“พระพยอม” ชี้ “ภิกษุสันดานกา” สื่อความได้ตรงจุด-เสฐียรพงษ์ชี้จุดประกายวงการสงฆ์ให้ตื่นตัว
ภาพ “ภิกษุสันดานกา”
“พระพยอม – เจ้าคุณพิพิธ” ระบุภาพ “ภิกษุสันดานกา” สื่อได้ตรงจุด พร้อมตำหนิพระที่ไม่เคยอ่านหนังสือของท่านพุทธทาส จะรู้สึกเดือดดาล เพราะไม่เข้าใจภาพ ขณะที่ราชบัณฑิตมองเป็นเรื่องดี กระตุ้นวงการสงฆ์ไทยให้ตื่นตัว ตระหนักถึงปัญหาผู้ที่อาศัยผ้าเหลืองหากิน ด้าน ม.ศิลปากร นัด กก.ตัดสินภาพ ถกชี้ชะตา ภาพ “ภิกษุสันดานกา” ส่วนฝ่ายต้านไม่หยุด เตรียมบุกทำเนียบ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ
นับตั้งแต่องค์กรทางพระพุทธศาสนา 53 องค์กร พยายามกดดันให้ มหาวิทยาลัยศิลปากร(มศก.) ถอดถอนรางวัล และระงับการแสดงภาพ “ภิกษุสันดานกา” ของนายอนุพงษ์ จันทร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ชนะเลิศจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 อยู่หลายครั้ง และพรุ่งนี้ (9 ต.ค.) จะไปพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่ วันนี้ (8 ต.ค.) มศก.ได้จัดพิมพ์หนังสือจำนวน 2 พันเล่น โดยรวบรวมความคิดเห็น เกี่ยวกับภาพ “ภิกษุสันดานกา” ที่สอบถามความคิดเห็นจากพระชั้นผู้ใหญ่ พระนักปฏิบัติ พระผู้นำทางศาสนา นักปราชญ์ ราชบัณฑิตทางด้านศาสนา เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน หรืออ่านเว็บ www.su.ac.th
ภาพ “ภิกษุสันดานกา”
ทั้งนี้ มศก.สอบถามความคิดเห็นจากบุคคลที่มีความรู้ทางด้านศาสนาพุทธเป็นอย่างดี อาทิ พระเทพวิสุทธิกวี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว พระราชวิจิตรปฏิภาณ (เจ้าคุณพิพิธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต ฯลฯ เพื่อจะได้ทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพดังกล่าว
พระเทพวิสุทธิกวี กล่าวว่า เห็นภาพแล้วรู้สึกไม่สบายใจ อีกทั้งในพระไตรปิฎก ก็ไม่มีการกล่าวถึงภาพในลักษณะดังกล่าว ปัญหาที่เกิดในขณะนี้ เพราะคณะกรรมการที่ตัดสินภาพมีอัตตาสูง แสดงให้เห็นว่าความคิดของคณะกรรมการมองพระเชิงลบ
พระพยอม กัลยาโณ กล่าวว่า ผู้ที่เคยอ่านหนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หรือหนังสือของท่านพุทธทาส จะเข้าใจภาพภิกษุสันดานกา แต่ถ้าเป็นพระที่ไม่เคยอ่านก็จะเกิดความเดือดดาล ส่วนตัวแล้วเข้าใจความหมายของภาพที่ศิลปินต้องการจะสื่อออกมาว่าปัจจุบันยังคงมีพระแบบนี้อยู่ ซึ่งผู้ที่ถูกติเตียนก็ควรยอมรับความจริงกันบ้าง เพราะพระพุทธเจ้าสอนว่าให้ยอมรับคำตำหนิติเตียนจากผู้อื่น
ภาพที่มีลักษณะเดียวกันกับ ภาพ “ภิกษุสันดานกา”
พระราชวิจิตรปฏิภาณ บอกว่า ภาพนี้ทำให้พระผู้ใหญ่หนักใจ เพราะว่าอาจจะไปเกี่ยวข้องกับใคร และยังเป็นภาพที่บอกอะไรหลายอย่างให้กับสภาวะการปกครองของคณะสงฆ์ไทย ภาพนี้เป็นการสะท้อนจิตวิญญาณของคนห่วงพระพุทธศาสนา เพื่อให้สังคมวิจารณ์ และประจักษ์ อันที่จริงภาพนี้ควรไปติดไว้ตามวัดด้วยซ้ำ
ด้าน นายเสฐียรพงษ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ภาพที่สื่อออกมาเป็นเรื่องจริงที่เกิดในสังคม และเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นสังคมสงฆ์ให้ได้ตระหนักถึงปัญหา ในขณะที่ นายญาณวิทย์ กุญแจทอง รักษาราชการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ตนได้นำความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพภิกษุสันดานกา ทำเป็นหนังสือส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แล้ว พรุ่งนี้ (9 ต.ค.) เวลา 10.00 น.ที่สำนักงานอธิการบดี มศก.จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินภาพ แล้วจะนำความคิดเห็นทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อพิจารณาหาข้อยุติเกี่ยวกับการจัดแสดงภาพภิกษุสันดานกา
ส่วนที่องค์กรทางพระพุทธศาสนาฯ ระบุว่า ภาพภิกษุสันดานกา เคยจัดแสดงที่ประเทศสิงคโปร์นั้น ตนยืนยันว่า ไม่ใช่ภาพนี้อย่างแน่นอน เพราะผลงานทุกชิ้นที่เข้าประกวดในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ มีเงื่อนไขต้องไม่เคยนำไปแสดงที่ไหนมาก่อน
“ผมไม่ได้โทร.ไปสอบถาม อ.อนุพงษ์ ถึงเรื่องนี้ รางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลที่มีเกียรติที่สุดในประเทศไทย ศิลปินที่ส่งผลงานเข้าประกวดส่วนใหญ่ทุ่มเทเพื่องานนี้โดยเฉพาะ และคงไม่เอาผลงานที่เคยไปแสดงที่อื่นก่อนมาเข้าประกวดแน่นอน หากคณะกรรมการตรวจพบจะถูกถอดถอนรางวัล” นายญาณวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|