หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

How to: ว่าด้วยการตรวจสอบคุณภาพความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคล


ตลาดวัตถุมงคลที่กำลังมีดีมานด์สูงในขณะนี้



โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง...

เนื่องจากขณะนี้ กระแสความต้องการวัตถุมงคลของผู้บริโภคได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พ่อค้า-แม่ค้าหัวใสจำนวนหนึ่งที่หากินกับความขุ่นๆ ของสังคมจึงปลอมแปลง ลอกเลียน ผลิตซ้ำ ทำเทียมความศักดิ์สิทธิ์ออกมาจำหน่าย โดยไม่มีกระบวนการควบคุมคุณภาพที่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับตัวแทนเทพเจ้าหรือหลวงปู่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอในการดลบันดาลโชคลาภหรือความมั่งคั่งร่ำรวย

ครั้นเมื่อผู้บริโภคนั่งเฉยๆ เอ่ยปากขอแล้วไม่ได้ดั่งใจจึงออกอาการหงุดหงิดรำคาญใจ แต่แทนที่จะต่อว่าผู้ผลิตที่ไร้ความรับผิดชอบ ผู้บริโภคกลับต่อว่าต่อขานเทพเจ้า หลวงปู่ หลวงย่า เทวดาอารักษ์ นายกฯ สวรรค์ถึงภารโรงสวรรค์ว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีฤทธิ์อำนาจจริง จึงอาจเป็นเหตุให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงเกิดอาการระคายเคือง เสียความมั่นใจ และคิดว่าผู้บริโภคแห่งประเทศสารขัณฑ์กำลังหมิ่นแคลนความศักดิ์สิทธิ์ของตน

ดังนั้น เพื่อป้องกันความบาดหมางระหว่างผู้บริโภคกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันการตกงานของเหล่าเกจิอาจารย์ในประเทศ และคุ้มครองผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน ‘ปริทรรศน์’ จึงได้สอบถามผู้รู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตวัตถุมงคล และเรียบเรียงออกมาเป็นเรื่องราว ว่าด้วยการตรวจสอบคุณภาพ (Quality Control) ความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคล เผยแพร่ให้แก่ผู้บริโภคที่สนใจ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าวัตถุมงคลที่บูชานั้นผ่านกระบวนการผลิตที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการรับประกันว่าผู้บริโภคจะได้วัตถุมงคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เข้าไปสิงสถิตในบ้านหรือห้อยอยู่บนคอ...




• มวลสาร

ก่อนที่ผู้บริโภคจะทำการเช่าหาวัตถุมงคล นอกจากต้องตรวจสอบชื่อหน่วยงาน องค์กร คณะ หรือบุคคลที่ผลิตว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหนแล้ว สิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะต้องรู้ก็คือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งมีศัพท์เทคนิคเฉพาะทางว่า ‘มวลสาร’ (ในที่นี้ไม่ได้ข้องเกี่ยวอะไรกับวิชาเคมี)

โดยมากแล้วมวลสารที่ใช้ในการผลิตวัตถุมงคลจะเป็นวัตถุที่เชื่อว่าเป็นสิริมงคลไม่ก็มาจากแหล่งที่เกี่ยวพันกับวัตถุมงคลรุ่นที่จะสร้าง เช่น ข้าวก้นบาตร ผงธูป ดินจากฐานพระธาตุ บ้างก็ใช้วัตถุมงคลเดิมที่แตกหักและเชื่อว่ามีคุณวิเศษ เป็นต้น

“ถ้าเปรียบเทียบกับจตุคามฯ รุ่นขุมทรัพย์ 4 แผ่นดิน มวลสารมีอะไรบ้าง ก็มีชุดเบญจภาคีที่ชำรุด ที่หัก ที่มีคนมอบมาให้จากทั่วประเทศซึ่งต้องมีการตรวจสอบจากคณะกรรมการสมาคมผู้บูชาพระเครื่องพระบูชาไทยว่าแท้มั้ย แท้แล้วจึงจะไปทำ ไม่ใช่ว่าใครมามอบให้ก็ได้ จากนั้นจึงนำพระทุกองค์มาบดเป็นผง ยังมีไม้ตะเคียน มีอะไรอีกหลายอย่างซึ่งถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ของมงคลทั้งนั้น” เสมอ งิ้วงาม หรือที่รู้จักแพร่หลายในนาม ป๋อง สุพรรณ แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง อธิบายเรื่องมวลสารให้ฟัง

ในกรณีมวลสารนี้ ไม่มีสูตรสำเร็จรูปตายตัวว่าจะต้องใช้นั่นเท่านี้ ใช้นี่เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับสูตร กับตำราของแต่ละคน และหากเป็นพระเหรียญก็มักจะไม่เน้นเรื่องมวลสารนัก เพราะการหลอมโลหะหากมีสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่โลหะปะปน อาจทำให้เนื้อโลหะไม่ผสานเป็นเนื้อเดียวกัน พล พันธุ์ไพโรจน์ สื่อมวลชนด้านพุทธศาสนา รางวัลเสมาธรรมจักรปี 2545 อธิบายเพิ่มเติมว่า

“การทำวัตถุมงคลอย่างน้อยชื่อของมวลสารก็ต้องเป็นมงคล เช่น การทำพระหลวงปู่ทวด สมัยก่อนเขาจะใช้ดินจากน้ำตกทรายขาวที่ปัตตานี หรือบางคนก็เอาดินจากสังเวยชนียสถานที่อินเดีย 4 ที่ เอามาเป็นส่วนผสม หรือสมเด็จฯ โต ท่านก็ใช้ข้าวที่ได้รับบิณฑบาต อาหารที่ฉันเหลือ ดอกไม้ เกสรต่างๆ แต่ถ้าเป็นพวกเครื่องราง ของขลัง ก็อีกเรื่องหนึ่งเพราะต้องเอาที่มันดูโหดๆ อย่างดินเจ็ดป่าช้า เถ้ากระดูกผีตายโหง หน้าผากผีตายท้องกลม”

เมื่อได้มวลสารที่ต้องการมาแล้วจึงมาถึงขั้นตอนการผสมมวลสารกับวัสดุที่จะใช้ทำวัตถุมงคล ซึ่งกระบวนการตรงนี้อาจจะมีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เนื่องจากในอดีต การผลิตวัตถุมงคลของเกจิอาจารย์มักเป็นไปเพื่อมอบให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาที่มาเยี่ยม มาทำบุญ หรือให้แก่ญาติโยมที่ใส่บาตร เรียกว่าให้กันเป็นสินน้ำใจ เป็นเครื่องเตือนสติ ขณะที่ในปัจจุบันเป็นการผลิตแบบ Mass Marketing เพื่อตอบสนองผู้บริโภคจำนวนมาก

กล่าวกันว่าในสมัยก่อน ระหว่างที่พระสงฆ์ผสมมวลสารกับดินเหนียว ช่วงที่นั่งขยำ นั่งผสม จะมีการบริกรรมหรือสวดมนต์ไปด้วย ถือเป็นการนั่งสมาธิอย่างหนึ่ง ยุคนี้ จำนวนการผลิตขนาดนี้ ถ้าต้องมานั่งขยำด้วยมือกันอยู่อาจเป็นการทำบาปกับพระสงฆ์จนเกินไป โดยปกติจึงมักว่าจ้างโรงงานหล่อพระให้เป็นผู้ผสมมวลสารแทน (ว่ากันว่าแถบปทุมธานี นนทบุรี มีโรงงานแบบนี้อยู่หาน้อยไม่)




• พิธีกรรม คาถา และเกจิ

ต่อเนื่องจากเรื่องมวลสารเมื่อย่อหน้าที่แล้ว กรณีของงาน Hand Made ในยุคอดีตเมื่อได้เนื้อดินตามที่ต้องการ พระสงฆ์รูปนั้นๆ ก็จะนำดินมาแกะ ปั้น เป็นวัตถุมงคล กระบวนการตรงนี้ถือเป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่จะใช้ชี้วัดความศักดิ์สิทธิ์

พระสงฆ์สมัยเก่าก่อน ด้วยความที่ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ ท่านจึงมีเวลาเหลือเฟือที่จะบริกรรมคาถาหรือสวดมนต์ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการปลุกเสก ตามตำราโบร่ำโบราณอาจบริกรรมกันถึง 108 คาบ คาบละ 108 จบ (108x108)

“ต้องอย่าลืมว่าพระสมัยก่อนท่านไม่ได้ทำเป็นพุทธพาณิชย์ ท่านไม่ได้มีภารกิจอะไรมากมาย ท่านจึงมีเวลาปฏิบัติภาวนามากกว่าพระสมัยนี้ ยกตัวอย่างการทำตะกรุด สมัยก่อนพระท่านจะใส่ไว้ในถังน้ำมนต์วางไว้ในโบสถ์ แล้วพระท่านก็ทำวัตรเช้า-เย็นของท่านไป บางทีอาจจะ 7-8 วัน หรืออาจจะเดือนหนึ่ง ท่านก็เปิดดู ถ้าตะกรุดได้ที่แล้วมันจะลอยขึ้นมา ท่านก็จะเก็บไว้แจกญาติโยมที่ใส่บาตร” พล เล่าให้ฟัง

ส่วนปัจจุบันอาจมีบ้างที่จะนิมนต์เกจิอาจารย์ชื่อดังมาสวดมนต์บริกรรมคาถาขณะผสมมวลสารหรือ ‘ปั๊ม’ วัตถุมงคลออกมาเป็นรูปแบบที่ต้องการแต่โดยส่วนใหญ่ ไม่ แต่จะใช้วิธีว่าเมื่อปั๊มวัตถุมงคลออกมาแล้วจึงค่อยนำไปประกอบพิธีปลุกเสกภายหลัง ซึ่งมักจะมีการจัดพิธีกันอย่างใหญ่โตมโหระทึกครึกโครม ป๋อง สุพรรณ อธิบายว่า

“พิธีกรรมต้องดูฤกษ์ ดูพระที่มาพุทธาภิเษก ดูพราหมณ์ที่มาเทวาภิเษก พราหมณ์จะอัญเชิญเทวดาฟ้าดิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้ทำให้ครบขั้นตอนโบราณเพื่อให้วัตถุมงคลเข้มขลังอยู่ในตัว แล้วจึงตามด้วยพิธีสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ยิ่งปลุกเสกมากยิ่งดี และจะต้องดูว่าสถานที่ที่เราไปปลุกเสกเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ บางที่เป็นสถานที่หวงห้ามต้องทำเรื่องเข้าไปขอทำพิธีปลุกเสก พุทธาภิเษกที่ไหน กำเนิดที่ไหน ตำนานมันเป็นมายังไง ต้องดูที่มาของวัตถุมงคลนั้นๆ ด้วย”

(มีคนแอบบอกมาว่าสถานที่หนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ถือว่าถ้าผ่านการปลุกเสกจากที่นี่แล้ว วัตถุมงคลนั้นก็รับประกันความศักดิ์สิทธิ์ได้แน่นอนคือ โบสถ์วัดสุทัศน์)

การปลุกเสกย่อมต้องอาศัยคาถาหรือมนต์ สิ่งที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องตรวจสอบต่อไปคือมีการใช้คาถาหรือมนต์อะไรในการปลุกเสก แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว จุดนี้มักไม่ค่อยมีความแตกต่างกันระหว่างวัตถุมงคลแต่ละรุ่น แต่ละประเภท โดยมากก็เป็นสวดพุทธคุณ พาหุงฯ ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันทั่วไป (ภาษาการตลาดเรียกว่าไม่มี Differentiation หรือไม่มีการสร้างความแตกต่าง) แต่บางคณะก็อาจจะมีการสวดนพเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มาร่วมพิธี

แต่ในยุคอดีต คาถาที่ใช้บริกรรมค่อนข้างมีความหลากหลายมากกว่า เช่น สมเด็จพระสังฆราชสุขทำพระสมเด็จอรหันต์ก็ใช้คาถาพญาไก่เถื่อน สมเด็จพระพุทธาจารย์โต พรหมรังสีใช้คาถาชินบัญชร หลวงปู่หลิวซึ่งมีชื่อเสียงด้านเมตตามหานิยมใช้คาถานาสังสิมู เป็นต้น ซึ่งบางคาถาก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพุทธ แต่บางบทที่แปลได้ก็มีเนื้อหาสรรเสริญพระรัตนตรัย บางบทก็เป็นคาถาที่จดจำต่อๆ กันมา (เรื่องคาถามีเงื่อนไขนิดหนึ่งว่าขณะที่บริกรรมห้ามสงสัย ห้ามลังเล)

การที่ทำให้คาถาต่างๆ เลือนหายไปก็อาจเป็นเพราะว่าการผลิตวัตถุมงคลเป็นจำนวนมากย่อมไม่สะดวกที่จะให้พระสงฆ์แต่ละรูปบริกรรมคาถาของตนตามลำพัง เนื่องจากสิ้นเปลืองเวลา ไม่มีพิธีกรรมให้คนภายนอกรับรู้ถึงความเข้มขลัง การให้เกจิอาจารย์บริกรรมคาถาเหมือนกัน พร้อมกัน จึงน่าจะสะดวกกว่า

ประเด็นสุดท้ายในหัวข้อนี้คือ เกจิอาจารย์ เราจะพบว่าบางพิธีมีการเชิญพระสงฆ์นับร้อยรูปทำให้น่าคิดว่าปริมาณพระสงฆ์กับปริมาณความศักดิ์สิทธิ์น่าจะแปรผันตามกัน แต่กลับไม่ใช่ พระสงฆ์จำนวนมากอาจทำให้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือมีสูงขึ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์โดยตรงแต่เป็นเรื่องทางจิตวิทยามากกว่า

อีกทั้งพระสงฆ์ทั้งหมดที่นิมนต์มาร่วมพิธีก็ได้รับการการันตีจากผู้จัดว่าเป็นระดับเกจิทั้งสิ้น ซึ่งต้องบอกตรงๆ ว่าการตรวจสอบจุดนี้เป็นเรื่องยากจะตัดสินว่าใครเกจิจริงหรือไม่จริง และบ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นว่าระหว่างพิธีปลุกเสก เกจิอาจารย์บางรูปเหมือนกับกำลังนั่งหลับ ป๋อง สุพรรณ อธิบายว่า

“พิธีที่ต้องเชิญพระเป็นร้อยรูป พันรูป หมายความว่าเขาต้องการทำให้พิธีเข้มขลัง ให้คนเชื่อและศรัทธาว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ อันนี้เป็นความเชื่อ แต่พระบางชุดเขาก็นิมนต์กัน 9 องค์ เป็นพระที่มีลูกศิษย์เยอะ จึงนิมนต์แค่ 9 รูปก็พอ แต่เมื่อมีลูกศิษย์เยอะ เมื่อลูกศิษย์เห็นว่าหลวงพ่อไปปลุกเสก ลูกศิษย์ก็ต้องไปหารุ่นนี้มาใช้ แต่พระทุกรูปที่จะมาเข้าพุทธาภิเษกถือว่าศักดิ์สิทธิ์หมด เพราะเป็นตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระที่เคร่งทุกคน คนจัดพิธีเขาคงไม่เอาพระที่ชื่อเสียงไม่ดีมาปลุกเสก

“พระบางรูปจิตท่านนิ่ง เพราะบางครั้งท่านไปนั่งแผ่กระแสจิตหรือที่เรียกว่า นั่งปรก ไม่ได้สวด ท่านก็นั่งสมาธิของท่านไป ไม่มีใครสามารถรู้ได้ นั่นคือให้เราเห็นกับตาว่าท่านนั่งสมาธินะ แผ่กระแสจิตลงไปในวัตถุมงคลที่สร้าง บางคนก็ว่าหลับ บางคนก็ว่าท่านถอดจิต”

‘คุณภาพจิต’ ของเกจิเป็นสิ่งที่จะทำให้วัตถุมงคลนั้นศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่เรื่องนี้วัดยากมาก

พล เล่าเกร็ดให้ฟังว่า

“หลวงปู่แหวน เมื่อก่อนท่านไม่ต้องมีพิธีเลย ใครเอาเหรียญอะไรมาให้ท่าน ท่านก็แค่รับมากำไว้ แค่นี้เอง ไม่มีพิธีเลย ทหารถือใส่พานเอาไปที่กุฏิท่าน บางทีก็โยงสายสิญจน์มาให้ท่านจับ แค่นี้เอง แต่ศักดิ์สิทธิ์มาก ยิ่งรุ่นเราสู้ขายได้เป็นหมื่นเป็นแสน แต่ที่อื่นต้องทำพิธีให้มันใหญ่ ให้ศักดิ์สิทธิ์ หลวงปู่แหวนไม่ต้อง”

(มีคนแอบบอกเราอีกว่าพระเกจิบางรูปเดินสายปลุกเสกกันแบบทั่วราชอาณาจักร ถ้าชื่อเสียงโด่งดังอาจได้ถึง 4-5 หมื่นบาทต่อการปลุกเสก 1 ครั้ง โดยเงินส่วนนี้จะมาจากส่วนแบ่งการขาย)

หากผู้บริโภคตรวจสอบขั้นตอนการผลิตวัตถุมงคลตั้งแต่คณะผู้จัดทำ มวลสาร พิธีกรรม คาถา ปูมหลังและคุณภาพจิตของเกจิอาจารย์อย่างรอบคอบ ก็พอจะอุ่นใจได้ว่าผู้บริโภคจะได้วัตถุมงคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์จริง


เสมอ งิ้วงาม หรือ 'ป๋อง สุพรรณ' แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง



• ผู้สวมใส่

สิ่งสำคัญสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้ในสมการความศักดิ์สิทธิ์นี้ก็คือ ผู้สวมใส่

ทั้งพลและป๋อง สุพรรณ กล่าวตรงกันว่าเรื่องศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของผู้สวมใส่ เอาเข้าจริงๆ แล้วอาจไม่มีทางวัดได้เลยว่าวัตถุมงคลนั้นๆ ศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ ‘พิสูจน์ไม่ได้ เชื่อคือเชื่อ’

“มันอยู่ที่จิตเราเชื่อ เราศรัทธา มันถึงได้เกิด การจะห้อยพระ เราต้องศรัทธาพระเครื่องที่เราห้อย ถ้าเราไม่เชื่อถือศรัทธา มันจะไม่เกิดอะไรเลย ฉะนั้น จึงอยู่ที่ความเชื่อและศรัทธาของแต่ละคน ไม่มีใครบอกได้ว่าศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ ต้องศรัทธา ความศักดิ์สิทธิ์ถึงจะเกิด พระทุกองค์ ดีทุกองค์ ดีทั้งนอก ดีทั้งใน อยู่ที่เราอธิษฐาน เรานับถือศรัทธาท่านมั้ย ไม่ใช่ว่าเราจะออกจากบ้านก็คว้ามาใส่คอเดินออกไป เป็นแฟชั่น คุณมี ผมก็มี อย่างนั้นไม่เกิดประโยชน์ การที่จะห้อยพระเราต้องนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แค่เรานึกถึงคุณพระ คุณพระก็คุ้มครองเรา” ป๋อง สุพรรณ กล่าว และทิ้งท้ายเรื่องการ ‘ขอ’ ว่า

“ชีวิตคน การทำมาหากินจะต้องขยันและซื่อสัตย์ ถ้าเราห้อยพระแล้วไม่ต้องทำมาหากิน ผมถามว่าคุณจะรวยมั้ย และถ้าคุณจะขอพระสักครั้งหนึ่ง คุณต้องขอในสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าคุณห้อยพระองค์หนึ่งแล้วขอให้ถูกรางวัลที่ 1 คุณจะถูกมั้ย มันเป็นไปไม่ได้ การขอพระต้องขอในสิ่งที่เป็นไปได้ ห้อยพระให้จิตใจเรามีความสุข อิ่มใจ รู้สึกว่ามีพระคุ้มครอง ถึงได้บอกว่าการห้อยพระต้องมีความศรัทธาและขอในสิ่งที่เป็นไปได้”


วัตถุมงคล จตุคามรามเทพ



• บทสรุป

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการตรวจสอบคุณภาพวัตถุมงคลแบบคร่าวๆ ส่วนที่ว่ามีการกระจายสินค้าอย่างไร มีซัปพลายเออร์ไปที่วัดแล้วเช่ามาจำนวนมากๆ เพื่อมาปล่อยต่ออย่างไร ปั่นราคากันอย่างไร ...ไม่เกี่ยวกับหัวเรื่องนี้

และเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อผู้บริโภคได้สินค้าที่มีคุณภาพและศักดิ์สิทธิ์จริง มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งแห่งตน สามารถขอความมั่งคั่งและโชคลาภได้ทุกที่ ทุกเวลา แบบ Delivery วันนั้นประเทศสารขัณฑ์ของเราก็จะกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกและไม่มีคนจนเหลืออยู่อีกเลย

คำเตือน ไม่ควรขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกินวันละ 2 ครั้ง หรือให้ดีที่สุดก็ไม่ควรขอ แต่ลงมือทำขึ้นเอง

*********************

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"


ไปข้างบน