หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

เปิดประตู สู่..."ภูฏาน" (จบ)ตอน : เที่ยวปูนาคาราชธานีเก่า

ปูนาคา ซอง ดินแดนศักดิ์สิทธิ์อันโดดเด่นแห่งเมืองปูนาคา

ภูฏาน หรือดินแดนแห่งมังกรสายฟ้าในปัจจุบันมีเมืองทิมพูเป็นเมืองหลวง และมีเมืองปาโร เป็นศูนย์กลางทางการบินเพียงหนึ่งเดียวในภูฏาน(ได้นำเสนอเรื่องราวของทั้ง 2 เมืองไปใน 2 ตอนที่แล้ว) ซึ่งนอกจากทั้ง 2 เมืองแล้ว ภูฏานยังมีเมือง "ปูนาคา" (Punakha)เป็นอีกหนึ่งเมืองที่น่าสนใจและน่าเที่ยวชม เพราะเมืองนี้คืออดีตเมืองหลวงที่ยังคงไว้ซึ่งร่องรอยของอารยธรรมแห่งภูฏานให้ผู้สนใจได้สัมผัสเรียนรู้

ปูนาคา อยู่ห่างจากเมืองเมืองหลวงทิมพูประมาณ 80 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ช.ม. โดยตลอดสองเส้นทางอันวกวนและซับซ้อนไปด้วยขุนเขาจากทิมพูสู่ปูนาคา จะเต็มไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรร์และป่าสนอันหนาทึบ อีกทั้งยังมีดงกุหลาบพันปีดอกไม้ประจำชาติของประเทศภูฏานให้เห็นได้ทั่วไป เช่นเดียวกับฝูงจามรีป่า (Yak) ที่จะพบมากในเส้นทางสายนี้ตามไหล่เขา

ณ จุดชมวิวดอร์ชูลาในวันฟ้าเป็นใจหากมองออกไปก็จะเห็นปุยเมฆขาวลอยไต่ระเรี่ยยอดเขาอยู่เบื้องหน้า

สำหรับเส้นทางจากเมืองหลวงใหม่สู่เมืองหลวงเก่า นับเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมเพราะเมื่อรถไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงยัง ดอร์ชูลา(Dorchula) ที่เป็นจุดสูงสุดของเส้นทางทิมพู-ปูนาคา ที่อยู่ในระดับความสูงราว 3,100 เมตร รถจะไปแวะพักให้นักท่องเที่ยวออกไปยืดเส้นยืดสายและชมทิวทัศน์อันงดงามของเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันออก

วันไหนท้องฟ้าเป็นใจก็จะได้เห็นทะเลภูเขา(หิมาลัย)กว้างไกลสุดสายตา(ท้องฟ้าในเดือน พ.ย.-ก.พ. ส่วนใหญ่จะเปิดและเป็นใจให้ชมวิว ส่วนในช่วงเดือนอื่นก็คงต้องลุ้นกันหน่อย) ส่วนวันไหนฟ้าปิดก็จะเห็นปุยเมฆขาวลอยล่องไต่ระเรี่ยยอดเขาที่เบื้องหน้า

นอกจากนี้ที่บริเวณดอร์ชูลาจะเต็มไปด้วยธงหลากหลายสีสันที่ปลิวพัดโบกไสว ทั้งนี้ชาวภูฏานได้นำมาปักไว้เพื่อบูชาเจ้าป่าเจ้าเขาแห่งดอร์ชูลาโดยละแวกนั้นจะมีสถูป(ซอร์เตน)องค์ใหญ่แบบภูฏานตั้งตระหง่านอยู่ ซึ่งชาวภูฏานเชื่อว่านี่คือสถูปที่ช่วยสยบฤทธิ์เดชของภูตผีปีศาจและวิญญาณชั่วร้าย อีกทั้งยังช่วยคุ้มภัยให้กับผู้ที่เดินทางผ่านไป-มา ใครที่ลงไปชมสถูปเคล้าเสียงธงปะทะลมดังอื้ออึงก็จะรู้สึกได้ถึงพลังของความขรึมขลังแห่งดอร์ชูลา

ณ จุดสูงสุดของดอร์ชูลา จะเป็นที่พักริมทางที่ชั้นล่างมีมุมน้ำชากาแฟให้เลือกจิบรับลมชมวิวกันตามใจชอบ ส่วนชั้นบนเป็นที่พักค้างแรมสำหรับผู้มารอชมพระอาทิตย์ขึ้น

ในเส้นทางจากทิมพูสู่ปานาคาหากโชคดีก็อาจจะได้เห็นฝูงจามรีป่าออกหากินตามป่าข้างทาง

จากดอร์ชูลามาไม่นานนักก็จะเข้าเขตเมืองปูนาคา อดีตราชธานีเก่าที่มีปูนาคาซอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเลื่องชื่อ

ปูนาคา ซอง (Punakha Dzong) เป็นดินแดนศักดิ์สิทธ์ที่มีตำนานเล่าว่า กูรู รินโปเช ได้เดินทางมาพบเข้าในกลางสริสต์ศตวรรษที่ 8 และได้ทำนายทายทักว่า ณ เขารูปร่างงวงช้างแห่งนี้ในอนาคตจะมีบุรุษผู้มากบุญบารมี นาม นัมเกล มาสร้างซอง(ป้อมปราการ)ขึ้นที่นี่

กระทั่งในปี พ.ศ. 2159 ยุคที่ภูฏานแบ่งเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย พระลามะนาม งาวังนัมเกล ที่ถูกปองร้ายหมายเอาชีวิตได้หลบหนีเข้ามาในภูฏาน ณ บริเวณจุดที่แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกันคือแม่น้ำโพ(Pho Chu)และแม่น้ำโม(Mo Chu) ซึ่งก็คือปูนาคาซองในปัจจุบัน (Chu ในภาษาซองคาแปลว่าแม่น้ำ)

ปูนาคา ซอง น่ายลด้วยสถาปัตยกรรมภูฏานอันเป็นเอกลักษณ์

งาวังนัมเกลเมื่อมาถึง ณ จุดนี้ ทีมตามล่าก็ยิ่งกระชั้นชิดเข้ามา ท่านจึงออกอุบายแกล้งทิ้งพระบรมสารีริกธาตุลงในแม่น้ำ ทำให้ฝ่ายศัตรูพากันกระโดดลงไปงมหาพระบรมสารีริกธาตุจนถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวคร่าชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ส่วนที่เหลือรอดก็หนีกลับธิเบตไป

หลังศัตรูแพ้พ่าย งาวังนัมเกลได้ตั้งค่ายพักแรมในบริเวณนี้ และท่านก็ได้ยินคำทำนายของกูรู รินโปเช ในความฝัน รุ่งขึ้นตัดสินใจว่าจะสร้างซองขึ้น ณ บริเวณนี้ที่อยู่หน้าเขารูปงวงช้าง

ครั้นงาวังนัมเกลสามารถรวบรวมภูฏานเป็นหนึ่งเดียว(ก่อนจะได้รับการยกย่องให้เป็น ซับดรุง งาวังนัมเกล หลังจากได้รวบรวมภูฏานจากแคว้นเล็กแคว้นน้อยให้กลายเป็นหนึ่งเดียว) ท่านก็ได้สถาปนาปูนาคาเป็นเมืองหลวงและลงมือสร้างปูนาคา ซอง ขึ้นในราว ปี พ.ศ. 2180

บริเวณดอร์ชูลาจะเต็มไปด้วยธงหลากหลายสีสันที่ชาวภูฏานไปปักไว้เพื่อบูชาเจ้าป่าเจ้าเขา

ปูนาคาซอง ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1,468 เมตร สภาพโดยทั่วไปมีอากาศอบอุ่นสบาย ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ท่าน ซับดรุงงาวังนัมเกลนำมาจากธิเบต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพระบรมสารีริกธาตุที่ศักดิ์สิทธ์ยิ่งนัก(ในอดีตชาวธิเบตได้ยกทัพมาตีเมืองปูนาคาอยู่บ่อยครั้งเพื่อเอาพระบรมสารีริกธาตุ แต่ว่าไม่สำเร็จ)

การขึ้นสู่ปูนาคาซองต้องปีนบันไดสูงชันขึ้นไป ครั้นเข้าเขตซองก็จะได้พบกับโบสถ์และวิหาร 21 หลัง มีโบสถ์หลังหนึ่งเป็นที่เก็บพระอัฐิของ ซับดรุง งาวังนัมเกล โดยผู้ที่จะเข้าโบสถ์หลังนี้มีเพียงเจ้าอาวาสเท่านั้น ส่วนนักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมได้เฉพาะบรรยากาศภายนอก แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ามากแล้ว เพราะจะว่าไปแล้วปูนาคาซองถือเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันสำคัญของภูฏานเลยทีเดียว

ส่วนเมืองปูนาคานั้น ก็คล้ายๆกับอีกหลายๆเมืองในภูฏานที่นอกจากจะสงบงามและมากไปด้วยวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่หากใครได้ไปเยือนสักครั้งก็จะคงความประทับใจไปอีกนานแสนนาน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ดอกกุหลาบพันปีในพื้นที่ต่างๆจะพากันผลิดอกอวดสายตาแก่ผู้พบเห็น

สี่ฤดูในภูฏาน

ฤดูกาลในภูฏาน แบ่งเป็น 4 ฤดูด้วยกัน คือ ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง โดยแต่ละฤดูกาล ต่างก็มีเสน่ห์ สีสันและบรรยากาศแห่งความงามที่แตกต่างกันออกไป

ฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) ช่วงนี้ภูฏานจะเผชิญกับอากาศอันหนาวเย็น ส่วนสภาพอากาศก็ค่อนข้างแห้ง แต่สำหรับนักดูนกแล้วนี่คือฤดูกาลที่เหมาะแก่การเข้าป่าส่องนกยิ่งนัก โดยดินแดนมังกรสายฟ้ามีพื้นที่ส่วนใหญ่เป้นอุทยานแห่งชาติที่เป็นแห่งอาศัยของนกพื้นถิ่นมากกว่า 800 สปีชีส์ อีกทั้งยังมีเส้นทางท่องป่าที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะผู้รักการผจญภัยจะได้พบกับผืนป่าอันพิสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์ หรือใครจะเลือกขี่จักรยานท่องไปในป่าไพรของภูฏานก็สุดแท้แต่รสนิยม

ฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-พ.ค.) ฤดูนี้มีอากาศอบอุ่นและมีฝนประปราย ดอกกุหลาบพันปีในพื้นที่ต่างๆจะพากันผลิดอกออกโฉมด้วยสีสันสดใสอวดสายตาแก่ผู้พบเห็น รวมถึงไม้พันธุ์อื่นๆที่จะพากันผลิใบมารับไออุ่นของอากาศ ผู้ที่รักการปั่นเจ้า 2 ล้อ ฤดูนี้เหมาะนักที่จะจักรยานท่องเมืองชมวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวภูฏาน หรือใครที่ชอบความท้าทายอาจจะไปล่องแก่งหรือปีนเขาก็สามารถทำได้ตามใจชอบ

ฤดูร้อน (มิ.ย.-ส.ค.)แม้เป็นฤดูร้อนแต่ช่วงนี้ที่ภูฏานกับมีฝนตก แต่ว่าก็เป็นช่วงสั้นๆที่ตกลงมาสร้างความชุ่มฉ่ำให้กับผืนป่า พื้นดิน ซึ่งช่วงนี้เหมาะสำหรับการเที่ยวชมวิถีชีวิตวัฒนธรรม เดินป่าหน้าร้อน และการชะมดอกไม้นานาพันธ์ที่ผลิดอกออกมารับคิมหันต์ฤดู

ฤดูใบไม้ร่วง(ก.ย.-พ.ย.) นี่คือช่วงไฮต์ซีซั่นของการท่องเที่ยวในภูฏาน ฤดูนี้จะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะภูฏานจะจัดงานเทศกาลต่างๆในช่วงนี้มากที่สุด ว่ากันว่าช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ภูฏานนั้นอากาศไม่แพ้ที่ยุโรปเลยทีเดียว

แผนที่ประเทศภูฏาน

ภูฏาน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย โดยยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกในข้อแม้ ต้องไม่เกิน 10,000 คนต่อปี และนักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายภาษีรายวัน วันละ 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว(มี.ค.-พ.ย.) และ 165 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (ธ.ค.-ส.ค.) โดยอัตราภาษีนี้รวมค่าที่พัก ค่าอาหาร การเดินทางภายในประเทศ บริการนำเที่ยว และกิจกรรมท่องเที่ยวหรือค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

การเดินทางสู่ภูฏาน จากมีสายการบิน Druk Air บินจากเมืองไทยสู่ภูฏาน สำหรับผู้สนใจข้อมูลภูฏานเพิ่มเติมสามารถตรวจสอบได้ที่ http://72.18.135.200/DOTBHUTAN/default.asp หรือที่ สถานทูตภูฏาน 0-2274-4742

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" เรียบเรียงโดย : คุณเหล็งฮู้ชง



ไปข้างบน