุฎิสุนทรภู่” ที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อผู้สนใจได้เข้าชมและสักการะกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

และเมื่อเข้าไปใน “พระวิหาร” ฉันก็ยิ่งต้องตกตะลึงระคนแปลกใจ เพราะด้านหน้ารอบพระประธาน มีรูปหมู่อริสาวิกา (ภิกษุณี) ที่ได้รับเอตทัคคะ หล่อด้วยดีบุกประดิษฐานถึง 52 องค์ โดยแต่ละองค์ จะมีใบหน้าและอิริยาบถที่แตกต่างกัน โดยมีพระนางปชาบดีโคตรมี (เอตทัคคะด้านรัตตัญูญู) พระน้านางของพระพุทธเจ้าและถือเป็นภิกษุณีองค์แรก ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง

ฉันไม่รู้ว่าที่วัดอื่นจะมีรูปหล่อของภิกษุณีมากมายเท่าที่วัดนี้หรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นความรู้ที่ได้รับเพิ่มขึ้นก็คือ การจะเป็นภิกษุณีได้ นั้นต้องมีใจศรัทธาที่มุ่งมั่นแรงกล้า เพราะต้องยึดและปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ประการ หรือ ครุธรรม 8 ที่ยากยิ่งนัก

นอกจากนี้ภายในพระวิหารยังมีพระพุทธรูปหล่อของพระศรีอาริย์ หรือพระศรีอารยเมตไตร ที่จะตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลกมนุษย์หลังจากสิ้นสุดศาสนาของพระพุทธเจ้าโคตมะแล้ว 5,000 ปี ให้ชาวพุทธได้กราบไหว้ ส่วนถ้าใครจะอธิษฐานขอให้ได้เกิดในยุคนั้น ฉันว่าก็ควรจะรีบเร่งปฏิบัติตนเป็นคนดี บำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนาเสียตั้งแต่ชาตินี้จะดีกว่า

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างที่วัดนี้มีก็คือ “พระปรางค์” ซึ่งตั้งอยู่ประจำทิศทั้ง 4 ของมุมพระอุโบสถ ฐานพระปรางค์แต่ละองค์มีรูปท้าวจตุโลกบาล คือท้าวกุเวร ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก และท้าววิรุฬปักข์ เทวดาที่รักษาทุกข์สุขของมนุษย์โลกไว้ทั้งสี่ทิศ และทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลก อำนวยความสุขความเจริญให้แก่มนุษย์โลกทั้งหลายอีกด้วย

อย่างที่บอกไปแล้วว่าวัดเทพธิดารามมีสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนอยู่มากมาย ซึ่งก็รวมถึงเครื่องประดับพระอาราม ที่เป็นตุ๊กตาจีนสลักหินมีทั้งรูปคนและสัตว์ ที่น่าสนใจคือรูปคนในวัดนี้ส่วนมากแกะสลักเป็นผู้หญิงเลียนแบบลักษณะท่าทางและการแต่งกายของผู้หญิงไทยตามสายตาของช่างชาวจีน

มิน่าล่ะ...หน้าตาของตุ๊กตาถึงได้ออกแนวหมวยๆ แต่ก็ถือว่าดูแปลกตาน่าชมไปอีกแบบ ซึ่งตุ๊กตาหินก็มีมากมาย ไล่เรียงดูแล้วไม่มีเบื่อ บางตัวสลักเป็นรูปหญิงไทยไว้ผมปีกแบบโบราณนั่งอุ้มลูก บางตัวเป็นตุ๊กตาชาววังนั่งพับเพียบเรียบร้อย เท้าแขนอ่อนช้อยเสียจนอดนึกสงสัยไม่ได้ว่าแขนของเธอปกติดีหรือไม่


ตุ๊กตาหินสลักเป็นรูปหญิงไทยแสดงถึงความรักความผูกพันของแม่กับลูก

ฉันเดินออกจากเขตพุทธาวาส เพื่อไปต่อยังเขตสังฆาวาส ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้จัดระเบียบหมู่กุฏิสงฆ์ไว้งดงามมาก โดยทำกุฏิทรงแปลกไม่ซ้ำแบบกัน แต่กุฏิหนึ่งที่ฉันไม่ลืมจะไปเยือน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำให้ฉันต้องมาที่วัดเทพธิดารามแห่งนี้ นั่นก็คือ “กุฎิสุนทรภู่”

เป็นกุฎีที่ท่านสุนทรภู่ กวีเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เคยจำพรรษาขณะบวชเป็นพระภิกษุ ระหว่าง พ.ศ. 2383 - 2385 และได้เขียนบทกลอนเรื่องรำพันพิลาปขึ้น มีพรรณนาถึงความงามของพระอาราม รวมทั้งปูชนียสถานและปูชนียวัตถุของวัดอย่างละเอียด

ปัจจุบันทางวัดได้อนุรักษ์กุฏิไว้และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมได้ทุกวัน โดยเก็บรักษาสิ่งของเครื่องใช้ของท่านไว้เป็นอย่างดี และมีรูปหล่อครึ่งตัวของท่านเมื่อยังเป็นพระภิกษุ ประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงกวีเอกผู้นี้ในวันที่ 26 มิถุนายน เป็นประจำทุกปี

อย่างนี้สงสัยว่าวันนั้น ฉันต้องหาโอกาสมาที่วัดเทพธิดารามอีกครั้งเป็นแน่แท้

* * * * * *

วัดเทพธิดารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2379 เสร็จในปี พ.ศ. 2382 ตั้งอยู่ที่ริมถนนมหาไชย ใกล้วัดราชนัดดา พอลงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เลี้ยวซ้ายจะถึงวัดราชนัดดา เลยไปอีกนิดจะเป็นวัดเทพธิดาราม

การเข้าชมพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญนั้นต้องขออนุญาตจากทางวัดเสียก่อน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 0-2225-7425, 0-2222-3046 -7

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"โดย คุณหนุ่มลุกทุ่ง


ไปข้างบน