สักการะ "พระธาตุอินทร์แขวน" สิ่งมหัศจรรย์แดนพม่า
พระธาตุอินทร์แขวน ตั้งตระหง่านอยู่บนหน้าผาสูงชัน น่าอัศจรรย์ไม่ตกลงมา
หลังจากตอนที่แล้วอากวงไกด์พม่าของฉัน ได้พาไปไหว้มหาเจดีย์ชเวดากอง ที่ฉันใฝ่ฝันอยากจะไปไหว้มากๆ มาแล้ว มาในตอนนี้อากวงได้พาฉันออกเดินทางออกจากเมืองย่างกุ้ง มุ่งตรงไปยังเมืองไจก์โถ่ที่ตั้งอยู่ในรัฐมอญ เพื่อไปสักการะ "ไจก์ทิโย" หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามว่า "พระธาตุอินทร์แขวน" ที่ตามคติการไหว้พระธาตุตามปีเกิดของชาวล้านนาบอกไว้ว่า หากใครเกิดปีจอต้องไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ ซึ่งความเป็นจริงในโลกนี้คงจะเป็นไปไม่ได้ จึงได้ถือเอาว่าการไหว้พระธาตุอินทร์แขวนแทน ก็เหมือนได้ไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์
ถึงแม้ว่าตัวฉันเองจะไม่ได้เกิดปีจอก็ตามที แต่เมื่อมีโอกาสอันดีได้มาพม่าแล้ว และจะได้เดินทางไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวนที่ถือว่าเป็นการได้ไปไหว้พระพุทธเจ้าบนสรวงสวรรค์ ก็นับว่าเป็นการเสริมสร้างบุญบารมีให้กับชีวิต
ซึ่งอากวงได้เล่าตำนานเกี่ยวกับ พระธาตุอินทร์แขวนให้ฉันฟังขณะนั่งอยู่บนรถว่า มีฤาษีติสสะผู้หนึ่งได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้าที่ได้มอบให้ไว้เป็นตัวแทนพระพุทธองค์ให้ประชาชนสักการะ เมื่อครั้นได้มาแสดงธรรมเทศนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ แต่ว่าฤๅษีติสสะกลับนำไปซ่อนไว้ในมวยผม พอเวลาล่วงเลยถึงคราวที่ฤๅษีติสสะจะต้องละสังขาร โดยมีความตั้งใจจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของตน จึงให้พระอินทร์ช่วยหาก้อนหินที่มีลักษณะเหมือนกับศีรษะ ซึ่งได้มาจากใต้ท้องมหาสมุทร และก็ให้พระอินทร์นำมาวางหรือแขวนไว้บนภูเขาหิน จึงเป็นที่มาของชื่อ "พระธาตุอินทร์แขวน"
แต่ชาวพม่าและชาวมอญจะเรียกพระธาตุอินทร์แขวนว่า "ไจก์ทิโย" ซึ่งเป็นภาษามอญ หมายถึง เจดีย์บนหินที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะฤๅษี
พอฉันฟังอากวงเล่าตำนานเสร็จ ด้วยระยะทางไกลที่ยังไม่ถึงเสียที ฉันเลยงีบหลับนอนเอาแรงเสียหน่อย เพราะอากวงบอกว่าการขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุต้องเดินเท้าขึ้นไป
ด้วยแรงศรัทธาต่อให้อายุมากก็มีแรงเดินขึ้นเขามาไหว้พระธาตุอินทร์แขวน
"ตื่นๆ ได้แล้ว เดี๋ยวเราต้องเปลี่ยนรถ เป็นรถท้องถิ่นเพื่อขึ้นสู่องค์พระธาตุอินทร์แขวนกัน" เสียงอากวงปลุกฉันให้หายงัวเงีย แล้วก็พาลงจากรถออกเดินไปยังจุดที่รถท้องถิ่นจอดรอรับนักท่องเที่ยวอยู่
ฉับพลันที่ฉันเห็นรถท้องถิ่นที่อากวงบอกไว้ว่าเป็นพาหนะพาเราไปยังพระธาตุอินทร์แขวน ก็ทำเอาฉันถึงกับอึ้งกิมกี่ไปเลย เพราะสภาพรถท้องถิ่นที่อากวงว่า ในความรู้สึกของฉันดูแล้วไม่ต่างจากรถขนหมูที่เมืองไทยบ้านเราเลย
สภาพรถหกล้อขนาดใหญ่ มีกระบะหลังที่ไม่มีหลังคาบังลมบังแดด มีที่นั่งที่เป็นเพียงไม้กระดานแผ่นเล็กๆ วางพาดเป็นแถวๆ ไว้ให้นั่งเท่านั้นเอง ซึ่งตรงจุดเปลี่ยนรถนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และชาวพม่าเอง ต่างก็รอมาขึ้นรถนี้กันเป็นจำนวนมาก เพราะว่าไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวขับขึ้นเขาไปเอง เพราะเกรงจะเกิดอุบัติเหตุ ฉันเลยต้องจำใจนั่งรถขนหมู (ฉายาที่ฉันตั้งให้) นี้ขึ้นไป
หากว่าใครเดินขึ้นองค์พระธาตุฯ ไม่ไหว มีบริการเสลี่ยงจากลูกหาบคอยบริการแบกขึ้นไป
เส้นทางที่รถวิ่งขึ้นเขาไปนี้เป็นเส้นทางเล็กๆ แคบๆ วิ่งไปตามไหล่เขาที่มีความสูงชัน แถมยังมีโค้งหักศอกอยู่หลายโค้ง (น่ากลัวมากๆ) แต่ว่าคนขับก็ขับด้วยความชำนาญ (แบบซิ่งนิดๆ ) ชนิดที่ว่าเวลารถเลี้ยวขึ้นเขาทีตัวฉันกับอากวงก็โอนเอนมาปะทะกันไปตามแรงเหวี่ยงของรถ จนฉันคิดว่าฉันกลายเป็นลูกบอลถูกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาอยู่บนรถ เล่นเอาระบมไปทั้งตัวเลย
ฉันและอากวงถูกเหวี่ยงไปมาบนรถได้สักพัก รถ (ขนหมู) ก็มาส่งยังจุดเดินเท้ากันต่อ ซึ่งจากจุดนี้ทั้งฉันและอากวงต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตรกว่าจะถึงยังองค์พระธาตุอินทร์แขวน
อากวงถามฉันว่าเดินไหวไหม ถ้าเดินไม่ไหวจริงๆ ที่นี่มีลูกหาบบริการแบกเสลี่ยงพาขึ้นเขา และก็มีลูกหาบที่จะช่วยแบกสัมภาระ แหม!! ฉันนะนึกถึงภูกระดึงเมืองไทยบ้านเราขึ้นมาทันทีเลย สำหรับราคาค่าบริการเสลี่ยงตกอยู่ที่ประมาณ 20,000 จั๊ต หรือตามแต่จะตกลงกัน
ลูกหาบแบกของสัมภาระอันหนักอึ้งของนักท่องเที่ยวเดินขึ้นเขา
ตัวฉันเองไม่ได้คิดมากเรื่องเงินทอง แต่ในใจคิดว่าเมื่อฉันมาด้วยแรงศรัทธาแล้ว ก็อยากจะเดินขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุด้วยแรงขาน้อยๆ 2 ข้างด้วยตัวเอง จะได้รู้สึกภูมิใจและได้บุญเยอะๆ
ว่าแล้วฉันก็เดินนำหน้าอากวงขึ้นเขาไป มีเพียงไม้ไผ่ลำเล็กๆ ที่ซื้อมาไว้คอยพยุงทุ่นแรงและป้องกันการลื่นหกล้ม ฉันและอากวงเดินไปตามทางขึ้นเขาที่ชันพอๆ กับที่นั่งรถ (ขนหมู) ขึ้นมา แต่ก็ร่มรื่นไปด้วยธรรมชาติของต้นไม้ตามสองข้างทาง และระหว่างทางที่เดินขึ้นไปนั้น ก็จะเห็นถึงความศรัทธาของชาวพม่าที่ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาว เด็กเล็กๆ หรือแม้แต่คนแก่ที่สังขารดูโรยรา แต่ก็ยังมีแรงเดินขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุด้วยสองขาของตัวเอง แสดงให้เห็นถึงแรงศรัทธาอันกล้าแกร่ง
ทว่าพวกลูกหาบที่แบกเสลี่ยงขึ้นมาด้วย ก็ยังไม่วายที่จะเชิญชวนให้ฉันนั่งเสลี่ยง เมื่อเห็นฉันออกกอาการเหนื่อยหอบแบบแทบจะหมดแรงก้าวเดิน ซึ่งฉันปฏิเสธด้วยใจอันแน่วแน่ว่าฉันจะเดินให้ถึงองค์พระธาตุด้วยขาน้อยๆ ของตัวเองให้จงได้
แล้วภาพของเจดีย์สีทองบนหน้าผาที่เห็นอยู่ไกลๆ ลิบๆ ก็เริ่มขยับเข้ามาใกล้เรื่อยๆ ฉันออกแรงเดินด้วยเฮือกสุดท้าย จนในที่สุดฉันก็มาถึงยังองค์พระธาตุจนได้
“เก่งจังเลย ตัวนิดเดียวเดินมาถึงองค์พระธาตุได้ด้วยตัวเอง" อากวงชมฉัน พร้อมกับพาเดินขึ้นสู่องค์พระธาตุ แต่ได้พาฉันแวะเข้าไปกราบรูปปั้นพระนางชเวนันจินก่อน ซึ่งชาวพม่านิยมมากราบไหว้พระนางกันเป็นจำนวนมาก เพราะมีความเชื่อกันว่าหากมาเจ็บป่วยตรงส่วนไหนของร่างกาย เวลาไหว้พระนางก็ให้จับ บีบ นวดรูปปั้นพระนางตรงส่วนที่เจ็บป่วยแล้วตั้งจิตอธิษฐาน และกลับจับร่างกายของเราตรงที่เจ็บป่วยก็จะหายได้ (อย่างไม่น่าเชื่อ)
รูปปั้นพระนางชเวนันจิน หากเจ็บป่วยตรงไหนมากราบไหว้ก็จะช่วยให้หายป่วย
พออากวงบอกอย่างนั้นฉันเองก็ทำการไหว้พระนางแบบที่อากวงทำให้ดูทันที ด้วยหวังว่าจะช่วยให้หายจากโรคที่ป่วยอยู่ จากนั้นก็เดินออกจากอาคารพระนางชเวนันจิน เดินไปตามทางเดินที่เป็นลานหินอันกว้างใหญ่ และแล้วภาพของพระธาตุอินทร์แขวนก็ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ภาพของก้อนหินขนาดใหญ่สีทองอร่าม มีเจดีย์ทรงมอญที่ด้านบนมีฉัตรทองเล็กๆอยู่ด้านบน ตั้งตระหง่านอยู่บนหน้าผาที่สูงและลาดชันเอามากๆ ดูแล้วจะหล่นแหล่มิหล่นแหล่ แต่ว่าองค์พระธาตุกลับตั้งโดดเด่นท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลก สร้างความอัศจรรย์ใจให้ฉันเป็นอย่างมาก
"เห็นไหม เห็นถึงความมหัศจรรย์ขององค์พระธาตุที่พระอินทร์ท่านเอามาแขวนไว้ ให้เราได้มากราบไหว้กันแล้วหรือยัง" อากวงพูดขึ้น พร้อมกับพาฉันเข้าไปสักการะองค์พระธาตุใกล้ๆ
แต่น่าเสียดายที่เขาไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปไหว้และปิดทององค์พระธาตุแบบใกล้ๆ ถึงองค์พระธาตุ ฉันจึงได้แต่นั่งตั้งจิตอธิษฐาน สวดมนตร์กราบขอพรจากองค์พระธาตุอยู่ด้านนอก (รั้วที่กันไว้) ซึ่งแค่นี้ก็ทำเอาฉันรู้สึกอิ่มเอมใจ อิ่มบุญเป็นที่สุดอย่างอยากที่จะบรรยายได้ ได้แต่เก็บเอาไว้ในห้วงแห่งความรู้สึกและความทรงจำในใจ ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตตัวฉันเองได้มีโอกาสมาสักการะสิ่งมหัศจรรย์อันล้ำค่าขององค์ "พระธาตุอินทร์แขวน" ณ ประเทศพม่าแห่งนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * *
เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการมาเที่ยวที่ประเทศ "พม่า"
นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวที่ "พม่า" (Myanmar) ต้องยื่นขอทำวีซ่าเข้าประเทศพม่าก่อน เวลา-ของพม่าจะช้ากว่าประเทศไทย 30 นาที การจราจร-ของพม่ารถจะวิ่งเลนขวาแบบฝรั่งเศส ฉะนั้นเวลาคิดจะข้ามถนนที่พม่าต้องมองซ้ายมองขวาให้ดี สกุลเงิน-พม่าใช้ระบบเงินตราแบบธนบัตรพม่า ที่เรียกว่าจั๊ตหรือจ๊าต อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 20 จั๊ต เท่ากับ 1 บาทไทย
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจมาเยือนประเทศพม่า ทางสายการบินภูเก็ตแอร์ มีบริการจัดแพ็คเกจทัวร์มาเที่ยวพม่า สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่ายขายสายการบินภูเก็ตแอร์ โทร. 0-2679-8999 ต่อ 509,510, 507, 503, 351 หรือเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.phuketairlines.com/myanmar
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|