จาก 'ภิกษุสันดานกา' ถึง 'ชเวดากอง'
ความงามแห่งชเวดากองยามค่ำคืน (ภาพก่อนเกิดการเดินขบวนในพม่า)
...ปีที่แล้ว 2549
นั่นเป็นครั้งล่าสุดที่ผมไปเยือนพม่า
ในครั้งนั้นผมไปเที่ยวและพักที่ย่างกุ้ง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าไปย่างกุ้งแล้วไม่ได้ไปไหว้ “มหาเจดีย์ชเวดากอง” ก็ประหนึ่งว่ายังไปไม่ถึงเมืองย่างกุ้งโดยสมบูรณ์
ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่พลาดการไปสักการะเจดีย์ชเวดากองด้วยประการทั้งปวง
เที่ยวชเวดากองแล้วย้อนมองตน
แม้ภาพเจดีย์ชเวดากองที่เห็นตั้งตระหง่านอยู่เบื้องล่างจะดูใหญ่โตแล้ว แต่เมื่อได้ขึ้นไปยืนใกล้ๆณ ลานกว้างรอบๆองค์เจดีย์ ผมรู้สึกว่ามนุษย์กระจ้อยร่อยไปทันทีหากเทียบกับความยิ่งใหญ่อลังการของพระมหาเจดีย์ทององค์นี้ แถมยังเป็นความยิ่งใหญ่ที่เกิดจากการบ่มเพาะแรงศรัทธาสร้างขยายให้สูงใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแรกเริ่มเดิมทีที่เจดีย์ชเวดากองถือกำเนิดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่บรรจุเส้นผมของพระพุทธเจ้า 8 เส้น เมื่อราว 2,500 ปีที่แล้วในสมัยพระเจ้าโอกกลาปะ ตามหลักฐานระบุว่าสูงเพียง 27 ฟุตเท่านั้น
แต่ด้วยแรงศรัทธาแห่งองค์พระมหาเจดีย์ก็ทำให้กษัตริย์ในแต่ละยุค สร้างเจดีย์ให้สูงใหญ่เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีความสูงถึง 326 ฟุต กว้างถึง 1,355 ฟุต เป็นเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามที่ใช้ทองคำแท้ๆตีเป็นแผ่นๆจำนวน 8,688 แผ่นนำไปเรียงร้อยกันตั้งแต่ตัวเจดีย์(องค์ระฆัง)ขึ้นไปจนถึงยอดรวม
ว่ากันว่าทองคำที่หุ้มเจดีย์ชเวดากองทั้งหมดหนักรวมกันถึง 9 ตันเลยทีเดียว ทำให้องค์เจดีย์ชเวดากองดูเป็นสีทองงดงามเปล่งปลั่งมลังเมลืองเหลืองอร่ามอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
หนึ่งในศรัทธาที่ชาวพม่ามีต่อเจดีย์ชเวดากอง (ภาพก่อนเกิดการเดินขบวนในพม่า)
ไม่เพียงเท่านั้น บนยอดฉัตรสูงสุดของเจดีย์ยังประดับไปด้วยอัญมณีเป็นจำนวนมากโดยมีเพชรเม็ดใหญ่ถึง 76.6 กะรัตเป็นไฮไลท์ ในขณะที่บริเวณรอบๆเจดีย์ชเวดากองก็ดูโดดเด่นไปด้วยศิลปกรรมแบบพม่า อาทิ อาคารหลังคาซ้อนหลายๆชั้น ลวดลายฉลุสังกะสีตกแต่งตามส่วนต่างๆของอาคาร ลวดลายสลักไม้ประดับตามเสาและผนังอันประณีตชวนมอง เป็นต้น
แต่สำหรับผมแล้ว ความยิ่งใหญ่ สวยงาม ตระการตา ของเจดีย์ชเวดากองดูจะเทียบไม่ได้กับความศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนชาวพม่า(และชาติอื่นๆ)มีต่อพระมหาเจดีย์องค์นี้ ที่ชาวพม่ายึดถือเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพม่าให้ความเคารพและศรัทธาสูงสุด อีกทั้งยังเป็นเจดีย์ที่ทางคติล้านนาบ้านเราเชื่อว่า นี่คือพระธาตุประจำปีของคนที่เกิดปีมะเมีย(ปีม้า)ซึ่งหากใครเกิดปีนี้แล้วได้มาไหว้จะถือเป็นมงคลสูงสุดแก่ชีวิตเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ใครที่ขึ้นไปสักการะองค์เจดีย์ชเวดากอง นอกจากจะได้พบกับสีสันทางการท่องเที่ยวแล้ว ยังจะได้สัมผัสกับบรรยากาศอันเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธาอยู่ทั่วบริเวณ ทั้ง หนุ่ม สาว เฒ่า แก่ เด็กเล็ก วัยรุ่น รวมไปถึงพระ เณร แม่ชี ที่ต่างก็เดินทางขึ้นมาสักการะเจดีย์ชเวดากองกันอย่างเนืองแน่นทุกวัน บางคนก้มลงหมอบกราบด้วยศรัทธาอย่างสุดซึ้ง บ้างก็นั่งท่องคาถา นั่งนับประคำ นั่งสมาธิ ด้วยจิตที่สงบนิ่งแน่วแน่ ในขณะที่อีกหลายๆคนเลือกที่จะสรงน้ำพระประจำวันเกิดที่ตั้งอยู่รอบๆองค์เจดีย์อย่างตั้งอกตั้งใจ
นับเป็นภาพที่ผมเห็นแล้วอดทึ่งในความศรัทธาที่ชาวพม่ามีต่อเจดีย์ชเวดากองและแนบแน่นต่อพระพุทธศาสนาไม่ได้ ซึ่งเมื่อมองเจดีย์ชเวดากองแล้วย้อนมองตนกลับมายังสยามประเทศ ผมอดสะทกสะท้อนใจไม่ได้ว่า บ้านเราที่เป็นเมืองพุทธ นับวันยิ่งมายิ่งดูเหินห่างจากพุทธศาสนามากขึ้นทุกที
...และนั่นคือความทรงจำแห่งชเวดากองที่พอเห็นภาพหรือข่าวเกี่ยวกับพระมหาเจดีย์เหล่านี้เมื่อไหร่ ภาพอันเปี่ยมศรัทธาของชาวพม่าที่มีต่อเจดีย์ชเวดากองและพระพุทธศาสนามักจะผุดแว่บขึ้นมาในห้วงความคิดของผมอยู่เสมอ...
พระพม่ารวมตัวที่เจดีย์ชเวดากองก่อนเดินขบวนไปในเมืองย่างกุ้ง
มองปรากฏการณ์ชเวดากองแล้วย้อนมองตน
ปีนี้ 2550
ข่าวการประท้วงในพม่าเริ่มปรากฏให้เห็นบ้างตามสื่อต่างๆตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดยมีพระสงฆ์จากเมืองสิตต่วยเข้าร่วมประท้วงเป็นครั้งแรกในวันที่ 28 ส.ค.
ช่วงแรกของการประท้วงยังมีคนเข้าร่วมไม่เท่าไหร่ แต่หลังจากที่พระสงฆ์เมืองปะก๊อกกูเดินสวดมนต์นำประชาชนประท้วงไปตามถนน แล้วทหารพม่าได้ออกมาทุบตีพระและยิงปืนข่มขู่ในวันที่ 5 ก.ย.
ทำให้กระแสการประท้วงในพม่าถูกจุดติดขึ้นมา โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำและกำลังหลักในการประท้วง ซึ่งพระพม่าให้เหตุผลในการประท้วงว่า เมื่อประชาชนเดือดร้อนพระสงฆ์ย่อมเดือดร้อนด้วย เพราะพระต้องบิณฑบาตจากประชาชน ถ้าประชาชนไม่มีจะกินนั่นย่อมทำให้พระไม่มีอาหารฉันตามไปด้วย เพราะฉะนั้นพระจึงจำเป็นต้องออกมาช่วยประชาชนด้วยการประท้วงขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่ล้มเหลวในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นราคาน้ำมันพรวดเดียวถึง 5 เท่าตัว
อนึ่งการที่พระสงฆ์พม่าออกมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลกโดยเฉพาะเรื่องการเมืองถึงขนาดออกมาเดินขบวนประท้วง อาจจะดูค่อนข้างแปลกตาสำหรับคนไทย แต่หากไล่เลียงย้อนอดีตกลับไปจะพบว่าพระสงฆ์พม่ามีบทบาทในการบริหารประเทศเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ก่อนจะมามีบทบาททางการเมืองครั้งสำคัญในการกอบกู้ชาติ เรียกร้องเอกราช ขับไล่อังกฤษออกจากพม่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
พระพม่ารวมตัวที่เจดีย์ชเวดากองก่อนเดินขบวนไปในเมืองย่างกุ้ง
เมื่อพระสงฆ์กระแสการประท้วงถูกจุดติดขึ้นมา การเดินขบวนครั้งใหญ่ของประชาชนนับแสนจึงเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.ย. ในจำนวนนี้มีพระสงฆ์เข้าร่วมขบวนหลายหมื่นรูปทีเดียว
จากนั้นในวันที่ 25 ก.ย.รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศเคอร์ฟิวในกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ แล้วต่อด้วยการสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาและยิงปืนเข้าใส่ประชาชนในวันที่ 26 ก.ย. จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งแหล่งข่าวแต่ละแห่งต่างระบุตัวเลขไม่ตรงกัน
ภาพเหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากจะสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้พบเห็นแล้ว ประชาคมโลกและผู้รักความเป็นธรรมทั่วโลกต่างประท้วง ประณามต่อการกระทำอันโหดร้ายของรัฐบาลทหารพม่าในครั้งนี้ โดยเฉพาะการทำร้ายพระสงฆ์จนมรณภาพนั้นยังความเศร้าสลดให้กับพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก
หลายๆคนเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าปรากฏการณ์ชเวดากอง เพราะก่อนการเดินขบวนครั้งใหญ่พระสงฆ์จำนวนมากได้ไปรวมตัวกันที่เจดีย์ชเวดากองเพื่อสวดมนต์ภาวนา อีกทั้งภาพเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมหลายๆภาพของสำนักข่าวต่างประเทศต่างก็มีเจดีย์ชเวดากองหนึ่งในสัญลักษณ์ของพม่าเป็นฉากหลัง
พระไทยประท้วงภาพภิกษุสันดานกา (ภาพจาก นสพ.ไทยรัฐ)
และนั่นก็เป็นเหตุการณ์สดๆร้อนๆที่เกิดขึ้นในพม่า ซึ่งเมื่อเห็นปรากฏการณ์ชเวดากองแล้วผมก็อดที่จะย้อนมองตนกลับมายังสยามประเทศไม่ได้ เพราะช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นพระสงฆ์บ้านเราจำนวนหนึ่งได้ออกมาเคลื่อนไหวประท้วงเหมือนกัน
เป็นการประท้วงต่อภาพ “ภิกษุสันดานกา” (และภาพ“หมา-นุษย์”)ผลงานรางวัลเหรียญทองจากงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53 ของ อนุพงษ์ จันทร ที่ได้นำเสนอแนวคิดสะท้อนด้านลบของวงการสงฆ์บ้านเราออกมาเป็นภาพดังกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าต้องการแสดงภาพลักษณะของเปรตที่แฝงอยู่กับผู้คนในสังคมปัจจุบัน โดยนำความเชื่อเรื่อง“เปรตภูมิ” ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ใช้เตือนสติให้มนุษย์มีความเกรงกลัวต่อผลแห่งกรรม และสร้างสำนึกให้ตั้งอยู่บนรากฐานของศีลธรรมมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อถ่ายทอดความคิด อารมณ์ และความรู้สึกตามทัศนคติส่วนตนออกมาเป็นผลงานศิลปะไทยร่วมสมัย”
ภาพ “ภิกษุสันดานกา” ผลงานของ อนุพงษ์ จันทร
แน่นอนว่าการตีความผลงานศิลปะนั้นเป็นเรื่องนานาจิตตัง ต่างจิตจ่างใจ แต่ละคนเมื่อได้เห็นภาพ“ภิกษุสันดานกา”และ“หมา-นุษย์” ย่อมมีมุมมองและทัศนคติต่อภาพทั้ง 2 แตกต่างกันออกไป หากบรรดาพระผู้ประท้วงจะตีความภาพนี้ว่าเป็นการจาบจ้วงดูหมิ่นศาสนาพุทธ ก็ย่อมเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมในมุมมองศิลปะรวมถึงการประท้วงของท่าน และก็ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่คนอื่นจะมองตรงกันข้ามว่านี่เป็นการสะท้อนด้านลบของวงการสงฆ์บ้านเราออกมาเป็นผลงานศิลปะได้อย่างตรงประเด็น
เพราะฉะนั้นไหนๆ เมื่อพวกท่านออกมาประท้วง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันสงฆ์และพระพุทธศาสนา ทางที่ดีพวกท่านน่าจะไปประท้วงยังต้นเหตุจริงๆที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน ภิกษุสันดานกาของศิลปิน นั่นก็คือ พวกอลัชชี พระนอกรีต พวกเหลือบ-มารศาสนาจำนวนมาก ที่เอาชายผ้าเหลืองบังหน้าสร้างความเสื่อมเสีย กระทำย่ำยีต่อศาสนาพุทธ จนปรากฏเป็นข่าวฉาวโฉ่ขึ้นหน้าหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง
พวกนั้นแหละภิกษุสันดานกาตัวจริงเสียงจริง!?! ที่ไม่เพียงแค่ประท้วงเท่านั้น แต่ยังต้องกำจัดให้สิ้นซากออกไปจากพระพุทธศาสนาด้วย
******************
ภาพ “หมา-นุษย์” ผลงานของ อนุพงษ์ จันทร
หมายเหตุ : ในวันที่ 12 ต.ค. 50 มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ประกาศยุติการนำผลงาน"ภิกษุสันดานกา" ไปจัดแสดงตามมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด 6 แห่งแล้ว(แต่จะแสดงภาพนี้และภาพอื่นๆเฉพาะส่วนกลางต่อไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.50) เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับกลุ่มที่ไม่พอใจ ในขณะที่ศาลอาญาได้รับฟ้องกรณีภาพภิกษุสันดานกาที่องค์กรทางพระพุทธศาสนา 53 องค์กรยื่นฟ้องศาลอาญา
ต่อนายอนุพงษ์ จันทร ผู้วาดภาพ และนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2544 ในฐานะกรรมการตัดสินภาพดังกล่าว
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|