‘วัด’ ยุคใหม่ ศูนย์กลางชุมชนเข้มแข็ง
วัดจันเสน จ.นครสวรรค์
ในอดีต วัดถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน รวมทั้งคนในชุมชนรอบๆ วัดยังใช้วัดเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น การประชุมหมู่บ้าน การประชุมราชการ หรือให้วัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ แต่ในปัจจุบันท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมไทย ทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชน หันไปยึดติดในวัตถุนิยมมากเกินไป เป็นผลให้คนห่างไกลจากวัดโดยไม่รู้ตัว วัดจึงได้ลดบทบาทจากในอดีตลงไปมาก
เรื่องนี้ทางรัฐบาลก็ได้ตระหนักถึงปัญหา จึงได้มีการมอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการจัด “โครงการวัดพัฒนาต้นแบบ” ขึ้นมา เพื่อให้วัดกลับมามีความเข้มแข็ง และสามารถเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมจิตใจของชุมชนได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
จุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เล่าว่า “โครงการวัดพัฒนาต้นแบบ” เป็นโครงการหนึ่งที่รัฐบาลมุ่งเน้นในการพัฒนาวัดเพื่อให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน โดยเน้นให้ชุมชนได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนา และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัดมากขึ้น ในขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ได้มีการพัฒนาศักยภาพ และบทบาทในด้านการชี้แนะสั่งสอน เผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่พุทธศาสนิกชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัดมากขึ้นเช่นกัน
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้วัดนั้นได้กลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนในทุกๆ ด้านเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นที่สงบจิตใจ เป็นที่พักผ่อนของชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย
พิพิธภัณฑ์จันเสน ตั้งอยู่บริเวณวัดจันเสน หมู่ 1 บ้านจันเสน ต.จันเสน อ.ตาคลี ประกอบด้วยบริเวญวัดจันเสน เมืองโบราณสมัยทราราวดีตอนต้นที่เก่าแก่ทีสุดแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พระบรมธาตุเจดีย์ศรีจันเสน ซึ่งเป็นมณฑปยอดเจดีย์และภายในฐานช่วงล่างมณฑปเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ใช้ทำกิจกรรมทางศาสนาและจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ ชุมชนเมืองโบราณเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วย วัตถุโบราณกว่า 3,000 ชิ้น ภายในฝาผนังแสดงภาพจิตรกรรมทางประวัติศาสตร์และศาสนา นับเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีอายุนับ 2,000 ปีมาแล้ว
กิจกรรมภายในวัดพัฒนาต้นแบบจะใช้หลักการทำตามแนวคำสอนของพระพุทธศาสนา 4 ประการ คือ
สะอาด หมายถึง ศีล ความประพฤติปฏิบัติทางกาย วาจา ที่ดีงาม
สงบ หมายถึง สมาธิ ความตั้งมั่นแห่งจิต ความสำรวมใจให้แน่วแน่ โดยพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นในสิ่งนั้น
สว่าง หมายถึง ปัญญา ความรอบรู้ ความรู้ทัน ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด และ
สร้างความสุข หมายถึง วิมุตติ ความพ้น ความหลุดพ้น ได้แก่ ความสุขที่เป็นผลมาจากการศึกษาและการปฏิบัติดี
จุฬารัตน์
การดำเนินโครงการวัดพัฒนาต้นแบบนั้น จุฬารัตน์ บอกว่า จะเริ่มต้นจากการกำหนดหลักเกณฑ์ของวัดพัฒนาต้นแบบขึ้นมาก่อน และหลังจากที่กำหนดหลักเกณฑ์ได้แล้วก็มีการคัดเลือกวัดที่มีลักษณะเข้ากับเกณฑ์ที่กำหนดไว้มาเข้าร่วมโครงการโดยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจากมีการตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 5 ปีจะต้องมีวัดต้นแบบทั่วประเทศจำนวน 35,000 วัด
หลังจากที่ได้คัดเลือกแต่ละวัดมาแล้วนั้นก็จะต้องทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วัดที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งในท้ายที่สุดก็จะต้องมีการติดตามผล และประเมินผลโครงการด้วยว่าประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้หรือไม่ และสามารถทำให้ชุมชนเข้มแข็ง หันมาดูแลรักษาวัด และหันมาร่วมกิจกรรมในวัดมากขึ้นไหม
ที่ผ่านมาได้เริ่มทำโครงการไปแล้ว 2 ภูมิภาคด้วยกัน แห่งแรกคือ ภาคเหนือ เริ่มกันที่วัดทุ่งบ่อแป้น อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยวัดนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา มีการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และจัดการศึกษาภายในวัด รวมทั้งยังทำหน้าที่สาธารณูปการ และทำหน้าที่สาธารณสงเคราะห์ให้กับประชาชนด้วย โดยทำหน้าที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มไปแล้วที่ วัดจันสามัคคี จ.หนองคาย และเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็มีการทำโครงการนำร่องไปแล้วอีกหนึ่งภูมิภาค ซึ่งก็คือ ภาคกลาง ที่วัดจันเสน จ.นครสวรรค์
วัดจันเสน จ.นครสวรรค์
การที่โครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้นั้น จุฬารัตน์ บอกว่า ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือวัดเท่านั้น แต่ชุมชนและส่วนราชการก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และต้องทำกันเป็นเครือข่าย
โครงการ “วัดพัฒนาต้นแบบ” นี้ถึงจะสำเร็จลงได้
เมื่อนั้นวัดก็จะกลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นศูนย์รวมใจ และเป็นที่พึ่งทางใจของคนในชุมชนได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ทูเดย์"
|