‘พระราชครูวามเทพมุนี’ สืบสกุลพราหมณ์หลวง 4 แผ่นดิน
พระราชครูวามเทพมุนีในโบสถ์พราหมณ์
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยย้ายครอบครัวมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองไทย ในจำนวนนี้มีเพียงไม่กี่ตระกูลที่สืบวรรณะมาจากวรรณะ “พราหมณ์” อันเป็นวรรณะสูงสุดในสังคมพราหมณ์-ฮินดู และมีทายาทสืบตระกูลดำรงตนเป็นพราหมณ์ทำหน้าที่ติดต่อกับทวยเทพและประกอบพิธีกรรมต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
เกือบ 30 ปี ที่พระราชครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสิพราหมณกุล) สืบตำแหน่งหัวหน้าพราหมณ์ถวายงานพระราชพิธี สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ต่อจากบิดา ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่นี้สืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นคุณทวดผู้เป็นต้นตระกูลรังสิพราหมณกุล (สว่าง รังสิพราหมณกุล) ในสมัยรัชกาลที่ 6
จตุคามรามเทพ รุ่น ยามเฝ้าแผ่นดิน
• ต้นตระกูลฤษีสู่พราหมณ์หลวง
ในอินเดียพราหมณ์มีฐานะเป็นอาจารย์ของคนวรรณะอื่น (กษัตริย์ แพศย์ ศูทร) ทำหน้าที่ศึกษาพระเวทเพื่อให้ความรู้แก่แต่ละวรรณะได้นำจิตวิญญาณกลับไปสู่พรหมมันต์ ซึ่งเป็นภาวะสมบูรณ์ของพระพรหมที่หลุดพ้นจากกิเลสแล้วตามหลักศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้งยังมีหน้าที่ประกอบพระราชพิธีกรรมต่างๆ ให้แก่กษัตริย์ในฐานะที่กษัตริย์เป็นผู้ปกครองที่ปฏิบัติธรรมตามรอยพระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพุทธเจ้า จนได้รับการยกย่องให้เป็นสมมติเทพ และเมื่อพราหมณ์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยทวารวดีก็มิได้ละทิ้งหน้าที่นี้
ต้นตระกูลของพระราชครูวามเทพมุนีเป็นพราหมณ์ที่สืบเชื้อสายมาจากฤษีวศิษย์มุนีในประเทศอินเดีย เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทาง จ.พัทลุง-นครศรีธรรมราช โดยในยุคแรกเดินทางมาพร้อมพ่อค้า เพื่อทำหน้าที่ให้ความรู้สำหรับนำจิตวิญญาณของพวกเขากลับสู่พรหมมันต์ แล้วจึงขยับเป็นที่ปรึกษาให้เจ้าครองนคร ก่อนจะสังกัดเป็นพราหมณ์หลวงในปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา
“ตระกูลของผมเป็นพราหมณ์หลวงเรื่อยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 พอรัชกาลที่ 6 พระราชครูคนเก่าไม่มีทายาทผู้ชายสืบตำแหน่ง จึงแต่งตั้งให้คุณทวดของผมเป็นหัวหน้าพราหมณ์แทน รั้งตำแหน่งพระราชครูวามเทพมุนี และพระราชทานนามสกุลรังสิพราหมณกุลให้ใช้ จากนั้นคุณปู่ คุณพ่อ และตัวผมก็สืบทอดตำแหน่งนี้มาตลอด” พระราชครูวามเทพมุนี เล่า
ขณะทำพิธีรวมน้ำมนต์นครฐานสูตรกรุงรัตนโกสินทร์ 225 ปี
• สืบวรรณะตามสายโลหิต
เมื่อบิดาซึ่งรั้งตำแหน่งพระราชครูวามเทพมุนีคนก่อนเสียชีวิตในปี 2521 ชวิน (พระราชครูวามเทพมุนี) และพี่ชาย น้องชาย รวม 5 คน ก็เข้าพิธีบวชพร้อมกัน ตามกำหนดในสายสกุลพราหมณ์ที่ว่า บุตรชาย (อย่างน้อย 1 คน) ในสกุลพราหมณ์จะต้องปฏิบัติต่อเทพเจ้าสืบต่อจากผู้เป็นบิดา ต่อมาพี่ชาย 2 คน สึกออกมาทำธุรกิจ จึงเหลือพราหมณ์ตระกูลรังสิพราหมณกุล 3 คน และเมื่อพราหมณ์ชวินถึงพร้อมด้วยวัยวุฒิ 34 ปี ในปี 2530 จึงเข้ารับตำแหน่งพระราชครูสืบต่อจากผู้เป็นบิดา
“ตั้งแต่เด็กมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่บิดาเป็นพระราชครู ทำหน้าที่ปฏิบัติพระราชพิธีต่างๆ และบูชาเทพเจ้าเสมอ บิดาบอกว่าควรจะมีลูกชายสักคนที่เป็นพราหมณ์สืบต่อจากท่าน ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพวกเรา แต่ท่านจะให้ความใกล้ชิดกับผมมากเป็นพิเศษ เวลาที่มีพิธีสำคัญก็จะให้ผมลาโรงเรียนเพื่อพาไปร่วมพิธีและถ่ายทอดความรู้ให้เสมอ เพราะท่านเห็นว่าผมมีอัธยาศัยปฏิบัติและสนใจในทางนี้มากกว่าพี่น้องคนอื่น” พระราชครูวามเทพมุนี กล่าว
ในการบวชเป็นพราหมณ์หลวงจะต้องได้รับความยินยอมจากที่ประชุมพราหมณ์ในทำเนียบพราหมณ์หลวง โดยผู้บวชจะนำของมาถวายพราหมณ์ผู้ใหญ่แล้วพราหมณ์ผู้ใหญ่จะมอบสายสิญจน์รับพราหมณ์ใหม่ หรือทวิชาติ ซึ่งหมายถึงการเกิดครั้งที่ 2 ซึ่งการบวชพราหมณ์ไม่ได้มีกฎปฏิบัติจำนวนมากเหมือนกับการบวชพระ โดยถือศีล 5 เป็นศีลปฏิบัติ สามารถแต่งกายสุภาพเหมือนผู้ชายทั่วไปในเวลาปกติ และสวมเครื่องแบบเป็นเสื้อราชปะแตนและโจงกระเบนสีขาวในยามประกอบพิธีกรรม รวมถึงสามารถมีภรรยาเพื่อมีทายาทสืบตระกูลพราหมณ์ต่อไปได้
กระนั้นก็ยังมีข้อห้ามบางประการที่พราหมณ์ไม่สามารถทำได้ อาทิ ห้ามรับประทานเนื้อวัว ปลาไหล และงูต่างๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบริวารของเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และห้ามตัดแต่งผม ต้องไว้ผมยาวแล้วมุ่นเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย เพราะตามหลักศาสนาเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของเทวดา
สำหรับกิจประจำวันที่พราหมณ์ต้องทำ คือนมัสการพระอาทิตย์ตามเวลาเช้า กลางวัน เย็น เพื่อเป็นการนำจิตวิญญาณกลับไปสู่พรหม กล่าวคือ การไหว้พระอาทิตย์จะนำแสงสว่างให้เกิดในปัญญานำไปสู่การหลุดพ้น และจะมีการสาธยายพระเวท ซึ่งถือเป็นคัมภีร์หลักในศาสนาพราหมณ์ ประกอบด้วย ฤคเวท ใช้สวดสรรเสริญเทพเจ้า สามเวท ใช้สำหรับสวดในพิธีกรรมถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์และขับกล่อมเทพเจ้า ยชุรเวท ว่าด้วยระเบียบวิธีในการประกอบพิธีบูชายันต์และบวงสรวงต่างๆ และ อาถรรพเวท ใช้เป็นที่รวบรวมคาถาอาคมหรือเวทมนตร์
จตุคามรามเทพ รุ่น ยามเฝ้าแผ่นดิน
• ปฏิบัติด้วยความศรัทธาต่อเทพ
ปัจจุบันพราหมณ์หลวงจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ ในการอัญเชิญพระผู้เป็นเจ้าและทวยเทพตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาเป็นสักขีในการกระทำพิธีนั้นๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแด่องค์พระมหากษัตริย์ ราชบัลลังก์ และบ้านเมือง โดยงานพระราชพิธีจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ งานประจำปี ได้แก่ งานเฉลิมพระชนมพรรษา วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล การเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต เป็นต้น และงานตามวาระ อาทิ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปีที่แล้ว เป็นต้น
พระราชครูวามเทพมุนี ให้อรรถาธิบายว่า หน้าที่ของพราหมณ์หลวงคือการรักษาวัฒนธรรมในการประกอบพระราชพิธีถวายตามโอกาสต่างๆ ซึ่งจะได้รับเงินเดือนในการเลี้ยงชีพเช่นเดียวกับข้าราชการ แต่ก็สามารถรับประกอบพิธีอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานพระราชพิธีได้ เรียกว่ารัฐพิธีเป็นงานที่ถูกเชิญมาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น วางศิลาฤกษ์ ยกเสาเอก งานวันเกิด งานตัดจุก ตั้งศาลพระภูมิ ซึ่งจะมีเงินทักษิณามอบให้พราหมณ์ตามศรัทธา
“การเป็นพราหมณ์คือการปฏิบัติต่อเทพเจ้าด้วยความศรัทธา ไม่ใช่เป็นพราหมณ์เพื่อจะไปประกอบพิธีที่โน่นที่นี่เพื่อให้ได้เงินซึ่งเป็นบาป คนที่จะบวชเป็นพราหมณ์จึงต้องไม่สร้างบาป ถ้าไม่พร้อมก็ยังไม่เป็น และถ้าเป็นแล้วก็ต้องไม่ทำบาป เพราะผลของบาปจะต่อยาวไปถึงลูกหลาน และย้อนกลับไปสู่บรรพบุรุษเราด้วย” พระราชครูวามเทพมุนี บอก
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีตระกูลพราหมณ์ที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายงานพระราชพิธี หรือที่เรียกกันว่า พราหมณ์หลวง ซึ่งสืบสายมาจากบรรพบุรุษทั้งสิ้น 7 ตระกูล ได้แก่ สยมภพ โกมลเวทิน นาคะเวทิน วุฒิพราหมณ์ ภวังคนันท์ รัตนพราหมณ์ และรังสิพราหมณกุล
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ทูเดย์"
|