ตำนาน “นางกวัก” ทำไมจึงกวัก
ตำนานนางกวัก เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2,500 ปีมาแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังเห็นนางกวักนั่งกวักอยู่ทั่วไป แม้แต่ในบริษัทใหญ่ๆ ทำธุรกิจไฮเทค ก็ยังเคยเห็นนางกวักแอบไปนั่งกวักอยู่ตามความเชื่อของผู้บริหารระดับสูง
ส่วนร้านค้าย่อยข้างถนนก็เห็นนางกวักอยู่เกลื่อน ทั้งยังมีนางกวักยุคใหม่ที่ไม่ได้เป็นรูปปั้นแบบไทยนั่งกวักค้างมืออย่างแต่ก่อน กลับมีกลไกให้เคลื่อนไหวได้เสียด้วย แต่รูปร่างหน้าตากลายเป็นแมวนำโชคในการ์ตูนญี่ปุ่นไป ซึ่งก็ได้รับความนิยมเอาไปนั่งกวักเรียกลูกค้าแทนนางกวักแบบเดิมเหมือนกัน
ประวัติของนางกวักกล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาล มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง สามีชื่อ สุจิตตพราหมณ์ ภรรยาชื่อ สุมณฑา มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองมิจฉิกาสัณฑนคร ใกล้กรุงสาวัตถี ในชมพูทวีป มีอาชีพค้าขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวอยู่รอดไปวัน ๆ
ต่อมา 2 สามีภรรยาคิดจะขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น เมื่อมีรายได้มากพอจะตั้งเนื้อตั้งตัว จึงตัดสินใจซื้อเกวียนเพื่อบรรทุกสินค้าไปขายยังต่างเมือง และซื้อสินค้าต่างเมืองกลับมาขายที่เมืองมิจฉิกาสัณฑนคร ซึ่งบางครั้งบุตรสาวที่ชื่อ สุภาวดี ก็ขอติดตามบิดามารดาไปด้วย
ระหว่างเดินทางไปต่างเมืองกับบิดามารดานั้น สาวน้อยสุภาวดีมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระกุมารกัสสปเถระ ขณะจาริกแสดงธรรมเทศนาตามหมู่บ้านต่างๆ นางรู้สึกซาบซึ้งพระธรรมจนเข้าถึงพระรัตนตรัย
เมื่อพระกุมารกัสสปเถระ เห็นนางเลื่อมใสศรัทธาเช่นนั้น จึงได้กำหนดจิตรวมพลังซึ่งเป็นอำนาจจิตของพระอรหันต์ ประสิทธิ์ประสาทพรสาวน้อยสุภาวดีและครอบครัว ให้เจริญรุ่งเรืองด้วยทรัพย์สินเงินทองจากอาชีพค้าขาย และยังได้ประสิทธิ์ประสาทพรเช่นนี้ทุกครั้งที่นางไปฟังธรรมด้วยความมุ่งมั่น
เมื่อบิดามารดาเดินทางไปค้าขายอีกเมือง นางสุภาวดีก็มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระศิวลีเถระ ซึ่งจาริกไปแสดงธรรมตามตำบลต่างๆ เช่นกัน จนนางมีความรู้แตกฉานในหลักธรรม และได้รับเมตตาจากพระศิวลีเถระเช่นเดียวกับที่ได้จากพระกุมารกัสสปเถระ
พระศิวลีเถระนั้นนับว่ามีความมหัศจรรย์แตกต่างจากคนทั่วไปคือท่านอยู่ในครรภ์มารดาถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วันก่อนคลอด ทำให้เป็นผู้มีพลังจิตกล้าแข็ง เมื่อท่านกำหนดจิตให้พรนางสุภาวดี พรของท่านจึงมีพลังเป็นพิเศษ
ด้วยบุญบารมีที่สาวน้อยสุภาวดีได้รับพรจากพระอรหันต์ถึง 2 องค์ เมื่อนางติดเกวียนบิดามารดาไปค้าขายที่เมืองใด จึงทำให้ค้าขายได้คล่อง ต่างจากครั้งที่นางไม่ได้ไป ซึ่งท่านสุจิตตพราหมณ์ และท่านสุมณฑา บิดามารดาก็รู้สึกถึงความแตกต่างนี้ว่ามาจากบุญบารมีของบุตรสาว จึงให้นางติดเกวียนไปด้วยทุกครั้ง จำทำให้ครอบครัวร่ำรวยมั่งคั่งขึ้นทุกทีถึงขั้นเศรษฐี และยังมั่งคั่งขึ้นไปอีกเรื่อยๆ
ต่อมาเมื่อร่ำรวยเป็นเศรษฐีแล้ว ท่านสุจิตตพราหมณ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธองค์ บังเกิดศรัทธาแรงกล้า และปฏิบัติธรรมอยู่ในขั้นโสดาบันบุคคล ได้ถวายอุทยานชื่อ อัมพาฎกวัน อุทิศเป็นสังฆทานให้เป็นที่พักพระภิกษุสงฆ์ ทั้งยังสร้างวิหารหลังใหญ่ไว้กลางอุทยานเป็นวัดขึ้น ตั้งชื่อว่า วัดมัจฉิกาสัณฑาราม และนิมนต์พระสุธรรมเถระ มาเป็นเจ้าอาวาส
ท่านสุจิตตพราหมณ์ ยังเป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ชอบช่วยเหลือคน เมื่อเดินทางไปค้าขายยังเมืองไกล ท่านก็ประกาศถามพระภิกษุสงฆ์ พระภิกษุณีตลอดจนประชาชนผู้เป็นพุทธบริษัททั้งหลายรวมทั้งผู้ที่นับถือนิกายอื่นด้วยว่า ใครจะไปทางเดียวกับท่านบ้าง ซึ่งบางครั้งก็มีคนแจ้งความประสงค์นับพัน ท่านก็จัดเกวียนรับคนเหล่านั้นไปด้วยตามประสงค์ ทำให้ผู้คนต่างสรรเสริญในคุณงามมีจิตเมตตาต่อผู้คนทั่วไปของท่าน และเมื่อพูดกันถึงท่านสุจิตตพราหมณ์ ก็จะพูดกันถึงอานุภาพความขลังของสาวน้อยสุภาวดีที่ทำให้บิดามารดาร่ำรวย้วย จึงพากันยกย่องบูชาในอานุภาพของนางที่ดลบัดดาลให้เกิดโชคลาภทางการค้า
กาลเวลาผ่านไป จนท่านสุจิตตพราหมณ์ และท่านสุมณฑาละสังขาร ส่วนนางสุภาวดีก็แก่ชราจนละสังขารตามบิดามารดาไป แต่คุณงามความดี ความขลัง และความศักดิ์สิทธิ์ของนางสุภาวดีก็ยังได้รับการเชื่อถือ กราบไว้บูชาต่อไป ผู้ที่ให้ความเคารพนับถือนาง มีคนที่อยู่ในวรรณะทั้ง 4 ครบทุกวรรณะคือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และ ศูทร เมื่อจะปรารถนาให้ตนร่ำรวยจากการค้า ก็จะหารูปปั้นของนางสุภาวดีมาตั้งบูชา และอัญเชิญวิญญาณของนางมาสถิตในรูปปั้น
ต่อมาเมื่อมีผู้ที่เคารพกราบไหว้รูปปั้นนางแล้วร่ำรวยรุ่งเรืองขึ้นจากการค้า ก็มีผู้ศรัทธานิยมทำตามกันมากขึ้น และแพร่หลายกว้างขวางออกไป
เมื่อพุทธศาสนาและลัทธิพราหมณ์ได้แพร่เข้ามาสู่สุวรรณภูมิ พวกพราหมณ์ซึ่งนิยมทางพิธีกรรมและเวทมนตร์คาถาต่างๆ ก็ได้นำรูปปั้นของนางสุภาวดีเข้ามาด้วย โดยจำลองมาจากท่านั่งขายของบนเกวียนและทำเป็นรูปกวักมือให้คนเข้ามาหาหรือมาซื้อสินค้า แต่แรกก็ทำขึ้นไว้เพื่อกราบไหว้บูชาเอง ต่อมาเมื่อมีผู้เลื่อมใส จึงทำตัวเป็นอาจารย์ปลุกเสกรูปปั้นนี้แจกจ่ายให้ผู้ที่ทำการค้า จนรูปปั้นแม่นางสุภาวดีได้รับความนิยมในหมู่ผู้ทำมาค้าขาย และขยายไปทั่ว ซึ่งได้เรียกกันตามท่านั่งของนางว่า “นางกวัก”
2,500 กว่าปีแล้วที่นางสุภาวดีนั่งกวักมือเรียกลูกค้า จนพัฒนาขึ้นเป็นขยับมือกวักได้ ถ้านางไม่ขลังศักดิ์สิทธิ์จริงแล้ว คงไม่ได้นั่งกวักมาจนถึงทุกวันนี้
|