พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต) : 6. ยุคธุรกิจฟู่ฟ่า เงินต้องมาเป็นทาสรับใช้ธรรม
‘พระพุทธรูป’
สังคมสมัยพุทธกาล ก็คล้ายอย่างนี้ คือกำลังเฟื่องในด้านธุรกิจการค้า ในสมัยพุทธกาลนั้น การพาณิชย์กำลังเจริญรุ่งเรือง มีกองเกวียนเดินทางค้าขายระหว่างเมือง เศรษฐีขึ้นมาเป็นชนชั้นนำ
ในชมพูทวีปมีวรรณะ 4 คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร พราหมณ์ถือตัวว่าสูงที่สุด
ในยุคพุทธกาลจะเห็นว่า ชนพวกหนึ่งกำลังเฟื่องขึ้นมา คือพวกเศรษฐีคหบดี พวกนี้เป็นพ่อค้าวาณิช ทั้งๆ ที่เดิมน่าจะอยู่ในชนชั้นสาม ( แพศย์ / ไวศยะ) แต่กลายเป็นผู้มีอิทธิพลมาก เศรษฐีนี่ถึงกับเป็นตำแหน่ง ที่พระราชทานแต่งตั้งประจำเมืองเลย มีหน้าที่ไปเฝ้าพระราชาวันละสองครั้ง
รัฐไหนไม่มีเศรษฐี ก็เหมือนจะน้อยหน้า เป็นรัฐที่ไม่รุ่งเรืองเหมือนกับต้องแข่งกันว่า รัฐนี้ๆ มีเศรษฐีกี่คน บางรัฐก็รู้สึกจะด้อยก็จึงต้องหาทางมีเศรษฐี ถึงกับมีการขอเศรษฐีจากอีกรัฐหนึ่ง นางวิสาขาก็ไปจากบ้านเมืองเดิมเพราะเหตุนี้
แคว้นมคธมีเศรษฐีใหม่ร่ำรวยมากถึง 5 คน ทางแคว้นโกศลซึ่งขาดแคลนเศรษฐีใหญ่ ต้องการมีเศรษฐีใหญ่บ้าง จึงขอให้แคว้นมคธส่งเศรษฐีใหญ่แบ่งไปให้คนหนึ่ง แต่แคว้นมคธไม่ได้ให้ตัวเศรษฐีใหญ่ เพียงส่งลูกเศรษฐีใหญ่คนหนึ่งไปให้ชื่อว่าธนัญชัย ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นเศรษฐีประจำเมืองสาเกต
พระพุทธเจ้า
ธนัญชัยเศรษฐีนี้ก็คือพ่อของนางวิสาขา เมื่อธนัญชัยเศรษฐีย้ายไปอยู่โกศลรัฐ นางวิสาขาเป็นลูก ก็ไปด้วย แต่ต่อมานางวิสาขาแต่งงานไปอยู่เมืองสาวัตถี
เศรษฐีมีอิทธิพลมากเพราะการค้าขาย เรียกว่าสังคมกำลังเฟื่องในทางเศรษฐกิจ จากการค้าขาย ก็มีสิ่งอุปโภคบริโภคกินใช้กันมากมาย มีการอวดกัน เช่นว่า ใช้ผ้าไหมจากรัฐนั้น ที่ถือกันว่าเป็นของชั้นดี
ในท่ามกลางสภาพสังคมอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้ความนิยมหรือกระแสที่เกิดขึ้น เป็นจุดปรารภที่จะสอนให้คนที่มีบทบาทสำคัญในสังคมนั้น หันมาใฝ่ธรรม และนำธรรมไปปฏิบัติ ดังเช่นเศรษฐีก็ควรจะเอาทรัพย์มาทำประโยชน์ ส่งเสริมธรรมเกื้อกูลสังคม รวมทั้งพัฒนาชีวิตของตนเอง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในการเสพบริโภคหรือใช้อิทธิพลจากทรัพย์และอำนาจไปข่มเหงคนอื่น
อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี นับถือพระพุทธเจ้าแล้ว ก็หันมาทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ที่จริงชื่อตัวว่า สุทัตตะ แต่เพราะทำประโยชน์ช่วยเหลือคนยากจนให้มีกินมีใช้ ตั้งโรงทานช่วยคนขาดแคลน จนได้สมญาเป็นชื่อว่า "อนาถบิณฑิก" แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา แล้วก็บำรุงพระศาสนา อุปถัมภ์พระสงฆ์ให้มีกำลังไปสอนประชาชนให้อยู่ดีทำดีช่วยเหลือกัน สูญเสียทรัพย์ไปในการทำบุญเหล่านั้นเท่าไร ก็ไม่คำนึง นี่เป็นตัวอย่าง
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างนี้ ถ้าเราดูลึกลงไป พระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเพียงตัวหัวข้อธรรม แต่เป็นคำสอนที่โยงกันหรือเนื่องกับสภาพความเป็นไปของสังคม มีปัจจัยยักย้ายแผกกันไป เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนคนพวกนี้ พวกนั้นว่า ทำอย่างไรชีวิตเขาจะดี และเขาจะอยู่กันดี พระดำรัสเทศนาก็จึงแตกต่างกัน
มาถึงสมัยนี้ก็เหมือนกัน ปัจจุบันสังคมเป็นอย่างนี้ ก็ต้องรู้เข้าใจว่าทำอย่างไรจะให้ธรรมเกิดประโยชน์แก่คนเหล่านี้เหล่านั้นที่ต่างๆ กันได้
• ถาม
เรื่อง จตุคามรามเทพ นี้ ยังมีเรื่องอิทธิฤทธิ์ อภินิหารด้วย เช่น คนสวมจตุคามไว้ในเสื้อ พอไปถ่ายรูปเห็นเป็นแสงสว่างออกมา อะไรทำนองนี้ ท่านเจ้าคุณฯ เห็นอย่างไร
การ์ตูน 'จตุคามรามเทพ'
• ตอบ
ก็เป็นไปได้ที่ว่า หนึ่ง เขาอาจจะสร้างหรือแต่งภาพขึ้นมา สอง ความเชื่อของมนุษย์เป็นแรงทำให้เกิดผลได้ พอเชื่อหรือมีศรัทธาแรงมากเข้า ใจคึกฮึกเหิม ก็เกิดความรู้สึกเป็นจริงเป็นจริงอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เห็นจะต้องไปเอาใจใส่เรื่องพวกนี้เลย
เอาสาระกันตรงที่ว่า พอมีกระแสพวกนี้ เราจับแกนของเรื่องให้ได้ และเจาะความรู้ที่โยงมาถึงธรรม แล้วก็มองเข้าทางที่จะให้ธรรมก้าวต่อไป
อย่างเช่น คนนับถือจตุคามรามเทพ ในเมื่อจตุคามรามเทพเป็นเทพพิทักษ์พระธาตุ หัวใจของจตุคามรามเทพก็อยู่ที่พระธาตุอย่างน้อยคุณก็ควรจะไปให้ถึงพระธาตุ และให้ถึงไม่เฉพาะกาย แต่ให้ถึงจริงทั้งด้วยใจและด้วยปัญญา
ที่มา จากหนังสือชื่อ "คติจตุคามรามเทพ" เป็นบทสนทนาระหว่าง ท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กับ คุณพนิตา อังจันทรเพ็ญ และหมู่มิตรสหาย
|