ทัพผ้าเหลืองแห่งแดนพุกาม
ผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมืองในพม่า นอกจากกองทัพซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจบริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “พระสงฆ์และศาสนาพุทธ” เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ และยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพม่ามานานนับพันปี
ศาสนาพุทธและพระสงฆ์ในพม่ามีส่วนสำคัญในการเพาะบ่ม อบรมจิตใจ และให้ความรู้แก่ประชาชนพม่า ตั้งแต่ก่อนมีการให้การศึกษาแบบใหม่
นอกจากนี้ พระสงฆ์ยังมีบทบาทสำคัญทางการเมืองมาตั้งแต่ครั้งที่พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษช่วงปี 2473 โดยในครั้งนั้นเป็นพระสงฆ์อีกเช่นกันที่เป็นผู้นำการต่อต้านอังกฤษ
ในปี 2531 ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศโดยไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาตั้งแต่ปี 2505 กระทั่งเกิดการปะทะกับทหาร ทำให้เกิดเหตุนองเลือด มีผู้เสียชีวิตนับพันคน จนนานาชาติต้องหันมาให้ความสนใจ และจับตามองความเคลื่อนไหวของบทบาทพระสงฆ์ในพม่ามากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงบทบาทจากศูนย์รวมจิตใจของประชาชนมาเป็นผู้นำในการต่อต้านความไม่เท่าเทียมในสังคม เป็นการพัฒนามาจากการที่พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างราชวงศ์พม่าและประชาชนมาก่อนนั่นเอง
ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดและความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม เอาเปรียบ และคอร์รัปชัน จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว ดังนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่จะหันมาเคารพยกย่อง และสนับสนุนผู้ที่ทำความดีแก่สังคมมาตลอดอย่างพระสงฆ์ รวมถึงนักศึกษา และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
การประท้วงครั้งใหญ่นี้จึงเป็นที่สังเกตได้ว่า ชาวพม่าให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพระสงฆ์ เป็นผู้นำ ถึงขั้นมีการจับมือคล้องแขนเดินขบวนล้อมรอบขบวนพระสงฆ์ ประหนึ่งเป็นโล่มนุษย์กำบังผู้ที่อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์
ปัจจุบัน ชาวพม่า 88% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งมีการกำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับการไถ่บาปได้จะต้องเป็นพระสงฆ์เท่านั้น และปัจจุบันมีพระสงฆ์ในพม่าราว 4-5 แสนรูป จากประชากรทั้งหมด 50 ล้านคน
ด้วยจำนวนของพระสงฆ์ในพม่าที่ใกล้เคียงกับจำนวนทหาร รวมถึงท่าทีต่อความอยุติธรรมในประเทศ และบทบาทการเป็นผู้นำทางการเมืองและสังคม ทำให้รัฐบาลทหารต้องหันมาให้ความสำคัญกับพระสงฆ์ เห็นได้จากหนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กระบอกเสียงของรัฐบาลทหาร มักตีพิมพ์ภาพผู้นำทหารเดินทางไปยังวัดต่างๆ เพื่อบริจาคและทำทานอย่างสม่ำเสมอ
การแสดงออกดังกล่าวอาจตีความได้ว่า รัฐบาลทหารต้องการให้ประชาชนรับรู้ว่า พวกเขาสนับสนุนพระสงฆ์ และเป็นการปรามไม่ให้เกิดความขัดแย้ง
ทว่า ความพยายามทั้งหมดล่มสลายลง เมื่อรัฐบาลทหารประกาศขึ้นราคาพลังงาน ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ มีการชุมนุมประท้วงตามเมืองต่างๆ และหลายครั้งมี พระสงฆ์เป็นผู้นำ และมีแนวโน้มว่าเหตุการณ์จะรุนแรงยิ่งขึ้นดังเช่นเมื่อ 20 ปีก่อน รัฐบาลพม่าจึงออกมาปรามพระสงฆ์ โดยนำกำลังไปประจำการตามวัดต่างๆ ถึงขั้นกักตัวและทำร้ายพระสงฆ์
การทำร้ายร่างกายพระสงฆ์นี่เองที่ทำให้เหตุการณ์เริ่มบานปลาย ก่อนมีการประท้วงครั้งใหญ่ตามมา นำโดยพระสงฆ์ 5 หมื่นรูป ที่ไม่พอใจรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้ขอโทษ ตามมาด้วยพลังประชาชนที่ให้การสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า และเชื่อได้ว่าเหตุการณ์คงจะเลวร้ายลง หากไม่มีชาติใดยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ นอกจากยืนมองอยู่ห่างๆ จ้องรอคอยเวลาที่จะฉกผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว...
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ ทูเดย์"
|