หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

อิ่มบุญอิ่มใจไหว้พระ 9 วัด เมืองแม่กลอง

พุทธศาสนิกชนเดินทางมากราบไหว้ หลวงพ่อบ้านแหลมที่วัดเพชรฯกันไม่ได้ขาด

ช่วงนี้ดูบรรยากาศบ้านเมืองค่อนข้างจะอึมครึมยังไงก็ไม่รู้ ไหนจะปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า ปัญหาทางสังคมที่ผู้คนในประเทศแตกแยกทางความคิด ปัญหาความจลาจลวุ่นวายจากม็อบนปก.(นรกป่วนกรุง) และอีกสารพัดปัญหาที่รุมเข้าโถมกระหน่ำเข้าในจิตใจของแต่ละคน

การเข้าวัดทำบุญไหว้พระ ขอพร ฟังเทศน์ ฟังธรรม จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้คนในยุคนี้ พ.ศ.นี้ ยึดเป็นที่พึ่งทางจิตใจ (นอกเหนือไปจากการบูชาจตุคามรามเทพ)

ภาพปูนปั้นนูนสูงเขียนสีเรื่องตำนานรอยพระพุทธบาท 4 รอยบนผนังวัดบางกะพ้อม

กิจกรรมแบบนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องไปไหว้พระวัดไหน จังหวัดไหน เพราะการทำบุญนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ใจ” แต่ว่ามาในพักหลังนี้ดูเหมือนว่ากิจกรรมไหว้พระที่ได้รับความนิยมอย่างสูงก็เห็นจะเป็นการไหว้พระ 9 วัด เนื่องจากว่ากันว่าเป็นการทำบุญใหญ่ และเลข 9 ยังถือเป็นเลขมงคลของคนไทยอีกด้วย

สำหรับการออกทริปตะลอนไหว้พระ 9 วัดในครั้งนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เลือกมุ่งตรงไปยังจังหวัดสมุทรสงคราม หรือเมืองแม่กลอง จังหวัดเล็กอันสงบงามใกล้กรุงที่มากไปด้วยของดีซุกซ่อนอยู่มากมาย โดยวัดแรกเราเริ่มประเดิมรับบุญกันที่ “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” หรือ “วัดบ้านแหลม” ที่ตั้งอยู่ใน ต.แม่กลอง อ.เมือง

ภายในพระอุโบสถวัดจุฬามณีดูโออ่ากว้างขวางและสวยงามด้วยภาพจิตกรรมฝาผนัง

อ.คฑา ชินบัญชร วิทยากรรับเชิญประจำทริปนี้ เล่าให้ฟังถึงตำนานของวัดบ้านแหลมว่า เดิม อ.บ้านแหลมอยู่ใน จ.เพชรบุรี แต่เมื่อมีสงครามกับพม่าชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรีจึงได้อพยพหนีมาอยู่ที่วัดศรีจำปา จ.สมุทรสงคราม พอมาอยู่กันเยอะๆก็เลยเปลี่ยนมาเรียกว่าวัดบ้านแหลมแทน

และที่วัดแห่งนี้ยังมีหลวงพ่อบ้านแหลมองค์จริงที่เอาขึ้นมาจากน้ำ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย-อยุธยาตอนต้น หลวงพ่อบ้านแหลมนี้เป็นหนึ่งในพระพุทธรูป 3 พี่น้อง คือหลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อวัดเขาตะเครา แต่บางความเชื่อก็เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูป 5 พี่น้องคือรวมเอาหลวงพ่อวัดไร่ขิง และหลวงพ่อโตวัดบางพลีเข้าไปด้วย

กุฏิไม้ริมน้ำสร้างด้วยไม้สักทองกลายเป็นที่มาของชื่อวัดภุมรินทร์กุฎีทอง

รูปหล่อหลวงพ่อบ้านแหลมองค์จริงนี้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีขนาดใหญ่ภายในพระอุโบสถ ผู้ที่มาทำบุญสามารถขึ้นไปบนฐานชุกชีเพื่อปิดทองหลวงพ่อบ้านแหลมได้ หรือหากจะปิดทององค์จำลองด้านล่างก็ได้เช่นกัน อ.คฑา แนะว่า หากจะอธิฐานขอพรให้สัมฤทธิ์ผลต้องตั้งจิตให้แน่วแน่ และอธิฐานให้พี่น้องก่อนแล้วจึงขอพรให้กับตนเอง ดังเช่นพระพุทธรูป 3 หรือ 5 พี่น้อง

จากวัดแรกเราไปเพิ่มบุญกันต่อที่ “วัดบางกะพ้อม” ต.อัมพวา อ.อัมพวา วัดนี้ อ.คฑา ได้เล่าถึงความเป็นมาว่า ในสมัยอยุธยาตอนปลายที่มีศึกสงครามทั่วประเทศ มีเศรษฐีตายาย 2 คนสานกะพ้อม หรือ ที่สำหรับใส่ข้าวเปลือกใช้ไม้ไผ่สาน อยู่ในบ้าน แต่พม่าได้บุกเข้ามาในบ้าน ตายายไม่รู้จะไปหลบที่ไหนจึงพากันไปหลบในกะพ้อม พร้อมทั้งอธิฐานว่าหากหลบพม่าได้จะขอสร้างวัดถวาย แล้วก็เป็นจริงดังที่ขอ ตากับยายคู่นี้จึงได้สร้างวัดบางกะพ้อมขึ้น

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ยังหลงเหลืออยู่ที่วัดบางแคใหญ่

ภายในวัดบางกะพ้อมมีหัวใจหลวงปู่คงดวงใหญ่ ที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของความอยู่ยงคงกระพัน ด้านข้างของหลวงปู่คงมีรูปหล่อพระ 5 พี่น้อง และใกล้ๆกันนั้นก็มีวิหารหลวงพ่อดำ หากเดินเข้าไปด้านในอีกนิดหนึ่งจะเจอกับวิหารพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในสมัย ร.ที่ 3 ก่อนที่พวกเราจะเข้าไปด้านในวิหารต้องลอดประตูซึ่งทำเป็นรูปวงกลม ตามความเชื่อของคนจีนที่เชื่อกันว่าวงกลมหมายถึงท้องฟ้า หรือสวรรค์

ในสรวงสวรรค์ หรือในวิหารแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท บนผนังจะมีภาพปูนปั้นนูนสูงเขียนสี เรื่องตำนานรอยพระพุทธบาท 4 รอยคือที่สะดือทะเล จ.นครศรีธรรมราช, ที่เขาชินจุกุ, ที่ภูเขาสุวรณบรรพต จ.สระบุรี และที่สุวัณณมาลิก นอกจากนี้ภายในวัดบางกะพ้อมยังมีพระพุทธรูปที่หล่อเป็นเณรอีกด้วย

ภายในอุโบสถวัดบางแคน้อยมีผนังและเพดานกรุด้วยไม้สักแกะสลักนูนสูงอย่างวิจิตรบรรจง

จากวัดบางกะพ้อม เราไปต่อยัง “วัดจุฬามณี” ต.บางช้าง อ.อัมพวา วัดนี้มีวิหารทรงจัตุรมุข พื้นปูด้วยหินอ่อนสีเขียวจากประเทศปากีสถาน ให้ความรู้สึกที่เย็นสบายมากเลยทีเดียว มองขึ้นไปตามผนังมีรูปเทวดาแต่ละชั้นตั้งแต่ชั้นล่างสุดคือยักษ์ไปจนถึงชั้นบนสุดคือพรหม

ส่วนบานหน้าต่างแต่ละบานในวัดนี้ก็เป็นลายฝังมุกและมีเรื่องราวต่างๆกันไปในแต่ละบาน เช่น ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ในปัจจุบัน ตราสัญลักษณ์ของ ร.1-ร.7 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ เป็นต้น ส่วนพระประธานในวิหารนี้คือ พระพุทธโสรถมณี และด้านหน้าของพระประธานมีรูปเหมือนหลวงปู่เนื่องให้เราได้สักการบูชากันด้วย

นอกจากวิหารแล้วภายในวัดจุฬามณียังมีกุฏิหลวงปู่เนื่องที่ภายในมีร่างละสังขารของหลวงปู่เนื่องนอนอยู่ในโลงแก้ว อีกทั้งยังมีพระบรมสารีริกธาตุให้พวกเราสักการะและเดินวนทักษิณา 3 รอบก่อนที่จะขอพรให้สมหวัง

ต่อไปเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สี่ คือ “วัดภุมรินทร์กุฎีทอง” อ.อัมพวา วัดนี้ เป็นวัดที่อยู่ของนางสั้นมารดาของพระราชินีใน ร.1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมีกุฏิไม้ตั้งอยู่ริมน้ำสร้างด้วยไม้สักทอง ผนังด้านในเขียนลายรดน้ำปิดทองอันเป็นที่มาของชื่อกุฎีทอง นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัดภุมรินทร์ที่เก็บของสำคัญของร.ที่ 1 ซึ่งก็คือตราประทับพระราชลัญจกรหรือตราประทับประจำพระองค์ของ ร.1 ทำจากงาช้าง และยังมีพวกโบราณวัตถุประเภทต่างๆ

เมื่อเดินชมวัดกันจนทั่วแล้วพวกเราก็ต้องไปไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัยกันในโบสถ์ก่อนที่จะเดินทางไปยังวัดต่อไป ที่ “วัดบางแคใหญ่” อ.อัมพวา ซึ่งสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ว่าท่านเจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์(แสง วงศาโรจน์) ได้มาบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ให้กับภรรยาหลวง ในรัชสมัย ร.2 พร้อมกับตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดบางแคใหญ่” ส่วนวัดที่ท่านสร้างให้กับภรรยาน้อย ท่านก็ตั้งชื่อว่า “วัดบางแคน้อย” (เจ๋งดีมั้ยล่ะ)

“โบสถ์ปรกโพธิ์”วัดบางกุ้งอันซีนไทยแลนด์อันโดดเด่นแห่งเมืองแม่กลอง

สำหรับสิ่งชวนชมในวัดบางแคใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือ จิตกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อายุราว 150-200 ปี ที่เขียนขึ้นด้วยสีฝุ่นจากธรรมชาติผสมกาวเขียนลงบนแผ่นไม้สัก เรื่องราวตามภาพจิตกรรมนี้เป็นเรื่องราวการยกทัพในสมัยของ ร. 2 และแฝงไปด้วยเรื่องราวลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกายในสมัยนั้น ซึ่งจิตกรรมฝาผนังเหล่านี้หลงเหลือให้เห็นอยู่ด้านในของกุฏิสงฆ์ ละอีกหนึ่งที่ที่ปรากฏร่องรอยจิตกรรมฝาผนังกึ่งจีนผสมไทยได้แก่ที่ หอพระไตรปิฎกที่เก่าแก่เช่นกัน

จากนั้นพวกเราก็ไปกราบไหว้พระศรีสมุทรพุทธโคดม พระประธานในพระอุโบสถ ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง “วัดบางแคน้อย” ที่อยู่ไม่ไกลกัน โดยวัดแห่งนี้มีความสวยงามของอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.2539 ด้วยพื้นไม้ตะเคียน 7 แผ่น หากใครได้มีโอกาสเข้าไปชมด้านในจะต้องรู้สึกตระการตาเหมือน “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เป็นแน่แท้ เนื่องจากผนังและเพดานกรุด้วยไม้สักที่ได้รับการแกะสลักนูนสูงอย่างวิจิตรบรรจงเกี่ยวกับเรื่องราวของพระพุทธประวัติ พระพุทธชาดก 10 ชาติอย่างสวยงามวิจิตร

โบสถ์ที่สวยงามสูงตระหง่านของวัดแม่พระบังเกิด

หลังดื่มด่ำกับงานแกะสลักในวัดบางแคน้อยแล้ว เราไปต่อยัง “วัดบางกุ้ง” ในบริเวณค่ายบางกุ้งที่ตั้งขึ้นมาพร้อมๆกัน

ค่ายบางกุ้ง เป็นค่ายที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาโดยพระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ ต.บางกุ้ง เพื่อตั้งรับพม่า ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีด้วยเป็นค่ายที่ตั้งอยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์ เป็นปราการสำคัญด่านสุดท้ายก่อนที่ข้าศึกจะเข้าถึงตัวเมืองกรุงธนบุรี

ส่วนความโดดเด่นของวัดบางกุ้งนั้น “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จัดว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะวัดแห่งนี้มี “โบสถ์ปรกโพธิ์” ที่มองดูจากภายนอกตัวโบสถ์ถูกปกคลุมด้วยรากไม้ใหญ่ 4 ชนิดทั้งโพธิ์ ไทร ไกล และกร่าง รากไม้เหล่านี้ช่วยยึดตัวโบสถ์ที่เก่าแก่ให้คงรูปอยู่ได้ นับเป็นความลงตัวที่แปลกตาน่ายลจน ททท.ชูให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์อันโดดเด่นแห่งเมืองแม่กลอง

เมื่อเข้าไปด้านในโบสถ์ที่ปกคลุมด้วยรากไม้แห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อนิลมณี ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน ด้านหลังโบสถ์มีศาลเจ้าแม่ไทร และฤๅษีเทพารักษ์ นอกจากนี้ภายในวัดบางกุ้งยังมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้พวกเราได้สักการะ และมีรูปปั้นการใช้ศิลปะแม่ไม้มวยไทยในท่าต่างๆให้เราได้เต๊ะท่าถ่ายรูปกันอีกด้วย

ทีนี้ก็มาถึงยังวัดลำดับที่ 8 คือ "วัดแม่พระบังเกิด" ซึ่งแตกต่างไปจากวัดที่ผ่านๆมา เพราะเป็นวัดของชาวคริสต์นิกายคาทอลิก ที่มีอาสนวิหารแม่พระบังเกิดหรือ "โบสถ์บางนกแขวก" เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญอันโดดเด่นประจำวัด

พระอุโบสถในวัดอัมพวันเจติยารามด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม

โบสถ์หลังใหญ่นี้สร้างขึ้นในสมัย ร. 5 มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี สร้างในแบบสถาปัตยกรรมกอธิค ที่มียอดแหลมพุ่งเสียดแทงขึ้นไปบนท้องฟ้าดูสง่าเคร่งขรึม ภายในประดับด้วยภาพเขียนบนกระจกสี (Stained Glass) จากฝรั่งเศส วาดเป็นเรื่องราวของพระเยซู และประวัติพระแม่มารีอา หากมองจากด้านในจะเห็นแสงที่ส่องผ่านกระจกสีสันต่างๆ เกิดเป็นภาพที่สวยงามยิ่งนัก

หลังสลับอารมณ์กันด้วยวัดแบบคริสต์แล้ว เราก็มาปิดทริปปิดท้ายไหว้พระ 9 วัดเมืองแม่กลองกันที่ “วัดอัมพวันเจติยาราม” วัดสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยรัตโกสินทร์ เนื่องจากวัดนี้เป็นนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีใน ร.1 และยังเป็นสถานที่ประสูติของ ร. 2

ภายในวัดมีพระปรางค์ซึ่ง ร. 3 ทรงสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระสรีรังคารของ ร. 2 ส่วนพระอุโบสถด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โปรดเกล้าฯ ให้เขียนขึ้น เพื่อแสดงเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของ ร. 2 และเรื่องราวในวรรณคดีที่ท่านทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ก็ได้ทรงลงมือวาดด้วยพระองค์เองด้วย

หลังจากที่พวกเราเข้าไปสักการะกราบไหว้ขอพร พร้อมทั้งเที่ยวชมความสวยงามของโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ครบทั้ง 9 แห่งแล้ว ทำให้รู้สึกว่าจิตใจของตนเองมีความสงบยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกหัวใจพองโตอย่างอิ่มเอม “ผู้จัดการท่องเที่ยว” รู้สึกเหมือนจะเข้าใจความรู้สึกของเหล่าผี วิญญาณ สัมภเวสี หรือสิ่งอื่นใด ที่เมื่อคนทำบุญให้เขา เขาจะรับรู้และอิ่มบุญไปด้วย...สาธุ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ททท.ภาคกลางเขต 1 โทร.0-3451-1200, 0-3451-2500, 1672

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"


ไปข้างบน