ถ้ำพุทธฝ่ายมหายาน ที่เอลโลรา
ถ้ำหมายเลข 10 เป็นถ้ำที่ใหญ่ที่สุด ชื่อ ถ้ำวิศวกรรม
นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา เมื่อ ศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายานถือกำเนิดอย่างเต็มตัวแล้ว เคยมีคนกล่าวไว้ว่า การที่ศาสนาพุทธแยกออกเป็นนิกายมหายานและเถรวาทนั้น ทำให้ ศาสนาพุทธมีปีกสองปีกที่พยุงให้ลอยเด่นอยู่ได้มาจนทุกวันนี้
พุทธมหายานเจริญรุ่งเรืองขนาดไหนในครั้งนั้น
พุทธมหายานเจริญรุ่งเรืองจากอินเดียตอนเหนือและแผ่ขยายเข้าสู่อาณาจักรพุทธทางตอนใต้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7
ความวิจิตรงดงามของงานแกะสลักหินภูเขาที่ถ้ำเอลโลราทำให้ฉันรู้ว่า จนถึงพุทธศตวรรษที่ 12 ความเชื่อในคติพุทธฝ่ายมหายานก็ยังคงเข้มข้นอย่างยิ่ง
พระพุทธรูปภายในถ้ำเอลโลรา
หมู่ถ้ำเอลโลราแห่งนี้อยู่ใกล้กับเมืองออรังคบาด ในรัฐมหาราษฏระ สร้างเป็นถ้ำพุทธมหายานไว้ 12 ถ้ำ บางถ้ำสร้างเป็นวิหารที่อยู่ของพระภิกษุ บางถ้ำก็เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและห้องบูชาพระพุทธรูป และที่ขาดไม่ได้ก็คือ รูปแกะสลักพระโพธิสัตว์ โดยเฉพาะพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เทพแห่งความปรานีที่มาในรูปพระปัทมปาณี พระหัตถ์ทรงดอกบัว และที่ยืนเคียงคู่กันเสมอก็คือ พระโพธิสัตว์วัชรปาณี พระหัตถ์ทรงสายฟ้า เป็นเทพแห่งฝน
ตามความเชื่อของศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีธรรมสูงสุดจนบรรลุโพธิญาณ เพียงแต่ระงับจิตใจไว้ไม่ให้ก้าวเข้าสู่นิพพาน เพื่ออยู่ช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์เสียก่อน
วัดถ้ำที่เอลโลรา รัฐมหาราษฏระ เป็นถ้ำพุทธมหายาน 12 ถ้ำ
ถ้ำชื่อ “วิศวกรรม” เป็นถ้ำพุทธแห่งเดียวในเอลโลรา ที่ใหญ่โต หรูหราสร้างขึ้นเพื่อเป็นห้องสวดมนต์และบูชาพระพุทธรูป
ท่ามกลางความมืดภายในถ้ำ ช่างฝีมือได้อาศัยเพียงแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องเหนือประตูทางเข้าเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง เพื่อช่วยให้สามารถทำงานประติมากรรมนี้สำเร็จลงได้อย่างยิ่งใหญ่และงดงาม
คติของพุทธมหายานเชื่อว่า มีพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ ทั้งก่อนหน้าพระศากยมุนี และพระพุทธเจ้าในอนาคต จนเปรียบได้ว่ามีจำนวนมากมายดั่งเม็ดทรายในคงคามหานที และพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่ได้ดับสูญไปไหน
พุทธมหายานอธิบายการนิพพานของพระพุทธเจ้าว่า เป็นเพียงการเสด็จจากโลกมนุษย์ไปประทับอยู่แดนสวรรค์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังคงอยู่คอยช่วยเหลือมนุษย์ให้ข้ามพ้นห้วงทุกข์ด้วยยานอันยิ่งใหญ่ คือมหายาน
ช่องแสงภายในถ้ำวิศวกรรมที่เอลโลรา
แนวคิดเช่นนี้ย่อมเป็นที่ถูกใจคนหมู่มากในขณะนั้น มากกว่าที่จะยอมรับว่าพระพุทธเจ้าดับสูญไปแล้ว
พุทธมหายานกำเนิดขึ้นในขณะที่ ศาสนาพุทธ ในอินเดียเริ่มอับแสงลงทุกขณะ ทั้งเกิดจากแรงเสียดทานภายนอกและความอ่อนแอภายในพุทธบริษัทเอง
ทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงดูดศรัทธาจากมหาชนเอาไว้ให้ได้ เพราะศาสนาพุทธเองก็หนีไม่พ้นกฎแห่งวิวัฒนาการ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสิ่งแวดล้อมเพื่อความอยู่รอด
ขณะที่พุทธเถรวาทถือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่มหายานถือบุคลิกภาพในองค์พระพุทธเจ้า เป็นสำคัญ
ตามความคิดของมหายานนั้น พระธรรมวินัยเป็นเรื่องที่ พระพุทธเจ้า ได้อนุญาตไว้ว่า อาจจะแก้ไขให้เหมาะสมกับความเป็นไปของโลกได้ แต่องค์พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นต้องเคารพสูงสุดอยู่เสมอ ความภักดีต่อ พระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์จำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่สอดรับกับรากฐานความเชื่อดั้งเดิมในชมพูทวีปที่บูชาเทพเจ้าหลายองค์อยู่แล้วเป็นอย่างยิ่ง
ถ้ำพุทธหมายเลข 5 เป็นห้องประชุม เสาแต่ละต้นถูกแกะสลักจากหิน
ในทางหนึ่ง พุทธมหายานจึงเข้าไปอยู่ในใจคนยุคนั้นอย่างง่ายดาย และกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
แต่ในอีกทางหนึ่งก็มองว่า หลักการของศาสนาพุทธ มหายานในเรื่องนี้ทำให้พุทธดูใกล้เคียงกับศาสนาพราหมณ์เข้าไปทุกที
ขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ได้เกิดขึ้นกับศาสนาดั้งเดิมของอินเดียด้วย ทั้งฮินดูและเชนก็ได้มาสร้างงานศิลปะอันงดงามตระการตาไว้ในหมู่ถ้ำเหล่านี้ด้วย ในจำนวนวัดถ้ำฮินดู 17 ถ้ำที่เอลโลรา ถ้ำไกรลาสเป็นวัดพระศิวะที่ใหญ่โตอลังการ ถือเป็นสุดยอดของศิลปกรรมสลักหินขนาดใหญ่ของอินเดียทีเดียว
ถ้ำไกรลาส เป็นถ้ำฮินดูมีความสูงถึง 90 ฟุต ใช้เวลาก่อสร้าง 500 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์
ประตูสู่ถ้ำไกรลาสสูงถึง 50 เมตร มีพระแม่คงคาและยมุนา เทวีแห่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ยืนประทับอยู่ เพื่อชำระมลทินแก่ผู้ที่จะก้าวข้ามประตูเข้าไปในวัด
ถ้ำไกรลาสเริ่มสร้างตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 13 และใช้เวลาสร้างยาวนานหลายสิบปี เพราะเป็นการขุดเจาะภูเขาหินขนาดมหึมาจากยอดลงมาถึงพื้น ด้วยการใช้มือแกะสลักเสลาหินไปเรื่อยๆ จนเป็นรูปเป็นร่าง ราวกับชะลอวิมานของพระศิวะจากเขาไกรลาสมาไว้บนดิน
การปรากฏตัวของหมู่วัดถ้ำฮินดูที่เอลโลรา ทำให้นักประวัติศาสตร์ได้หลักฐานเพิ่มเติมว่าศาสนาพราหมณ์ในยุคนั้นได้เริ่มมีการสร้างวัดถ้ำและเริ่มสร้างเทวรูปเช่นเดียวกับ ศาสนาพุทธ ที่ไม่เคยมีพระพุทธรูปมาก่อน
หลังจากฮินดูมาสร้างวัดถ้ำที่เอลโลราได้ร้อยกว่าปี พระในศาสนาเชนก็ได้เข้ามาบ้าง และสร้างวัดขึ้นที่นี่เช่นกัน
ถ้ำของนักบวชศาสนาเชนที่เอลโลรา
ถ้ำเชนแห่งนี้ถูกสร้างเป็นวิหารสองชั้น มีทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน ภายในห้องโถงแกะสลักเป็นเรื่องราวของพระศาสดาเชนในอดีต ความเฟื่องฟูของศาสนาเชนเห็นได้จากการเข้ามาอุปถัมภ์ศาสนาของพระมหากษัตริย์และราชินีในราวพุทธศตวรรษที่ 14
ตลอดช่วงอายุ 300 ปีของหมู่ถ้ำที่เอลโลรา ได้ทำให้ฉันเห็นภาพต่อเนื่องของศาสนาทั้ง 3 ที่ทยอยกันเข้ามาสร้างศาสนสถานของตนไม่ขาดสาย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 เริ่มจากพุทธ ฮินดู และเชน ห่างกันช่วงละ 100 ปี
ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
|