“พระขพุงผี” ผีรักษาเมืองสุโขทัย
เทวรูปพระขพุงผี
การนับถือผี เป็นความเชื่อของคนไทยมาแต่โบราณกาล และเชื่อกันทุกชาติทุกภาษาในภาคพื้นตะวันออก ถือกันว่ามีผีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าในป่า เขา ต้นไม้ บ้านเรือน หรือแม้แต่บ้านเมืองก็มีผีปกป้องคุ้มครอง
ผีที่อยู่ตามป่าตามเขานั้นเรียกว่า “เจ้าป่า” “เจ้าเขา” ที่อยู่ตามต้นไม้เรียกว่า “รุกขเทวา” ซึ่งคล้ายจะเป็นเทวดาไปไม่ใช่ผี ที่อยู่ตามบ้านเรือนเรียกว่า “ผีบ้านผีเรือน” ในเรือก็มี “แม่ย่านางเรือ” ซึ่งก็คือผีผู้หญิงที่ปกป้องคุ้มครองเรือ แม้แต่ในทารกที่เกิดใหม่ๆ
ก็มีผีผู้หญิงปกป้องคุ้มครองเหมือนกัน เรียกว่า “แม่ซื้อ” ส่วนเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่สิงสถิตอยู่ตามศาลนั้นก็คือผีเหมือนกัน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผีที่ให้ความคุ้มครองคนที่กราบไหว้บูชาหรือมาบนบานศาลกล่าว
เทวรูปพระขพุงผี
ในหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัยหลักที่ ๑ ซึ่งองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติประกาศให้เป็นมรดกโลกทางความทรงจำ มีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า
“เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎี พิหาร ปู่ครู อยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทวดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี
ผิไหว้บ่ถูก พลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย”
แสดงว่าพระขพุงผีไม่ใช่ผีระดับธรรมดา เข้าขั้นเป็นเทวดาที่สิงสถิตอยู่ในเขาทิศหัวนอนเมืองสุโขทัย เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมือง และปกปักคุ้มครองเมืองสุโขทัย คงเช่นเดียวกับพระสยามเทวาธิราชของกรุงรัตนโกสินทร์
สำหรับป่าพร้าว ป่าลาง รวมทั้งป่าม่วง ป่าขามนั้น คงไม่มีร่องรอยเหลือให้เห็นแล้ว เพราะกาลเวลาผ่านมาเกือบพันปี แต่ได้พบสรีดภงส์ ซึ่งก็คือเขื่อนดินที่กั้นภูเขากิ่วอ้ายมากับภูเขาพระบาทใหญ่ เช่นเดียวกับเขื่อนที่นิยมอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน กั้นภูเขาเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำ แต่พระขพุงผีนั้นมีตัวตนหรือไม่ นักโบราณคดีอาจคิดว่าเป็นแค่ความเชื่อ จึงไม่ได้ค้นหากันอย่างจริงจัง
จนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ได้เสด็จไปสำรวจเมืองสุโขทัยและทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “กำเนิดเมืองสวรรคโลก สุโขทัย” ว่า
“มีพยานชัดที่กล่าวว่า เบื้องหัวนอนมีพระขพุงผี เทพยดาในเขาอันนั้น ทางเหนือเมืองสุโขทัยไม่มีภูเขาจนลูกเดียว ส่วนทางใต้มี ซ้ำไปหาเทวรูปได้ที่ในเพิงหินด้วย ดูจะเป็นพระขพุงผีแน่ ไม่มีปัญหาเลย”
เทวรูปพระขพุงผี
ในการไปสำรวจครั้งนั้นทรงบุกป่าไปที่เขาเล็กๆ ลูกหนึ่งซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงสุโขทัย ห่างตัวเมืองออกไปประมาณ 15 กม. เขานั้นสูงประมาณ 30 เมตร และมีบันไดหินขึ้นไปด้วย เมื่อเสด็จไปสุดขั้นบันไดก็ทรงพบเพิงหินกว้างใหญ่ จุคนได้ประมาณ 100 คน เพดานสูงประมาณ 2 เมตรครึ่ง
สุดเพิงด้านเหนือมีหินก้อนใหญ่ๆ ก่อเป็นผนังกั้นเป็นห้องไว้ 1 ห้อง กว้างประมาณ 1 เมตร ดูคล้ายจะเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่มีแท่นหรือสิ่งใดๆ อยู่ในห้องนี้เลย กลับพบเทวรูปองค์หนึ่งทำด้วยหินสีเขียว สูงประมาณ 1.30 เมตร ตั้งอยู่ที่ผนังนอกห้อง เป็นรูปผู้หญิงไม่สวมเสื้อ ใบหน้าดูเป็นคนแก่
ลักษณะเป็นรูปไข่คล้ายพระพักตร์พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย บนศีรษะมีกรวยซ้อนขึ้นไป 4 ชั้น มีเครื่องประดับห้อยอยู่ที่ใบหูทั้ง 2 ข้าง และรัดอยู่ที่ข้อมือและต้นแขนที่ห้อยลงมาแนบกายทั้ง 2 ข้าง นุ่งผ้ากรอมเท้า ห้อยชายซ้อนลงมา 3 ชั้น
ศาลพระแม่ย่า
ทรงเชื่อว่าเทวรูปนี้เป็นเทพยดาในเขาอันนั้น ซึ่งเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ซึ่งเรียกว่า “พระขพุงผี” แน่ แต่ที่ออกมาอยู่นอกห้องเช่นนี้แสดงว่ามีคนพยายามเคลื่อนย้าย แต่ยังเอาไปไม่ได้
ทรงดำริว่าปล่อยทิ้งไว้คงสูญหายแน่ จึงโปรดให้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงเพราะไม่เช่นนั้นพระขพุงผีคงสาบสูญไปเป็นสมบัติส่วนตัวของใคร หรืออาจไปอยู่ต่างประเทศแล้ว
ต่อมาใน พ.ศ. 2496 เมื่อมีการบูรณะตกแต่งจังหวัดสุโขทัยครั้งใหญ่ นายเชื่อม ศิริสนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงได้สร้างศาลขึ้นที่ถนนนิกรเกษม ริมแม่น้ำยม และอัญเชิญเทวรูปมาประดิษฐานไว้ในศาล เมื่อชาวเมืองสุโขทัยมาเคารพกราบไหว้ ได้เห็นใบหน้าของเทวรูปก็พากันเรียกว่า “แม่ย่า” ด้วยเชื่อว่าเป็นพระราชชนนีของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ “พระนางเสือง” ภูเขาที่พบเทวรูปก็เรียกกันว่า “เขาแม่ย่า” ไปด้วยในปัจจุบัน
ศาลพระแม่ย่า
ทุกวันนี้นอกจากทางจังหวัดสุโขทัยจะเปิดให้ประชาชนเข้ากราบไหว้บูชาพระแม่ย่าแล้ว ยังสร้างพระแม่ย่าจำลองไว้ที่ศาลเพื่อให้ปิดทอง ซึ่งในแต่ละปีจะมีคนไปกราบไหว้และปิดทองพระแม่ย่าจำนวนนับแสนคน
|