หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ปริศนาศรัทธาหรือพาณิชย์

ในภาวะที่ชีวิตถูกท้าทายด้วยปัจจัยรุมเร้าทั้งด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคทุนนิยม-บริโภคนิยม ขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิต สั่นไหวและยิ่งลดน้อยถอยลง หลากแนวทางหลายวิธีการที่ผู้คนต่างเสาะแสวงเพื่อเพิ่มเติมความมั่นคงให้แก่จิตใจจึงมีให้เห็นกันทั่วไป

ศรัทธาแห่งการสร้างขวัญกำลังใจ ดูเหมือนจะข้ามพ้นเส้นแบ่งของศาสนา ลัทธิความเชื่อ หรือประเพณีวัฒนธรรมเดิมของเผ่าพันธุ์ ไม่แปลกที่จะเห็นคนไทยไหว้เจ้า นับถือทวยเทพไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออินเดีย ชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่กับท้องไร่ท้องนา ซึ่งชีวิตต้องเผชิญการท้าทายอย่างหนักหน่วงจากสารพันปัญหา เสียงสวดมนต์ภาษาบาลีก็เปลี่ยนไปเป็นสำเนียงในภาษาอื่นที่ไม่คุ้นเคย

การท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว ทำให้ขวัญและกำลังใจ ถูกตีความแค่เพียงโชคลาภ วาสนา วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งโชคลาภวาสนาดังกล่าว จึงเป็นสินค้าและบริการซึ่งผู้คนไม่น้อยเต็มใจที่จะจ่าย และจ่ายแบบไม่อั้น!

********************************



เจาะลึกศรัทธา-ปริศนา พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา

ลึกเข้าไปในตลาดต้นไม้บริเวณคลอง 15 ถนนรังสิต-องครักษ์ ต.บางปลากด อ.องครักษ์ จ.นครนายก เป็นที่ตั้งของวัดประสิทธิเวช วัดเก่าแก่อายุร่วม 300 ปี โดยมี พระพิมลศีลาจาร หรือ หลวงพ่ออุดม สุทฺธสีโล เป็นเจ้าอาวาส ที่คอยเป็นผู้สงเคราะห์ธรรมะและประกอบพิธีกรรม เรียกขวัญกำลังใจของบรรดาประชาชนที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ให้กลับแช่มชื่นอีกครั้ง

ทุกวันภายในวัดประสิทธิเวชจึงเต็มไปด้วยผู้เคารพศรัทธา เดินทางมานมัสการขอพรไม่น้อยกว่า 500-1 พันราย ยิ่งในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือนักขัตฤกษ์ พื้นที่กว่า 20 ไร่ของวัดจะดูแคบไปถนัดตา เพราะจำนวนสานุศิษย์ที่มาขอพรจะพุ่งขึ้นไปถึง 3-4 พันรายต่อวัน รวมไปถึงบุคคลมีชื่อเสียงอย่าง หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และข้าราชการ นายทหารระดับสูง ที่มักมาทำบุญที่วัดเป็นประจำ

นอกจากการไหว้พระอธิษฐานขอพรแล้ว พิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เหล่าบรรดาลูกศิษย์นิยมทำกันก็คือการ “บังสุกุลเป็น-บังสุกุลตาย” ที่ถือว่าเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อโบราณ

ลักษณะพิธีจะเริ่มจากการที่ญาติโยมเข้ามานั่งรวมกันในศาลาที่มีสายสิญจน์ล้อมรอบ โดยมีพระสงฆ์ผู้ทำพิธี 5 รูปนั่งอยู่บนอาสนะเบื้องหน้าของญาติโยม พร้อมกับนำไหว้พระและเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นจะมีการนำผ้าขาวขนาดใหญ่มาคลุมกลุ่มผู้ร่วมพิธีและพระสงฆ์จะสวดบังสุกุล เมื่อสวดจบแล้วจะเปิดผ้าขาวออกและนำกลับมาคลุมใหม่อีกครั้งพร้อมกับพระสงฆ์สวดมนต์ให้พร จากนั้นพระสงฆ์จะประพรมน้ำมนต์ให้กับผู้เข้าร่วมก็เป็นอันเสร็จพิธี

หลวงพ่ออุดมอธิบายความหมายของพิธีนี้ให้ฟังว่า การประกอบพิธี บังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย เป็นความเชื่อโบราณมีการปฏิบัติกันมาหลายร้อยปีแล้ว เชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์และทำบุญให้กับตัวเอง รวมถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งบังสุกุลตาย หมายถึง การขจัดสิ่งไม่ดีที่ประสบมาให้ผ่านพ้นไป ส่วนบังสุกุลเป็นเหมือนกับการเกิดใหม่ เริ่มต้นชีวิตให้พบเจอแต่สิ่งดี แต่ละวันทางวัด ต้องประกอบพิธีนี้ไม่ต่ำกว่า 30 รอบ แต่ละรอบมีผู้เข้า ร่วมประมาณ 30-50 คน เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าไปจนถึงราว 17.00 น.

“หลายคนมักถามว่ามาเข้าพิธีแล้วดีอย่างไร อาตมาก็ไม่สามารถบอกได้ เพราะผู้ที่มาเข้าพิธีก็มา ด้วยความศรัทธา เขาเชื่อว่าเข้าพิธีแล้วจะหายทุกข์และชีวิตดีขึ้น ซึ่งหลังจากเข้าพิธีไปแล้ว หลายคนก็กลับ มาเล่าให้ฟังว่า ชีวิตสมหวังและเปลี่ยนแปลงไปในทาง ที่ดี อาตมาไม่ต้องการให้วัดดัง เพราะจะเหมือนกับการอวดอ้าง ที่ผ่านมาก็ไม่เคยโฆษณาใดๆ ที่โยมรู้จักวัดก็เพราะ เพื่อน ญาติ เคยมาแล้วก็บอกกันปากต่อปาก” ท่านระบุ

หลวงพ่ออุดมย้อนอดีตถึงจุดเริ่มต้นในการประกอบพิธีเมื่อ 14 ปีที่แล้วมาให้ฟังว่า จากการที่ญาติโยมที่อาศัยอยู่ในละแวกวัดมาขอให้ทำ เพราะเชื่อว่าทำให้หายทุกข์ ก็เลยทำให้ จากนั้นก็เริ่มมีผู้มาขอทำมากขึ้น จาก 10 คน เป็น 20 คน เป็น 50 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลวงพ่อเองก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือทางจิตใจให้คลายทุกข์

นอกจากพิธีบังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย ยังมีการ “อาบน้ำมนต์” และ “ถวายสังฆทาน” ที่ประชาชนเชื่อกันว่าช่วยปัดเป่าทุกข์ภัยและเสริมดวงชะตาให้ผู้ทำประสบแต่ความโชคดีอีกด้วย โดยพิธีอาบน้ำมนต์จะทำกันบริเวณหน้าวัดที่ติดกับคลอง โดยทางวัดจะเตรียมผ้าขาวม้า และผ้าถุงสำหรับให้ญาติโยมที่เข้าร่วมพิธีเปลี่ยน จากนั้นจะให้มานั่งลงบนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ และพระสงฆ์จะเป็นผู้ตักน้ำมนต์ในถังราดลงบนตัวผู้เข้าร่วมพิธีพร้อมทั้งสวดมนต์ให้พร

พิธีอาบน้ำมนต์นับว่าเป็นพิธียอดนิยมที่ผู้เดินทางมาวัดประสิทธิเวชมักไม่พลาดที่จะเข้าร่วม โดยทำหลังจากที่ถวายสังฆทานและร่วมพิธีบังสุกุลแล้ว ถือว่าเป็นอันครบเครื่อง ส่งผลให้ทางวัดต้องจัดเก้าอี้พร้อมโต๊ะวางถังน้ำมนต์เรียงยาวกว่า 30 ที่นั่ง เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมพิธีในวันหยุดที่มีเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ พิธีกรรมอีกประเภทหนึ่งที่ลูกศิษย์มักขอให้หลวงพ่ออุดมทำให้ก็คือการลง “ณ เมตตา” โดยหลวงพ่อจะเขียนอักขระยันต์ลงบนแผ่นทองคำแปลว 2 แผ่น จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมพิธีนำทองคำไปปิดไว้บนหน้าผากและฝ่ามือขวาจุดละแผ่น โดยหากเป็นผู้ชายหลวงพ่อจะเป็นผู้ถูแผ่นทองบนหน้าผากให้ พร้อมกับบอกให้ผู้ร่วมพิธีถูฝ่ามือทั้งสองข้างไปด้วย หากเป็นผู้หญิงก็จะให้ผู้ร่วมพิธีถูด้วยตัวเอง ซึ่งเหล่าลูกศิษย์มักเชื่อกันว่า การลง ณ เมตตา นั้นจะช่วยให้ได้รับความเมตตาจากผู้อื่น ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

แม้พิธีกรรมเหล่านี้จะดูเหมือนเป็นพุทธพาณิชย์ แต่วัดนี้กลับไม่มีการเรียกเก็บปัจจัยหรือกำหนดอัตราเงินทำบุญเพื่อแลกกับการเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีการป่าวประกาศโฆษณาเชิญชวนแต่อย่างใด

โดยเส้นทางไปสู่วัดตลอดสองข้างทางของถนนรังสิต-องครักษ์ ก็ไม่มีป้ายโฆษณาวัดให้เห็น เรียกได้ว่าคลื่นมหาชนที่หลั่งไหลมาวัดในแต่ละวันนั้น มุ่งหน้ามาด้วยแรงศรัทธาล้วนๆ เลยทีเดียว

หลวงพ่ออุดม กล่าวว่า แรงศรัทธาเหล่านี้เกิดจาก ความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของ พระครูศรัทธาภินันท์ (หลวงพ่อทา จนฺทปญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาส โดยประชาชนมักจะมากราบนมัสการขอพรหรือบนบานสิ่งต่างๆ กับรูปเหมือนของหลวงพ่อทาเป็นประจำ

“พ่อค้าแม่ค้าบางคนมาขอให้ค้าขายดีขึ้นก็สำเร็จตามที่ขอ บางคนไม่อยากถูกเกณฑ์ทหารก็มาบน หรือประสบทุกข์เรื่องต่างๆ ก็มาขอให้หลวงพ่อช่วย ซึ่งมักได้รับผลตามที่ขอไว้ จึงบอกกันปากต่อปากทำให้มีผู้เดินทางมากวัดเป็นจำนวนมาก” หลวงพ่ออุดมบอก

ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา กระแสศรัทธาของประชาชนที่มาสู่วัดประสิทธิเวช ทำให้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทหลั่งไหลเข้ามา จนทำให้วัดสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากเมื่อครั้งที่หลวงพ่ออุดมเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี 2536 นั้น วัดประสิทธิเวชมีสภาพไม่ต่างจากวัดในชนบททั่วไป ขาดการทำนุบำรุงและอยู่ในสภาพทรุดโทรม

ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลวงพ่ออุดมได้พัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างอุโบสถหลังใหม่ ปรับปรุงอาณาบริเวณให้สวยงาม สะอาด ร่มรื่น สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม พร้อมศูนย์สอบนักธรรมบาลี ทำให้วัดประสิทธิเวช กลายเป็นศูนย์กลางในการสอบนักธรรมบาลี สำหรับพระสงฆ์และเณรประจำ จ.นครนายก

นอกจากนี้ ยังพัฒนาสาธารณประโยชน์ต่างๆ อาทิ สร้างถนนระหว่างวัดถึงหมู่บ้านในละแวกใกล้เคียง ใช้ธรณีสงฆ์ขุดบ่อน้ำให้แก่ทางราชการร่วมกับ อ.องครักษ์ จัดทำโครงการฟื้นฟูประเพณีไทยที่หายสาบสูญ รวม ทั้งให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาล อ.องครักษ์ และโรงเรียนวัดประสิทธิเวชมาอย่างต่อเนื่อง โดยทุกๆ โครงการที่มีการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ของวัดจะมีประชาชนและเหล่าลูกศิษย์มาช่วยทำงานตลอด ส่งผลให้วัดประสิทธิเวชได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่นจากกรมศาสนาในปี 2536 และ 2537 รวมทั้งได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานการศึกษาตามมติมหาเถรสมาคม

หลวงพ่ออุดมให้ความเห็นว่า พิธีกรรมต่างๆ ที่ผู้คนนิยมมาทำ เป็นเรื่องของความเคารพศรัทธาและต้องการสิ่งที่มาช่วยให้สบายใจ เมื่อเขามาทำแล้วสบายใจ พระก็ยินดีทำให้ เพราะต้องการให้เขาหายทุกข์

“อาตมาบอกญาติโยมเสมอว่า ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข เจริญ เจริญ ที่สำคัญอยากให้ญาติโยมยึดศีลห้าข้อในการดำเนินชีวิต เพราะเป็นสิ่งประเสริฐที่พระพุทธเจ้าท่านให้เอาไว้ หากยึดหลักนี้ในการดำเนินชีวิตก็จะช่วยให้ชีวิตมีความสุขและเจริญรุ่งเรือง” ท่านทิ้งท้ายเพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่า การสร้างความมั่นคงทางจิตใจที่สูงสุดและได้ผลดีเหนือพิธีกรรมใดๆ คือการดำเนินชีวิตตามแนวทางแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ทูเดย์"



ไปข้างบน