เหตุที่มีลักษณะคล้ายอัญมณี ของ “พระบรมสารีริกธาตุ”

พระบรมสารีริกธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมธาตุ ก็คือ พระบรมอัฐิ หรือกระดูกของพระพุทธเจ้านั่นเอง เหตุที่ไม่เรียกว่าพระบรมอัฐิเหมือนกษัตริย์หรือจักรพรรดิทั้งหลาย ก็เพราะสมเด็จพระบรมศาสดาทรงล่วงพ้นวิสัยของสามัญชน ทรงสร้างสมพระบารมีไว้อย่างอเนกอนันต์ ทรงสมบูรณ์ด้วยพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระกรุณาธิคุณอย่างที่ไม่มีบุคคลใดมาเทียบได้
ทรงมีพุทธานุภาพยิ่งใหญ่ไพศาลแผ่ซ่านตลอดไปทั่วจักรวาล
ในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าที่นครกุสินารานั้น กษัตริย์มัลละได้ทรงประกอบพิธีเช่นเดียวกับพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ ห่อหุ้มพระพุทธสรีระด้วยผ้าถึง 500 ชั้น โดยชั้นนอกและชั้นในสุดใช้ผ้า “อโธวิตะ” แปลว่า ไม่ต้องซักด้วยน้ำ ซึ่งอาจะเป็นผ้าทนไฟชนิดหนึ่งในยุคนั้น เพราะเมื่อถวายพระเพลิงแล้ว พระพุทธสรีระและสิ่งห่อหุ้มได้มอดไหม้ไปกับเปลวเพลิง เหลือแต่ผ้าชั้นนอกและชั้นในห่อหุ้มพระบรมธาตุไว้

พระบรมสารีริกธาตุ
พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุที่เหลืออยู่ในห่อผ้า 2 ชั้นนี้ มีลักษณะไม่เหมือนกระดูกคนธรรมดาทั่วไป แต่ดูคล้ายอัญมณี คล้ายไข่มุก คล้ายแก้ว คล้ายหิน มีสีสันต่างๆ กัน เช่น เหลืองทอง เขียว ขาว สุกใส และขาวดุจงาช้าง เป็นต้น
คนรุ่นใหม่อาจจะเชื่อยากที่พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามีลักษณะคล้ายแก้วคล้ายหิน ต่างจากกระดูกของคนธรรมดา แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แต่อย่างใด วิทยาศาสตร์น่าจะค้นคว้าหาคำตอบเรื่องนี้ต่อไป
ขณะนี้ก็มีการค้นพบกันแล้วว่า ในยามที่มนุษย์คิดถึงความทุกข์ ความสุขนั้น ร่างกายจะหลั่งสารที่แตกต่างกันออกมา ทำให้จิตใจเบิกบานและห่อเหี่ยวต่างกันไป
ฉะนั้นการบำเพ็ญสมณธรรมมาเป็นเวลานาน จนดวงจิตหลุดพ้นจากโลกียวิสัย ปราศจากโลภ โกรธ หลง มีแต่ความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก ร่างกายก็อาจจะหลั่งสารบางอย่าง ที่ทำให้กระดูกแปรเปลี่ยนไปเช่นนี้ก็เป็นได้
เพราะไม่เพียงแต่พระบรมธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น พระธาตุของพระอรหันต์สาวก ก็มีลักษณะเช่นกัน แม้แต่อริยสงฆ์ในปัจจุบันหลายองค์ อัฐิของท่านก็แปรเปลี่ยน แปรสภาพไปจากกระดูกคนธรรมดา อย่างเช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต รวมทั้งพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ฯลฯ

พระบรมสารีริกธาตุ สีเหมือนแก้วมุกดาที่เจียระไนแล้ว (สีผลึก)
พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้ทรงเล่าไว้ในหนังสือ “พุทธธันดรไตรเวทย์” ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 เดือนกันยายน พ.ศ. 2520 เกี่ยวกับอัฐิของหลวงจีนรูปหนึ่งว่า
“นานมาแล้ว มีลูกสมุนคนจีนที่ชอบพอกับข้าพเจ้ามาก ได้มาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า มีหลวงจีนหนุ่มที่คนนับถือและเชื่อว่าท่านสำเร็จเป็นอรหันต์ได้มรณภาพลง และเขาเป็นศิษย์คนหนึ่งที่ใกล้ชิด และร่วมอยู่กับผู้ที่จัดการเผาศพท่านเมื่อวันสองวันก่อน เขาเล่าให้ฟังว่าเป็นที่แปลกประหลาดและตื่นเต้นเป็นที่สุดด้วย ตามกระดูกของท่านที่เผาแล้วนั้น
ปรากฏว่ามีแก้วสีต่างๆ งอกออกมาจากกระดูกเต็มไปหมด และเวลานี้ก็ยังตั้งบูชาอยู่ที่วัด และได้พาข้าพเจ้าไปดู ก็ได้สังเกตเห็นว่าเป็นความจริงที่ว่า ที่เศษกระดูกไหม้ไฟนั้น มีแก้วใสๆ เม็ดเล็กๆ ติดอยู่ แม้แต่มีแทรกอยู่แน่นในชิ้นกระดูกก็มี บางเม็ดครึ่งหนึ่งยังเป็นกระดูก ครึ่งหนึ่งใสก็มี เขาถามข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าอยากจะได้เพชรพลอยที่เกิดจากกระดูกท่านหรือไม่
เขาจะไปขอมาให้ถ้าอยากได้ เมื่อเสร็จพิธีแล้วเขาจะไปขอมาสักเม็ดสองเม็ด ข้าพเจ้าก็ได้ขอให้เขาไปขอมา แล้วเขาก็เอามาให้”
เรื่องนี้จึงเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

โทณพราหมณ์แบ่งสรรพระบรมธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ 7 พระนคร
ในพิธีถวายพระเพลิงพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้มีกษัตริย์และพราหมณ์จาก 7 นครมาร่วม และถวายสาส์นต่อพระเจ้ามัลละ ขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเพื่อจะนำไปประดิษฐานไว้ในพระสถูปเพื่อสักการะ
แต่กษัตริย์มัลละทรงดำริว่า พระพุทธองค์ทรงประชวรตั้งแต่นายจุนทะ เจ้าของป่ามะม่วงที่เมืองปาวา ได้ถวายอาหาร “สุกรมัทวะ” พระอาการหนักจนลงพระโลหิต แต่พระองค์ก็ทรงพระอุตสาหะเสด็จมาดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวันอุทยานของตน คงมีพระประสงค์จะประทานพระบรมสารีริกธาตุให้เรา จึงประกาศที่จะไม่แบ่งให้ใคร
ทำให้กษัตริย์ต่างๆ เตรียมจะเรียกกองทัพมาชิงพระบรมสารีริกธาตุ โทณพราหมณ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป เห็นว่าทุกคนต่างเลื่อมใสพระพุทธองค์เป็นบรมครู ซึ่งได้ทรงสั่งสอนไม่ให้รบราฆ่าฟันกัน การที่จะเอาความปรารถนาในพระบรมสารีริกธาตุ ของพระองค์เป็นมูลเหตุของการทำสงคราม จึงเป็นสิ่งที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง
ได้ขอให้กษัตริย์ทุกนครจงพร้อมสามัคคีกัน แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนให้เท่ากันทุกนคร ซึ่งพระเจ้ามัลละและกษัตริย์อีก 7 นครก็ต่างสำนึกเห็นพ้องต้องกัน

พระบรมสารีริกธาตุ สีเหมือนจุณ หรือ ผงทองคำ (สีทองอุไร)
การสำแดงปาฏิหาริย์ของ “พระบรมสารีริกธาตุ”
พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมอัฐของสมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เชื่อกันว่า ไม่ว่าจะบรรจุอยู่ในพระสถูปเจดีย์ หรือในผอบบนหิ้งบูชาใดๆ ก็สามารถจะเสด็จออกไปจากที่นั้น หรืออาจจะเสด็จมาเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้
การเสด็จไปมานั้น โดยปกติก็จะเสด็จอันตรธานหรือเสด็จมาเองอย่างเงียบๆ ไม่มีปรากฏการณ์ให้เห็นด้วยสายตา แต่กล่าวกันว่าบางครั้งก็เสด็จโดยสำแดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏเป็นแสงสีเขียวปนเหลืองๆ นวลเป็นลูกกลมลอยไปมาให้ผู้มีบุญวาสนาได้เห็น ขนาดเล็กเท่าผลส้มเกลี้ยงก็มี หรือขนาดใหญ่ขนาดผลมะพร้าวห้าวก็มี
ตามตำนานหรือพงศาวดารได้กล่าวถึงการสำแดงปาฏิหาริย์ของพระบรมสารีริกธาตุหลายครั้งในหลายยุคสมัย
|