หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

คิวนิมนต์พุ่ง 200 งานต่อเดือน เบื้องหลังกลยุทธ์สุดฮิต 3 พระดังแห่งยุค


พระดังปรับกลยุทธ์แสดงธรรม เปลี่ยนวิธีนำเสนอใหม่ โดนใจคนทุกวัยทั้งเด็ก วัยรุ่น ยันคนสูงอายุ

การเมืองเสื่อม สังคมทราม เศรษฐกิจทรุด ผู้คนเครียดหนัก ส่งผลคิวนิมนต์พระนักเทศน์ยอดนิยมพุ่งถึง 200 งานต่อเดือน

ว.วชิรเมธี วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค พุทธศาสนาในปัจจุบันอย่างละเอียดยิบ พร้อมแนวทางเผยแผ่ธรรมแบบ “รุก” ในทุกมิติ

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ชาตะ-11 พ.ค. 2454
มรณะ-10 ต.ค. 2550

9.00 น.ของวันที่ 10 ตุลาคม โลกต้องสูญเสียหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ แม่ทัพธรรมผู้ยิ่งใหญ่ จากอาการปอดอักเสบและไตวายเฉียบพลัน

คงไม่ต้องกล่าวซ้ำอีกว่าช่วงเวลาที่ท่านยังดำรงขันธ์อยู่นั้นมีวัตรปฏิบัติงดงามขนาดไหน และคำสอนของท่านประเสริฐเพียงใด

“...ไม่มีอะไรจะมาเปลี่ยนใจของข้าพเจ้าจากความเชื่อและการกระทำตามพุทธธรรมที่พระบรมศาสดาได้แสดงไว้ ความประสงค์ของพระพุทธองค์ ผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบการถวายชีวิตเป็นธรรมพลีแล้ว ความมุ่งหมายของข้าพเจ้าจึงอยู่ในกฎเกณฑ์ 2 ประการคือ
1.เพื่อประกาศความจริงที่พระองค์ทรงประกาศไว้
2.เพื่อทำลายความเห็นผิด และการกระทำที่ผิดๆ ในหมู่พี่น้องชาวพุทธทั้งหลายให้หมดไป”

นั่นคือ นโยบายประกาศธรรมของท่านปัญญานันทะ พุทธสาวกแท้ของแผ่นดิน ซึ่งท่านได้กระทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในฐานะผู้นำทางสัจจะ ผู้นำทางจิต มโน วิญญาณ และเป็นผู้นำทางปัญญาของชาวพุทธมายาวนาน แม้กระทั่งนาทีสุดท้าย

ในฐานะพระธรรมทูต ท่านเป็นพระนักเทศน์ระดับแถวหน้าที่ยากหาใครเสมอเหมือน ด้วยมีทั้งยุทธวิธี และยุทธศาสตร์ เป็นแม่แบบให้พระนักเทศน์รุ่นใหม่ๆก้าวเดินตาม หนึ่งในนั้นคือ พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ แห่งวัดสวนแก้ว ในรูปแบบการพูดให้ฟังง่ายๆ ตรงไปตรงมา ผิดก็บอกว่าผิด ถูกก็บอกว่าถูก ไม่ต้องเกรงใจใคร แม้ประเพณีที่เคยทำมาที่เห็นว่าไม่เหมาะไม่ควรก็บอกให้เลิก ซึ่งถ้าบอกว่าหลวงพ่อปัญญาเป็นผู้นำปฏิวัติการเทศน์เห็นจะไม่ผิดนัก

พระมหาราชันย์

พระมหาราชันย์ ธรรมทูตธรรมบันเทิง จากภูธรถึงนครบาล

เวลานี้พระนักแหล่ที่เป็นที่รู้จักดีทั่วทั้งประเทศเห็นจะไม่มีใครเกิน “พระมหาราชันย์” ที่ปัจจุบันมีคิวเดินสายเทศน์เต็มไปจนถึงเดือนเมษายนปีหน้า ด้วยสถิติคนฟังเทศน์ถึง 30,000 คน น้อยกว่านกน้อย อุไรพร ลูกทุ่งเสียงทองที่ไปเปิดคอนเสิร์ตบริเวณเดียวกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“ฉันไปทรงเครื่องเรื่องพระเวชสันดร คนมาดูรอบหนึ่งๆอย่างไม่มีเลย 5,000 คน สูงสุด 30,000 กว่าคน 5 ชั่วโมง แต่เคยเทศน์นานที่สุด 7 ชั่วโมงแล้วคนไม่หนี”

ท่านเริ่มเป็นธรรมทูตประมาณปี 2532-2533 หลังจากบวชได้ประมาณ 3 ปี ซึ่งในช่วงแรกๆนั้นเป็นการบรรยายมากกว่า กระทั่งปี 2538 ถึงมาเริ่มเทศน์แบบเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น กระนั้นก็ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก กระทั่งปี 2543 จึงหันมาใช้การแหล่เป็นสื่อนำธรรมไปสู่ญาติโยม หลังจากที่ท่านสังเกตว่าเหตุใดเวลาที่ท่านไปเทศน์ ญาติโยมจะนั่งกันเพียงชั่วครู่เท่านั้น

“วันหนึ่งไปเทศน์มหาชาติปรากฏว่าคนที่ตีระนาดเขานึกครึ้มก็ตีรับ ปรากฏว่าพอระนาดตีรับคนที่ฟังกลับชอบ 2 ชั่วโมงก็ไม่หนี 3 ชั่วโมงก็ไม่ไป จึงคิดว่าทำอย่างไรถึงจะนำเรื่องใกล้ตัว เรื่องพ่อแม่ เรื่องสังขาร เรื่องชีวิตครอบครัวมาประยุกต์เพื่อเทศน์ให้ญาติโยมฟังบ้าง เพราะไม่ว่าจะเทศน์เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเอาแต่เนื้อธรรมะล้วนๆให้คนฟังเขาจะรับไม่ได้ 10-20 นาทีก็หนีแล้ว ทำอย่างไรจึงจะประยุกต์เรื่องใกล้ตัวมาเทศน์ คือเขาฟังแล้วนึกภาพออกเลย คิดได้เลย”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นพระนักแหล่ ที่ไม่ได้แหล่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ทุกครั้งของการเทศน์ยังเต็มไปด้วยมุกสนุกสนานเฮฮาที่ทำให้คนฟังหัวเราะ และเรื่องสะเทือนอารมณ์ที่ทำให้ผู้ฟังร้องไห้ได้ด้วยเช่นกัน และที่สำคัญท่านเป็นพระที่ไม่เคยเตรียมเรื่องราวก่อนขึ้นเทศน์ หรือที่เรียกว่าไม่มีสคริป แต่จะเทศน์ตามธรรมชาติตามอารมณ์ของผู้ฟัง ซึ่งในช่วงแรกๆของการเทศน์นั้นแม้จะได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี แต่ก็มีเสียงโจมตีว่าพระเป็นพระมาร้องเช่นนี้จะไม่งาม

พระมหาราชันย์

“จริงแล้วมันมีการแหล่เขาเรียกว่า ทำนองโฆษะปะมานิกา กับการพูดที่เรียกว่า ธรรมะสมานิกา คือเผอิญเราได้ทั้ง 2 อย่างมาคู่กันทำให้คนฟังสนใจขึ้น”

เพียงชั่วเวลาไม่นานชื่อของพระมหาราชันย์ก็เป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่อยุธยาขึ้นไปจนถึงภาคเหนือตอนล่างแต่ละเดือนจะมีงานเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่จะรับได้ไม่เกินเดือนละ 80 งานเท่านั้น

“ตอนนั้นกล้าพูดเลยว่าไม่มีใครมีงานเทศน์เท่า และเป็นงานที่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรา เคยให้พระไปแทนปรากฏว่าเจ้าภาพไม่ยอมให้เทศน์”

ด้วยลีลาการเทศน์ที่ไม่เหมือนพระรูปใด ทำให้มีญาติโยมติดอกติดใจไปฟังพระมหาราชันย์เทศน์แทบทุกครั้ง มีหลายสิบรายเป็นคนกรุงเทพฯอายุราว 50-60 ปี ติดตามการดูเทศน์แบบทรงเครื่องมาแล้วกว่า 50 งาน และตั้งใจว่าจะติดตามฟังให้ครบ 99 งาน ทั้งที่เป็นการเทศน์เรื่องเดิมๆ

ภาพละครเวชสันดรชาดก

ทั้งนี้ การเทศน์แบบทรงเครื่องก็คือ จะมีการแสดงประกอบการเทศน์ เช่น ตอนเวชสันดรชาดก จะมีตัวละครที่แสดงเป็นพระนางมัททรี กัณหา ชาลี ชูชก เป็นต้น

แม้จะมีงานเทศน์จนรับแทบไม่หวาดไม่ไหว แต่พระมหาราชันย์ก็ยังเป็นผู้รับงานด้วยตนเอง เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีลูกศิษย์มาขอช่วยรับคิวงานให้ แต่การจัดคิวไม่ลงตัว บางครั้งตอนเช้าเทศน์ที่อยุธยา ตกบ่ายไปเทศน์ที่สุโขทัย ทำให้ท่านรู้สึกเหนื่อยล้ากับการเดินทาง ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงท่านเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงทีมงานที่มีอยู่เกือบ 20 คน ทั้งคนเล่นดนตรี ระนาด ตะโพน ฉิ่ง ฉาบ รวมไปถึงนักแสดงต่างๆ

“คนที่จะโทรมานิมนต์จะถามก่อนว่าอยู่จังหวัดไหน วันอะไร แล้วดูว่างานที่เราเทศน์อยู่ไกลจากเขาหรือไม่ ถ้าไม่เกิน 200 กิโลเช้าบ่ายเราวิ่งทัน ถ้าเกิน 200 กิโลไม่เอาแล้ว แต่ส่วนมากคนที่นิมนต์จะถามวันว่างของเรามากกว่า ตั้งแต่ 5-6 ปีที่ผ่านมามีงานทุกวัน เดือนหนึ่งได้ว่าง 2 วันดีใจตาย ตอนนี้คิวยาวไปถึงลอยกระทงปีหน้า ถ้าจะเอาก็ต้องถามเวลาว่างของเรา จะกำหนดวันไม่ได้แล้ว ตั้งแต่นี้ไปศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ยันสงกรานต์ปีหน้าเต็มหมดเลย

ตอนนี้ขยายไปอีสานไปทางใต้ถึงยะลาก็เคยไป ฉันกล้าพูดเลยว่าเป็นพระนักแหล่ไทยองค์เดียวที่คนอีสานนิยมที่สุด เพราะคนอีสานเขาก็นิยมแหล่อีสานของเขาอยู่แล้ว ขณะที่ฉันแหล่อีสานไม่เป็น แต่ฉันภูมิใจว่าเป็นนักแหล่ไทยคนเดียวที่คนอีสานชอบฟัง โคราช ขอนแก่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ไปหมด”

หลังจากเป็นที่รู้จักในเขตชนบทจนทั่วไปหมดแล้วก็เริ่มเป็นที่รู้จักของคนกรุงเทพฯมากขึ้นเมื่อได้ไปร่วมรายการสาระแนโชว์ และมีรายการประจำคือ เมืองไทยวาไรตี้ ซึ่งเป็นรายการสดทางช่อง 5

พระมหาราชันย์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการเป็นพระนักแหล่ก็คือ ไม่รับเงินจากการไปเทศน์ เงินทุกบาทที่หาได้จากการเทศน์ให้วัดทั้งหมด และตั้งแต่เทศน์มายังไม่เคยมีวัดไหนขาดทุน ทุกครั้งที่มีพระมหาราชันย์ไปเทศน์งานไหนงานนั้นต้องมีรายได้เข้าวัดไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท บางครั้งได้ถึง 2 ล้านบาท

“ตอนนี้ฉันสร้างวัดจากไม่มีอะไรเลย เงินที่เราเทศน์ก็ให้ไป 17 ล้านบาท สร้างโบสถ์ ศาลา กุฏิ ไม่ได้เรี่ยไรใคร เทศน์มาหลายปี”

รายได้ของพระมหาราชันย์ไม่ได้มาจากการเทศน์เท่านั้นแต่ยังมาจากการขายวีซีดีซึ่งทำมาแล้ว 7 ปี โดยทำเพื่อให้คนแก่ที่เดินมาวัดไม่ไหวได้ดูอยู่กับบ้าน ทั้งหมดเป็นวีซีดีบันทึกการเทศน์สด ว่ากันว่าบางชุดขายดีกว่าซีดีของ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย ทั้งที่ไม่ต้องมีโฆษณา ในงานหนึ่งๆที่บอกว่าขายไม่ได้ก็ยังมีตัวเลขจำหน่ายสูงถึง 4-5 พันบาท โดยมียอดจำหน่ายสูงสุดถึง 7.5 หมื่นบาท

นับเป็นพระธรรมทูตอีกท่านหนึ่งที่น่ายกย่องในการทำงานทางธรรมของท่านยิ่งนัก




“ท่าน ว.วชิรเมธี”

ว.วชิรเมธี ผู้ติดปีกให้ธรรม

ทั้งผู้สนใจ และไม่สนใจธรรม ไม่มีใครไม่รู้จักพระภิกษุหนุ่มที่อธิบายธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง และชัดเจน ผู้ก่อให้เกิดกระแส “ธรรมะอินเทรนด์” ที่มีนามว่า ว.วชิรเมธี เจ้าของผลงานเขียนระดับ Best Seller หลายต่อหลายเล่ม ที่รู้จักกันดีคงจะได้แก่ หนังสือที่มีชื่อชุดว่าธรรมะประยุกต์ ซึ่งประกอบด้วย ธรรมะติดปีก ธรรมะดับร้อน ธรรมะหลับสบาย ธรรมะบันดาล

ก่อนที่ท่าน ว.วชิรเมธี จะเป็นที่รู้จักของประชาชนคนไทยแทบทั้งประเทศ ท่านเริ่มชีวิตก่อนการเป็นนักเทศน์ด้วยการ “ปักกลดกลางป่ากระดาษ” เป็นคอลัมน์นิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆมากมาย เพื่อต้องการหาคำตอบให้กับตัวท่านเองว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก หรือธรรมะเป็นสิ่งที่ง่ายแต่ถูกทำให้เข้าใจยาก พร้อมลงมือพิสูจน์ด้วยการเขียนงาน ธรรมะติดปีก และพบคำตอบว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่ง่ายมาตั้งแต่ต้น แต่ถูกทำให้ยากด้วยกระบวนการเผยแผ่ธรรมะที่ขาดทักษะ หรือความชำนาญของพระธรรมทูตทั้งหลายนั้นเอง

“ทีแรกก็กลัวอยู่ว่าเราจะตีฝ่าวงล้อมนำธรรมะออกนอกกำแพงได้อย่างไร ก็คิดหาวิธีอยู่ อาตมาคิดว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้คนเข้าถึงธรรมะยาก คือ กำแพงแห่งภาษา และกำแพงแห่งท่าทีในการเสนอธรรมะ เพราะพระมักจะแสดงธรรมด้วย อารามิกโวหาร คือภาษาพระที่ใช้เฉพาะกันในแวดวงของคนที่อยู่วัด และคนใกล้วัดเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำเสนอออกสู่ชาวโลกแล้ว มันกลายเป็นภาษาที่ไม่สามารถสื่อสารอะไรได้มากนัก”

เมื่อภาษาที่ใช้ในการนำเสนอธรรมะแทนที่จะเป็นเครื่องมือกลับกลายเป็นกำแพงเสียเอง ท่านว.วชิรเมธีจึงคิดว่าก่อนอื่น ประการแรก ต้องทลายกำแพงแห่งภาษา ด้วยการเริ่มงานทดลองรับเป็นคอลัมนิสต์ที่หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ปรากฏว่ามีคนนิยมชมชอบมาก เขียนอยู่หลายปีไม่มีใครรู้ว่าเป็นพระเขียน ท่านจึงค้นพบความจริงประการหนึ่งว่า การนำเสนอธรรมะถ้าหากจับประเด็นได้แล้วว่า ธรรมะที่แท้จริงคืออะไร ผู้นำเสนอไม่จำเป็นต้องเป็นพระ เป็นใครก็ได้ ธรรมะจะออกจากปากพระ หรือออกจากปากแม่ค้าข้างถนน หากเป็นธรรมะที่แท้จริงมันก็คือ ความจริงที่เป็นสากล ให้ดับทุกข์ได้ พอค้นพบอย่างนี้ท่านจึงคิดว่า ขณะนี้ท่านได้ทลายกำแพงแห่งภาษาลงได้แล้ว

ประการที่สอง กำแพงแห่งท่าที ท่าทีของพระในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่เดิมนั้นพระจะแสดงธรรมเฉพาะก่อต่อเมื่อได้รับการอาราธนา และบริบทในการนำเสนอธรรมะส่วนมากก็จะเป็นวัด แต่ท่าน ว.วชิรเมธี มองแล้วว่าถ้าอยู่ในวัดให้คนมานิมนต์แล้วจึงแสดงธรรม นั่นเป็นการเผยแผ่ธรรมะในเชิงรับล้วนๆ ท่านคิดว่าจะมาเผยแผ่ธรรมะในเชิงรับแบบเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องรุก และการรุกนั้นจำต้องสร้างคติขึ้นมาใหม่ว่า ต้องทลายกำแพงแห่งท่าทีเดิม คือนั่นต้องสร้าง Active Buddhism คือพระพุทธศาสนาเชิงรุก

ท่าน ว.วชิรเมธี อธิบายว่า การจะเป็น Active Buddhism ได้พระต้องปรับภาพลักษณ์ของตัวเองใหม่นั่นต้องเป็น active Buddhist monk หรือ active Buddhist missionary โดยเรียกท่าทีใหม่แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของตนเองว่าเป็น “พุทธก้าวหน้า พระก้าวนำ” active Buddhism and active Buddhist missionary คือแทนที่จะนั่งอยู่กับวัด ต้องบุกไปทำงานทุกหนทุกแห่งเท่าที่โอกาสเปิดให้ และเท่าที่ญาติโยมอาราธนา ด้วยท่าทีแบบนี้นี่เองคนจึงรู้จักท่านในอีกชื่อหนึ่งว่า “ธรรมะติดปีก”

“ถามว่าทำไมหนังสือชุดธรรมะประยุกต์เล่มแรกจึงชื่อว่าธรรมะติดปีก เพราะต้องการขยายแนวคิด พุทธต้องก้าวหน้า พระต้องก้าวนำ พุทธก้าวหน้าหมายความว่าศาสนาต้องถูกนำไปเครื่องมือในการพัฒนา ไม่ใช่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการจับผิดคน ทุกวันนี้เราใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการจับผิดคน ฉะนั้น เมื่อพูดถึงศาสนาจึงกลายเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง น่าเบื่อ ไม่อยากเข้าไปยุ่ง แท้จริงพุทธศาสนาควรถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคม พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเสรีภาพแต่ชาวพุทธจำนวนหนึ่งกำลังทำให้พระพุทธศาสนาเป็น Untouchable Region เป็นศาสนาที่ใครแตะไม่ได้ ซึ่งหากสภาพอย่างนี้ยังดำเนินต่อไป ต่อไปพุทธศาสนาจะถูกจำกัดตัวให้แคบเข้าแล้วกลายเป็นศาสนาที่น่าเบื่อ ไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย นี่คือท่าทีของชาวพุทธที่ปฏิสัมพันธ์ต่อพุทธศาสนาในทางที่ผิด และก่อให้เกิดพุทธศาสนาเชิงรับ หรือ Negative Buddhism คือศาสนาที่ไม่เพียงไม่แก้ปัญหา แต่ยังกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง อาตมาต้องการตีฝ่าวงล้อมนี้ออกไป การทำเช่นนี้ได้ต้องทำ 2 อย่าง

1.ต้องทลายกำแพงแห่งภาษา ใช้ภาษาในการเผยแผ่ที่เข้าใกล้ เข้าใจ เข้าถึง ได้อย่างง่ายดายที่สุด แต่มีความลึกซึ้งในความง่ายและความงดงามนั้น

2.ตัวพระเองต้องประยุกต์แทนที่จะนั่งอยู่ที่วัด ต้องรุกคืบไปข้างหน้าไปทำงาน ที่ใดมีคนที่นั่นมีธรรม อาตมาถือหลักอย่างนี้ ก็เดินออกไปทำงาน วิธีการทำงานทั้งหมดก็เรียกว่าเป็นวิธีการทำงานในแบบธรรมะติดปีก ซึ่งตอนนี้ก็มีคนนำออกมาแปลให้ร่วมสมัยมากขึ้นว่า ธรรมะเดลิเวรี่ ซึ่งที่จริงก็คือชุดความคิดเดียวกัน

อาตมาเริ่มทำงานในลักษณะนี้มาตั้งแต่หนังสือได้รับการตีพิมพ์ ดังนั้นธรรมะติดปีกไม่ได้หมายความแคบๆแค่ว่าติดปีกออกจากวัดไปหาคนนั้น คนนี้ไม่ใช่ หมายความว่าธรรมะควรได้รับการเผยแผ่ออกไปให้กว้างขวางทั่วทั้งโลก เผยแผ่ออกไปให้ครองโลก ทำได้อย่างนี้เมื่อไรนั่นคือธรรมะติดปีก และการที่จะทำได้เช่นนี้พระก็ต้องทำงานในเชิงรุกตลอดไป”


ธรรมะของท่าน ว.วชิรเมธี


• ถึงเวลาของ ธรรมะ แอมบาสเดอร์

จากสภาพแวดล้อมทางสังคม และเศรษฐกิจของเมืองไทยที่ตกอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องยาวนาน ท่านพุทธทาสเคยพูดไว้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมประสบวิกฤตเมื่อนั้นเป็นยุคทองของฝ่ายธรรมะ ฉะนั้น ถ้าหนังสือธรรมะได้รับความนิยมก็สะท้อนความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า สังคมกำลังวิกฤต เพราะหากไม่วิกฤตคนก็ไม่แสวงหาธรรม เมื่อคนแสวงหาธรรม และพระรู้ธรรม นั่นคือยุคทองของพระที่จะนำธรรมะออกมาเป็นเข็มทิศนำทางให้กับสังคม

“แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่าในเวลาที่คนกำลังเรียกร้องต้องการธรรมะอย่างที่สุด บุคลากรด้านการทำงานเผยแพร่พระพุทธศาสนากลับมีไม่พอ อาตมาเชื่อว่าธรรมะในพุทธศาสนาเป็นธรรมะที่ประเสริฐมาก แต่ที่เราขาดคือพระธรรมทูตที่มากความสามารถ เราไม่ค่อยมีธรรมะ แอมบาสซาเดอร์ หรือพระธรรมทูต แต่เรามีอวิชชา แอมบาสเดอร์ เต็มไปหมดในประเทศไทย” ท่าน ว.วชิรเมธี อธิบาย

ปัจจุบันพุทธบริษัท หรือ บริษัทที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นขาดหน่วยงานที่สำคัญที่สุดคือ ขาดธรรมะ แอมบาสเดอร์ เพราะทุกวันนี้มีแต่ อวิชชา แอมบาสเดอร์ ไปปลุกเสกลงเลขยันต์ รดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก สร้างจตุคาม ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่ใช่การส่งเสริมพระพุทธศาสนา แต่เป็นการการดิสเครดิตพระพุทธเจ้า เป็นการกระทำที่สร้างความงมงายในนามพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าเวลานี้วัดจำนวนมากในไทยได้เคลื่อนย้ายสถานะตัวเองจาก วัดคือศูนย์กลางทางปัญญาของชุมชน กลายเป็นศูนย์กลางทางความเสื่อม วัดในไทยเกินกว่าร้อยแห่งในเวลานี้ได้เปลี่ยนสถานภาพจากวัดไปเป็นเทวาลัย คือที่สิงสถิตของเทพ โดยที่พระสงฆ์ไม่น้อยก็ได้เปลี่ยนสถานภาพของตนเองจากพระซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน กลายไปเป็นพราหมณ์ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างคนกับเทพรอรับเครื่องเซ่น ผลประโยชน์ สิ่งที่เผยแพร่คือคุณวิเศษเวทย์ไสย เหล่านี้เป็นมิจฉาทิฐินอกพุทธศาสนา แต่กำลังได้รับการนำเสนอในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา


ธรรมะของท่าน ว.วชิรเมธี


• 5 ปัจจัยพระธรรมทูตที่ดี

พระที่จะทำหน้าที่เป็นธรรมะ แอมบาสซาเดอร์ หรือทูตแห่งธรรมนี้ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 3-4 ประการ 1.มีความรู้ดี หมายความว่ามีความรู้ทางธรรมแม่นยำ ลึกซึ้ง ถูกต้อง ถ่องแท้ และมีความรู้ทางโลก คือมีความรู้ในศาสตร์ร่วมสมัย หรือ Modern Science เช่นเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พอสมควรแก่การจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายธรรม

2.มีความประพฤติดี ความรู้ดีทำให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต แต่ความประพฤติดีจะทำให้เป็นประจักษ์พยานว่า ความรู้ที่รู้ดีนั้น ทำให้ชีวิตดีงามขึ้นจริงๆ หากมีความรู้ดี แต่ความประพฤติทราม คนก็จะไม่ยกย่องนับถือ หากมีความรู้ดีด้วย มีความประพฤติดีงามด้วย คนจะยอมรับนับถือ เพราะจะเป็นประจักษ์พยานว่าความรู้ที่ดีนั้นทำให้มีชีวิตที่ดีจริงๆ

3.ต้องมีความกตัญญู หมายความว่าเมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา พระอยู่ได้เพราะข้าวปลาอาหารจากชาวบ้านตักบาตรทุกเช้า พระได้กินอิ่มนอนอุ่นเพราะชาวบ้านให้การอุปถัมภ์ ดังนั้น จึงต้องมีความกตัญญูรู้คุณชาวบ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าทำตัวเป็นข้าช่วงใช้ของชาวบ้าน แต่เราต้องเอาธรรมะไปแจกจ่ายชาวบ้านเป็นการตอบแทนพระคุณชาวบ้าน หลักการอย่างนี้เราเรียกว่า บ้านให้ทาน พระให้ธรรม หรือบ้านอวยทาน พระอวยธรรม

“นี่เป็นหลักแห่งการปฏิสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างบ้านกับวัด แต่ทุกวันนี้หลักการนี้มันเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าบ้านให้เงิน พระให้เครื่องรางของขลัง ความสัมพันธ์ในระดับที่เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์แบบบุญกุศล เปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ที่เรียกว่าผลประโยชน์ ถ้าพระกตัญญูต่อชาวบ้านพระต้องสอนสิ่งที่ถูกต้องให้ชาวบ้าน แต่ทุกวันนี้พระจำนวนไม่น้อยอกตัญญูต่อชาวบ้าน สิ่งที่ควรสอนไม่สอน สิ่งที่ไม่ควรสอนเอามาสอน เราต้องสอนธรรมะที่แท้จริงให้กับชาวบ้าน ทำได้อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นพระดีที่น่ากราบไหว้”

4.จะต้องมีจิตสำนึกสาธารณะ พระอยู่ในสังคมต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่สังคมให้พระกิน ให้พระใช้ ให้อยู่อย่างสุขสบาย เวลาสังคมมีทุกข์กลับแยกตัวอย่างออกมาต่างหาก แล้วบอกว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ พระต้องบอกตัวเองเสมอว่าเราอยู่ในสังคม เป็นองคาพยพหนึ่งของสังคม ถ้าสังคมมีความทุกข์นั่นก็คือทุกข์สัจของสังคม ทำอย่างไรพระจะช่วยสังคมแสวงหาทางดับทุกข์ พระต้องมี Public mind หรือจิตสาธารณะ ถ้าสังคมประสบทุกข์ พระจะต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาทางดับทุกข์ให้สังคมด้วย

5.ตัวนี้สำคัญที่สุด ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม สิ่งใดที่ผิดสิ่งใดที่ไม่ชอบ สิ่งใดที่สวนทางกับธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ พระต้องกล้าหาญหยัดยืนออกมาชี้ผิดชี้ถูกเป็นเข็มทิศนำทางให้กับสังคมได้เห็นว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สิ่งนี้ขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเห็นแก่คนแล้วทอดทิ้งธรรมก็ยังเป็นพระที่ดีไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่คนขัดแย้งกับธรรม พระต้องเลือกธรรมแล้วทิ้งคน การทำเช่นนี้จะต้องใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างยิ่งยวด

“ฉะนั้น พระที่จะเป็นธรรมะ แอมบาสเดอร์หรือเป็นพระทูตที่แท้จริงจะต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ถ้ามีก็เป็นพระที่ดีได้ พระจะต้องหลีกจากการเป็นอวิชชา แอมบาสเดอร์ มาเป็นธรรมะ แอมบาสเดอร์ ให้ได้ ถ้าทำสำเร็จพระพุทธศาสนาในเมืองไทยก็จะมีอนาคต ถ้าทำไม่สำเร็จพุทธศาสนาในไทยจะเหลือไว้แต่โครงสร้างภายนอก แต่เนื้อในเป็นไสยศาสตร์มากเท่านั้น”


ธรรมะของท่าน ว.วชิรเมธี


• ยุทธศาสตร์จัดการพุทธศาสนาแบบใหม่

การที่พุทธศาสนาของเราไม่สามารถเผยแผ่ในเมืองไทยได้อย่างมีพลัง มีน้ำหนัก มีความหมายต่อสังคมก็เพราะเราขาดการจัดการ ทั้งที่มีวัดอยู่ทุกแห่งในหมู่บ้านในประเทศไทย มีพระสงฆ์กว่า 3 แสนรูป ถ้ามองในแง่องค์กรพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นองค์กรที่มีสำนักงานเยอะที่สุดในประเทศ เพราะมีวัดอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน แล้วถามว่าทำไมวัดทุกวัดไม่ทำหน้าที่เป็นอุทยานแห่งการศึกษาก็เพราะขาดการจัดการ

พระสงฆ์จำนวนไม่น้อยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอวิชชา หรืออวิชชา แอมบาสเดอร์ มีพระจำนวนมากตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งทางหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชน โดยเฉลี่ยเดือนละครั้งสองครั้งเป็นประจำทั้งปีนี่คือการทำลายภาพลักษณ์เชิงบวกของพระพุทธศาสนาให้สูญหายไป

“เห็นหรือไม่ว่าเรามีวัตถุดิบอยู่ มีเครื่องมืออยู่ มีองค์กรอยู่ แต่เราขาดการบริหารการจัดการที่ดี พอขาดการบริหารการจัดการที่ดี องค์กรหรือเครื่องมือที่เรามีอยู่ทั้งหมด แทนที่จะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาก็กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างปัญหาเสียเอง ฉะนั้น หากคณะสงฆ์ไทยหวังจะก้าวไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีความหมาย มีคุณค่า ถึงขั้นเป็นทางออกหนึ่งในการปฏิวัติสังคมไทยให้รุ่งโรจน์ในอนาคต สมควรอย่างยิ่งต้องมีการบริหารที่ดีงาม และถูกต้อง และร่วมสมัย”

แต่ถ้ามองถึงวิธีการจัดการส่วนตนแล้ว ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวว่า วางตนเองเหมือนเป็นซีอีโอขององค์กร จากนั้นก็มีคนอื่นเข้ามาร่วมในการบริหารจัดการ เช่น ลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระรูปคนหนึ่งดูแลเรื่องสุขภาพ ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งดูแล บริหารจัดการเรื่องคิวงานทั้งหมด โดยท่านไม่ต้องมานั่งรับโทรศัพท์เอง เนื่องจากในแต่ละวันมีญาติโยมโทรศัพท์มานิมนต์ไม่ใช่แค่วันละ 10 งานบางวันเป็น 200-300 งาน จะต้องใช้คนรับโทรศัพท์ถึง 3 คน ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 4-5 ปีแล้ว

ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งดูเรื่องเทคโนโลยี การบรรยายของท่านว.วชิรเมธี แต่ละครั้งมีการบันทึกภาพ บันทึกเสียงเอาไว้ทั้งหมด อีกคนหนึ่งทำหน้าที่ดูแลงานเอกสารทั้งหมด แฟ็กซ์ที่ส่งเข้ามา งานล่วงหน้าที่จะต้องไปสอน ไปบรรยาย ถ้าเป็นงานธรรมดาต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน ถ้าเป็นงานวิชาการต้องทำหลักสูตรต้องแจ้งล่วงหน้า 1 อาทิตย์

“เห็นไหมว่างานในสำนักงานของอาตมาซึ่งเป็นการจัดองค์กรแบบหลวมๆ ก็สามารถดำเนินไปได้ บ่อยครั้งที่มีคนมาคุยกับอาตมาคิดว่ามีคนทำงานกับเป็นสิบ แต่เอาเข้าจริงใช้คนแค่ 3-4 คนเท่านั้น แต่เราทำงานได้ เพราะเราใช้การบริหารจัดการ”


ธรรมะของท่าน ว.วชิรเมธี


• SWOT พุทธศาสนา

ตัวแรก STRENGTH ประชาชนคนไทย 95% เป็นชาวพุทธนี่คือจุดแข็งทุกหมูบ้านมีวัด ต่อมา WEAKNESS ทุกหมู่บ้านมีวัด แต่แต่ละวัดหาพระธรรมทูต หรือ ธรรมะ แอมบาสเดอร์ ยากมาก โดยมากที่แต่พระที่มีการศึกษากระพร่องกระแพร่งศักยภาพไม่พอที่จะเป็นผู้นำทางปัญญา และจุดอ่อนอันที่สองคือ การบริหารการคณะสงฆ์นั้นเป็นการบริหารเชิงรับไม่ใช่เชิงรุก แทนที่คณะสงฆ์จะผลิตพระธรรมทูตออกมาเยอะ แต่กลับปล่อยให้พระธรรมทูตเกิดขึ้นเองตามยถากรรม ในขณะที่สังคมต้องการธรรมะแต่ไม่มีพระธรรมทูตออกมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีแต่พระเกจิอาจารย์ออกมาดิสเครดิตพระพุทธศาสนาอยู่ทุกวัน และใช้ศักยภาพทั้งหมดซื้อสื่อโฆษณากว่า 4 พันล้าน นั่นคือศักยภาพเชิงลบทั้งหมดซึ่งทำโดยพระเกจิอาจารย์ เห็นหรือไม่ว่าเป็นจุดแข็งด้านการตลาด แต่เป็นจุดอ่อนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะทำให้พุทธศาสนาได้รับการดูหมิ่นจากปัญญาชน แล้วคนเหล่านั้นมองเห็นว่าพระไม่เห็นดีกว่าเราตรงไหน ดีแต่ทำมาค้าขาย ดีแต่รดน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก ดีแต่ปลุกเสกลงเลขยันต์

แล้วจุดอ่อนต่อมาก็คือ ทุกครั้งที่มีข่าวพระเสื่อมเสียไม่มีหน่วยงานไหนออกมาบริการทางวิชาการให้ชาวพุทธเห็นเลยว่า ที่เสื่อมเสียนั้นเป็นเพราะอะไร ที่ถูกคืออะไร เราก็ปล่อยให้ถูกโจมตี สื่อมวลชนแทนที่เป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนากลับกลายเป็นเครื่องมืออัดพระรายวัน นี่คือจุดอ่อน

ต่อไป OPPORTUNITY หรือโอกาสในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีมากน้อยแค่ไหน ท่านว.วชิรเมธี เชื่อว่าเมื่อไรที่สังคมวิกฤต นั่นคือโอกาสที่สังคมเรียกร้องต้องการธรรมะในอัตราที่เข้มข้นและสูงมาก โอกาสของเรามาถึงแล้วนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 แต่โอกาสนั้นมีพระสงฆ์กี่รูปที่มองเห็นแล้วลุกออกมาทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกที่เรียกกันว่า ACTIVE BUDDHISM ACTIVE BUDDIST MISSIONARY มีพระสงฆ์ไม่กี่รูปเท่านั้นที่มองเห็นโอกาส

“สำหรับอาตมาเวลาสังคมไทยตกอยู่ท่ามกลางวิกฤต อาตมามองเห็นมันนี่แหละคือโอกาสที่คนเรียกร้องต้องการธรรมะ ฉะนั้น เราต้องลุกออก กระโดดออกมาใช้สื่อมวลชนทุกรูปแบบในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่พระสงฆ์จำนวนไม่น้อยไม่ได้คิดแบบอาตมา คิดว่าพอสังคมง่อยเปลี้ยมองว่านี่คือโอกาสที่จะขายเครื่องรางของขลัง ต่างฝ่ายต่างมองเห็นโอกาส แต่ใช้โอกาสนั้นประหนึ่งใช้เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกเพื่อพยุงพระพุทธศาสนา แต่อีกฝ่ายใช้เพื่อทำมาหากิน”

สุดท้าย TREAT คือสิ่งที่คุกคามพระพุทธศาสนาอยู่ทุกวันในทุกวันนี้ อะไรคือสิ่งที่คุกคาม ปัจจัยภายในคือ ภาวะด้อยการศึกษาคณะสงฆ์เอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คุกคามพระพุทธศาสนาทำให้ไม่มีผู้นำทางจิตวิญญาณออกมาทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เท่าทันยุคสมัย ในขณะที่ประชาคมโลกเรียกร้องต้องการผู้นำทางจิตวิญญาณที่รู้เท่าทันทั้งโลกฝ่ายธรรม และโลกฝ่ายคฤหัสถ์ แต่เรากลับผลิตได้แค่พระเกจิอาจารย์มาส่งต่อให้กับชาวโลก มันไม่สอดคล้องกัน เราขาดพระธรรมทูตที่มีความสามารถให้กับโลก ขาดการบริหารจัดการที่ดี ไม่ว่าจะมีปัญหาสาหัสหนักหน่วงแค่ไหนก็ตาม องค์กรบริหารคณะสงฆ์ก็ไม่เคยมีการปรับท่าทีอะไรเลย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม

ปัจจัยภายนอกที่คุกคามพระพุทธศาสนาก็คือ 1.ลัทธินิยมต่างๆที่ไหลบ่าเข้ามาสู่ประเทศไทย ตอนนี้ไทยเปรียบเสมือนหนึ่งเรือนเพาะชำทางศาสนา ลัทธินิกายต่างๆที่นิยมในทั่วโลกหาดูได้ในเมืองไทยแทบทั้งหมด 2.ศาสนาต่างๆที่พยายามแย่งศาสนิกจากพุทธศาสนาไปเป็นศาสนิกของศาสนาเขาเอง 3.ลัทธิประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับเสรีภาพพื้นฐานทางศาสนา เสรีภาพพื้นฐานทางเพศ เหล่านี้กำลังคุกคามการสอนศีลธรรมของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ฉะนั้น พระสงฆ์ที่สอนพุทธศาสนาในลักษณะว่าหากคนมีศีลแล้วสังคมไทยจะดีเองนี้เป็นฐานคิดชุดเดียวกับที่เราเคยใช้ได้ผลในยุคพันปีที่แล้ว คือยุคกรุงสุโขทัย ทุกวันนี้ศีลธรรมในระบบไตรภูมิพระร่วงซึ่งง่ายๆไม่ซับซ้อน เป็นศีลธรรมชุดเดียวกับทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่เพียงพอที่จะพยุงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ศีลธรรม และจริยธรรมได้ เพราะสังคมไทยถูกรุกรานไปด้วยชุดความเชื่อที่หลั่งไหลมาจากสารทิศทุกแห่งทั่วโลกหากพระสงฆ์ไม่ตระหนักรู้สิ่งเหล่านี้สิ่งที่คุกคามสถาบันสงฆ์ไทยให้ง่อยเปลี้ยเสียขาลงไป

เท่านั้นยังไม่พอ สื่อมวลชนจำนวนมากได้ยึดพื้นที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปเป็นพื้นที่ในการเผยแผ่กิเลสแล้วมีพระกี่รูปที่กล้าเข้าไปใช้สื่อมวลชนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เมื่อเครื่องมือเหล่านี้ไม่ถูกใช้ มันก็ถูกใช้ไปเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่ความงมงาย เป็นช่องทางในการกระตุ้นคนให้มีกิเลสยั่วให้อยาก หลอกให้ซื้อ ยั่วให้อยาก และหลอกให้บริโภค พอพระรู้ไม่เท่าทันตรงนี้ สื่อมวลชนก็กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คุกคามความมั่นคงในพระพุทธศาสนาของสังคมไทยเสียเอง

“พอทำ SWOT อาตมาก็เห็นว่าพุทธศาสนามีทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และสิ่งคุกคาม พอเราเห็นอย่างนี้แล้วอาตมาก็มาตั้งปรัชญาในการทำงานของอาตมาว่า เอาล่ะ เราต้องทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเชิงรุก นั่นคือธรรมะต้องติดปีก อยู่นิ่งๆไม่ได้ ต้องเป็นไดนามิก ธรรมะ หรือพุทธศาสนาจะทำงานในลักษณะตั้งรับอีกต่อไปไม่ได้ มันต้องเป็น Active Buddhism พระอยู่ในวัดต่อไปไม่ได้ เพราะคนไม่มีเวลาเข้าวัด โลกยุคอุตสาหกรรมคนต้องออกจากบ้านไปทำงาน พระต้องเป็น Active Buddhist Missionary นี่คือที่มาของธรรมะติดปีกทั้งหมด”




• จากวัยรุ่นถึงราชนิกุล พร้อมรับประกันการเทศน์

“ถ้าตามใจโยมเดือนหนึ่งเกินร้อยงานขึ้นไป แต่ทุกวันนี้อาตมาไม่ได้ไปทุกงานอาตมาเป็นพระที่ไม่ได้ตามใจญาติโยม เลิกเทศน์ เลือกไปสอน ไปบรรยาย เพราะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า 1.เป็นเรื่องที่เรามีความรู้ 2.เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ และ3.เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์พัฒนาคนโดยตรง ถ้าเข้าเกณฑ์ 3 เรื่องนี้แล้วอาตมาไปไม่ว่าจะไกลจะใกล้แค่ไหนก็ตาม” ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าว

ความสามารถในการอธิบายธรรมได้อย่างแจ่มแจ้งนั้น เป็นเพราะท่าน ว.วชิรเมธีได้เรียนพระพุทธศาสนามาสายตรง คือเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก จบแล้วเรียนเปรียญธรรม 1 ถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค แล้วไปศึกษาพระพุทธศาสนาเชิงวิชาการจนจบปริญญาโททางด้านพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต และได้ร่ำเรียนทางโลกด้านสังคมศาสตร์

นอกนั้นสิ่งหนึ่งที่เอื้อกับการทำงานของ ท่านว.วชิรเมธี ก็คือ การเป็นคนรักการอ่านมา การอ่านมี 2 อย่างคือ
1.อ่านหนังสือ
2.อ่านความเป็นไปของโลกและชีวิต เพื่อเปิดหูเปิดตาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น ฐานข้อมูลต่างๆทั้งเก่าและใหม่จึงได้รับการอัพเดทอยู่ทุกวัน

“อาตมายังอ่านหนังสืออยู่มีหนังสือที่ผ่านการอ่านแล้วเกินหมื่นเล่ม อ่านตั้งแต่เป็นสามเณรจนกระทั่งทุกวันนี้ และรับหนังสือพิมพ์วันละ 5 ฉบับ ไทย 4 อังกฤษ 1 และยังค้นคว้าข้อมูลต่างๆผ่านเสิร์จเอนจิ้นอย่างกูเกิล ยาฮู หรือวิกิพีเดีย อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การศึกษาหาข้อมูลเป็นวิถีชีวิตของอาตมา เมื่อเรามีฐานข้อมูลพร้อมหรือพอแล้ว เมื่อไรก็ตามที่ญาติโยมมานิมนต์ฐานข้อมูลเหล่านี้นี่เองก็จะเป็นเครื่องมือในการทำงานของเรา”

ทุกวันนี้ไม่เป็นปัญหาว่าจะพูดเรื่องอะไร ถ้ามีเวลาก็ยินดีไป แต่จะมีคุณภาพพอหรือไม่เป็นเรื่องที่ญาติโยมจะวินิจฉัยกันเอง แต่อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่แสดงธรรมอาตมาก็วางเกณฑ์ให้ตนเองว่า อาตมาทำรับประกันการเทศน์ หรือ QA (Quality Assurance) รับประกับการเทศน์ทุกกัณฑ์ หมายความว่า ทุกครั้งที่ไปเทศน์ทุกครั้งที่ไปสอน อาตมามีหลักการเทศน์และการสอน คือ จะต้องมีเรื่องใหม่ให้กับญาติโยมได้รับรู้มากขึ้นเสมอ ในการสอนนั้น การสอนแบบรับประกันการเทศน์นั้นจะมีลักษณะอยู่อย่างหนึ่งในเรื่องที่สอน คือ
1.ทุกเรื่องที่สอนต้องแจ่มแจ้ง
2.ต้องจูงใจ
3.เร้าให้กล้า และ
4.ปลุกให้ร่าเริง ในแง่ผลลัพท์ผู้ฟังจะต้องไม่โง่เท่าเดิม”

“พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต”

พระมหาสมปอง เทศน์โดนใจวัยมันส์

ธรรมะ สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในอดีตผ่านพ้นถึงปัจจุบัน และแน่นอนมันจะคงอยู่คู่กับพุทธศาสนาไปตลอดชั่วกาล โดยมีพระสงฆ์ เป็นผู้เผยแผ่ธรรมะสู่พุทธศาสนิกชน ซึ่งปัจจุบันพระผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวมีอยู่มากมายหลายหมื่นหลายแสนรูป แต่ละรูปก็มีวิธีการเผยแผ่ธรรมะแตกต่างกัน

ก่อนหน้านี้มีหลากหลายความคิดที่ต้องการให้พระสงฆ์ในหลักการตลาดยุคใหม่เข้าไปผูกกันเรื่องธรรมะ ทั้งนี้เพื่อดึงเอาผู้คนในพุทธศาสนาเข้าวัดฟังธรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อขัดเกลาและยกระดับจิตใจของคนในสังคมประเทศให้สูงขึ้น เหมือนกับศาสนาบางศาสนาเช่น วัด และนิกายเซนของญี่ปุ่น ที่ใช้เรื่องความเชื่อสมัยโบราณผูกกับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ ทำให้สามารถดึงกลุ่มเด็กวัยรุ่นเข้าวัดได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับของไทยในเวลานี้ ต้องถือว่า พระมหาสมปอง เจ้าของแบรนด์ ธรรมะเดลิเวอรี่ สนุกถึงที่ ซึ้งถึงใจ เป็นพระนักเทศน์ที่กำลังมีชื่อเสียง และได้รับการเสนอให้แสดงธรรมะตามสถานศึกษา และงานต่างๆ มากถึงเดือนละ 240 งาน หรือเฉลี่ยวันละ 7-10 งานต่อวัน

พระมหาสมปอง เป็นพระหนุ่ม เกิดวันที่ 3 พ.ย. พ.ศ.2521 ที่ต.ช่องแมว อ.ชุมพร จ.นครราชสีมา จากนั้นครอบครัวย้ายไปอยู่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ท่านจึงเติบโตและเรียนหนังสือที่นั่น และบรรพชาเป็นสามเณร ที่ จ.ขอนแก่น ต่อมาย้ายมาอยู่วัดสร้อยทอง พระอารามหลวง กรุงเทพมหานครฯ อุปสมบทเป็นภิกษุมาแล้ว 6 พรรษา ปัจจุบันอายุ 29 ปี

ด้านการศึกษานั้น พระมหาสมปองจบ เปรียญธรรม 7 ประโยค ปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) เอกปรัชญา (เกรียตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ปริญญาโท สังคมสงเคาระห์ศาสตรมหาบัณฑิต (สส.ม.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


“พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต”

จะเรียกได้ว่าความสำเร็จในการเผยแผ่ธรรมะของ พระมหาสมปอง นั้นเกิดจากการนำเอาแนวคิดสมัยใหม่ในรูปแบบ ทอล์กโชว์ ในการนำเสนอธรรมะสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก และวัยรุ่นที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถม และมัธยม โดยธรรมะที่เผยแผ่นั้นอาศัยการสอดแทรกเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังง่ายๆ สนุกแต่ได้สติ และแง่คิด ดึงดูดความสนใจวัยรุ่น บางครั้งเทศน์โดยใช้ภาษาวัยรุ่นแบบอินเทรนด์ มีการใช้ชื่อดาราเกาหลีที่วัยรุ่นชื่อชอบมาผสมผสานเพื่อให้เข้าถึงอารมณ์ ทำให้รูปแบบการเทศนาธรรมะ ของพระสมปองฟังแล้วเพลินหูวัยรุ่น ไม่น่าเบื่อ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ ธรรมะเดลิเวอรี่ สนุกถึงที่ ซึ้งถึงใจได้รับความนิยมอย่างมากจาก บรรดาโรงเรียนระดับมัธยม และประถม ให้จัดแสดงธรรมตามโรงเรียนต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการเผยแผ่ธรรมที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในวัด และการออกแสดงธรรมถึงสถานที่ของกลุ่มเป้าหมายก็ เป็นที่มาของส่วนหนึ่งของชื่อแบรนด์

อย่างไรก็ตามกลยุทธ์การเผยแผ่ธรรมะ และการสร้างแบรนด์แต่เริ่มแรกของพระสมปอง ยังเป็นแบบเรียบง่ายคือ เป็นการสื่อสารกันแบบปากต่อปาก ซึ่งรูปแบบการแตกตัวของแบรนด์ดังกล่าว ต้องอาศัยตัวผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และน่าสนใจ เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเป้าหมาย แต่ ธรรมะเดลิเวอรี่ สนุกถึงที่ ซึ้งถึงใจ เริ่มมีการเติบโตแบบเก้ากระโดด เมื่อมีรายการโทรทัศน์หลายๆ รายการนำเรื่องราว และวิธีการเผยแผ่ธรรมะของพระมหาสมปอง ไปออกอากาศ ทำให้แบรนด์ของพระมหาสมปอง เป็นที่รู้จักในวงกว้างขวางมากขึ้นเป็นทวีคูณ

พระมหาสมปอง ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า หลังจากรายการโทรทัศน์นำเรื่องราวของท่านไปออกอากาศ รวมถึงหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับมีการตีพิมพ์เรื่องของธรรมมะเดลิเวอรี่ฯ ทำให้คนรู้จักท่านมากขึ้น งานเข้ามาหลายร้อยงานต่อเดือน โดยปัจจุบันมีงานแสดงธรรมะมากถึงเดือนละ 240 งาน

จะว่าไปแล้วการตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ และการออกอากาศเรื่องราวผ่านรายการโทรทัศน์ เป็นจุดผกผันของแบรนด์เทศธรรมะของพระสมปอง เป็นเสมือนกับการนำแบรนด์โฆษณาทางอ้อม แต่เรื่องของธรรมะคงจะเรียกว่าเป็นการโฆษณาก็ไม่ถูกนัก แต่โดยรวมก็เป็นการใช้สื่อทางหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ เผยแพร่แบรนด์ให้เป็นที่รู้ ผ่านรูปแบบของรายการที่เป็นสาระ ซึ่งทำให้แบรนด์ ธรรมะเดลิเวอรี่ไม่ต้องเสียงบประมาณในการลงโฆษณาเหมือนกับการสร้างพระเครื่องของหลายๆ วัด

นอกจากนี้พระมหาสมปองยังใช้สื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นศูนย์รวม และสังคมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นสื่อสำหรับเผยแผ่แบรนด์ และธรรมะ ผ่านเว็บไซต์ www.dhammadelivery2.com รวมถึงการขยายผลิตภัณฑ์คือ ธรรมะเดลิเวอรี่ ด้วยการเพิ่มพระผู้เทศนาอีกประมาณ 5 รูป เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาได้ตามปริมาณความต้องการที่เกิดขึ้น


“พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต”

แม้ในมุมหนึ่งจะมองว่าธรรมะเดลิเวอรี่ฯ เป็นแบรนด์หนึ่งของการเผยแผ่ศาสนา และการเติบโตของแบรนด์ก็มีสื่อทั้งโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ เป็นองค์ประกอบ แต่ธรรมะเดลิเวอรี่ ไม่ใช่สินค้าที่หวังทำกำไร หรือรายได้ เพราะสิ่งที่ธรรมะเดลิเวอรี่ฯ มอบให้กับกลุ่มเป้าหมาย เป็นธรรมะที่ช่วยขัดเกลาจิตใจ ดังนั้นสิ่งที่พระมหาสมปองจะได้รับเป็นปัจจัยจึงไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป็นการทำให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเด็กนักเรียน และวัยรุ่นได้เข้าถึงธรรมะ ในพุทธศาสนา สิ่งที่ได้รับกลับมาจึงเป็นเรื่องของบุญมากกว่า

ส่วนผู้บริโภคธรรมก็จะได้รับเอาธรรมะ ที่พระมหาสมปองเทศนา นำไปประพฤติปฏิบัติ และประกอบการใช้ชีวิตทำให้มีสติและปัญญา

แต่ผลตอบแทนของวิธีการทำตลาดเผยแผ่ธรรมะรูปแบบใหม่ คือการสามารถถึงกลุ่มเป้าหมายให้รับเอาธรรมะ และเรื่องของพุทธศาสนา ต่อเนื่องไปถึงการที่สามารถดึงพุทธศาสนิกชนเข้าวัดได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"



ไปข้างบน