พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต) : 5. ผู้มีปัญญา เชิญเทพพรหมมาช่วยพัฒนาบ้านเมือง
เทวรูป ‘ท่านท้าวมหาพรหม ’
• ถาม
ฟังตอนนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องท่านท้าวมหาพรหมที่เอราวัณคราวนั้นท่านก็พูดอย่างนี้..
ศาลท่านท้าวมหาพรหม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงแรมเอราวัณ
• ตอบ
ตอนที่ท้าวมหาพรหมถูกทุบ ก็เป็นเหตุการณ์ร้ายครั้งใหญ่ เป็นโอกาสที่จะมีช่องให้การศึกษาเข้าไป อย่างน้อยจะได้พัฒนาคนในด้านความรู้เข้าใจ ที่จะส่งผลต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาคนนั้นต่อไป
โอกาสที่จะเป็นช่องให้การศึกษาเข้าไปอย่างไร? อ๋อ..ก็ตั้งแต่สร้างศาลเมื่อ 51 ปีก่อนโน้นแล้ว ผู้วางกำหนดในการสร้างศาลเขาก็เขียนบอกกำกับไว้แล้วว่า พระพรหมองค์นี้ คือ ท้าวมหาพรหม จะมาประทับที่ศาลพระพรหมเอราวัณทุกวัน เว้นวันพระ เพราะในวันพระนั้น พระพรหมจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
นี่ทางเชื่อมโยงสู่การก้าวไปในการพัฒนาคนนั้น เขาว่าไว้ให้เสร็จแล้ว ตามกระบวนการของการศึกษาเลยทีเดียว
เราต้องยอมรับความจริงว่า ในการพัฒนามนุษย์ส่วนใหญ่ในระบบที่ไม่ใช้การบังคับนั้น เราจำเป็นต้องเริ่มด้วยยอมรับคนตามที่เขาเป็น แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยเรื่อยเปื่อยไป
เอ้า..พวกคุณจะไปขอพระพรหม ก็ขอไป ฉันไม่ขัดขวางละ (ถึงคิดจะขวาง ก็ขวางไม่ไหว) แต่ทำอย่างไรจะพัฒนาเขาขึ้นมาได้บ้าง ก็เอากิจวัตรของพระพรหมที่บอกไว้แล้วนั่นแหละมาเตือนเขา
ก็เผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนไปเลยว่า ท้าวมหาพรหมองค์นี้ท่านคือใคร มาอย่างไร ไปอย่างไร เรื่องเกี่ยวกับพระพรหมมีอะไรที่ควรรู้บ้าง ก็ว่าไป
เสร็จแล้ว ปิดท้ายก็บอกชาวบ้าน เขียนติดไว้ก็ได้ว่า เออ..วันที่เท่านั้นๆ เป็นวันพระนะ พระพรหมท่านจะไม่มา เพราะท่านไปวัด ท่านจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
แล้วก็แนะนำต่อไปเลยว่า พวกเรานี่ก็มาทำตามพระพรหมกันเถอะนะ ถึงวันพระเราก็ไปวัด ไปฟังธรรมกัน ก็สอนไปสิ ให้ได้ประโยชน์เป็นจุดเชื่อมที่จะพัฒนาคน
ในเมื่อเราไม่สามารถหักด้ามพร้าด้วยเข่า เขานับถือลุ่มหลงอยู่ เราก็เอาเป็นจุดบรรจบประสานให้เป็นแนวทางที่เขาจะเดินก้าวหน้าในการพัฒนาตัวต่อไป
แต่คนไทย ท่านผู้ปกครอง ไม่เอาเรื่องเลย ไม่มองช่องทางที่จะพัฒนามนุษย์อันนี้ ก็เลยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรทั้งนั้น
ตรงข้าม ตอนที่ศาลพระพรหมถูกทุบนั้น ท่านผู้บริหารบ้านเมืองมัวแต่กลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายอะไรขึ้นแก่ตัวเอง นึกไปแต่ว่าจะเป็นลางร้าย ต้องไปแก้เคล็ด แทนที่จะมองไปถึงบ้านเมือง และประโยชน์ของประชาชน ก็ตันอยู่แค่ตัวเอง เลยไม่ได้อะไร
เห็นชัดๆ ว่า พระพรหมองค์นี้ไม่ใช่พรหมในศาสนาพราหมณ์แต่เป็นพรหมในพระพุทธศาสนาเป็นพรหมในชั้นมหาพรหม
มหาพรหมเป็นหนึ่งในรูปพรหม 16 ชั้น ซึ่งแบ่งตามฌาน 4 ระดับ เริ่มด้วยระดับปฐมฌานภูมิ คือ ฌานที่ 1 มีพรหมอยู่ 3 ชั้นได้แก่ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา และมหาพรหม
ชั้นต่อไป คือ ทุติยฌานภูมิ ประกอบด้วย ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา จากนั้น เป็น ตติยฌานภูมิ ประกอบด้วย ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา แล้วจึงถึงชั้นสูงสุด คือ จตุตถฌานภูมิ ประกอบด้วย เวหัปผลา อสัญญี อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิษฐา รวมเป็น 16 ชั้น
มหาพรหมมา คือ พรหมชั้นที่ 3 ในระดับปฐมฌานภูมิ ของพรหม 16 ชั้น ท่านกำลังบำเพ็ญธรรมให้สูงขึ้นไป จึงต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าก็คือไปฟังธรรม
ศาลท่านท้าวมหาพรหม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงแรมเอราวัณ
เรื่องอย่างนี้ มันเป็นทางที่จะประสานคนเข้ามาสู่ระบบการพัฒนามนุษย์ไม่ใช่ว่า หนึ่ง พระก็ถือโอกาสหาลาภ เห็นว่าคนนิยมกันนัก ก็เลยปลุกเสกเอามาให้เช่ากันใหญ่
สอง เลยกลายเป็นการทำให้คนลุ่มหลงหนักขึ้น ผิดหลักผิดทาง แถมเอามาปลุกเสกในวัด ถ้าทำไม่ระวังให้ดี จะกลายเป็นเอามาชูเหนือพระรัตนตรัย
ไปๆ มาๆ เพลินอยู่กับเรื่องนี้ คนเลยเข้าใจผิด เฉออกจากพระศาสนาไป แทนที่จะเชื่อมโยงเข้ามาหาหลักว่า ที่จริงมันเป็นอย่างนี้นะ มันสัมพันธ์กันอย่างนี้ ต้องก้าวต่อขึ้นมาให้ถึงพระพุทธเจ้าอย่างนี้ๆ
เป็นอันว่า "จตุคามรามเทพ" ไม่ใช่ใคร ก็โยงกับเรื่องศรีวิชัยหรือเป็นกษัตริย์ศรีวิชัย แล้วตำนานโน้นตำนานนี้ ก็ไม่หนีเมืองนครศรีธรรมราช เวียนอยู่ที่พระบรมธาตุ
ทีนี้ พอโยงมาถึงศรีวิชัย ก็โยงต่อไปอีกว่า ศรีวิชัยอยู่สุมาตราหรือถ้าตกลงว่าศรีวิชัยอยู่นครศรีธรรมราช ก็ไปถึงสุมาตรานั่นแหละ แล้วสุมาตรานั้นก็มลายูนี่เอง ชาวมลายูก็เป็นลูกหลานกษัตริย์ศรีวิชัยองค์นี้ เพราะฉะนั้น ชาวใต้ 3-4 จังหวัด ที่ว่าเป็นมลายู ก็เป็นลูกหลานของกษัตริย์ศรีวิชัยนี้ด้วย
อย่างที่เคยเล่าแล้วว่า เจ้าชายปรเมศวรออกจากสุมาตรามาขึ้นที่สิงคโปร์ แล้วหนีจากสิงคโปร์มาขึ้นที่มะละกา ตั้งอาณาจักรมะละกาขึ้นมา ศูนย์กลางความเป็นมลายูอยู่ที่มะละกา ก็โยงไปที่ศรีวิชัย
เราก็เอาความรู้อย่างนี้เผยแพร่กันไป จะแยกตัวกันไปทำไมว่า ฉันเป็นมลายู ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่ชาวพุทธ อย่างน้อยสืบอดีตกัน มลายูก็เป็นชาวพุทธมาแล้ว เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในบ้านเมืองนี้ วิทยุก็มี ทีวีก็มี ก็ให้ความรู้แก่ประชาชนกันไป
ถ้ารู้เรื่อง "จตุคามรามเทพ" ก็นำมาทำประโยชน์ได้ ทั้งในทางสามัคคีและในทางพัฒนาคน ยิ่งนิยมกันมาก ก็ยิ่งต้องเผยแพร่ความรู้ให้มาก
ที่มา จากหนังสือชื่อ "คติจตุคามรามเทพ" เป็นบทสนทนาระหว่าง ท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กับ คุณพนิตา อังจันทรเพ็ญ และหมู่มิตรสหาย
|