เปิดแหล่งปฏิบัติธรรม ถือศีล-กินเจทั่วกรุง
ชวนคนไทยเชื้อสายจีน-ไทยแท้ร่วมเทศกาลกินเจ 11-19 ตุลาคมนี้ บูชา“กิ่วฮ้วงฮุกโจ้ว”หรือดาวกระบวยทิศเหนือ ร่วมแรงศรัทธา “พุทธ-ขงจื่อ-เต๋า” ถือศีล-ละเว้นการฆ่าและกินเนื้อสัตว์เชื่อได้บุญแรง พร้อมเปิด 8 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์กินเจดังในกทม.
ก้าวเข้าสู่เดือนตุลาคมมาถึง ตามปฏิทินจีนถือว่าเป็นเดือนเก้า ซึ่งวัฒนธรรมจีนพื้นบ้านก็จะมีเทศกาลสำคัญเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ ตามปฏิทินจีนของทุกปี คือ “เทศกาลกินเจเดือนเก้า” หรือ (เก้าอ๊วงเจ) เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน เช่นเดียวกับในไทย “เทศกาลกินเจ”ก็ถือเป็นเทศกาลสำคัญอันหนึ่งที่มีคนเข้าร่วมมากขึ้นทุกปี...
เทศกาลกินเจบูชา“กิ่วฮ้วงฮุกโจ้ว”
เศรษฐพงศ์ จงสงวน นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนามหายาน และผู้ศึกษาค้นคว้าด้านจีน กล่าวว่า เทศกาลกินเจเริ่มขึ้นในเมืองจีน จากพื้นฐานคำสอนของพุทธศาสนานิกายมหายาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การงดเว้นการฆ่าสัตว์ ถือศีล และงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม ซึ่งภายหลังมีการนำไปปฏิบัติแพร่หลายรวมทั้งคนจีนในไทยด้วย แต่อย่างไรก็ตามเทศกาลกินเจนี้ไม่ถือว่าเป็นเทศกาลประจำปีของจีนเหมือนกับสาร์ทจีนหรือตรุษจีน เพราะชาวพุทธจีนจะมีการกินเจในโอกาสต่างๆ ได้ด้วยไม่ใช่เฉพาะช่วงเดือน 9 เท่านั้นคือสามารถกินเจได้ในวันคล้ายวันเกิดของตัวเอง เช่นคนเกิดวันจันทร์อาจกินเจทุกวันจันทร์ วันเกิดลูกหลาน ฯลฯ
โดยการกินเจจะถือปฏิบัติกันเฉพาะสำหรับคนที่เชื่อถือเท่านั้น ซึ่งนอกจากนำเอาแนวคิดทางพุทธศาสนานิกายมหายานมาแล้ว ยังถือเป็นการปฏิบัติที่หลอมรวมกับ เต๋า และขงจื่อ (ขงจื้อ) ด้วย โดย “พุทธมหายาน” เชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ เมตตาธรรม ช่วยเหลือกันและกัน “เต๋า” จะเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามธรรมชาติ เทพเจ้าต่างๆ ที่มีอิทธิฤทธิ์ ส่วน “ขงจื่อ” ก็เป็นเรื่องของความกตัญญู
อย่างไรก็ดี การกินเจในเดือน 9 นี้ คนจีนมีความเชื่อกันว่า เป็นการบูชาดาวฤกษ์ ที่จีนเรียกว่า “กิ่วฮ้วงฮุกโจ้ว” แปลว่าจักรพรรดิแห่งดวงดาวทั้ง 9 หรือเรียกอีกชื่อว่าดาวกระบวยทิศเหนือ ซึ่งเป็นดาวที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดีในชื่อดาวหมีใหญ่นั่นเอง
“คนจีนพื้นเมืองเชื่อกันว่าเป็นดวงดาวที่มีความสว่างมากตลอดปี จึงถือว่าเป็นดาวที่มีความสำคัญต่อชีวิต นอกเหนือจากดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ซึ่งภายหลังมีการนำความเชื่อนี้มาผนวกกับการถือศีลในช่วงเวลา 9 วัน 9 คืนนี้ด้วย”
ดังนั้น เมื่อถึงเทศกาลกินเจเดือนเก้านี้ ก็จะมีการทำพิธีซึ่งนิยมจุดตะเกียง 9 ดวงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของดวงดาวทั้ง 9 ในโรงเจที่จัดเทศกาลกินเจด้วย โดยการกินเจในปีนี้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 11-19 ตุลาคมนี้ โดยคนจีนจะเชื่อว่าต้องกินเจล้างท้องก่อน 1 วันคือวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เพื่อเป็นการชำระล้างร่างกายจิตใจให้สะอาด และจะเริ่มนับว่ากินเจจริงๆ วันที่ 11 ตุลาคม
โดยเมื่อถึงวันที่ 11 ตุลาคม ที่วัด โรงเจ หรือศาลเจ้าที่เข้าร่วมเทศกาลจะเริ่มมีการเชิญเทพเจ้ามาประทับในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ และคนที่นับถือหรือคนที่มีความตั้งใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจก็จะไปตามที่ต่างๆ เพื่อทำการสวดมนต์ ประกอบพิธีบูชาในวันแรก และอธิษฐานจิตด้วยว่าจะเริ่มถือศีลกินเจแล้ว และจะกินเจกี่วัน ซึ่งสามารถกินเจได้ตามที่แต่ละคนต้องการคือสามารถกินแค่บางมื้อก็ได้ หรือจะกินแค่ 1 วันก็ได้เช่นกัน
สำหรับคนที่กินเจครบทั้ง 9 วัน หลังจากวันแรกก็จะมาอีกในวันที่ 3 วันที่ 6 และวันที่ 9 ของการกินเจ ที่จะมีคนมาโรงเจหรือศาลเจ้ามากที่สุด เพราะเชื่อว่าพอกินเจไปได้ 3 วัน 6 วัน จะต้องไปจุดธูปเทียนบูชาเทพเจ้าเพื่อแจ้งว่าได้กินเจมา 3 วัน 6 วันแล้ว ส่วนวันที่ 9 หรือวันสุดท้ายของการกินเจ ก็จะมาจุดธูปเทียนบูชาเทพเจ้าและอธิษฐานจิตเพื่อเป็นการบอกว่าจะออกจากการกินเจแล้ว
“ปีนี้อยากชวนคนไทยที่ไม่ได้มีเชื้อสายจีนให้เข้าร่วมกันมากๆ เพราะจริงๆ แล้วไม่ได้ห้ามไว้ หรือเป็นสถานที่ให้คนไทยเชื้อสายจีนเข้ามาบูชาเท่านั้น และการถือศีลกินเจถือว่าเป็นการได้บุญอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะทำแค่ปีละ 9 วัน แต่ก็ได้ละเว้นการฆ่าชีวิตสัตว์ในขณะเดียวกัน การมาร่วมบูชาเทพเจ้าในวัด โรงเจ ต่างๆ ก็จะทำให้เกิดแรงศรัทธาที่ช่วยให้จิตใจเราบริสุทธิ์มากขึ้นได้ด้วย”
เปิด 8 สถานที่กินเจชื่อดังในกทม.
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถือศีลกินเจและอยากไปไหว้บูชาเทพเจ้าตามโรงเจ หรือศาลเจ้าต่างๆ ก็สามารถไปในวันอื่นๆได้ด้วย และไปได้ทั้งวัน เพราะคนจะไม่หนาแน่นมาก แต่ทุกครั้งที่ไปจำเป็นจะต้องแต่งชุดสีขาว เพราะเป็นความเชื่อและเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาด้วย
สำหรับผู้ที่จะเริ่มกินเจครั้งแรกและยังไม่ทราบว่าจะไปเข้าร่วมพิธีที่โรงเจหรือศาลเจ้าไหนได้บ้าง ขอแนะนำว่าในกรุงเทพฯ จะมีโรงเจอยู่ 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ โรงเจแบบพุทธศาสนานิกายมหายานจะมีการนิมนต์พระมาสวดอวยพรด้วย จะมีการทำพิธีอยู่ 4 วัดที่สำคัญคือ “วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน้ยยี่”, “วัดโพธิ์แทนคุณาราม” สาธุประดิษฐ์, “วัดทิพยวารีวิหาร” แถวๆบ้านหม้อ,และ “วัดบำเพ็ญจีนพรต” ย่านเยาวราช นอกจากนั้นในต่างจังหวัดก็มีอีกหลายที่แต่ที่มีชื่ออยู่ที่กาญจนบุรีคือวัดโพธิ์เย็น ท่ามะกา และวัดฉื่อฉาง ในอำเภอเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ส่วนโรงเจอื่นๆ ในกรุงเทพฯ นั้นที่สำคัญจะมีอยู่ 4 แห่งด้วยกัน คือ “ศาลเจ้าโจวซือกง” ตลาดน้อย ซึ่งเป็นโรงเจที่เป็นแหล่งการกินเจแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ก็มี “โรงเจบุญสมาคม” ถนนราชวงศ์ ซึ่งสืบทอดประเพณีกินเจกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ก็มี “ศาลเจ้าแม่ชิกเซี้ยม่า” แถวบริเวณหัวลำโพง ไปทางฝั่งธนบุรีจะมี “ซอยโรงเจ” ถนนเทิดไทย ตลาดพลู ซึ่งเป็นจุดกินเจเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่สำคัญในฝั่งธนบุรี ด้วย
เริ่มง่ายได้ที่บ้าน
อย่างไรก็ดี นอกจากจะมากินเจที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แล้ว สามารถกินเจได้ที่บ้านเช่นเดียวกัน โดยแม้ว่าสมาชิกในบ้านจะไม่ได้กินเจทุกคน แต่ก็ถือกันว่าให้ใช้ชุดอุปกรณ์การกินข้าว การทำกับข้าวอีก 1 ชุด แต่ทางความเชื่อของพุทธมหายานนั้นก็จะไม่ได้เคร่งมากเรื่องอุปกรณ์ ให้เน้นเรื่องการละเว้นชีวิต และการถือศีลเป็นหลัก
สำหรับคนที่ไปโรงเจต่างๆ สิ่งสำคัญคือจะได้สัมผัสกับแรงศรัทธาของผู้ที่ตั้งใจถือศีลกินเจด้วยกัน ก็จะได้รับความอิ่มอกอิ่มใจ เป็นเหมือนได้พลังจากบรรยากาศของพิธีกรรม ได้เพื่อนที่ปฏิบัติเหมือนๆ กัน นอกจากนี้ยังได้ทำบุญรูปแบบอื่นๆ ด้วยเช่น บริจาคข้าวสาร อาหารเจ ปล่อยนกปล่อยปลา ช่วยเหลือสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ ซึ่งโรงเจต่างๆ ก็ไม่ได้จำกัดว่าให้เฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน แต่เปิดกว้างให้คนทุกคนสามารถไปเข้าร่วมพิธีได้ด้วย
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"
|