เที่ยว "ชเวดากอง" แล้วลองย้อนดูตัว
ชเวดากอง มหาเจดีย์ทองคู่บ้านคู่เมืองพม่า
ในการออกเดินทางท่องเที่ยวตามประเทศแถบอุษาคเนย์ นอกจากการเปิดใจรับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆแล้ว ผมยังมีกฏอยู่ 2 ข้อ คือ ข้อแรก...จะหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการเมืองกับมิตรต่างแดน(เพราะส่วนใหญ่เขาไม่ยอมเล่าให้ฟัง) ส่วนข้อที่สองก็คือ...การสลัดทิ้งแบบเรียนประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมของกระทรวงศึกษาฯที่คนรุ่นผมเล่าเรียนในสมัยวัยเยาว์ออกไป(ซึ่งในยุคสมัยนั้นอาจมีความจำเป็นบางประการที่จะต้องเขียนแบบเรียนประวัติศาสตร์ด้านเดียว มุมเดียว เพื่อปลุกเร้าให้เลือดรักชาติให้คุกรุ่นเต็มทรวง)
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรสและความเพลิดเพลินในการท่องเที่ยวให้เข้มข้นขึ้น อย่างกับการไปเยือนพม่าหรือเมียนมาร์หนล่าสุดก็นับเป็นอีกหนึ่งทริปที่ผมได้งัดเอาคติ 2 ข้อข้างต้นมาใช้อย่างเต็มที่
ศรัทธาที่ชาวพม่ามีต่อเจดีย์ชเวดากองมีให้เห็นเป็นปกติทุกวัน
พม่าในวันนี้ แม้จะมีเมืองหลวงใหม่ชื่อ "เปงมานา" แต่ว่าสำหรับคนไทยแล้วดูจะคุ้นเคยกับอดีตเมืองหลวงเก่าหมาดๆอย่างเมือง "ย่างกุ้ง" มากกว่า เพราะเมืองนี้คือศูนย์กลางในการเดินทางจากเมืองไทยไปพม่า ที่ย่างกุ้งในวันนี้นอกจากจะเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญแล้ว ย่างกุ้งยังเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่คนไทยนิยมไปเที่ยวกันไม่น้อย เพราะที่เมืองนี้มีมหา "เจดีย์ชเวดากอง" เป็นไฮไลท์สำคัญทางการท่องเที่ยว
แน่นอนว่าการเที่ยวในพม่าโดยเฉพาะการเที่ยวกับทัวร์นั้น ถ้าได้ไกด์ฝีมือดีแล้ว ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง อย่างเช่นในทริปนี้ ที่ผมได้ “ฟองใส”(ชาวไทยใหญ่)ไกด์สาวใหญ่ ที่หากดูจากรูปลักษณ์ของเธอแล้ว น่าจะชื่อ“ฟองใหญ่”มากกว่า
ฟองใสที่เริ่มเป็นฟองใหญ่เธอเป็นชาวไทยใหญ่และเป็นไกด์ภาษาไทยในระดับอ๋องที่มากไปด้วยข้อมูล เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แถมคุยได้ทุกเรื่อง(ยกเว้นเรื่องการเมือง) และมากไปด้วยมุกแพรวพราว ซึ่งหลังจากเธอไปรับผมกับเพื่อนร่วมทริปที่สนามบินบิงเมงกาลาดอ ฟองใสก็พาเราไปไหว้เจดีย์ชวดากองประเดิมทริปเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยในทันที
เจดีย์ชเวดากอง
อิ่มบุญ กรุ่นศรัทธา ที่ชเวดากอง
ระหว่างที่ฟองใสไปตีตั๋วขึ้นชเวดากอง ผมก็ใช้ช่วงจังหวะนี้ค่อยๆถอดรองเท้าถุงเท้าออกเพื่อให้เหลือเพียง 2 เท้าเปล่าเปลือย เพราะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพม่าทุกแห่งจะมีกฎว่าทุกคน(ไม่ว่าชาวพม่าหรือต่างชาติ)ห้ามสวมรองเท้าหรือถุงเท้าขึ้นไป
เนื่องจากเป็นดินแดนแห่งความบริสุทธิ์ โดยเฉพาะการขึ้นสู่เจดีย์ชเวดากองสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพม่า ซึ่งการขึ้นไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในครั้งนี้ ฟองใสพาผมขึ้นไปทางลิฟต์ ก่อนจะไปออกยังทางเดินที่ทอดยาวสู่เจดีย์ชเวดากอง
ทางเดินรอบๆเจดีย์ชเวดากองน่ามองด้วยงานศิลปกรรมแบบพม่าที่มีเอกลักษณ์
พลันที่ผมออกไปยืนตะลึงกับความอลังการของเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามขนาดมหึมาที่ตั้งตระหง่านสูงแทงฟ้าที่ดูแล้วงดงามจับใจยิ่งนัก แต่ที่จับใจยิ่งกว่าก็คือความศรัทธาที่ชาวพม่ามีต่อมหาเจดีย์ชเวดากอง ในขณะที่คติทางล้านนาของบ้านเราก็เชื่อว่า เจดีย์ชเวดากองเป็นพระธาตุประจำปีของคนที่เกิดปีมะเมีย(ปีม้า) ที่ใครได้มาไหว้ถือเป็นมงคลสูงสุดแก่ชีวิต
ด้วยเหตุนี้ภาพที่ผมเห็นในบริเวณชเวดากองจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความศรัทธา ทั้ง หนุ่ม สาว เฒ่า แก่ เด็กเล็ก วัยรุ่น รวมไปถึงพระ เณร แม่ชี ที่ต่างก็เดินทางขึ้นมาสักการะชเวดากองกันอย่างเนืองแน่นทุกวัน บางคนก้มลงหมอบกราบด้วยศรัทธาอย่างสุดซึ้ง บ้างก็นั่งท่องคาถา นั่งนับประคำ นั่งสมาธิ ด้วยจิตที่สงบนิ่งแน่วแน่ ในขณะที่อีกหลายๆคนเลือกที่จะสรงน้ำพระประจำวันเกิดที่ตั้งอยู่รอบๆองค์เจดีย์อย่างตั้งอกตั้งใจ
มาชเวดากองแล้ว ไม่ควรพลาดการรดน้ำมนต์ประจำวันเกิด
ในขณะที่ตามอาคารต่างๆรอบๆองค์เจดีย์ก็ดูโดดเด่นมีเสน่ห์ไปด้วยศิลปกรรมแบบพม่า ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่มีหลังคาซ้อนหลายๆชั้น ตามหลังคาหรือตามหน้าบันอาคารที่มีการฉลุกระเบื้องด้วยลวดลายสวยงาม หรือพระพุทธรูปที่ขรึมขลังในสไตล์พม่า รวมไปถึงลวดลายประดับตามเสาตามผนังที่ประณีตชวนมองและเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธา
ฟองใสพาผมและเพื่อนร่วมทริปเดินทอดน่องชมความอลังการขององค์เจดีย์ไปรอบๆ ก่อนจะมาหยุดยังลานโล่งที่มีชาวพม่านั่งและยืนกราบไหว้องค์เจดีย์เต็มไปหมด โดยเธอบอกกับผมว่า ลานแห่งนี้คือ "ลานอธิษฐาน" หรือ "ลานสัมฤทธิผล" ที่หากมาตั้งจิตอธิษฐาน ณ ลานแห่งนี้แล้วจะสัมฤทธิ์ผล ซึ่งในอดีตเวลาพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจะออกรบ จะต้องมาตั้งจิตอธิษฐานที่ลานแห่งนี้ทุกครั้ง จนทำ บางคนเรียกลานแห่งนี้ว่า "ลานบุเรงนอง"
สำหรับผมลานอธิษฐานนอกจากจะดูจับใจไปด้วยบรรยากาศอิ่มบุญของชาวพม่าแล้ว ลานแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในมุมถ่ายรูปเจดีย์ที่สวยงามมากทีเดียว ส่วนบริเวณหลังลานก็เป็นที่เก็บภาพถ่ายของเจดีย์ชเวดากองทั้งยุคเก่าและปัจจุบัน รวมถึงภาพถ่ายสิ่งน่าสนใจอื่นเกี่ยวกับชเวดากอง ไม่ว่าจะเป็นภาพการหุ้มทองที่องค์เจดีย์ ภาพเพชรพลอยประดับบนฉัตรยอดเจดีย์ ภาพพระพุทธรูปหลากหลายองค์ที่อยู่ในบริเวณชเวดากอง และรูปอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งในห้องภาพนี้ทำให้ผมรู้จักกับเจดีย์ชเวดากองมากขึ้น และยิ่งเมื่อฟองใสเล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญของเจดีย์ทององค์นี้ประกอบเจดีย์องค์จริงและประกอบภาพ ผมก็ยิ่งได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชเวดากองมากขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ
"เจดีย์ชเวดากองถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว 2,500 ปีที่แล้วในสมัยพระเจ้าโอกกลาปะ ภายในบรรจุเส้นผมของพระพุทธเจ้า 8 เส้น แรกเริ่มเดิมทีที่สร้างชเวดากองสูงเพียง 27 ฟุต แต่ว่าด้วยแรงศรัทธาก็ทำให้กษัตริย์ในแต่ละยุคสร้างเจดีย์ให้สูงใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีความสูงถึง 326 ฟุตในปัจจุบัน และกว้างถึง 1,355 ฟุต รอบข้างมีเจดีย์เล็กล้อมรอบ 64 องค์ ชเวดากอง ถือเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพม่าให้เคารพและศรัทธาสูงสุด ในตัวเมืองหลายจุดสามารถมองเห็นเชวดากองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตอนกลางคืนจะมองเห็นเชวดากองเป็นสีทองสุกปลั่งงดงามจับใจ"
นอกจากเจดีย์ชเวดากองแล้วบริเวณรอบองค์เจดีย์ก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายให้สักการะ
ฟองใสอธิบายเกี่ยวถึงความเป็นมาของเจดีย์ชเวดากอง ต่อจากนั้นเธอก็ได้พูดถึงทองที่หุ้มองค์เจดีย์เชวดากองว่า เป็นทองคำแท้ๆที่ตีเป็นแผ่นๆ 8,688 แผ่น แล้วนำไปเรียงร้อยต่อกันตั้งแต่องค์ระฆัง(ตัวเจดีย์)ขึ้นไป ว่ากันว่าทองคำทั้งหมดที่หุ้มชเวดากองนั้นหนักรวมกันถึง 9 ตันทีเดียว ส่วนยอดฉัตรบนสุดนั้นประดับอัญมณีมากมายโดยเฉพาะที่นี่ประดับไปด้วยเพชรเม็ดใหญ่ที่มีน้ำหนักถึง 76.6 กะรัต ทีเดียว
ตอนกลางคืนหากใครมาเดินที่ชเวดากองแล้วไปยืนถูกจุดถูกมุม แหงนหน้ามองขึ้นไปจะเห็นแสงระยิบระยับวับๆแวมๆของเพชร เขียวบ้าง แดงบ้าง เหลืองบ้าง สุดแท้แต่ว่าจะยืนมองตรงจุดไหน ซึ่งฟองใสบอกกับผมว่านี่คืออันซีนชเวดากอง ที่ค่ำคืนนี้ต้องกลับมาดูอีกครั้ง
ราตรีแห่งศรัทธา ที่ชเวดากอง
หลังอาหารค่ำ ฝนเพิ่งหยุดตกไปหมาดๆ ฟองใสพาผมไปนั่งรถวนดูเจดีย์ชเวดากองในเขตเมืองเป็นการยั่วอารมณ์ ก่อนพาเรากลับไปบนเจดีย์ชเวดากองอีกครั้ง ซึ่งแม้จะมีคนขึ้นมาสักการะน้อยกว่ากลางวันมาก แต่หากพูดถึงความขรึมขลังแล้วผมว่ามีมากกว่า เพราะแสงที่สลัวๆและเสียงสวดที่กระหึ่มก้องนั้น ฟังแล้วผมอดทึ่งในความศรัทธาที่ชาวพม่ามีต่อมหาเจดีย์องค์นี้ไม่ได้
ในขณะที่ความงามของชเวดากองในมุมมองยามราตรีนั้นก็ดูสวยงามแตกต่างจากตอนกลางวันไปอีกแบบ
ชเวดากองยามค่ำคืนดูงดงามด้วยเจดีย์ทองที่งดงามมลังเมลือง
ตอนกลางวันชเวดากองจะต้องแสงแดดเปล่งประกายเจิดจ้าร้อนแรง ส่วนยามค่ำคืน ท้องฟ้าอันมืดมิดจะช่วยขับให้องค์เจดีย์สีทองเปล่งประกายดูมลังเมลือง
นอกจากนี้หากยืนถูกที่ถูกมุมแล้วละก้อ ยามแหงนหน้าไปบนยอดฉัตรก็จะเห็นแสงเพชรส่องประกายระยิบระยับ
และในระหว่างที่ผมกำลังยืนจ้ององค์เจดีย์ชเวดากองยามราตรีอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น หูก็พลันแว่วไปได้ยินเสียงใสๆของนักท่องเที่ยวสาวคนหนึ่งที่เดินไล่หลังคณะเรามากับกลุ่มของเธอว่า..."จริงหรือเปล่าพี่ที่เค้าว่าทองหุ้มองค์เจดีย์ชเวดากองนี่ คนพม่าไปเอามาจากเมืองไทยเมื่อตอนเสียกรุงครั้งที่ 2"...
ทันทีที่ได้ฟัง ผมก็อดคิดไปถึงกฏข้อ 2 เรื่องประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมไม่ได้ เพราะในวันนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้แจ่มชัดว่าทองที่หุ้มองค์เจดีย์ชเวดากองนั้นนำไปจากกรุงศรีอยุธยาหลังเสียกรุงหรือเปล่า ในเรื่องนี้ทางนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่คงต้องหาทางสังคายนากันต่อไป แต่ที่ผมอดสะทกสะท้อนใจไม่ได้ก็คือว่าทำไมเมืองไทยที่ได้ชื่อว่าเมืองพุทธนั้น นับวันยิ่งมายิ่งดูเหินห่างจากศาสนาพุทธมากขึ้นทุกทีซึ่งไม่เฉพาะกับฆราวาสเท่านั้น หากแต่บรรพชิตก็มักจะสร้างเรื่องราวคาวโลกีย์เป็นข่าวฉาวโฉ่(ขึ้นหน้าหนึ่ง)อยู่บ่อยครั้ง ผิดกับพม่าที่ ณ วันนี้ยังคงมั่นคงกับศาสนาพุทธอยู่อย่างแนบแน่น
ในขณะที่การเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมนั้นอ้างว่าพม่านำทองจากไทยไปสร้างชเวดากองนั้น(วันนี้ยังพิสูจน์ข้อเท็จจริงไม่ได้) มาในวันนี้ก็น่าจะเป็นบทเรียนชั้นดีสำหรับคนไทยว่าหากคนในชาติแตกแยกกันเองแล้วบ้านเมืองไปไม่รอดแน่นอน
* * * * * * * * * * * * * * * * * *
การเข้าไปเที่ยวในพม่า ต้องยื่นขอทำวีซ่าเข้าประเทศพม่าก่อน เวลา-ของพม่าจะช้ากว่าประเทศไทย 30 นาที สกุลเงิน-พม่าใช้เงินจั๊ตที่ประมาณ 30 จั๊ต เท่ากับ 1 บาทไทย(อัตราแลกเปลี่ยนเดือนมิ.ย.)
ส่วนเจดีย์เชวดากองนั้น จะเปิดตั้งแต่ตี 4 ถึง 4 ทุ่ม นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตีตั๋วเข้าชมแล้วได้ในราคา 5 ดอลล่าร์ และสามารถไปเวลาไหนก็ได้ และไปวันละกี่เที่ยวก็ได้ แต่ขอให้แสดงสติกเกอร์ที่ได้มาตอนจ่ายค่าตั๋วเป็นใช้ได้
สำหรับผู้สนใจไปเที่ยวย่างกุ้งสามารถสอบถามได้ตามบริษัททัวร์ทั่วไป โดยจากกรุงเทพฯมีสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส บินตรงสู่ย่างกุ้ง
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" เรียบเรียงโดย : คุณเหล็งฮู้ชง
|