หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

"ธรรมะ" ย่อยยาก?


แง่หนึ่งอาจจะมองได้ถึงนัยของการเกิดการ "ปรับ-เปลี่ยน" ก็เพื่อให้เข้า/ทันกับยุคสมัย และความคิดของผู้คนที่เปลี่ยนไป

แต่ใช่หรือไม่ว่าการปรับเปลี่ยนด้วยแนวความคิดเพื่อให้เกิดความ "ง่ายต่อการเข้าใจ" ต่อผู้รับนั้น

ในอีกแง่หนึ่งมันก็อาจหมายความได้ถึง "ระดับสติปัญญา" ที่ "มีไม่พอ ที่ "จะเข้าถึง" ของผู้รับที่ว่านี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากการออกมาเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการร่างกันอยู่ที่ค่อนข้างจะเป็นไปอย่างคึกคัก(อาจจะเลยเถิดไปในความรู้สึกของใครหลายต่อหลายคน)แล้ว ดูเหมือนว่าช่วงนี้กระแสการเคลื่อนที่ของ "ธรรมะ" ของบ้านเราก็ดูเหมือนจะคึกคักไม่แพ้กัน

ยืนยันคำกล่าวที่ว่าได้ถึงการเกิดขึ้นของพระนักเทศน์รุ่นใหม่ๆ อาทิ พระมหาสมปอง, ท่าน ว.วชิระเมธี, 2 พระนักเทศน์มุกเยอะอย่าง พระครูปลัดราชันย์ อริโย และ พระมหาตุ้ยนุ้ย ฯลฯ ที่ต่างล้วนแล้วแต่สอดรับช่วงพระชื่อดังอย่าง "พระพยอม" ได้เป็นอย่างพอเหมาะพอเจาะ, การเกิดขึ้นของหนังสือธรรมะหลายต่อหลายหัว, การ์ตูนธรรมะ, ภาพยนตร์แอนิเมชันลายเส้นเนี้ยบ คุณภาพระดับฮอลลีวูดอย่าง “ประวัติพระพุทธเจ้า” ที่เตรียมจะเข้าฉายในปีนี้...

เรื่อยไปจนถึงความนิยมในการนำเนื้อหาพระธรรม คำสอนต่างๆ เข้าไปสอดแทรกไว้ในบทเพลงที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ในเรื่องของเนื้อหากับจังหวะของเสียงดนตรี จากกลุ่มดนตรีหลายต่อหลายวง อาทิ "เรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธา" วงฮิพฮอปอย่าง "Buddha Bless" หรือจะเป็นการประกวดแต่งเพลงธรรมะ ในโครงการ "ตัวกู ของกู" Me My Music ฯลฯ


อย่างไรก็ตาม แม้ "ช่องทาง" ที่ใช้ในการนำเสนอจะแปลกพระธรรมคำสอนที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ "รูปแบบ" ใน "เนื้อหา" ที่เผยแผ่ออกไปนั้นล้วนแล้วแต่ถูกคิดขึ้นมาจากพื้นฐานที่ว่า จะต้องเป็นอะไรที่สำเร็จรูป เข้าใจ - เข้าถึงง่าย และต้องให้บรรยากาศที่อิงอยู่บนรากของความสนุกรื่นเริงทางด้านอารมณ์กระทั่งเกิดคำบางคำอย่างที่เรียกกันว่า "ธรรมะอินเทรนด์" ขึ้นมา

และด้วยข้อสังเกตดังกล่าว จึงก่อให้เกิดคำถามอาทิที่ว่า แท้จริงแล้วธรรมะเป็น "ยาขม" เรื่องที่เข้าใจยากจริงหรือ? คนสมัยก่อนมีระดับสติปัญญาที่ดีกว่าคนรุ่นใหม่เพราะสามารถเข้าใจในเรื่องที่ยากๆ ได้มากกว่าใช่หรือไม่? และหากไม่ทำเป็น "ขนมหวาน" ก็จะไม่มีคนสนใจในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเชียวหรือ?

เรื่อยไปจนถึงคำถามที่ว่า แล้วธรรมะเพื่อคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ให้อะไรที่เป็นแก่นสารหรือทำให้ผู้ที่รับเอาคำสอนที่ถูกเคลือบนี้ไปจะสามารถเข้าถึงเจตนา - นัยที่แท้จริงขององค์พระศาสดาได้มากน้อยเพียงใด?


• ธรรมะยาขม?

“อาตมาคิดว่ามันก็ยังได้ผลนะ เพราะเราต้องยอมรับว่าในสังคมไทยนั้น ก็มีทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ การเทศน์รุ่นเก่าก็จะตอบสนองต่อคนรุ่นเก่า แต่จะไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมอะไรมากนัก การเทศน์รุ่นใหม่ถ้าทำให้ดี ก็จะได้ใจทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ รวมทั้งจะเป็นการขับเคลื่อนสังคมไทย ให้หันไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องด้วย..." พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือที่คนทั่วไปรู้จักท่านดีในชื่อของ ท่าน "ว.ชิรเมธี" แสดงความคิดเห็นเปรียบเทียบต่อกลวิธีการเผยเพร่ศาสนาในรูปแบบเก่าและใหม่

"ฉะนั้นพระสงฆ์ที่จะงานเผยแพร่พระพุทธศาสนา จะต้องรู้จักสังคมไทยในสองมิติ คือ ในมิติหนึ่งที่คนไทยยังยึดโยงอยู่กับขนบประเพณีแบบเดิม อีกมิติหนึ่งในฐานะที่ประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกในระบอบโลกาภิวัฒน์ พระสงฆ์จะต้องปรับตัวให้รู้เท่าทันโลกทั้งสองใบ แล้วก้าวไปพร้อมๆ กัน ถ้ารู้เท่าทันโลกใบเก่า แล้วก้าวทันโลกใบใหม่ พระสงฆ์ไทยก็จะสามารถทำงานเผยแพร่เชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

เพราะยุคสมัยเปลี่ยน แนวความคิดเลยเปลี่ยน เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะเข้าถึงจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย


"สมัยนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ มุ่งจัดการศึกษาเชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ เราเรียก ว่าเป็นพาณิชยศึกษา เมื่อมหาวิทยาลัยแทนที่จะเป็นแหล่งผลิตปัญญาชน แต่กลับกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าใบปริญญาให้กับนักศึกษา คุณภาพของนักศึกษาก็ด้อยค่าลงไป พอมาอยู่ในสังคมไทย สังคมไทยกลายเป็นสังคมทุนนิยมเต็มรูปแบบ"

"คนทั้งหลายมีความเชื่อมั่นว่า การมีเงินคือการประสบความสำเร็จในชีวิต จึงมุ่งไปหาเงิน เมื่อมุ่งแต่จะได้เงินก็เกิดการแข่งขัน เกิดการเห็นแก่ตัวและทำเพื่อตัวเอง คนในสังคมก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวจำนวนมาก จึงไม่มีใครเหลียวแลใคร คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาท่ามกลางภาวะการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัว"

"เขาเหล่านั้นจึงกลายเป็นคนที่หยิบโหย่ง หลักลอย ขาดวิจารณญาณ แล้วก็ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ การที่เป็นอย่างนี้ก็ทำให้สังคมไทยเกิดวิกฤตการณ์ที่สำคัญมาก คือวิกฤตการณ์คุณภาพของคนไทย"

พระนักเทศน์ชื่อดังบอกเล่าถึงการแพร่ "ธรรมะเชิงรุก" ของตนในบริบทที่เรียกว่า "Active Buddhism" ว่าเป็นการสอนธรรมะเพื่อที่จะตอบโจทย์ แก้ปัญหาของสังคมในโลกปัจจุบันได้จริงๆ ไม่ใช่เผยแพร่ธรรมะตามธรรมเนียม ตามประเพณี หรือเพื่อแลกกับลาภสักการะอีกต่อไป


ว.วชิรเมธี

"ในแง่ของคนรุ่นใหม่เอง ก็จะต้องได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง ให้เห็นว่าคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร ไม่ใช่วิ่งตามแฟชั่น วิ่งตามทุนนิยมบริโภค วิ่งตามตะวันตก ซึ่งยิ่งวิ่งก็ยิ่งไม่เจอ เพราะถ้าเราวิ่งตามความอยากไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนคนที่พยายามตักน้ำไปเติมทะเล ตักเท่าไรก็ไม่มีเต็ม คนที่วิ่งตามความอยาก สุดท้ายไม่เพียงแต่จะไม่สมหวังเท่านั้น ชีวิตก็จะถูกใช้ไปโดยที่ไม่เกิดคุณค่าอะไรด้วย”

เผยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไทยเดินห่างออกจากธรรมะที่แท้จริงมากขึ้นก็เพราะใช้คำว่า "ศรัทธา" ไม่เป็น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือวัตถุบูชา เครื่องรางของขลังทั้งหลาย

"พระพุทธศาสนาของเราสอนเรื่องศรัทธา ไม่ได้ปฏิเสธศรัทธา แต่ไม่เน้นศรัทธา พุทธบอกว่าเราควรมีศรัทธาได้ แต่ศรัทธานั้นควรจะประกอบด้วยเหตุผลเสมอไป สังคมไทยพลาดตรงไหน พลาดตรงที่ใช้ศรัทธามากกว่าเหตุผล ซึ่งไม่ถูกต้อง"

“พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าเราจะศรัทธา ควรจะมีศรัทธาอย่างน้อยใน 4 เรื่องด้วยกัน หนึ่ง ศรัทธาในกฎแห่งกรรม สองศรัทธาในผลของกฎแห่งกรรม สามศรัทธาว่าคนทุกคนมีกรรมเป็นของตัวเอง ทำสิ่งใดไว้ต้องได้รับผลของกรรมนั้น และสี่ ศรัทธาในศักยภาพของสติปัญญา แห่งมนุษย์เอง ถ้าเราจะศรัทธาให้ศรัทธาในสี่เรื่องนี้เป็นหลัก"


"แต่สังคมไทยทุกวันนี้ กำลังใช้ศรัทธาในทางที่ผิด นั่นก็คือไปศรัทธาในพ่อมดหมอผี คนทรง เกจิ ขุนขลังขมังเวทย์ต่างๆ แล้วก็กลายเป็นการดูถูกศักยภาพทางสติปัญญาของตัวเอง มนุษย์มีศักยภาพพิเศษซึ่งสัตว์ชนิดอื่นไม่มี นั่นก็คือศักยภาพในการที่จะอยู่ได้ด้วยสติปัญญาของตัวเอง แต่คนไทยกำลังมองข้ามศักยภาพตัวนี้ของเรา แล้วหันไปพึ่งพาอาศัยเหตุปัจจัยภายนอก ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ ไม่สอดคล้องกับหลักทางวิทยาศาสตร์"

แม้หลายคนจะออกอาการเป็นห่วงในเรื่องของปริมาณของคนที่นับถือศาสนาพุทธที่มีแนวโน้มจะลดน้อยลงไป ทว่าสำหรับพระนักเทศน์ชื่อดังรูปนี้กลับห่วงในเรื่องของคุณภาพมากกว่า พร้อมแสดงความพึงพอใจต่อกระแสที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“อาตมาคิดว่าพอใจกว่าเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา น่าสังเกตว่าเดี๋ยวนี้มีคนรุ่นใหม่สนใจธรรมะ ทั้งธรรมะระดับจริยธรรม ก็คือธรรมะที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันให้มีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วธรรมระดับปรมัตธรรม ก็คือการนิยมไปเจริญวิปัสนากรรมฐาน ซึ่งทุกวันนี้มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจธรรมะทั้งสองระดับนี้มาก อาจจะกว่าทุกยุคที่ผ่านมาของสังคมไทยก็เป็นได้"

"โดยเฉพาะระดับวิปัสนากรรมฐานนั้น ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า มีคนตั้งแต่ราชนิกูลลงมา ไฮโซ นักธุรกิจ ดารา ปัญญาชนจำนวนมาก เดี๋ยวนี้พากันเข้าคอร์ส วิปัสนากรรมฐาน รวมทั้งนิยมจัดคอร์สวิปัสนากรรมฐานกัน ที่บ้าน ที่รีสอร์ท ด้วยตัวเองด้วย ซึ่งปรากฏการ์ณแบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนัก ในสังคมไทยยุคก่อนนะ”

"ในพระพุทธศาสนาของเรานี้ เราไม่เน้นการมีศาสนิกจำนวนมากนะ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าในพระพุทธศานาไม่สู้ให้ความสำคัญกับปริมาณของศาสนิกมากนัก แต่ให้ความสำคัญต่อคุณภาพของศาสนิกมากกว่า”


“ฉะนั้นทุกวันนี้ แนวโน้มของคนรุ่นใหม่ที่สนใจศาสนา แม้จะมีน้อย แต่อาตมาเชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นจำนวนน้อยที่มีคุณภาพ มากกว่าจำนวนมากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา”

“อาตมาคิดว่าการที่จะทำให้คนสนใจธรรมะ สิ่งที่ดีที่สุดอยู่ที่ การเอาธรรมะที่แท้จริงมาเผยแพร่ ไม่ใช่เอาธรรมะเปลือก ธรรมะสะเก็ด ธรรมะกระพี้ ออกมาเผยแพร่อย่างทุกวันนี้ นอกจากนั้นก็ต้องให้การศึกษาที่ดีแก่ประชาชน ให้การศึกษาที่ดีแก่พระสงฆ์ ถ้าพระสงฆ์มีการศึกษาที่ดี ท่านก็จะสามารถนำเอาธรรมะที่แท้จริงไปเผยแพร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

"และถ้าประชาชนมีการศึกษาที่ดี ประชาชนนั่นแหล่ะ ก็จะพากันเรียกร้องคุณภาพจากพระสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป เหมือนในสมัยโบราณที่พระมหากษัตริย์ มักจะเรียนธรรมะ แล้วก็จะมีประเพณีใหญ่ๆ อยู่ประเพณีหนึ่ง เรียกว่าประเพณีพระราชปุจฉา คือพระมหากษัตริย์จะคอยถามธรรมะจากรพสงฆ์อยู่เสมอๆ ก็ทำให้พระสงฆ์ใฝ่เรียน ใฝ่รู้พระธรรมวินัย จึงมีความรู้ลึกมาก"

"ดังนั้นถ้าชาวบ้านใฝ่ธรรมะด้วย ก็จะบีบพระสงฆ์ให้เรียนรู้ พอพระสงฆ์เรียนรู้ก็จะเก่งธรรมะ โดยวิธีที่ต่างฝ่ายต่างคอยเอื้อกันและกันอย่างนี้แหล่ะ เรียกว่า วัดอวยธรรม บ้านอวยทาน...”


• ศาสนาในมุมคนรุ่นใหม่

ภาพของวัยรุ่นหนุ่ม - สาว หลายต่อหลายคนกำลังดีดดิ้นไปตามจังหวะของเสียงเพลงท่ามกลางแสงไฟวูบวาบในบรรยากาศสลัวด้วยควันบุหรี่และกลิ่นแอลกอฮอลล์ พิศดูอย่างไรๆ ก็คงจะไม่มีใครกล้าที่บอกว่าอาการเหล่านั้นกำลังสื่อว่า พวกเขาและเธออยู่ในภวังค์ซาบซึ้งกับพระธรรมคำสอนอย่างแน่นอน

ความคิดที่ว่าอาจจะเป็นความคิดที่ผิดก็ได้

เพราะในปัจจุบันมีการบรรจุทั้ง "ศีล" และ "ธรรม" เข้าไปใว้ในบทเพลงมากมายกระทั่งอาจจะมองดูเหมือนเป็นแฟชั่นไปแล้ว

"ผมว่าคนฟังสนใจอะไรที่มากกว่าแค่ดนตรีนะ เพราะทุกคนพูดไปในทางเดียวกันว่าเนื้อหาแปลกและมันทำให้ปลง อย่างเช่น เพลงเรื่องนิดเดียว นะครับ มันทำให้เขาคิดได้ว่า จริงๆ แล้วตัวของเรานี้ มันก็เปรียบเสมือนมดตัวหนึ่งในจักรวาลเท่านั้น..." เอส วสกร จากกลุ่มเรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธา ที่ถือว่าเป็นกลุ่มแรกๆ ในการนำเอาเนื้อหาธรรมะเข้าหลอมรวมกับดนตรีสมัยใหม่


เอส

"หลังๆ มาเราได้เห็นว่ามีวงดนตรีทีทำเพลงที่มีหลักทางพุทธศาสนามากขึ้นนะครับ นอกจากนี้ก็มี บุดด้า เบลส บางเพลง กลุ่มผู้ใหญ่ในยุคก่อนๆ ก็เริ่มทำเพลงธรรมะออกมาในสไตล์ปัจจุบันมากขึ้นน่ะครับ"

ส่วนกรณีที่ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ไม่พยายามที่จะปรับตัวเอง แต่อยากให้ทุกอย่างปรับเข้ามาหา โดยเฉพาะเรื่องของธรรมะว่า...

"ผมว่าด้วยสิ่งที่หล่อหลอมชีวิตวัยรุ่นทุกวันนี้ มันไม่ใช่วัดน่ะครับ เราจะทำอย่างไรที่จะยกวัด มาไว้ใจกลางเมือง หรือทำอย่างไรให้เอาวัดมาวางกลางเซ็นเตอร์ พอยท์ ซึ่งตรงนี้มันมีทางเดียวก็คือ เราจะทำอย่างไรให้มันไปในทางเดียวกับที่วัยรุ่นเขาใช้ชีวิตอยู่ แล้วให้มันซึบซับไปในชีวิตของพวกเขา"

"ตรงจุดนี้ผมว่าอย่างน้อยหลักธรรมบางข้อ มันก็ซึมซับเข้าไปในชีวิตของพวกเขาได้ ผมว่ามันเป็นความจริงที่เราจะต้องใช้วิธีนี้ เพราะถ้าจะมาบอกว่า ทุกเที่ยงหรือทุกเย็น นักเรียนทุกคนต้องไปวัดนะ เพื่อที่จะฟังธรรมะ หรือฟังเทศนากัน ผมว่ามันคงจะยาก แต่พอเราใช้วิธีที่เป็นกุศโลบายนะครับ ให้เขาเข้ามาฟังแบบนี้ ผมว่ามันมีผลครับ"


อุ๋ย

แต่ถึงแม้จะมีเจตนาดีในวิธีการทำให้ธรรมะเข้าถึงและเข้าใจสำหรับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทว่าเมื่อถามถึง "ผล" ที่จะได้รับ ในมุมของ "อุ๋ย นที เอกวิจิตร" จากวง "บุดด้า เบลส" ที่นำเอาคำธรรมะมาใส่ในงานของตนเองแล้วบอกว่า มันไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาสักเท่าไหร่?

"ที่ผมเอาเนื้อหามาใส่ทำนองเพลงแบบนี้ เพราะผมรู้สึกว่าทำออกมาแล้วตัวเองภูมิใจ แต่ถ้าถามว่ามันได้อะไรไหม จริงๆ แล้ว ผมว่ามันแทบจะไม่ได้อะไรเลย เท่าที่ผมสังเกตนะครับ คนฟังที่เขาจะปรับปรุงตัวตามเพลง ผมว่ามีไม่เยอะหรอกครับ แต่ผมว่าถ้ามีแค่คนเดียว ที่เขาดีขึ้นเพราะได้ฟังเพลงผม แค่นั้นสำหรับผมก็พอแล้ว"

"เพราะว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่เขาก็ฟังเพื่อความสนุก ผมไม่รู้ว่าเขาจะได้มาก ได้น้อยอย่างไร แต่มันก็เหมือนกับแค่ไปช่วยสะกิดเกา ไม่ใช่การไปสอนเขาน่ะครับ ผมคิดว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบให้ใครมาสอนนะ เหมือนคุณเป็นใคร มาสอนผม คุณดีมากนักเหรอ มาสอนผมได้ ผมก็คิดว่าแค่พูดสะกิดเขาเฉยๆ ครับ"

รู้สึกมั้ยว่าคนรุ่นใหม่ค่อนข้างจะห่างไกลจากธรรมะมากๆ ถึงขนาดที่ต้องเอาไปสอดแทรกไว้ในเพลง หรือในสื่ออื่นๆ?

"ผมว่ามันห่างเยอะเลยครับ เพราะว่าสังคมมันทำให้เปลี่ยนไปด้วย อย่างเรื่องจตุคามนี่ ผมแอนตี้มาก เมืองไทยจะกลายเป็นว่าไม่ใช่พุทธไปแล้ว พูดกันแต่ว่าเป็นเมืองพุทธ แต่ว่าการกระทำจริงๆ มันไม่ใช่เลย มันห่างไกลมาก เอาง่ายๆ พื้นฐานของชาวพุทธคือศีลห้าครับ ทุกอย่างมันสวนทางหมดเลย ทั้งเรื่องเหล้า เรื่องค้าประเวณี อาบอบนวดแปะป้ายว่า ห้ามค้าประเวณี แต่ทุกคนก็รู้ว่าเข้าไปมันก็มีเพศสัมพันธ์กัน"

"ทุกอย่างมันทำให้เด็กที่อยู่ในสังคมนี้แย่ไปเลย มันก็ทำให้เด็กและเยาวชนไปเชื่อในสิ่งเหล่านี้ จนไม่คิดที่จะทำอะไรเอง ทุกคนหวังพึ่งแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์กันหมด"


โอปอล์

ด้านตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในเรื่องของพระพุทธศาสนาอย่างนักแสดงหญิง "โอปอล์ ปาณิสรา พิมพ์ปรุ" เผยต่อกระแสของธรรมะที่ต้องอินเทรนด์ว่า...

"ปอรู้สึกว่ารูปแบบใหม่ๆ แบบนี้ มันดีนะคะ เพราะว่าพระพุทธเจ้าบอกว่า บัวมี 4 เหล่าใช่ไหมคะ คนเราเหมือนบัวสี่เหล่า การที่คนแต่ละเหล่าจะเข้าถึงพุทธศาสนาได้ มันแล้วแต่ประเภทค่ะ มันแล้วแต่กุศโลบาย ถ้าเป็นวัยรุ่นหน่อย ให้พระมานั่งเทศน์ เขาไม่สนใจหรอกค่ะ เขาจะเบื่อ แต่ถ้าให้คนที่เขารู้สึกชื่นชอบ อาจจะเป็นดาราหรือวัยรุ่นหรือคนที่เป็นไอดอลของเขา แล้วมาพูดเรื่องพระพุทธศาสนา เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว แล้วเขาก็จะสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเพลง เป็นหนังสือหรืออะไรก็ตาม มันก็โยงมาจากแก่นแท้ นั่นก็คือหลักธรรมทั้งนั้นค่ะ"

นักแสดงยืนยันว่าเป็นเรื่องของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถที่จะรับการสั่งสอนแบบเก่าๆ ได้

ทำไมคนสมัยก่อนถึงฟังพระเทศน์ธรรมดาได้ แต่คนรุ่นใหม่ฟังไม่ได้

“ก็โลกมันเปลี่ยนไปนี่คะ สมัยนี้มีกี่คนที่เข้าวัดล่ะคะ สมัยก่อนศูนย์กลางของสังคมคือวัด ทุกคนต้องเข้าวัดอยู่แล้ว อาจะเป็นงานบุญหรืองานอะไรต่างๆ แต่สมัยนี้เด็กไม่เข้าวัด การที่มีคนเอาหลักธรรมคำสั่งสอนมาร้อยเรียงเป็นเพลงแล้วร้อง คนได้ฟังบางทีแค่ฟังผ่านๆ อาจจะมีโมเมนต์หนึ่งที่ฟังแล้วฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า เออ จริงว่ะ ถ้าเพลงเขาบอกว่า การปล่อยวาง ความว่างเปล่าคือความสุข ถ้าเด็กได้ฟังแล้ว ปิ๊งขึ้น เกิดปัญญาตอนนั้น ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีค่ะ ไม่ว่าสารจะเข้ามาทางสื่ออะไรก็ตาม ถ้ามันเป็นสารที่ดี มันก็ต้องดีค่ะ"


เผย หากใครคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ขาดซึ่งความพยายามและสติปัญญาจึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการเผยแพร่ธรรมะในรูปแบบเดิมๆ ได้ว่า เป็นความคิดที่โง่มากๆ..."ปอเชื่อว่าคนที่พูดอย่างนี้โง่มากเลย เพราะคนชอบพูดว่าเด็กสมัยนี้มันไม่ดี เด็กสมัยนี้มันโง่ ตอนคุณเป็นเด็กผู้ใหญ่ยุคนั้นก็ด่าคุณอย่างนี้เหมือนกัน"

"เพียงแค่โลกมันเปลี่ยนไปค่ะ เด็กสมัยนี้ฟังเทศน์ก็รู้เรื่อง เพียงแต่ว่าปัจจัยมันต่างน่ะค่ะ ตอนนี้มันมีหลายสื่อเข้ามา ถ้าพระพุทธศาสนาอยากให้มันเดินหน้าต่อไปควรที่จะเปิดกว้างเข้าสู่สังคมมากกว่านี้ค่ะ จริงๆ หลักธรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าก็มีอยู่หลักธรรมเดียว แต่ปอรู้สึกดีใจที่คนพยายามที่จะเผยแผ่หลักธรรมเดียวออกไปหลายๆ สื่อ เพื่อดึงคนกลับเข้าสู่ศาสนา"

"ถ้าศาสนายังคงอยู่แต่ในวัด ไม่ยอมแตกตัวไปที่อื่น เราก็จะโดนกลืนได้ค่ะ..."

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายวัน"


ไปข้างบน