ชมเมืองบาดาล ไหว้หลวงพ่ออุตตมะ ที่ "สังขละบุรี"
เจดีย์พุทธคยาที่วัดวังก์วิเวการาม จำลองมาจากประเทศอินเดีย
ว่ากันว่า เมืองชายแดนมักจะมีเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัส ซึ่งเสน่ห์ที่ว่านั้น "ผู้จัดการท่องเที่ยว" คิดว่าน่าจะอยู่ที่ความหลากหลายของผู้คนต่างเชื้อชาติแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผสมกลมกลืน
ว่ามาอย่างนี้อย่าเพิ่งคิดว่าจะพาไปเที่ยวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" จะพาไปจังหวัดกาญจนบุรี ที่อำเภอสังขละบุรี ชายแดนไทย-พม่า จังหวัดที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย มอญ กะเหรี่ยง พม่ามาอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดเป็นวิถีชีวิตที่น่าชม
ทิวทัศน์ของแม่น้ำรันตีเมื่อมองจากสะพานรันตี
แม้เส้นทางที่มุ่งตรงไปยังอำเภอสังขละฯ นั้นจะคดเคี้ยวชวนให้วิงเวียน แต่ก็มีทิวทัศน์ที่สวยงามมาชดเชยกัน อย่างเช่นบนสะพานรันตีที่ทอดข้ามแม่น้ำรันตีช่วงก่อนจะถึงตัวอำเภอสังขละฯ จากบนสะพานเมื่อมองลงไปจะเห็นแม่น้ำรันตีที่ไหลคดเคี้ยวเหมือนงูตัวใหญ่เลื้อยเลาะไปตามริมฝั่ง ในช่วงที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ไปเยือนนี้น้ำลดระดับจนเห็นตลิ่งกว้าง ชาวบ้านลงไปทอดแหจับปลาได้กลางแม่น้ำ ยืนดูจนเพลิน นึกขึ้นมาได้ว่าเรายังไปไม่ถึงตัวอำเภอสังขละกันเลย จึงต้องเดินทางกันต่อไป
อีกพักหนึ่งเราก็เดินทางมาถึงตัวอำเภอสังขละบุรีกันจนได้ อำเภอสังขละฯ นี้เป็นเขตชายแดนติดต่อกับพม่า นอกจากนั้น ที่สังขละฯ นี้ยังถือเป็นอำเภอที่มีชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากอีกด้วย ที่นี่จึงเป็นแหล่งที่สามารถพบเห็นวิถีชีวิตของชาวมอญได้ โดยหากอยากจะชมวิถีชีวิตของชาวมอญแบบได้บรรยากาศ ก็ต้องไปที่ "สะพานไม้มอญ" หรือที่เรียกแบบเป็นทางการก็ต้องเรียกว่า "สะพานอุตตมานุสรณ์" สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศ ที่ทอดข้ามลำน้ำซองกาเลียให้ผู้คนทั้งชาวไทย มอญ และกะเหรี่ยงได้สัญจรข้ามน้ำไปมาหาสู่กันได้
สาวมอญบนสะพานไม้
สะพานมอญแห่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะมี "หลวงพ่ออุตตมะ" เป็นผู้ดำเนินการสร้าง และด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญในหมู่บ้าน สะพานไม้แห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้น โดยมีความยาวตลอดสะพานถึง 850 เมตร ที่ว่าให้มาชมวิถีชาวมอญที่นี่ก็เพราะหากมาได้จังหวะเหมาะก็อาจจะได้พบกับสาวมอญหน้าตาคมขำเดินข้ามสะพานไปโดยมีข้าวของเทินอยู่บนศีรษะ ดูได้บรรยากาศเหมาะกับสะพานไม้เป็นอย่างยิ่ง
วิวทิวทัศน์เมื่อมองจากสะพานไม้ก็งดงามใช่ย่อย เมื่อเดินไปจนถึงกึ่งกลางสะพานจะรู้สึกเหมือนยืนอยู่ในที่โล่งกว้าง มองด้านบนเป็นผืนฟ้า ด้านล่างเป็นผืนน้ำทะเลสาบของเขื่อนวชิราลงกรณ์ หรือเขื่อนเขาแหลม ทิวทัศน์รอบข้างเป็นเรือนแพสงบนิ่งอยู่ริมตลิ่ง มองไปไกลๆ เห็นภูเขาสูงต่ำไกลออกไปตามสายตา แต่อย่ามัวชมวิวเพลิน ต้องคอยมองพื้นเวลาก้าวเดินด้วย เพราะมิฉะนั้นอาจจะตกร่องไม้ขาพลิกตกสะพานกันได้ โดยในตอนนี้เขาก็มีโครงการจะซ่อมแซมสะพานให้แข็งแรงกว่าเดิมกันอยู่ แต่ผู้คนก็ยังเดินสัญจรผ่านไปมาตามปกติ
ชมทิวทัศน์จากด้านบนสะพานมอญแล้ว ก็ได้เวลาลงเรือเพื่อสัมผัสสายน้ำกันใกล้ๆ บ้าง สิ่งหนึ่งที่หลายคนนึกถึงเมื่อพูดถึงจังหวัดกาญจน์ก็คือทางรถไฟสายมรณะ ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านไปยังประเทศพม่า ทางรถไฟสายนี้เริ่มต้นขึ้นที่สถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ไปจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟที่สร้างขึ้นทางฝั่งประเทศพม่า
ร่องรอยของทางรถไฟสายมรณะที่จมอยู่ในเขื่อนเขาแหลม
มาถึงตอนนี้ ทางรถไฟสายนี้บางช่วงบางตอนก็ยังคงถูกใช้งานอยู่จนปัจจุบัน แต่บางส่วนก็ถูกทำลายทิ้งไปบ้าง และมีบางส่วนที่จมอยู่ใต้ทะเลสาบเขื่อนเขาแหลม ซึ่ง "ผู้จัดการท่องเที่ยว" กำลังจะล่องเรือไปชม "บางส่วน" นั้นอยู่พอดี
คนขับเรือพาเราล่องไปตามร่องน้ำอย่างชำนิชำนาญ ที่ว่าต้องใช้ความชำนาญก็เพราะระดับน้ำในตอนนี้ลดต่ำลงมาก หากไม่ชำนาญทางจริงก็มีหวังท้องเรือคงติดแหง็กอยู่กับพื้นดินใต้น้ำไม่ต้องไปไหนกันพอดี แต่ทิวทัศน์ในทะเลสาบนั้นถือว่าสวยไม่เป็นรองใคร เพราะนอกจากจะมีทิวทัศน์ตามธรรมชาติอย่างภูเขาเขียวขจีแล้ว ก็ยังมีเรือนแพของชาวบ้านลอยลำอยู่เป็นระยะๆ บางบ้านมีกระชังเลี้ยงปลา แพบางหลังก็เป็นของนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนกันดูน่าสบาย
เราล่องเรือกันไปจนเกือบถึงสะพานรันตีที่ได้แวะชมวิวเมื่อขามา ตรงจุดนี้มีร่องรอยของทางรถไฟสายมรณะที่ยังเหลือคงอยู่ ซึ่งก็เป็นเพียงเนินดินสูงเป็นทางยาวเท่านั้น รางรถไฟและไม้หมอนนั้นสูญหายไปจนหมดแล้ว
โบสถ์ของวัดวังก์วิเวการามเก่าที่จมอยู่ใต้น้ำ
"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ใช้เวลาตรงจุดนี้ไม่มากนัก เพราะจุดหมายต่อไปคือ "เมืองบาดาล" วัดร้างใต้ทะเลสาบเขื่อนเขาแหลม หรือ "วัดวังก์วิเวการาม" หลังเก่า ที่ถือเป็นอันซีนไทยแลนด์ แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องวัด ก็ต้องพูดถึง "หลวงพ่ออุตตมะ" อีกครั้งหนึ่ง
หลวงพ่ออุตตมะหรือที่ชาวมอญยกย่องให้เป็น "เทพเจ้าของชาวมอญ" เพราะท่านให้ความช่วยเหลือแก่ชาวมอญไร้สัญชาติในสังขละบุรีมาโดยตลอด จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวมอญและชาวไทยเป็นอย่างมาก และวัดวังก์วิเวการามนี้ก็มีหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ริเริ่มสร้างอีกเช่นกัน หลังจากที่ท่านได้ธุดงค์ไปในหลายพื้นที่ก่อนที่จะมาปักหลักสร้างวัดในบริเวณที่เรียกว่า "สามประสบ" คือเป็นจุดที่แม่น้ำรันตี แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำซองกาเลียมาบรรจบกันรวมเป็นแม่น้ำแควน้อย
ซุ้มประตูของวัดวังก์วิเวการามที่ยังคงอยู่
แต่หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนเขาแหลม และเริ่มเก็บกักน้ำเมื่อปี 2527 น้ำเหนือเขื่อนจึงท่วมสูงขึ้น เป็นเหตุให้ต้องมีการอพยพบ้านเรือนและชุมชนต่างๆ ในบริเวณนี้ออกไป และปล่อยให้สายน้ำท่วมจมทุกสิ่งทุกอย่างลงใต้น้ำกลายเป็นเมืองบาดาล รวมทั้งวัดวังก์วิเวการามด้วยเช่นกัน
แต่หากใครได้มาเยือนทะเลสาบเหนือเขื่อนในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ก็ได้ยลโฉมซากวัดวังก์วิเวการามใต้น้ำได้ชัดเจนขึ้น เพราะน้ำจะลดระดับลง เหมือนอย่างที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้มาในวันนี้ ก็สามารถลงจากเรือไปเดินชมซากโบสถ์ วิหาร ซุ้มประตู และหอระฆังที่ยังหลงเหลืออยู่ได้อย่างใกล้ชิด แต่หากมาในช่วงอื่นก็อาจได้เห็นเพียงยอดของสิ่งก่อสร้างที่ลอยพ้นน้ำขึ้นมาเท่านั้น
หลังจากที่น้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเดิมแล้ว วัดวังก์วิเวการามก็ได้ย้ายขึ้นมาปลูกสร้างใหม่ในพื้นที่สูงกว่าเดิม และยังเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนเช่นเดิม แม้ว่าหลวงพ่ออุตตมะจะมรณภาพไปแล้วก็ตาม ซึ่ง "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ได้เดินทางมายังวัดวังก์วิเวการามปัจจุบันด้วยเช่นกัน
ผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนวัดวังก์วิเวการามแห่งนี้ นอกจากจะได้สักการะ "หลวงพ่อขาว" พระพุทธรูปหินอ่อนที่งดงามของวัดแล้ว ก็ยังจะได้กราบสังขารของหลวงพ่ออุตตมะซึ่งไม่เน่าเปื่อย และได้บรรจุไว้ในปราสาทเก้ายอดอันสวยงามสมเกียรติอีกด้วย
ศพของหลวงพ่ออุตตมะในปราสาทเก้ายอด
ห่างออกไปจากวัดวังก์ฯ อีกประมาณ 1 ก.ม. เป็นที่ตั้งของ "เจดีย์พุทธคยา" เจดีย์สีทองที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" มองเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ล่องเรืออยู่ในทะเลสาบ เจดีย์องค์นี้หลวงพ่ออุตตมะก็เป็นผู้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2525 โดยจำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยาของประเทศอินเดีย และสำเร็จลงด้วยแรงงานชาวมอญทั้งชายหญิงประมาณ 400 คนที่ช่วยกันเผาอิฐมอญกว่า 260,000 ก้อนเพื่อก่อสร้างขึ้นเป็นเจดีย์
บนยอดเจดีย์พุทธคยาประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวา 2 องค์ ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร ซึ่งหลวงพ่ออัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา รวมทั้งบนยอดยังมีฉัตรทองคำน้ำหนัก 400 บาทประดิษฐานไว้
ด่านเจดีย์สามองค์
"ผู้จัดการท่องเที่ยว" เดินผ่านสิงห์สองตัวขึ้นไปยังองค์เจดีย์ ซึ่งมีทางให้ขึ้นไปสักการะถึงด้านบน ใครจะเดินเวียนขวาทักษิณาวัตรรอบเจดีย์ก็ได้ตามสะดวก แต่ถ้ากราบไหว้กันเสร็จแล้ว คนชอบซื้อทั้งหลายก็อย่าลืมแวะดูของซื้อของฝากที่ขายอยู่บริเวณหน้าเจดีย์ โดยจะมีของจำพวกเฟอร์นิเจอร์ไม้ โต๊ะเก้าอี้ไม้ตัวเล็กๆ และของแต่งบ้านต่างๆ และแน่นอน รวมไปถึงทานาคา หรือแป้งพม่า ที่สาวพม่านิยมทาบำรุงผิวกันด้วย
ไหนๆ มาเมืองชายแดนแล้วก็ต้องไปให้ถึงขอบเขตแดนกันหน่อย ที่ "ด่านเจดีย์สามองค์" ที่รู้จักกันดีว่าเป็นเส้นทางเดินทัพไปยังประเทศพม่า ด่านเจดีย์สามองค์นี้แต่เดิมเรียกว่าหินสามกอง ต่อมาในปี 2472 พระศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรีก็ได้นำชาวบ้านร่วมกันก่อสร้างเจดีย์ขนาดเล็กสามองค์ขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ตั้งของเจดีย์แล้วก็ยังเป็นที่ซื้อของฝาก หรือจะข้ามไปยังฝั่งพม่าก็ได้เช่นกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรีได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลางเขต 1 (กาญจนบุรี) โทร.0-3451-1200, 0-3451-2500
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการท่องเที่ยว"
|