หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

คราวนี้ไม่ง่าย.. พม่าอยู่ในสายตาชาวโลก

ภาพชายผู้หนึ่งซึ่งทำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างสงบ แต่กลับถูกตำรวจพม่าใช้กำลังเข้าปราบปรามจนได้รับบาดเจ็บ (ภาพ: AFP)



ตำรวจพม่าพร้อมอาวุธครบมือเข้าสกัดกั้นขบวนประท้วงนำโดยเหล่าสงฆ์ ที่กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่กลางกรุงย่างกุ้ง ขณะที่มีรายงานถึงการขว้างแก๊สน้ำตา การยิงปืนข่มขู่ รวมทั้งการทุบตีผู้ประท้วงอีกด้วย (25 ก.ย.) (ภาพ: AFP)



มีการส่งทหารจำนวนมากเข้าขัดขวางการชุมนุมประท้วงเมื่อวันพุธ (26 ก.ย.) แต่ไม่ว่าจะทำอะไร คนเหล่านี้อยู่ในสายตาของชาวโลก (ภาพ: Reuters)



การประท้วงใหญ่ในพม่ากำลังอยู่ในสายตาของคนทั้งโลก เทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุค YouTube ทำให้กิจกรรมต่างๆ ปรากฏออกสู่โลกภายนอกอย่างรวดเร็ว แม้ว่าที่นั่นจะเป็นรัฐเผด็จการที่ควบคุมสื่อเอาไว้ในมือก็ตาม

นี่คือสิ่งที่แตกต่างไปจากเมื่อปี 2531 ที่ระบอบทหารปราบปรามการลุกฮือของขบวนการประชาธิปไตย-- ในยุคก่อนจะมีอินเทอร์เน็ต

การเดินขบวนประทวงอย่างสงบที่นำโดยพระสงฆ์ ทำให้มีผู้เข้าร่วมจำนวนกว่า 100,000 ในชั่วเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น จากการชุมนุมครั้งแรกที่มีจำนวนเป็นหลักร้อย ซึ่งเป็นการท้าทายอำนาจรัฐเผด็จการครั้งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่เหตุการณ์นองเลือดปี 2531 ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,000 คน

การสังหารหมู่คราวนั้นอยู่ห่างไกลจากสายตาของโลกภายนอกอย่างลิบลับ เนื่องจากพม่าอยู่ในช่วงปิดประเทศ และก่อนที่ชาวโลกจะมีอินเทอร์เน็ตกับโทรศัพท์มือถือใช้

อีก 20 ปีถัดมารูปภาพการประท้วงของพระสงฆ์ได้ปรากฏออกไปทั่วโลก ต้องขอขอบคุณอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และกล้องดิจิตอล ซึ่งอยู่นอกเหนือการเซ็นเซอร์ของเผด็จการทหาร

"เทคโนโลยีสร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวง เดี๋ยวนี้ทุกคนในโลกสามารถรับรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่าโดยผ่านอินเทอร์เน็ต" นายเส่งวิน (Sein Win) บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวมิสสิมา (Mizzima News) ของชาวพม่าพลัดถิ่นในอินเดียกล่าว

"นับเป็นโลกาภิวัฒน์อย่างแท้จริง ไม่ว่าพวกผู้ปกครองทหารจะชอบหรือไม่ก็ตาม รัฐบาล (พม่า) ไม่สามารถจะแยกตัวเองออกจากประชาคมระหว่างประเทศได้" นายเส่งวินกล่าว

เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้จับผู้ประท้วงไปหลายสิบคนเมื่อวันพุธ แต่ทุกอย่างอยู่ในสายตาของชาวโลกเช่นเดียวกัน (ภาพ: AFP)



นับตั้งแต่การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 ส.ค. หลังจากรัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่ ฝ่ายทหารที่อยู่ในอำนาจมาเป็นเวลา 45 ปี ก็ได้พยายามควบคุมการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตภายในประเทศ

แต่ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ราว 200 แห่งในกรุงย่างกุ้งก็ยังคงเปิดให้บริการ นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ชำนาญในการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆ ยังคงเข้าไปส่งไฟล์ภาพกับวิดีโอคลิปจากกล้องดิจิตอลอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง

"หนุ่มๆ พวกนี้รู้ดีว่าจะจัดการอย่างไรกับการควบคุมอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เพียงแค่จากย่างกุ้งเท่านั้น เรายังได้รับพวกวิดีโอคลิปจากมัณฑะเลย์ด้วย" นายอองดิน (Aung Din) ผู้อำนวยการนโยบายกลุ่ม US Campaign for Burma กลุ่มล็อบบีเพื่อประชาธิปไตยในนครนิวยอร์กกล่าว

มัณฑะเลย์คือเมืองใหญ่อันดับ 2 รองจากกรุงย่างกุ้ง เป็นเมืองศูนย์กลางของพระสงฆ์และเป็นเวทีการประท้วงใหญ่อีกแห่งหนึ่งในช่วงกว่าสัปดาห์มานี้

นายอองดินที่เคยเข้าร่วมการลุกฮือปี 2531 กล่าวว่า ตัวเขาเองตื้นตันอย่างบอกไม่ถูกในความแตกต่างระหว่างเมื่อก่อนโน้นกับวันนี้

"ปี 2531 เราไม่มีอินเทอร์เน็ตกระทั่งโทรศัพท์ที่จะส่งข่าวสารต่างๆ ออกจากพม่า ไม่มีใครในประชาคมระหว่างประเทศที่ได้รับรู้เกี่ยวกับการลุกฮือครั้งนั้น แต่โลกรับรู้การประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มันน่าทึ่งจริงๆ" เจ้าตัวกล่าว

นิตยสารมัณฑะเลย์กาเซ็ตต์ (Mandalay Gazette) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ กล่าวว่า ที่นั่นได้รับวิดีโอคลิปกับรูปภาพต่างๆ จากพม่าประจำทุกวัน

"พวกนักศึกษา กระทั่งพระสงฆ์ใช้โทรศัพท์มือถือกับกล้องดิจิตอล ใครๆ ก็สามารถส่งรูปได้ อย่างน้อยที่สุดอินเทอร์เน็ต ก็ได้ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน" บรรณาธิการของนิตยสารที่ไม่ประสงค์จะให้ระบุชื่อกล่าว

หลวงพี่กลุ่มนี้หลบหนีการยิงสลายด้วยแก๊สน้ำตา รวมตัวกันอยู่ที่ซอกหนึ่งในบริเวณใกล้เคียงกับวัดมหาเจดีย์ชเวดากอง หลายคนให้กำลังใจอยู่ในต่างประเทศ (ภาพ: AFP)



องค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ที่ตั้งอยู่ในนครปารีสกล่าวว่า พม่าเป็น “สวรรค์ของนักเซ็นเซอร์” และ นำเอาพม่ารวมไว้ในบัญชีประเทศที่มีการกดขี่เสรีภาพของสื่อมวลชนมากที่สุดในโลก

ทางการทหารพม่าได้พยายามเข้าปิดกั้นทุกเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวและรูปภาพเกี่ยวกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พยายามแม้กระทั่งปิดกั้นการส่งอีเมล์อีกด้วย.

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"



ไปข้างบน