ฉลาดทำใจ...หนักแค่ไหนก็ไม่ทุกข์
พระไพศาล วิสาโล ได้เปิดตัวหนังสือชื่อฉลาดทำใจ เมื่อเดือนที่ผ่านมา พร้อมท่านยังได้ให้ข้อคิดดีในการดำเนินชีวิต ซึ่งเนื้อหาเป็นประโยชน์สามารถมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้จริง ท่านได้กล่าวไว้ว่าชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราหมั่นทำความดี ที่เรียกว่าการทำบุญในรูปแบบต่างๆ เมื่อฉลาดที่จะทำบุญแล้วก็ต้องฉลาดที่จะทำใจด้วย เพราะบ่อยครั้งในชีวิตมนุษย์จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดฝันหรือไม่เป็นดังใจหวัง
คนเรามีความทุกข์ด้วยเรื่องต่างๆ มากมาย แต่ละคนก็มีสาเหตุแตกต่างกันไป แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว มักหนีไม่พ้นเหตุร้ายหรือความไม่สมหวังใน 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ ทรัพย์สินเงินทอง ร่างกาย การงาน ความรักความสัมพันธ์กับผู้คน หากเรารู้จักวางใจให้ถูกต้อง เหตุการณ์เหล่านั้นก็ยากที่จะทำให้เราทุกข์ท้อได้ หากฉลาดทำบุญเป็นเรื่องของการออกไปสร้างสรรค์ความดี ฉลาดทำใจก็เป็นเรื่องของการรับมือกับสิ่งที่ไม่น่ายินดี ชีวิตต้องฉลาดในทั้งสองด้านจึงจะเจริญงอกงามและเป็นสุขได้อย่างแท้จริง
1. ของหายหรือเสียของรัก
ถ้ายังหาไม่เจอก็ไม่ควรเพิ่มความทุกข์ให้แก่ตนเองด้วยการเฝ้ากังวล ย้ำครุ่นคิดถึงสิ่งนั้น เพราะถึงจะกังวลเพียงใด ก็ไม่ช่วยให้หาเจอได้เร็วขึ้น และหากของชิ้นนั้นไม่อาจหวนกลับคืนมาได้ จะมีอะไรดีไปกว่าการปล่อยวาง เพราะเสียของไปแล้วก็ไม่ควรจะเสียใจซ้ำเติมตัวเองเข้าไปอีก หากยังทุกข์เพราะของชิ้นนั้นอยู่ อย่าลืมว่าคุณยังมีทรัพย์สมบัติอีกมากมายที่ดีกว่า และมากกว่าของที่หายไป ลองหันมาใส่ใจหรือชื่นชมกับสิ่งที่ยังอยู่กับเราในขณะนี้ดูบ้าง จะได้ทุกข์น้อยลง
พยายามที่จะต้องมองโลกในแง่ดี เช่น ยังโชคดีที่ไม่เสียไปมากกว่านี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้บทเรียนอะไรแก่เราบ้าง อาจย้ำเตือนให้คุณมีความระมัดระวังยิ่งขึ้น มีสติหรือความไม่ประมาทยิ่งกว่าเดิม ที่สำคัญ อาจกำลังบอกสัจธรรมแก่คุณว่า ความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิต และอาจจะไม่สูญเสียเพียงเท่านี้ แต่อาจจะเสียมากกว่านี้ในอนาคต
สิ่งที่สูญเสียวันนี้เป็นเพียงแค่แบบฝึกหัดที่ให้เราได้รู้จักปล่อยวาง ถ้าปล่อยวางไม่ได้จะทุกข์มากยิ่งขึ้นไปอีก ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะอยู่กับเราไปได้ตลอดเวลา หากทำใจได้เราก็จะไม่ทุกข์เมื่อถึงคราวที่ของนั้นหายไปจากเรา
2. ตกงาน-ล้มละลาย
กิจการล้มละลายไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะล้มละลายด้วย เรายังมีสิ่งดีๆ ที่มีคุณค่าอีกมากมายในชีวิต เช่น พ่อแม่ สามี-ภรรยา ลูกหลาน มิตรสหาย ซึ่งรักและปรารถนาดีต่อเราอย่างจริงใจ
หากตกงานก็หางานอื่นทำเปลี่ยนเส้นทางทำกินไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ ไม่มีอะไรที่จะสายเกินกว่าจะเริ่มต้นใหม่ ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจและสติปัญญา ก็สามารถเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ได้เสมอ
เมื่อจะเริ่มต้นใหม่ ก็อย่าลืมเอาความผิดพลาดในอดีตมาเป็นครู ความล้มเหลวที่ผ่านมาสามารถให้บทเรียนที่มีคุณค่ามหาศาลแก่คุณได้ ไม่มีใครในโลกนี้ที่เดินโดยไม่เคยหกล้ม แต่เมื่อล้มแล้วต้องรีบลุกและก้าวอย่างมั่นคงและระมัดระวัง
3. ไม่ร่ำรวย
สำรวจตัวเองก่อนว่าเรายากจนจริงหรือเปล่า การที่เรามีเงินน้อยกว่าคนอื่นไม่ได้หมายความว่าจนเสมอไป คนส่วนใหญ่คิดว่าจนก็เพราะเอาตัวเองไปเปรียบกับคนที่มีมากกว่า ทั้งๆ ที่ตัวเองมีทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ถึงเราอาจจะไม่มีบ้านเดี่ยวหรือรถยนต์ แต่ลองมองให้ทั่ว เราอาจมีสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ไม่น้อยที่ให้ความสุขสบายแก่ชีวิต ไม่ต้องปากกัดตีนถีบหรือหาเช้ากินค่ำ คุณยังมีสิ่งฟุ่มเฟือยได้พอสมควร
ทันทีที่คุณรู้สึกพอใจหรือพอเพียงกับสิ่งที่มีอยู่ความรู้สึกจนจะหายไป ความจนนั้นแยกไม่ออกจากเรื่องของจิตใจ ตราบใดที่ยังมีความอยากอยู่ ก็จะรู้สึกจนอยู่เสมอ ลองเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นให้น้อยลง และรู้เท่าทันอิทธิพลของการโฆษณาให้มากขึ้น แทนที่จะจดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองยังไม่มี ลองหันมาชื่นชมกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วบ้าง คุณอาจมีทรัพย์สินเงินทองไม่มาก แต่คุณยังมีครอบครัวที่น่ารัก มีงานที่มั่นคง มีสุขภาพแข็งแรง มีเพื่อนฝูงที่ดี กินอิ่มนอนหลับ ไม่เป็นหนี้ใครก็น่าจะพอใจแล้ว
4. เจ็บป่วย
เวลาเจ็บป่วย ต้องทำใจว่าป่วยแค่กายอย่างเดียว อย่าให้ใจป่วยด้วย คือใจอย่าเป็นทุกข์มากเกินไปหรือกังวลไปต่างๆ นานา ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นทุกข์สองต่อ แม้ว่าความเจ็บป่วยไม่ใช่ของดี แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรยอมรับความจริง อย่างน้อยความเจ็บป่วยก็ทำให้เราได้พักผ่อน หลายคนได้มีโอกาสมาสนใจธรรมะก็ตอนนี้เอง
ความเจ็บป่วยยังเป็นสัญญาณเตือนให้เราหันมาทบทวนการใช้ชีวิตว่ามีความผิดพลาดตรงไหน ทำงานหนักไป พักผ่อนน้อยไป กินอาหารไม่ถูกต้อง ขาดการออกกำลังกาย หรืออยู่กับความเครียดความโกรธมากเกินไป หากเราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ ก็เท่ากับเราได้บทเรียนที่ล้ำค่าจากความเจ็บป่วย ซึ่งกำลังสอนเราว่าสังขารไม่เที่ยง ความเจ็บป่วยเป็นธรรมดาของชีวิตไม่ควรประมาท เห็นคุณค่าของสุขภาพและชีวิต
5. แก่ชรา
ถ้าคุณกำลังเข้าสู่วัยชรา ก็นับว่าคุณเป็นคนโชคดีคนหนึ่ง เพราะมีคนจำนวนมากมายที่ไม่สามารถมีชีวิตยืนยาวอย่างคุณได้ ความแก่เป็นธรรมดาของชีวิต ถ้าคุณยอมรับความจริงข้อนี้ได้ ใจคุณจะโปร่งโล่งขึ้นเหมือนวางของหนักลงได้
มองให้ดีความแก่กำลังสอนสัจธรรมแก่คุณอีกครั้งหนึ่งว่าชีวิตนั้นไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน หากคุณยังติดยึดในร่างกายคุณจะทุกข์อย่างยิ่ง ต่อเมื่อเลิกยึดติดความทุกข์ก็จะคลายลง ความแก่กำลังมาเตือนให้คุณปล่อยวางทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ หน้าที่การงาน อย่าหมกมุ่นกับสิ่งเหล่านั้น เพราะวันหนึ่งเราก็ต้องจากมันไป มีแต่บุญกุศล-ความดีเท่านั้นที่คุณจะนำไปสู่ปรโลกได้
6. ทำงานไม่มีความสุข
คุณควรหาสาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เป็นเพราะงานยาก มองไม่เห็นผล เพื่อนร่วมงานไม่ดี เจ้านายไม่ยุติธรรม เงินเดือนน้อย หรือว่าคุณไม่เต็มที่ไม่มีใจให้งาน
งานจะมีความสุขเมื่อคุณมีใจให้รักในสิ่งที่ทำ ทำงานอะไร ไม่สำคัญเท่ากับทำงานอย่างไร ทำงานอย่างตั้งใจไม่ฟุ้งซ่านก็ไม่ได้ผลงานดีและไม่มีความสุข แม้เราเลือกงานไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำงานอย่างมีความสุขได้
7. ทะเลาะกับเพื่อนหรือคนรัก
ก่อนที่จะบอกว่าเขาหรือเธอไม่ดี ควรทบทวนตัวเองก่อนว่าคุณทำดีพอหรือยัง คุณตัดสินเขาจากคำบอกเล่าของคนอื่นหรือเปล่า คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเขาไม่ดีจริง โดยที่คุณไม่ได้รีบตัดสินเองหรือฟังคนอื่นยุแหย่มา แล้วคุณเองดีกับเขาพอหรือไม่
ลองหันไปมองในมุมของเขาดูบ้าง อย่าเองตัวเองเป็นใหญ่ ฟังเหตุผลของเขาดูก่อน อย่ายึดมั่นถือมั่นกับความเห็นของตนเองจนปิดกั้นความคิดคนอื่น แทนที่จะหาข้อบกพร่องของคนอื่น ลองแก้ไขที่ข้อเสียของเราเองบ้าง เพราะตบมือข้างเดียวคงไม่ดัง ต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไข
8. ถูกวิจารณ์ด่าว่า
ก่อนอื่นต้องเปิดใจก่อนว่าคำวิจารณ์ด่าว่านั้น มีส่วนจริงบ้างหรือไม่ ถูกต้องและมีเหตุผลเพียงใด หากจริงมีเหตุผลถูกต้อง ควรนำคำวิจารณ์นั้นไปแก้ไขปรับปรุง โดยเลือกเอาแต่สาระ พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้มีปัญญาที่ชอบชี้โทษหรือตำหนิเราคือ ผู้ชี้ขุมทรัพย์
มองให้ดีจะพบว่าในคำตำหนินั้นมีของมีค่ามากมาย ที่หาไม่ได้จากคำชมหรือคำสรรเสริญ เช่น ทำให้เราเห็นความจริงอีกด้านหนึ่งของตัวเราที่แม้แต่เพื่อนๆ ก็ไม่กล้าบอกและคุณเองก็มองไม่เห็น หรือไม่ก็ทำให้เรารู้จักนิสัยใจคอของผู้พูดดียิ่งขึ้น ช่วยให้เรารู้ว่าจะวางตัวหรือเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไรดีในคราวต่อไป
9. เลี้ยงลูกไม่ได้อย่างใจ
แม้เขาจะเป็นลูกของเราก็จริง แต่เขาไม่ใช่ของเราในความหมายที่เราสามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอำนาจของเราได้ อย่าว่าแต่ลูกเลยบ่อยครั้งตัวเราเองยังไม่สามารถควบคุมร่างกายหรือความคิดให้เป็นไปตามใจได้ เราไม่อยากแก่ร่างกายก็ยังแก่ เราไม่อยากโกรธใจก็ยังโกรธ
ลูกย่อมมีความคิดจิตใจและวิถีตามที่เขาชอบ คุณต้องเปิดโอกาสให้เขารู้จักตัดสินใจด้วยตัวเองรวมทั้งเลือกเส้นทางชีวิตของเขาเอง บางครั้งพ่อแม่จำเป็นต้องให้เขาเลือกทางชีวิตของเขาเองได้ลองถูกลองผิดด้วยตัวเอง หน้าที่พ่อแม่คือสนับสนุนให้เขาเลือกทางที่ถูก ให้โอกาสเมื่อเขาเกิดผิดพลาดไม่ควรซ้ำเติมและเอาชนะลูก อย่าเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น อย่ามองว่าลูกสร้างปัญหาอะไรบ้าง แต่ควรมองว่าลูกทำดีอะไรบ้าง
พระไพศาล วิสาโล ยังได้กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า “เรามองเห็นแต่จุดที่มันเป็นความต่าง แต่สิ่งที่เป็นความเหมือนไม่ค่อยมองเท่าไหร่ เราไปเน้นที่ความต่างมากกว่าความเหมือน” “เราเป็นทุกข์กับความต่าง เราเป็นทุกข์กับสิ่งที่เราไม่รู้หรือหายไป แทนที่เราจะมาให้ความใส่ใจสิ่งที่เรามีเหมือนกัน หรือสิ่งที่เรายังมีอยู่ในตัวเรา อยากจะให้มองกว้างๆ แทนที่เราจะมาติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มองให้มันกว้างๆ ว่า เรื่องนี้เราเห็นไม่เหมือนกัน มีเรื่องอื่นมากมายที่เราเห็นเหมือนกัน” ซึ่งการที่เรามองแต่ความต่างนี้แหละ เหมือนเป็นตัวการที่จะทำให้เราเกิดทุกข์
วิธีการที่จะทำให้เรามีใจที่สงบคือ เราควรที่จะปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่มักมารุมล้อมและควรรู้จักอยู่กับตัวเองบ้าง โดยที่พระไพศาล ได้กล่าวเพิ่มว่า “วิธีง่ายๆ ที่จะอยู่กับตัวเองได้คือการทำสมาธิ หรือการมีสติรู้ใจรู้กายอยู่เสมอ จิตก็จะนิ่ง ก็จะสงบเร็วขึ้น พอสงบแล้วเราก็นิ่ง พอนิ่งแล้วเราก็อยู่กับตัวเองได้”
เมื่อเราฉลาดทำใจแล้ว ต่อให้เรื่องใดๆ ที่เข้ามารบกวนจิตใจแล้ว ก็จะไม่สามารถทำให้ใจเราขุ่นมัวต่อไปได้
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ ทูเดย์"
|