หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

จากเสียงท้วงติงของ "โกยเถอะโยม-องคุลิมาล" สู่ความนิ่งขององค์กรพุทธต่อหนัง "พระไตรปิฎก"

ภาพยนตร์เรื่อง “โกยเถอะโยม”

ยังคงไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไรกันแน่สำหรับโครงการสร้างภาพยนตร์ "พระไตรปิฎก" ที่กำลังถูกจับตามองเป็นอย่างมากในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไปของโครงการ, คุณภาพและเครดิตของทีมงานผู้สร้าง, ทุนที่สูงกว่า 1,200 ล้านบาท, การเดินเรื่องของบประมาณจากทางภาครัฐฯ กว่า 700 ล้านบาท (ซึ่งทั้งหมดดูเหมือนจะเข้าข่ายของการ "จับเสือมือเปล่า" ของทีมงานผู้สร้างที่คิดโปรเจ็กต์นี้ไปเสียแล้วอันเนื่องมาจากเมื่อประเมินตัวเงินจริงๆ ตามคำให้สัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นยังไม่ชัดเจนในเรื่องของตัวเลขแต่อย่างใด)

และที่ค่อนข้างจะฮือฮาในเสียงของการวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ เรื่องของนักแสดงนำที่จะมารับบทเป็น "พระพุทธเจ้า" องค์ศาสดาของชาวพุทธศาสนิกชนที่เคยถ่ายภาพในแนวที่วาบหวิวมาก่อน

เรื่องหนึ่งที่น่าแปลกก็คือ แม้กระแสของคนในสังคมโดยรวมส่วนใหญ่ที่รับรู้ข่าวสารจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงต่อความไม่เหมาะสมที่จะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา หรือถูกกลุ่มคนบางกลุ่มนำไปใช้เพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง

ทว่าท่าทีขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรงที่มีอยู่มากมายซึ่งน่าจะกังวลและใส่ใจกับเรื่องในลักษณะที่ว่านี้ให้มากๆ กลับตรงกันข้าม ชนิดไม่เพียงแต่จะไม่ติติงเท่านั้น แต่กลับมีท่าทีที่จะสนับสนุนและให้ท้ายกับการเกิด "ความเสี่ยง" ที่ว่านี้อีกต่างหาก

ยกตัวอย่างเช่นคำให้สัมภาษณ์ของ "พระเทพวิสุทธิกวี" รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ต่อนักแสดงหนุ่มที่จะมารับบทเป็นองค์มหาศาสดาของชาวพุทธที่หลายคนกังวลถึงความเหมาะสมและภาพลักษณ์ของเขาว่า..."แนวโน้มที่เขาจะได้เล่นเนี่ยก็ยังไม่ได้คุย ก็ฟังๆ ดูก็ไม่น่ามีอะไรมาก เห็นภาพตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่ลงมาก็พอรับได้ ไม่ใช่เกณฑ์ที่จะปฏิเสธ แต่ถ้ามีมากกว่านั้นก็ไม่รู้มีหรือเปล่านะ...(หัวเราะ) ก็ว่ากันอีกที"

ทั้งๆ ที่ผ่านมาในอดีต หากมีการหยิบจับเอาเรื่องพระพุทธศาสนาออกมาเผยแพร่ในลักษณะของความบันเทิงครั้งไร เป็นที่น่าสังเกตว่ามักจะต้องมีกลุ่มหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องออกมาเคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำ

ภาพยนตร์เรื่อง “องคุลิมาล”

ย้อนกลับไปปีที่แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง“โกยเถอะโยม” ก็ได้ถูกกลุ่มองค์กรศาสนากว่า 70 องค์กรออกมาประท้วงให้ยับยั้งการฉาย เหตุที่ว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาที่ค่อนข้างจะดูหมิ่นพระสงฆ์ซึ่งเป็นการทำลายพระพุทธศาสนา

หมิ่นและลบหลู่เพราะหนังเรื่องดังกล่าวตั้งชื่อไม่เหมาะสม, มีฉากที่พระกลัวผี, มีฉากที่ชาวบ้านทะเลาะกันบนศาลาวัด หมิ่นเพราะหนังเรื่องดังกล่าวทำให้คนดูเห็นพระแล้วหัวเราะ ฯ

“วิธีการคลายเครียดมันสามารถทำได้ในหลายประเด็น ไม่จำเป็นต้องเอาพระมาทำเป็นตัวตลก ถ้าเป็นแบบนี้แล้วต่อไปใครจะมานับถือพระ มันเป็นการดูหมิ่นอย่างแรง เพราะบางครั้งคนในสังคมยังแยกแยะอะไรไม่ได้ ถามหน่อยว่าเด็กวัยรุ่นที่ไม่มีการศึกษา เขาจะแยกแยะได้หรือ ถ้าไม่อย่างนั้นเด็กที่ไปดูไอ้มดแดงเขาจะโดดตึกฆ่าตัวตายทำไม เราออกมาปกป้องแบบนี้เราออกมาเคลื่อนไหวเพราะเราต้องปกป้องพระ ปกป้องศาสนา”

“คือไม่มีอะไรก็ดี... (เสียงสูง) เราเคารพตรงนั้นอยู่แล้ว เรายินดีด้วย ทางองค์กรของเรามีมาตรฐานวัดอย่างเรื่องหมากเตะที่เขาทำ ทำไมลาวถึงไม่ยอมให้เขาฉาย ก็คิดกันเอาเอง แต่การทำหนังแบบนี้มันออกไปในแนวลบหลู่ย่ำยี เราไม่พอใจ มาตรฐานวัดที่เราเอ่ยถึงก็เขาเป็นถึงนักวิชาการ 4-5 คนมาร่วมกันพิจารณา” ตัวแทนองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ไว้ในครั้งนั้น

"มาร์ค เอ็มไทยแลนด์" กับบทพระพุทธเจ้า

ย้อนไปกว่ากว่านั้น หนังไทยที่มีเนื้อหาไปเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและเป็นปัญหาค่อนข้างจะมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ "องคุลิมาล"

ตามข่าวที่ออกมาระบุว่าหนังเรื่องนี้ได้ถูกองค์กรชาวพุทธกว่า 40 องค์กรยื่นหนังสือประท้วงเพราะความไม่เหมาะสมหลายๆ อย่าง อาทิ เนื้อหาที่มีการเสริมเพิ่มเติมแต่ง, ความรุนแรงของหนัง, ภาพที่ไม่เหมาะสม(องคุลิมาลที่ตัดสินใจบวชเป็นภิกษุถูกชาวบ้านขว้างปาสิ่งของใส่) รวมไปถึงคำที่ใช้ในการโฆษณาที่ว่า "1 คมดาบฆาต 1,000 ชีพ เพียงเพื่อบรรลุสู่ธรรมแห่งนิพพาน" "ดับทุกข์ด้วยการฆ่า สู่ศาสดาฆาตรกร"

การประท้วงครั้งนั้นทำให้หนัง "องคุลิมาล" ต้องเลื่อนการฉายออกไป อันนำมาซึ่งการสูญเสียรายได้ของค่ายฟิล์ม บางกอกไปกว่า 40 ล้านบาท ขณะที่ "อังเคิล ดิเรก วัฎลีลา" เองก็ถึงกับออกอาการฉุน

"เรื่ององคุลิมาลที่ถูกต่อต้าน โดยองค์กรศาสนาพุทธ ผมไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดเขามีสิทธิของเขา แต่คนทำก็มีสิทธิพูดสิทธิคิดเหมือนกัน แล้วความถูกต้องอยู่ตรงไหน ความถูกต้องคือในกรณีที่ ถ้าหากว่าเขาเสียหาย เขามีสิทธิฟ้องร้องได้ ตำรวจก็จับถ้าหากว่าเค้าถูกต้องจริง ๆ มันเป็นสิทธิของคุณจริงก็ฟ้องร้องได้ แต่คุณไม่มีสิทธิห้ามหนังฉาย ห้ามมาตัดหนัง จะประท้วงจะฟ้องก็ทำไป ซึ่งที่จริงการตัดหนังก็ไม่ใช่สิทธิของเขาเป็นสิทธิของกองเซ็นเซอร์"

"แต่กองเซ็นเซอร์ก็ไม่น่าเอาความคิดที่เขาประท้วงมาตัดสินหนัง เพราะคนที่ประท้วงเขายังไม่ได้ดูหนัง ยังไม่ได้พิสูจน์ ตกลงยังไง ใครถูกต้อง ต้องให้ศาลพิสูจน์ก่อนว่าถูกต้องจึงค่อยตัด..."

เป็นไปได้ว่าสาเหตุของการไม่ออกมาเคลื่อนไหวต่อหนัง "พระไตรปิฏก" ขององค์กรพุทธต่างๆ ก็เพราะหนังเรื่องนี้ยังมิได้ถูกผลิตออกมาซึ่งแตกต่างไปจาก "โกยเถอะโยม" และ "องคุลิมาล" แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็หมายความว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกมานั้นไม่มีน้ำหนักอะไรเลยใช่หรือไม่

หรือเป็นเพราะว่าความนิ่งที่เกิดขึ้นบวกกับความเคลื่อนไหวในเชิงที่เป็นไปในทิศทางสนับสนุนท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านด้วยความห่วงใยในครั้งนี้ของประชาชนมันโยงใยไปกับงบประมาณค่าบริหารโครงการ + ค่าเตรียมการ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันแล้วกว่า 90 ล้านบาท!

เรื่องนี้คงต้องถามไปยังองค์กรพุทธต่างๆ ว่าสมควรจะมีคำตอบให้กับสังคมบ้างหรือไม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยในฐานะผู้ดำเนินการสร้าง และมหาเถรสมาคมที่เห็นชอบในโครงการ

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"



ไปข้างบน