จากวัดไร่ขิงถึงวัดดอนหวาย ทริปพอเพียงแต่เพลิดเพลิน
ศรัทธามหาชนต่อองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิง
สำหรับจุดแรกเราเปิดประเดิมทริปเพื่อความเป็นสิริมงคลกันที่ “วัดไร่ขิง” หรือ “วัดมงคลจินดาราม” วัดเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่มี “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครปฐมประดิษฐานอยู่
ด้วยบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ทำให้วัดแห่งนี้มีคนเดินทางแวะเวียนกันมาไม่ได้ขาด วันธรรมดาอาจจะมีคนมากันพอประมาณ แต่หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์แล้วละก้อ คนมากันเต็มวัดทีเดียว
หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ประทับนั่งปางมารวิชัยแบบประยุกต์ ที่นับว่ามีพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก เพราะประกอบไปด้วยงาน "พุทธศิลป์" ถึง 3 สมัยรวมอยู่ในองค์เดียวกัน คือ พระรูปผึ่งผายแบบเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามแบบสุโขทัย และพระพักตร์งดงามในแบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งเรามองดูแล้วเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธา ขรึมขลัง และสงบเย็นใจดีแท้
พุทธศาสนิกชนปิดทองพระพุทธรูปที่วัดไร่ขิง
ด้านความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้น บ้างก็ว่าเป็นหนึ่งในพระ 5 พี่น้องศักดิ์สิทธิ์ (พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์) ที่ลอยตามน้ำมาจากทางภาคเหนือ อันประกอบด้วย หลวงพ่อโสธร(ฉะเชิงเทรา),หลวงพ่อโตวัดบางพลี(สมุทรปราการ),หลวงพ่อวัดบ้านแหลม(สมุทรสงคราม),หลวงพ่อวัดเขาตะเครา(เพชรบุรี) และหลวงพ่อวัดไร่ขิงแห่งจังหวัดนครปฐม ส่วนบางตำนานก็บอกว่าหลวงพ่อวัดไร่ขิงกับหลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวกัน แต่ว่าต่างอิริยาบทกัน
ในขณะที่เอกสารของทางวัดระบุว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิงถูกอัญเชิญจากกรุงเก่า(พระนครศรีอยุธยา)มาประดิษฐาน ณ วัดไร่ขิง ในวันสงกรานต์พอดี ขณะที่กำลังทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพที่ล่องแม่น้ำมามาจากกรุงเก่า จู่ๆแสงแดดที่แผดจ้าก็มีเมฆดำทะมึนมาบดบัง ฟ้าร้องคะนองก้อง พร้อมมีสายฝนโปรยสายลงมาบางๆ ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไปร่วมพิธีได้รับความเย็นชุ่มฉ่ำโดยทั่วหน้า ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อกันว่านี่คือปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั่นเอง
พุทธศาสนิกชนทำบุญที่วัดไร่ขิง
เรื่องนี้ใครจะเชื่อตำนานไหนหรือไม่เชื่อเลย นั่นไม่สำคัญเท่ากับความศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนมีต่อหลวงพ่อวัดไร่ขิงมาอย่างยืนยงยาวนานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละวันต่างก็มีผู้คนเดินทางมาสักการะบูชา ขอพรหลวงพ่อกันไม่ได้ขาด วันธรรมดาอาจจะมีคนมากันพอประมาณ แต่หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์แล้วละก้อ จะมีผู้คนมากันเต็มวัดทีเดียว
หลังจากไหว้พระ ขอพร ทำบุญกันไปแล้ว เราก็ถือโอกาสเดินชมรอบๆบริเวณไปจนถึงที่ท่าเรือริมแม่น้ำท่าจีนที่มีปลาสวายตัวโตจำนวนมากแหวกว่ายกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย เป็นกลุ่มๆตามจุดที่ผู้คนโยนขนมปังไปให้พวกมันอ้าปากฮุบ ที่ดูๆไปปลาพวกนี้มันช่างแสนรู้ไม่น้อย เพราะเมื่อเห็นคนโยนขนมปังลงไปก็ว่ายเบียดเสียดแซงแย่งกันกินอย่างไม่รีรอ แต่ว่าอย่าว่ายเพลินก็แล้วกัน เพราะถ้าตัวไหนเผลอว่ายไปไกลออกนอกเขตอภัยทานก็มีสิทธิ์ถูกจับไปกินเอาได้ง่ายๆ ยิ่งตัวโตๆอย่างนี้ยิ่งถูกใจคนหาปลายิ่งนัก
“ผู้จัดการท่องเที่ยว” เห็นปลากินอาหารแล้วก็เกิดอาการอยากกินอาหารขึ้นมาบ้าง แต่ไม่ใช่อยากกินขนมปังอย่างปลาหรอกนะ หากแต่เราอยากกินก๋วยเตี๋ยวที่มองเห็นอยู่ข้างหน้าน่ะ เพราะมีคนบอกว่าก๋วยเตี๋ยวเจ้านี้รสชาติใช้ได้เข้มข้นแบบลูกทุ่ง กินแล้วไม่เสียดายตังค์ ว่าแล้วก็ขอโซ้ยเติมพลังเสียหน่อย แต่ว่าเราขอกินแค่ชามเดียวเป็นออร์เดิร์ฟเรียกน้ำย่อยเท่านั้นพอ เนื่องจากยังมีมื้อใหญ่รออยู่ ณ ตลาดน้ำดอนหวายอันขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของกินของฝากซึ่งเป็นจุดหมายต่อไปของเรา
เรือนำเที่ยวที่ดัดแปลงมาจากเรือแบบเก่า
หลังจัดการก๋วยเตี๋ยวหมดแล้ว เรือนำเที่ยววัดไร่ขิง-วัดดอนหวาย ที่เป็นเรือกระแชงไม้แบบโบราณก็แล่นมาจอดเทียบท่าพอดี งานนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ที่เตรียมพร้อมด้วยการซื้อตั๋วจากเจ้าของเรือตรงท้ายแพให้อาหารปลาไว้แล้วก็ค่อยๆเดินไปลงเรืออย่างระมัดระวังตัว เพราะเกิดพลาดตกน้ำตกท่าไป นอกจากจะเปียกปอนแล้วอาจจะถูกปลาฮุบ...เอาอีกต่างหาก
จากนั้นอีกไม่กี่อึดใจ เมื่อเรือพร้อม นาวาลำย่อมก็ค่อยๆแล่นลำไปตามแม่น้ำท่าจีน แบบเรื่อยๆเอื่อยๆเพื่อให้คนบนเรือได้ชมวิวทิวทัศน์ 2 ฟากฝั่งกันอย่างสบายอารมณ์สมอุรา ซึ่งทิวทัศน์ส่วนใหญ่เป็นภาพวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำที่มีบ้านเรือนทั้งเก่าและใหม่สร้างสลับกันไป โดยมีวัดท่าพูดอันเก่าแก่กว่า 300 ปีเป็นอีกหนึ่งจุดสนใจอันนายล แถมบางครั้งก็มีเรือนำเที่ยวลำอื่นแล่นสวนมาให้โบกมือ ส่งยิ้ม ทักทายกันอย่างครื้นเครงนับเป็นบรรยากาศที่เพลิดเพลินไม่น้อยทีเดียว
โบสถ์วัดดอนหวาย
หลังเรือแล่นจากท่าวัดไร่ขิงมาได้ราวๆครึ่งชั่วโมง เรือก็แล่นเข้าเทียบ ณ บริเวณ ท่าวัดดอนหวาย ซึ่งนอกจากลำที่เรานั่งแล้วยังมีเรือนำเที่ยวลำอื่นๆจอดเรียงรายอยู่เต็มไปหมด เพราะฉะนั้นก่อนขึ้นฝั่งจำเป็นต้องจำชื่อเรือลำที่นั่งมาให้ดี เพราะหากลืม ขากลับลงเรือผิดลำ หน้าแตกแย่เลย
ก่อนที่จะไปอิ่มท้องท่องตลาดน้ำดอนหวาย “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ขอเข้าไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่เพิ่งอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดดอนหวายแห่งนี้ก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเดินต่อไปอีกหน่อย เพื่อชมความงามของ โบสถ์วัดดอนหวาย ที่มี 2 หลังด้วยกันคือโบสถ์เก่าและโบสถ์ใหม่
โบสถ์ทั้งคู่มีลักษณะจะคล้ายๆกัน แม้จะไม่ปรากฏประวัติการสร้างชัดเจน แต่ก็นับเป็นโบสถ์ที่มีความสวยงามน่ายลไม่น้อย คือเป็นโบสถ์หลังคา 3 ชั้นมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับประดาด้วยกระเบื้องสีสันสดใส ซุ้มประตู หน้าต่าง ตกแต่งด้วยลวดลายไทยอันวิจิตรบรรจงอยู่รอบโบสถ์ ยามต้องแสงแดดลวดลายเหล่านี้จะเกิดประกายระยิบระยับงามจับใจดีแท้
หลังเที่ยววัดดอนหวายกันพอหอมปากหอมคอ ทีนี่ก็ได้เวลาเดินลุยถั่วตระเวนหาของกินในตลาดน้ำดอนหวายริมแม่น้ำท่าจีนกันเสียที เพราะแม้จะเพิ่งฟาดก๋วยเตี๋ยวที่วัดไร่ขิงมา แต่ว่าท้องมันเริ่มออกอาการหิวตะหงิดๆขึ้นมาแล้ว
สารพัดของกินของฝากในตลาดดอนหวาย
ครั้นเมื่อเดินจากวัดดอนหวายมาจนเข้าเขตตลาดน้ำดอนหวายก็ไม่ผิดหวังในเรื่องของกินเลย เพราะมีให้เลือกซื้อเลือกกินเพียบไปหมดทั้งอาหารคาว หวาน ขนมไทย ผลไม้ และของกินของขายอีกสารพัดอย่าง จากพ่อค้าแม่ขายที่นำสินค้ามาวางเรียงรายเป็นแนวยาวสุดลูกหูลูกตา ยิ่งได้เสียงพ่อค้าแม่ขายตะโกนขายของเรียกลูกค้ากันจ้าละหวั่นก็ยิ่งเพิ่มบรรยากาศอันชวนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นไปอีก ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกซื้ออะไร งานนี้ขอเดินสำรวจของบรรดาสินค้าที่มีอยู่มากมายในตลาดแห่งนี้เสียหน่อย แต่ก็ดูเหมือนว่ายิ่งเดินมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งพบกับสินค้าที่น่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น
ส่วนใครถ้าเดินลึกเข้าไปถึงยังตัวตลาดเก่าก็จะได้บรรยากาศตื่นตาตื่นใจไปอีกแบบ เพราะแม่ค้าพ่อค้าที่ตลาดเก่าจะนำของมาวางขายกันที่หน้าบ้านนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นของสดของแห้ง ขนมไทยโบราณ อาหารเก่าแก่ที่หากินยากวางเรียงเคียงคู่กับอาคารไม้แบบเก่าสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ดูคลาสสิคไม่น้อย ส่วนทางเดินที่แม้จะเป็นพื้นไม้กระดานเก่าแต่ว่าก็อยู่ในสภาพดี ไม่มีเสียงออดแอดเวลาเดินให้หวาดเสียวผุพังแต่อย่างใด
บรรยากาศตลาดย้อนยุคที่ตลาดน้ำดอนหวาย
เรียกได้ว่าเมื่อเดินเข้ามาในตลาดเก่า เราก็ได้สัมผัสกับกลิ่นอายของความเป็นตลาดไทยโบราณแบบเก่าอย่างเต็มที่ทีเดียว
นอกจากบรรยากาศย้อนยุคแล้ว ของกินในตลาดเก่าต่างก็ดูยั่วน้ำลายเป็นอย่างยิ่ง หลายต่อหลายร้านในตลาดน้ำมีป้ายการันตีความอร่อยมากมายทั้งจาก ทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และจากนักชิมชื่อดังมากมาย ซึ่งใครชอบอาหารแบบไหน รสชาติแบบไหน ก็คงต้องไปลองลิ้มชิมรสเอาเอง
ของทอดใหม่ๆร้อนที่ตลาดดอนหวาย
ส่วนอาหารที่เป็นดังโลโก้ของตลาดแห่งนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นเป็ดพะโล้ “นายโอ”และ“นายหนับ” ที่แม้จะเป็นพี่น้องกัน แต่ว่ากลับมีสูตรเป็ดพะโล้ที่แตกต่างกันออกไป เป็ดนายโอจะขึ้นชื่อในเรื่องเครื่องเทศ ส่วนเป็ดนายหนับจะขึ้นชื่อเรื่องเครื่องยาจีน ซึ่งทั้ง 2 ร้านต่างก็มีรูปดาราหรือบุคคลมีชื่อเสียงที่แวะมาชิมของร้านตนติดอยู่เต็มไปหมด
ในวันนั้นหลังเดินชมสินค้าอาหารในตลาดดอนหวายจนเริ่มหิวตาลาย “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ก็ถึงเวลาตัดสินใจที่จะต้องจับจ่ายของกินของฝากกันแล้ว และด้วยความรักพี่เสียดายน้องไม่รู้จะเลือกกินเลือกซื้ออะไร วันนั้นเราจึงได้ของกินของฝากติดมื้อกลับมาเพียบไปหมด งานนี้แม้มันอาจจะดูไม่พอเพียงไปนิด แต่กับสินค้าที่ราคาย่อมเยาและยั่วตายั่วใจ ยังไงก็ขอผิดคอนเซ็ปต์สักวัน ซึ่งหากมาคิดดูอีกทีแบบเข้าข้างตัวเอง นี่ไยมิใช่การกระจายรายได้อย่างหนึ่ง คนไทยอุดหนุนการค้าไทย ยังไงๆมันก็ดีกว่าการไปอุดหนุนค้าปลีกต่างชาติแหละน่า...
* * * * * *
"วัดไร่ขิง" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ทุกๆปีทางวัดจะจัดงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นในช่วงวันขึ้น 12 ค่ำ ถึง แรม 5 ค่ำ เดือน 5
การเดินทางสู่วัดไร่ขิง จากกรุงเทพฯเดินทางสู่นครปฐมพอมาถึงพุทธมณฑลสาย 5 จะมีทางแยกซ้ายมือไปวัดไร่ขิง, ตลาดน้ำดอนหวาย หรือถ้ามาทางเส้นบางแคก็ตรงมาทางอ้อมใหญ่สู่นครปฐม และกลับรถลอดใต้สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนแล้วจะเจอป้ายบอกทางเข้าวัดทางซ้ายมือ
หากนั่งรถทัวร์ขึ้นที่สายใต้ใหม่ สาย กรุงเทพ-นครปฐม(สายเก่า) หรือ กรุงเทพ – สุพรรณบุรี(สายเก่า) ที่ผ่านบางแค แล้วไปลงที่หน้าทางเข้าวัดไร่ขิง จากนั้นข้ามสะพานลอยไปต่อรถสองแถวสู่วัดไร่ขิง หรือจะนั่งรถตู้จากพาต้าไปลงวัดไร่ขิงเลยก็ได้
สำหรับบริการเรือนำเที่ยวล่องแม่น้ำท่าจีน มีอยู่ 2 เส้นทางด้วยกันคือ เส้นทางล่องเรือ พออยู่ พอกิน ไป-กลับ วัดไร่ขิง-วัดดอนหวาย ผู้ใหญ่ราคา 60 บาท เด็กราคา 40 บาท เรือจะออกทุกครึ่งชั่วโมง มีบริการทุกเสาร์ – อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.00 น. - 16.30 น. เส้นทางล่องเรือ ศรีสวัสดิ์ย้อนยุค เส้นทางใกล้ ตลาดน้ำดอนหวาย-วัดไร่ขิง ผู้ใหญ่ราคา 60 บาท เด็ก 30 บาท เส้นทางไกล วัดไร่ขิง-สวนสามพราน ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท เสาร์ – อาทิตย์ เรือออกทุกช.ม. ตั้งแต่ 9.00 น. – 17.00 น. และ จันทร์ – ศุกร์ เรือออก 12.00 น. และ 14.00 น.
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"โดย คุณหนุ่มลุกทุ่ง
|