“วัดเชียงทอง” สุดยอดวัดงาม แห่ง“หลวงพระบาง”
สิมวัดเชียงทองแบบฉบับของสิมล้านช้างที่สมบูรณ์และงดงามที่สุด
ตักบาตรข้าวเหนียว วิถีของคนหลวงพระบางที่ยังผูกพันกับพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น
“ธรรมมิกสังคมนิยมแห่งสุดท้าย”
นักเดินทางหลายๆคนต่างกล่าวยกย่องหลวงพระบางไว้เช่นนั้น เพราะเมืองหลวงพระบาง แห่งสปป.ลาวแม้จะเป็นประเทศสังคมนิยม แต่ว่าคนหลวงพระบางกับดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นและมั่นคง
การตักบาตรข้าวเหนียวในทุกๆเช้านับหนึ่งในสิ่งที่แสดงความเป็นแดนธรรมมิกสังคมนิยมได้เป็นอย่างดี ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความผูกกันแนบแน่นกับพุทธศาสนามาช้านานของคนหลวงพระบางนั่นก็คือ
เมืองหลวงพระบางมีวัดวาอารามอยู่มากมายและยังคงไร้ซึ่งวี่แววพุทธพาณิชย์ โดยในบรรดาวัดมากมายเหล่านั้น “วัดเชียงทอง” ได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดในหลวงพระบาง และเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่ใครไปเยือนหลวงพระบางแล้ว(ต้อง)ไม่ควรพลาดการชมวัดเชียงทองด้วยประการทั้งปวง
ลวดลายประดับกระจกสีรูปต้นทองที่ด้านหลังสิมวัดเชียงทอง
วัดเชียงทอง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2102-2103 ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นับเป็นตัวแทนของศิลปะสกุลช่างล้านช้างที่งดงามและสมบูรณ์ และนับเป็นวัดสำคัญวัดเดียวที่ไม่ถูกเผาทำลายในศึกฮ่อธงดำบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง ใน พ.ศ. 2428 ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของวัดเชียงทองเป็นอย่างยิ่ง
เพราะไม่เช่นนั้นปัจจุบันเราอาจจะไม่ได้ชมความงดงามของวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างก็เป็นได้...
สิมสุภาพสตรี งดงามอ่อนช้อย
ภาพด้านข้างของสิม(โบสถ์หรือวิหาร)อันสวยงาม นับเป็นสิ่งน่าสนใจอย่างแรกที่ผมได้พบหลังจากเดินเข้ามาในวัดเชียงทอง(ขึ้นทางบันไดฝั่งท่าผาเสือริมแม่น้ำโขง)
สิมวัดเชียงทอง นับเป็นสิมล้านช้างที่สมบูรณ์ที่สุด และมีความงามให้ชมกันทั่วทั้งหลัง ซึ่งหากมองไล่ไปจากด้านบนสุดก็จะเห็นเครื่องยอดที่คนลาวเรียกว่า “ช่อฟ้า” ลวดลายปราณีตสีทองอร่ามตาโดดเด่นอยู่กลางสันหลัง ส่วน “โหง่” หรือช่อฟ้าในบ้านเราทำเป็นรูปเศียรพญานาคชูคออ่อนช้อย
สำหรับสิ่งที่ถือว่าโดดเด่นอย่างยิ่งของวัดเชียงทองก็คือ รูปทรงของสิมที่อ่อนช้อยโค้งงาม มีหลังคาซ้อน 3 ชั้นลดหลั่นคลุมต่ำ ถือเป็นแบบฉบับของสิมแบบล้านช้าง ซึ่ง“ท้าวเข็มเพ็ด ชะนะพัน”ไกด์ชาวลาว ที่พาผมเดินชมวัดเชียงทองได้บอกว่า
“คนลาวเปรียบสิมหลังคาโค้งต่ำอย่างสิมวัดเชียงทอง หรือวัดอีกหลายวัดในหลวงพระบางเป็นสิมสุภาพสตรี ส่วนสิมทรงสูงอย่างวัดทางเวียงจันทน์หรือวัดในเมืองไทยเป็นสิมสุภาพบุรษ”
ฟังท้าวเข็มเพ็ดเล่าแล้ว ผมว่าคนลาวนี่เข้าใจเปรียบเทียบดีแท้
นอกจากรูปทรงอันอ่อนช้อยแล้ว สิมวัดเชียงทองยังดูงดงามด้วยลวดลายลงรักปิดทองหรือที่ชาวลาวเรียกว่า “พอกคำ” ที่มีให้ดูกันทั่วไปตั้งแต่หน้าบัน ด้านหน้า ด้านใน ด้านข้าง โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาพุทธและนิทานพื้นบ้าน ส่วนด้านในสิมนั้นก็ดูขรึมขลังไปด้วยพระประธานองค์โตที่ประดิษฐานอยู่ หากใครไปเยือนวัดเชียงทองควรเข้าไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล
สำหรับเสน่ห์ภาพชวนมองอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลายประดับ “ดอกดวง” หรือกระจกสีรูป “ต้นทอง” ท่ามกลางสัตว์หลายชนิดที่แวดล้อมอยู่ ซึ่งหลวงพระบางในอดีตคือเมืองเชียงทองที่เต็มไปด้วยต้นทองอยู่เป็นจำนวนมาก โดย บริเวณวัดเชียงทองมีต้นทองยักษ์ขนาดหลายคนโอบอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อเจ้าศรีสว่างวัฒนาทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงทอง จึงได้ให้ช่างทำลวดลายประดับดอกดวงเป็นรูปต้นทองไว้ที่ด้านหลังสิมเพื่อระลึกต้นทองยักษ์ในอดีต
ลายประดับดอกดวงนิทานพื้นบ้านและวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางที่หอพระ 2 หลังข้างหลังสิม
พูดถึงลายดอกดวงนี่ไม่ใช่มีให้ชมแค่ที่หลังสิมเท่านั้น แต่ว่าที่หอพระม่านและหอพระไสยาสน์ข้างหลังสิมก็มีลวดลายดอกดวงอันสวยงามบนผนังสีชมพู โดยลวดลายดวงดอกที่หอพระทั้งสองเป็นภาพคติสอนใจจากนิทานพื้นบ้านชื่อดังของลาวเรื่อง “สีเสลียว เสียวสวาด” และภาพวิถีชีวิตชาวหลวงพระบาง
อนึ่งภายในหอพระม่านจะมี “พระม่าน” หนึ่งในพระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางประดิษฐานอยู่ ในวันปกติหอพระม่านจะปิดใส่กุญแจไว้ตลอด ครั้นพอถึงช่วงสงกรานต์ก็จะมีการอัญเชิญพระม่านลงมาให้คนทั่วไปได้กราบไหว้และสรงน้ำพระกัน ต่างจากหอพระไสยาสน์ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมภายในได้
โรงเมี้ยนโกศ งดงามด้วยลายแกะสลักควักไม้
สำหรับสิ่งน่าสนใจที่วัดเชียงทองยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะจากด้านหน้าของสิมหากมองไปทางขวามือที่ 14 นาฬิกา ก็จะเห็นโรงราชรถหรือโรงเมี้ยนโกศ ที่เป็นโรงเก็บราชรถที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2504
โรงเมี้ยนโกศหลังนี้ มีสิ่งที่ชวนชมทั้งภายนอกและภายใน โดยภายนอกจะงดงามวิจิตรไปด้วยลวดลายแกะสลักไม้สีเหลืองอร่ามเรืองรอง ฝีมือของ “เพียตัน” (พระยาตัน) หนึ่งในสุดยอดช่างของลาว
และหากใครไปยืนเพ่งพินิจชมรายละเอียดก็จะเห็นว่าเพียตันนั้นแกะสลักไม้ได้งดงามนัก ไม่ว่าจะเป็นรูปสีดาลุยไฟที่พลิ้วไหวทรงพลังที่บานประตู รูปทศกัณฑ์ฝันว่ากำลังเสพสังวาสกับสาวงามก่อนตายที่บานหน้าต่างบานแรก(ด้านซ้าย) และรูปสลักที่งดงามอีกมากมาย ซึ่งหลายๆคนที่ได้ยลต่างก็บอกว่านอกจากเพียตันจะแกะสลักแล้วยังใช้การ “ควัก” ไม้ออกมาเป็นลวดลายอันวิจิตรดังที่เห็น
จากภายนอกเมื่อเข้าสู่ภายในโรงเมี้ยนโกศก็จะเห็นราชรถแกะสลักไม้สีทองเหลืองอร่ามทั้งคัน มีเศียรของพญานาค 5 เศียรยื่นออกมาจากด้านหน้าราชรถอย่างอ่อนช้อยสวยงามแต่ว่าก็แฝงความขรึมขลังอยู่ในที
โรงเมี้ยนโกศมีงานแกะสลักไม้อันวิจิตรงดงามฝีมือเพียตันยอดช่างชาวลาวให้ชมทั่วทั้งหลัง
วัดเชียงทอง งดงามตามวิถีพุทธ
แม้ว่าวัดเชียงทองจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสำคัญของหลวงพระบาง ที่ในแต่ละวันมีคนไปเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก แต่ว่าวัดเชียงทองก็ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยวิถีแห่งพุทธศาสนาของพระเณรที่จำวัดอยู่ โดยในทุกๆเช้าเจ้าอาวาสวัดเชียงทองจะเป็นรูปแรกที่เดินนำขบวนเหล่าพระภิกษุสงฆ์ไปตักบาตรข้าวเหนียว
ส่วนในช่วงกลางวันบางมุม บางจุดของวัดเชียงทอง เราจะได้เห็นพระเณรมานั่งอ่านตำราศึกษาพระธรรม นั่งสนทนา ทำความสะอาดวัดกันเป็นปกติ ส่วนในยามเย็นเหล่าพระเณรที่วัดเชียงทองจะพากันเข้าโบสถ์เพื่อทำวัตรเย็น เช่นเดียวกับวัดอื่นๆทั่วหลวงพระบาง
ทั้งนี้หากใครเดินผ่านตามวัดต่างๆเมื่อยามเย็น( 6 โมงเย็นขึ้นไป)ในหลวงพระบางก็จะเห็นภาพการทำวัตรเย็นปรากฏอยู่ทั่วไปพร้อมกับเสียงสวดมนต์ที่ดังไปทั่วบริเวณ ซึ่งนอกจากการตักบาตรข้าวเหนียวยามเช้า การพร้อมเพรียงกันทำวัตรเย็นของเหล่าพระเณร นับเป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่ช่วยยืนยันถึงวิถีอันแนบแน่นในศาสนาพุทธของคนหลวงพระบาง เมืองที่นักเดินทางหลายๆคนต่างยกให้เป็น
“ธรรมมิกสังคมนิยมแห่งสุดท้าย”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
พระธาตุหมากโม วัดวิชุน
หลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางเหนือของสปป.ลาว อดีตเคยเป็นนครหลวงของอาณาจักรลานช้าง ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2538 ใช้เงินกีบเป็นหลักในการซื้อขายโดย 1 บาท ประมาณ 250 กีบ แต่สามารถใช้เงินบาทได้ คนไทยสามารถเข้าหลวงพระบางได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า
นอกจากวัดเชียงทองแล้ว หลวงพระบางยังมี วัดวิชุนราช หรือ วัดวิชุน ที่เจ้าชีวิตชุนราชโปรดฯให้สร้างวัดนี้ขึ้นมาเมื่อปีพ.ศ.1503 โดยอัญเชิญพระบางจากวัดมโนรมย์มาประดิษฐาน
วัดวิชุน ถือเป็นวัดที่มีความแปลกจากวัดอื่นๆในหลวงพระบาง ตรงที่มีพระเจดีย์พระปทุม หรือพระธาตุดอกบัวใหญ่ ที่มีลักษณะเป็นพระธาตุเจดีย์รูปโค้ง ซึ่งคนลาวเรียกกันว่า "พระธาตุหมากโม" ตามลักษณะที่คล้ายแตงโมผ่าครึ่ง ที่พระนางพันตีนเชียง พระอัครมเหสีโปรดฯให้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1514
ช่วงปี ค.ศ.1914 พระธาตุหมากโมได้พังทลายลงมาบางส่วน เจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์และชาวหลวงพระบางจึงร่วมกันบูรณะพระธาตุนี้ จากการซ่อมแซมครั้งนั้นได้พบวัตถุมีค่าจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูปทองคำ เงิน และทองสำริด พระพุทธรูปแกะสลักจากแก้วและอัญมณี รวมทั้งวัตถุทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมในช่วงศตวรรษที่ 15 และ 16 อีกเป็นจำนวนมาก
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" โดย คุณเหล็งฮู้ชง
|