หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ยุคทองของ ‘พราหมณ์’ อานิสงส์องค์พ่อจตุคามฯ

พราหมณ์กำลังทำพิธีจัดสร้างจตุคามฯ

แม้จะไม่ปรากฏข่าวเปรี้ยงปร้างเหมือนตลอดช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่จนเดี๋ยวนี้กระบวนการจัดสร้างเหรียญจตุคามรามเทพยังคงมีขึ้นทุกวัน บางรุ่นเปิดให้จองล่วงหน้าทั้งที่วัตถุมงคลยังไม่ได้จัดทำก็ยังมียอดสั่งจองเต็มอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับคิวงานของเหล่าบุคคลที่มีส่วนในกระบวนการสร้างองค์พ่อจตุคามฯ ก็แน่นเอี๊ยดไปตามๆ กัน แต่เบื้องลึกเบื้องหลังใครจะทราบว่าเม็ดเงินที่สะพัดจากองค์พ่อจตุคามฯ จะนำมาซึ่งรายได้เป็นกอบเป็นกำของ “พราหมณ์” ผู้ประกอบพิธีอีกด้วย เรียกว่ามีงานเฉพาะทำพิธีจตุคามฯ ไม่ต่ำกว่า 100 งานต่อเดือน มีรายได้คราวละไม่ต่ำกว่าแสนบาท (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย) ถือว่าเป็นยุคทองของพวกพราหมณ์ก็คงไม่ผิด ซึ่งก่อนจะมีจตุคามฯ พราหมณ์มีรายได้แค่ 1-2 หมื่นบาทต่องานเท่านั้น

“พราหมณ์แจ้ง พรหมชาติ” หรือ หลวงพราหมณ์แจ้งแห่งลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ผู้ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดพราหมณ์ในการประกอบพิธีจัดสร้างองค์จตุคามฯ ด้วยเป็นท่านเดียวกับที่ทำพิธีพราหมณ์ในการจัดสร้างองค์พ่อจตุคามฯ รุ่นแรก ที่ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นเจ้าพิธีฝ่ายฆราวาส และ พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างเมื่อปี 2530 ทั้งยังได้ร่วมพิธีการจัดสร้างจตุคามฯ รุ่นต่างๆ มาโดยตลอด เพียงแต่การสร้างในช่วงก่อนนั้นไม่โด่งดังเท่ากับยุคนี้ นับเป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่คณะจัดสร้างเหรียญจตุคามฯ ต้องการตัวมากที่สุด

แต่ด้วยวัยที่ล่วงไปถึง 94 ปี ประกอบกับสุขภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย พราหมณ์แจ้งจึงงดรับงานทำพิธีไปตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว โดยส่งต่อให้ทายาท 2 คน คือ พราหมณ์สุเมธ พรหมชาติ และพราหมณ์ศักดิ์รพี พรหมชาติ รับช่วงแทน

ณ เวลานี้ ครอบครัวพรหมชาติมีคิวในการทำพิธีจัดสร้างจตุคามฯ ไปจนถึงสิ้นปี 2552

เรียกว่าคิวแน่นยิ่งกว่าพลังฝนแห่งเอเชียอย่าง “เรน” หรือซูเปอร์สตาร์ขวัญใจสาวๆ ในบ้านเราอย่าง “ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์” เสียอีก !!

จตุคามรามเทพ รุ่น พรประกาษิต

• องค์พ่อจตุคามฯ สร้างงาน

“เดี๋ยวนี้มีงานกว่า 100 งานต่อเดือน เคยทำพิธีมากที่สุดถึง 10 รุ่นในวันเดียว ตั้งแต่ตี 5 จนเลยเที่ยงคืน” พราหมณ์ศักดิ์รพี ทายาทของพราหมณ์ต้นตำราในพิธีปลุกเสกองค์พ่อจตุคามฯ เล่าถึงสถานการณ์การรับงานตั้งแต่ช่วงปี 2549 เป็นต้นมา ซึ่งแตกต่างจากช่วงเวลาก่อนหน้านั้นที่กระแสจตุคามฯ ยังไม่แพร่หลาย จึงมีงานติดต่อเข้ามาเดือนละไม่เกิน 10-15 ครั้งเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานทั่วไป เช่น เจิมป้ายสำนักงาน ตั้งศาลพระภูมิ ไม่ใช่พิธีสร้างจตุคามฯ อย่างในปัจจุบันนี้

เช่นเดียวกับพราหมณ์สุเมธ พราหมณ์ผู้พี่ ก็มีงานติดต่อมานับร้อยงานต่อเดือนเหมือนกัน โดยพราหมณ์ศักดิ์รพี บอกว่า ประมาณ 80% ของการจัดสร้างจตุคามฯ ทั่วประเทศ ถูกจัดทำพิธีขึ้นโดยพราหมณ์จากครอบครัวพรหมชาติ

แม้กระทั่งรัฐบาลของประเทศใกล้เคียงอย่างศรีลังกา ที่เคยออกมายืนยันว่าองค์จตุคามฯ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศศรีลังกา ก็ยังเคารพว่าต้นแบบในการจัดสร้างติดต่อให้พราหมณ์ศักดิ์รพีไปประกอบพิธีสร้างจตุคามฯ แจกจ่ายประชาชนที่โน่นให้ในเดือน ส.ค. นี้

“องค์พ่อจตุคามฯ ได้สร้างงานสร้างรายได้ให้คนทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะพราหมณ์ แต่โยงไปถึงครอบครัวอื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่า 100 คน ตั้งแต่คนขายดอกไม้ คนขายหัวหมู ไหนจะกลุ่มคนที่ทำกล่องใส่เหรียญอีก ที่เป็นแบบนี้เพราะองค์พ่อจตุคามฯ ให้งานเรามา เราก็กระจายงาน กระจายรายได้กันไป ไม่งกทำอยู่คนเดียว ไม่อย่างนั้นท่านก็เรียกคืนกลับหมด” พราหมณ์ศักดิ์รพี กล่าว

จนถึงปัจจุบันนี้พราหมณ์จึงไม่ได้มีบทบาทแค่ผู้ประกอบพิธีกรรม แต่ยังกลายเป็นผู้รับจัดงานแบบครบวงจร หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกกันว่า “ออร์แกไนเซอร์” ไปแล้ว โดยเจ้าภาพเพียงแต่นำงบประมาณและวัตถุประสงค์ในการจัดงานมา ส่วนกระบวนการจัดงานทั้งหมดพราหมณ์จะเป็นผู้รับผิดชอบตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งการจัดปริมณฑลพิธี เตรียมบายศรีและของบูชา ตลอดจนเชิญเกจิอาจารย์ดังมาปลุกเสก เป็นต้น

จตุคามรามเทพ รุ่น ยามเฝ้าแผ่นดิน

• รายได้หลักแสนต่อครั้ง

กระนั้นในการรับประกอบพิธีสร้างจตุคามฯ ของพราหมณ์ในครอบครัวพรหมชาตินั้น ไม่ได้จะรับทุกงานที่ติดต่อเข้ามา แต่มีเงื่อนไขว่าเจ้าภาพที่จัดงานจะต้องมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างที่ชัดเจนว่าจะนำเงินรายได้ไปบำเพ็ญสาธารณกุศลใดบ้าง

“พราหมณ์เป็นสื่อระหว่างมนุษย์กับเทพ มีหน้าที่บอกกล่าวความจริงกับเทพว่าจะเชิญองค์เทพไปสร้างวัตถุมงคลเพื่อเอารายได้ไปทำอะไร ถ้าผู้จัดงานไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน พราหมณ์ก็บอกกล่าวความจริงกับเทพไม่ได้ ไม่รู้ว่าพิธีจะสำเร็จหรือไม่ วัตถุประสงค์สำเร็จคือการที่บอกเทพไว้ว่าจัดทำแล้วจะระดมทุนไปทำประโยชน์ต่อสังคมเท่าไร แล้วทำได้จริงตามที่บอก แต่ถ้าวัตถุประสงค์ไม่สำเร็จ ก็คือพวกที่สร้างเสร็จแล้วเบี้ยวไม่ยอมทำตามที่บอกกล่าวเทพไว้ ก็จะมีอันเป็นไปกัน” พราหมณ์สุเมธ กล่าว

เงื่อนไขที่สำคัญคือเจ้าภาพผู้จัดสร้างจะต้องทำพิธีตามสูตรการจัดสร้างจตุคามฯ ที่ขุนพันธรักษ์ราชเดชเขียนไว้ตั้งแต่สมัยที่ให้พราหมณ์แจ้งเป็นผู้ประกอบพิธีจัดทำองค์จตุคามฯ รุ่นแรก ซึ่งประกอบด้วยพิธีการ 7 วาระ ดังนี้

วาระที่ 1 ขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลต่อองค์พ่อจตุคามฯ ณ วิหารทรงม้า วัดพระศรีมหาธาตุ

วาระที่ 2 ขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลต่อศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช

วาระที่ 3 ขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลต่อสะดือทะเล ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากองค์จตุคามฯ ได้รับฉายาว่าสิงห์ทะเลใต้

วาระที่ 4 วาระการกดพิมพ์นำฤกษ์ ซึ่งเจ้าภาพจะกำหนดสถานที่เอง

วาระที่ 5 พิธีพุทธาภิเษก คือ นำเหรียญจตุคามฯ ที่พิมพ์เสร็จแล้วไปทำพิธีปลุกเสกที่วัดพระศรีมหาธาตุ หรือศาลหลักเมืองก่อนที่จะปล่อยให้กับผู้เช่า

วาระที่ 6 นำเหรียญจตุคามฯ ที่พิมพ์เสร็จแล้วไปทำพิธีปลุกเสกที่สะดือทะเลอีกครั้ง

วาระที่ 7 นำเหรียญกลับมาทำพิธีสมโภชยังวัดที่กดพิมพ์นำฤกษ์

พราหมณ์ศักดิ์รพี อธิบายว่า ในวาระที่ 1-3 จะคิดค่าใช้จ่าย 2.5 หมื่นบาทต่อวาระ เนื่องจากเป็นพิธีของพราหมณ์ทั้งหมด ไม่ต้องใช้พระสงฆ์ ส่วนวาระที่ 4-7 คิดค่าใช้จ่ายวาระละไม่เกิน 1.5-2 แสนบาท เนื่องจากต้องใช้พระสงฆ์หลายรูป มีการเชิญเกจิอาจารย์หรือเจ้าคณะชื่อดังมากดพิมพ์ให้ ทั้งยังต้องใช้สถานที่และอุปกรณ์จำนวนมาก

“สมัยคุณพ่อ (พราหมณ์แจ้ง) จะไม่กำหนดค่าใช้จ่าย แล้วแต่เจ้าภาพจะใส่ซองให้ แต่มารุ่นผมต้องกำหนดเพราะเจ้าภาพไม่ต้องทำอะไร ผมเตรียมให้ทุกอย่าง เวลาไปจัดพิธีที่ต่างจังหวัดก็ขนทีมงานและอุปกรณ์กันไปคราวละ 5 คันรถ อย่างพิธีในวาระที่ 4 เฉพาะค่าบายศรีก็ปาไป 5-6 หมื่นบาทแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนเจ้าภาพจะทำเอง แต่ไม่ค่อยสมบูรณ์ ทำให้พราหมณ์ทำพิธีไม่ได้ เลยหันมาทำเองทั้งหมด”

จตุคามรามเทพ รุ่น พรประกาษิต

• พราหมณ์ “เก๊” ผุดเพียบ

จากอานิสงส์ที่องค์พ่อจตุคามฯ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับกลุ่มคนที่มีวงโคจรเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดสร้างจตุคามฯ โดยเฉพาะครอบครัวพราหมณ์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อพิธีการจัดสร้างเพิ่มขึ้นหลายเท่า ความต้องการพราหมณ์ก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าเช่นกัน จึงทำให้ภายในเมืองนคร ณ ช่วงเวลานี้ มีผู้ที่มีลักษณะ “คล้าย” พราหมณ์ ปรากฏขึ้นจำนวนมาก

พราหมณ์สุเมธหยิบเรื่องเล่าของพระครูชั้นผู้ใหญ่ที่นับถือ เล่าให้ฟังว่า ขณะที่พระสงฆ์บิณฑบาตทุกวัน ขอทานก็ขอทานทุกวัน มีขอทานคนหนึ่งสังเกตว่าตนใช้เวลาขอตั้งนาน แต่ได้ของกลับมาน้อยต่างจากพระที่ออกบิณฑบาตเดี๋ยวเดียวก็ได้แล้ว เลยโกนหัวทำเป็นบวชเหมือนพระบ้าง ปรากฏว่าคนไม่รู้ก็ใส่บาตรให้จำนวนมาก จนวันหนึ่งพระราชานิมนต์พระขอทานไปบิณฑบาตในวัง ถามว่ามาจากวัดไหน พระขอทานก็ตอบไม่ได้ วิ่งเข้าป่าไป ในที่สุดพระราชาที่นับถือพระขอทานด้วยใจจริง เพราะไม่รู้ว่าท่านไม่ใช่พระได้ขึ้นสวรรค์ ขณะที่พระขอทานที่หลอกลวงคนอื่นตกนรก

“ตั้งแต่มีกระแสจตุคามฯ ก็มีพราหมณ์เกิดขึ้นมาก ตอนนี้มีพราหมณ์ที่ถือได้ว่าเป็นของปลอม ขั้นต่ำ 15 ทีม ทีมหนึ่งมีลูกน้อง 4-10 คน ในการประกอบพิธี พราหมณ์ปลอมเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนขอทานในเรื่องเล่า นุ่งขาวห่มขาวไว้มวยผมเหมือนพราหมณ์จริง แต่ไม่ได้ปฏิบัติตัวอย่างพราหมณ์ คนในด้วยกันจะรู้ แต่คนนอกไม่รู้ก็มาเชิญพราหมณ์เก๊ไปทำพิธี อย่างในเรื่องเล่าให้สงสารคนไม่รู้ คนไม่รู้ไม่ผิด เขาศรัทธาด้วยใจจริงก็ได้ขึ้นสวรรค์ แต่คนที่หลอกคนอื่นก็ตกนรก” พราหมณ์สุเมธ ทิ้งท้ายให้คิด

ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์จริงหรือพราหมณ์ปลอม ก็ต้องยอมรับว่าอานิสงส์ขององค์พ่อจตุคามฯ ทำให้ยุคนี้กลายเป็น “ยุคทอง” ของพราหมณ์อย่างปฏิเสธไม่ได้

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ทูเดย์"


ไปข้างบน