หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

เที่ยววัดมหรรณพ์ ไหว้พระร่วงทองคำ ชมของดี 3 รัชกาล

คุณลักษณะพิเศษของพระร่วงคือมีพระพักตร์อิ่มเอิบมองดูแล้วเหมือนยิ้มนิดๆ



...เหตุเกิดจากความเหงา…

นี่ไม่ใช่เพลงของ emotion town แต่เป็นสาเหตุที่เพื่อนสาว(เพื่อนจริงๆนะ)ของฉันชวนฉันไปหาที่พึ่งทางใจ เนื่องจากเธอเหงาหัวใจ และดูเหมือนโลกจะโหดร้ายกับเธอเสียทุกเรื่อง จนเธอทนไม่ไหว การหาที่พึ่งทางใจจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเยียวยารักษาใจของใครหลายๆคน รวมถึงเพื่อนสาวของฉันด้วย แต่เรื่องแบบนี้ก็ว่ากันไม่ได้นะ มันอยู่ที่แต่ละบุคคล

แต่จาก...เหตุเกิดจากความเหงา...ที่ทำให้เพื่อนสาวเธอชวนฉันมาเยือนยังศาลเจ้าพ่อเสืออันเลื่องชื่อ แต่เนื่องจากฝนตกรถติดตามหลักการเหตุผลที่ท่องกันมา พวกเราจึงมาไม่ทันการศาลเพิ่งปิด จิตใจเพื่อนสาวที่บอบซ้ำยิ่งย่ำแย่ เธอคงต้องการที่พึ่งทางใจอย่างเร่งด่วน ฉันจึงตัดสินใจชวนเธอเข้าวัดฝั่งตรงข้ามเยื้องๆกับศาลเจ้าพ่อเสือ

วัดแห่งนี้คือ "วัดมหรรณพาราม" ป้ายเขียนบอกไว้เช่นนั้น ฉันเองก็ไม่ค่อยรู้จักวัดนี้เสียเท่าไรนัก แต่อยากช่วยให้เพื่อนสบายใจขึ้นเท่านั้นเอง และเห็นว่าวัดนี้แม้จะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังมากมาย แต่ก็สามารถเป็นที่พึงและที่ยึดเหนี่ยวทางใจได้ไม่น้อยเลย

หลวงพ่อพระร่วงทองคำเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนจำนวนมาก

เมื่อเข้าไปในวัด เดินตรงผ่านโรงเรียนวัดมหรรณพ์ ตรงเข้าเขตวัดด้านในก็เจอกับ "พระวิหารหลวงพ่อพระร่วงทองคำวาจาศักดิ์สิทธิ์" ฉันสังเกตจากสถาปัตยกรรมแล้วรู้สึกแปลกใจเล็กน้อยที่ไม่เห็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เหมือนดังเช่นวัดไทยอื่นๆทั่วไป

เมื่อขึ้นไปในวิหารด้านนอกมีดอกไม้ธูปเทียนวางอยู่ หากใครต้องการสักการะหลวงพ่อพระร่วงทองคำต้องกระทำด้านนอก ส่วนดอกไม้ธูปเทียนก็ไม่ได้มีแม่ค้าพ่อขายขายเหมือนเช่นวันอื่นๆ แต่หากวางไว้ให้ผู้ที่มาสักการะได้หยิบเอาเอง และบริจาคลงตู้ตามกำลัง

ฉันและเพื่อนสาวไหว้อธิฐานขอพรและปิดทองด้านนอกเรียบร้อยแล้ว ก็กะว่าจะเข้าไปกราบไหว้พระพุทธรูปหลวงพ่อพระร่วงทองคำองค์โตด้านในพระวิหารอีกครั้ง เมื่อก้าวพ้นประตูฉันแลเห็นถาดเครื่องบูชาหลวงพ่อพระร่วงมีตระกร้อและว่าววางอยู่ ดูแล้วก็แปลกดีเหมือนกัน

พระวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงเป็นศิลปะผสมแบบจีน

ฉันกับเพื่อนสาวก็ได้สักการะท่านด้วยตระกร้อและว่าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยพวกเราก็นั่งพักกายพักใจภายในวิหาร พร้อมคิดอยู่ว่าวัดนี้มีพระร่วงทองคำองค์ใหญ่ แต่ทำไมถึงไม่ค่อยมีใครรู้จักสักเท่าไร และด้วยความอยากรู้ฉันจึงได้ตรงเข้าไปสอบถามกับพระภิกษุสงฆ์ที่นั่งอยู่ในพระวิหาร

พระท่านใจดีมากเล่าให้ฉันฟังตั้งแต่ประวัติของวัดเลยว่า ในอดีตกาลต้นสมัยแผ่นดินพระนั่งเกล้า ฯ รัชกาลที่ 3 กรมหมื่นอุดมรัตนราษี หรือพระองค์เจ้าอรรณพ พระราชโอรสในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อพ.ศ.2393 โดยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระราชทานเงินเพื่อช่วยก่อสร้าง และรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางเมืองเหนือเสาะหาพระพุทธรูปใหญ่มาประดิษฐานเป็นพระประธาน

ครั้นได้พบก็ทรงรับสั่งให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯเพื่อให้ทันกับการฉลองพระอุโบสถและผูกพัทธสีมา แต่เนื่องจากการเดินทางในสมัยนั้นยากลำบาก ยิ่งพระพุทธรูปเป็นองค์ใหญ่ด้วยแล้ว การนำพระพุทธรูปลงแพล่องน้ำมาก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้น ทำให้การเดินทางมาล่าช้า คงไม่ทันกำหนดเวลาที่พระอุโบสถสร้างเสร็จ รัชกาลที่ 3 จึงรับสั่งให้สร้างพระประธานด้วยหินปูนก่ออิฐ และใช้เป็นพระประธานในพระอุโบสถแทนและใช้มาจนปัจจุบัน

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงปลูก พร้อมด้วยต้นที่เจ้าอาวาสในขณะนั้นปลูก

และเมื่อพระพุทธรูปหลวงพ่อพระร่วงถูกอันเชิญมาถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 3 จึงทรงรับสั่งให้สร้างพระวิหารให้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงตั้งแต่ตอนนั้นมา โดยพระวิหารนี้เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะผสมผสานแบบจีน

สังเกตจากไม่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์เหมือนวัดแบบไทย หน้าบันประดับด้วยเครื่องกระเบื้องสีจานเบญจรงค์และรูปมังกร ลายบานประตูเป็นรูปสัตว์ของจีนลงรักปิดทองประดับกระจก ทั้งยังมีรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิมด้านนอกพระวิหารที่แสดงถึงการรับเอาศิลปวัฒนธรรมจีนเข้ามาในยุคนั้นอีกด้วย

สำหรับหลวงพ่อพระร่วงในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปหล่อในสมัยสุโขทัย มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก พระพักตร์อิ่มเอิบมองดูแล้วเหมือนยิ้มนิดๆ นิ้วพระหัตถ์เรียวงาม ไม่มีตำหนิ

หน้าตักกว้าง 1 วา 1 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 1 วา 3 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว องค์พระเป็นโลหะทองและมีรอยต่อ 9 แห่ง หมายถึงความก้าวหน้าโดยใช้หมุดเป็นตัวเชื่อม พระท่านยังบอกอีกว่า พระร่วงองค์นี้เป็นพระร่วงทองคำ ที่กรมศิลปากรเคยมาพิสูจน์แล้วลงความเห็นว่าเป็นเนื้อทองคำถึงประมาณ 60 %

ส่วนฐานชุกชีที่ประดิษฐานยาว 2 วา 1 ศอก 7 นิ้ว กว้าง 2 วา 2 ศอก ถัดจากฐานขึ้นไปเรียกว่า บัลลังก์ ทำเป็นลายดอกบัวและดอกไม้เครื่องกระจังลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสี ซึ่งหลวงพ่อพระร่วงนี้ผู้คนให้ความนับถือเป็นจำนวนมาก และเชื่อว่าท่านชอบตระกร้อและว่าว ผู้ที่มาสักการะท่านจึงนิยมถวายตระกร้อและว่าวด้วย

เจดีย์ทองในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้านบนบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ก็ได้พระราชทานเงินสร้างวัดแห่งนี้ต่อ และพระราชทานนามว่า "วัดมหรรณพาราม" พร้อมทั้งทรงพระราชศรัทธาสร้าง "พระเจดีย์ทอง" ขึ้น 1 องค์ หลังพระอุโบสถ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในวัดนี้ ด้านบนยอดเจดีย์บรรจุ "พระบรมสารีริกธาตุ" ด้านล่างเป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าอาวาส

ก่อนที่ฉันและเพื่อนจะไปเดินเล่นชมรอบๆวัด ตามที่พระท่านได้แนะนำมา ท่านก็ได้เล่าเสริมอีกว่า ที่วัดแห่งนี้ยังเป็นโรงเรียนประถมแห่งแรกด้วย เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ทรงได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงเพื่อสามัญทั่วไปเป็นแห่งแรกขึ้น เมื่อพ.ศ.2427 ณ วัดมหรรณพารามแห่งนี้ ชื่อว่า "โรงเรียนวัดมหรรณพ์" ซึ่งถือเป็นการพระราชทานการศึกษาออกสู่ปวงชนเป็นครั้งแรก ทำให้การศึกษาของชาติได้เจริญพัฒนาไปทั่วประเทศตราบจนปัจจุบัน

พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ผู้พระราชทานการศึกษาออกสู่ปวงชน

จึงถือได้ว่าโรงเรียนวัดมหรรณพ์ เป็น "โรงเรียนประถมแห่งแรกในประเทศไทย" และเมื่อวาระครบ 100 ปีที่พระราชทานการศึกษา จึงได้สร้าง "พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5" ขึ้น เพื่อสักการบูชาในบริเวณวัดมหรรณพ์ ส่วนอาคารด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์ซึ่งดูเก่าแก่นั้น ก็สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของประชาชน

นอกจากนั้นยังมี "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" ที่รัชกาลที่ 5 ทรงนำมาจากประเทศศรีลังการมาปลูกไว้1 ต้น และพระธรรมเจดีย์เจ้าอาวาสปลูกไว้อีก 1 ต้น ปัจจุบันกลายเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ให้ความร่มรื่นร่มเย็น ซึ่งถือเป็นการพระราชทานการศึกษาออกสู่ปวงชนเป็นครั้งแรก ทำให้การศึกษาของชาติได้เจริญพัฒนาไปทั่วประเทศตราบจนปัจจุบัน

บานประตูพระวิหารลวดลายสัตว์แบบจีน

เมื่อฉันและเพื่อนได้ฟังเรื่องราวต่างๆแล้ว ก็กราบขอบพระคุณพระท่านที่ให้ข้อมูลความรู้ด้วยความยินดี จากนั้นก็พากันออกไปเดินชมของดีต่างๆตามที่พระท่านได้แนะนำไว้จนทั่ว และดูเหมือนเพื่อนสาวของฉันจะสบายใจขึ้นมากแล้ว ประจวบกับท้องฟ้าที่มืดลงเรื่อยๆ พวกเราจำได้ลาจากวัดมหรรณพารามแห่งนี้ และฉันก็หวังว่าจากเข้าวัดทำบุญทำจิตใจให้สงบในครั้งนี้ จะทำให้เพื่อนฉันและทุกคนที่เข้าวัดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด มีแรงใจสู้..ในวันข้างหน้าต่อไป

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดมหรรณพาราม ตั้งอยู่ ถนนตะนาว แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-17.00 น. โทร.0-2224-1811

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" โดย คุณหนุ่มลูกทุ่ง



ไปข้างบน