หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ถ้า “สงฆ์” ดี(จริง)...ใยต้องเดือดร้อนกับ “ภิกษุสันดานกา”?

ภาพ “ภิกษุสันดานกา”

ความพยายามก่อกระแสต้านภาพ “ภิกษุสันดานกา” โดยพระสงฆ์-ฆราวาสกลุ่มหนึ่ง ที่ยังคงดึงดันให้ผู้เกี่ยวข้องต้องถอนรางวัลและงดแสดงภาพดังกล่าว โดยอ้างว่า เป็นภาพที่หมิ่นสงฆ์-ย่ำยีพระพุทธศาสนานั้น กำลังเกิดคำถามสะท้อนกลับไปยังสงฆ์-ฆราวาสกลุ่มนี้ว่า ทำไมต้อง “กินปูนร้อนท้อง” ทั้งที่ภาพนี้ ต้องการเตือนสติสังคมและตีแผ่มุมมืดที่กำลังบั่นทอนศรัทธาวงการสงฆ์ และแทนที่ผู้ประท้วงกลุ่มนี้จะเคลื่อนไหวเพื่อให้นำไปสู่การ “สังคายนา” แก้ปัญหานักบวชจอมปลอมที่ยังเต็มไปด้วยตัณหาราคะ-เข้ามาอาศัยผ้าเหลืองหากิน กลับพยายามจี้ให้ทุกฝ่ายรีบเก็บภาพดังกล่าวเสีย ...ทำไมช่างทำราวกับว่า เรื่องไม่ดีต้อง “ซุก” ไว้ อย่าให้ใครรู้ เริ่มน่าสงสัยแล้วว่า ผู้ประท้วงกลุ่มนี้ ต้องการปกป้องพระพุทธศาสนาแน่หรือ??

ดูเหมือนพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยอกหักจากการประท้วงเรียกร้องให้มีการบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติใน รธน. ที่นำโดยพระมหาโชว์ ทัศนีโย แกนนำสมัชชาชาวพุทธแห่งชาติ และแกนนำศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะยังไม่ยอมรามือง่ายๆ จากการประท้วงภาพ “ภิกษุสันดานกา” ของนายอนุพงษ์ จันทร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาจิตรกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่คว้ารางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53

ขณะที่รูปแบบการเคลื่อนไหวของสงฆ์กลุ่มนี้ ก็มิได้เคลื่อนไหวโดยลำพัง แต่จับมือกับฆราวาสที่นำโดย นายเสถียร วิพรมหา เลขาธิการองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ผู้ซึ่งเคยไปเคลื่อนไหวด่าทอศาลกรณีตัดสินจำคุกอดีต 3 กกต.จนโดนข้อหาหมิ่นศาลไปแล้ว และบัดนี้ กำลังขะมักเขม้นกับผลงานชิ้นใหม่ คือเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร, รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีให้สั่งระงับการแพร่ภาพภิกษุสันดานกา และถอนรางวัลคืนจากภาพดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นภาพที่ดูหมิ่นสงฆ์และทำลายพระพุทธศาสนา นายเสถียรยังอ้างด้วยว่าการเรียกร้องครั้งนี้เป็นความต้องการขององค์กรเครือข่ายพุทธศาสนา 53 องค์กร!?!

แม้คณะกรรมการตัดสินรางวัลบางท่านจะออกมายืนยันแล้วว่า ภาพดังกล่าวมีคุณค่าและศิลปินมีเจตนาที่ดี ขณะที่ตัวศิลปินเจ้าของภาพก็ชี้แจงแล้วว่า ตนไม่ได้เขียนภาพพระ แต่เขียนภาพเปรต ซึ่งหมายถึงคนที่เข้ามาบวชเพียงเพื่ออาศัยผ้าเหลืองหากินหรือหาประโยชน์จากแรงศรัทธาของชาวบ้าน ขณะที่พระผู้ใหญ่หลายท่าน รวมถึงนักปราชญ์ ราชบัณฑิต ต่างก็ยืนยันว่าภาพดังกล่าวไม่ได้หมิ่นสงฆ์ เพราะเป็นการนำคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่แล้วในพระไตรปิฎกมาถ่ายทอดเป็นภาพ และขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีพระปลอมๆ พระลามก พระมั่วสีกาตกเป็นข่าวแทบไม่เว้นแต่ละวัน!

แต่ดูเหมือนสงฆ์และฆราวาสกลุ่มนี้จะไม่ยอมเข้าใจหรือรับความจริงไม่ได้ จึงได้เดินหน้าเรียกร้องต่อเนื่อง และพยายามทุกทางที่จะทำให้ข้อเรียกร้องของตนบรรลุจุดมุ่งหมาย ไม่ว่าจะเป็นการยกภาพเขียนชิ้นอื่นของนายอนุพงษ์ออกมาดิสเครดิตด้วย เช่น ภาพ “หมา-นุษย์” โดยอ้างว่า ภาพนี้ยิ่งลบหลู่สงฆ์มากกว่าภาพภิกษุสันดานกาอีก

ภาพ “หมา-นุษย์”

ซึ่ง นายอนุพงษ์ จันทร ในฐานะศิลปินเจ้าของภาพ ก็ได้อธิบายความหมายที่ต้องการสื่อว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพของเปรตซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานที่มีลักษณะคล้ายๆ หมากับมนุษย์ผสมผสานกันอยู่ เพื่อเตือนสติว่าถ้าคนเราไม่ยกระดับจิตใจหรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ในที่สุดก็จะมีรูปลักษณ์ตามผลของกรรมนั้นๆ

“ในความหมายของผมก็คือ ถ้าเกิดคนเราไม่ยกระดับจิตใจของตัวเองแล้ว ถ้าหากว่ามีพฤติกรรมหรือมีการประพฤติตนบางอย่างไม่แตกต่างไปจากสัตว์เดรัจฉานเนี่ย จิตใจมันก็ต่ำอยู่อย่างนั้น ...และลักษณะของงานก็คือ เป็นภาพของสัตว์เดรัจฉานที่มีลักษณะคล้ายๆ หมากับมนุษย์ผสมผสานกันอยู่ และภาพที่สื่อไปตรงนี้สื่อในลักษณะของการสร้างภาพเหนือจริง เพราะเรื่องของเปรตมันเป็นเรื่องเหนือจริง หมายถึงตัวลักษณะรูปทรงของเปรต มันมีการผสมผสานระหว่างสัตว์เดรัจฉานบ้างอะไรบ้างต่างๆ นานาถ้าเราไปศึกษาในพระไตรปิฎก หรือในสมุดภาพที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนรกภูมิหรือเปรตภูมิ เพราะฉะนั้นคนที่ทำชั่วทำบาปต่างๆ มันก็มีรูปลักษณ์จากผลของกรรมนั้นๆ”

เมื่อภาพ “หมา-นุษย์” ไม่สามารถจุดกระแสได้ตามที่ผู้ประท้วงต้องการ สังคมจึงได้เห็นมุขใหม่ โดยผู้ประท้วงได้ออกมาแฉว่า มีภาพภิกษุสันดานกาของนายอนุพงษ์แสดงอยู่ในงานที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถ้าเผอิญเป็นเรื่องจริง ทางคณะกรรมการฯ ต้องถอนรางวัลภาพดังกล่าวคืน เพราะภาพที่ส่งเข้าประกวดจะต้องไม่เคยแสดงที่ใดมาก่อน แต่ในที่สุดผู้ประท้วงก็ต้องหน้าแตก เพราะนายอนุพงษ์ ศิลปินเจ้าของภาพ ยืนยันแล้วว่าภาพที่แสดงที่สิงคโปร์ไม่ใช่ภาพภิกษุสันดานกา เพราะภาพภิกษุสันดานกาทำขึ้นเพื่อส่งเข้าประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งนี้โดยเฉพาะ

เมื่อข้อเรียกร้องยังไม่บรรลุผล พระและฆราวาสที่ประท้วงจึงได้งัดไม้ตายออกมาขู่ว่า หากไม่มีการงดแสดงภาพภิกษุสันดานกาและไม่ถอนรางวัลคืน จะฟ้องอาญาทุกคน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเจ้าของภาพ คณะกรรมการตัดสินรางวัล (ซึ่งประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิถึง 18 คน) รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรที่เกี่ยวข้อง!?!

ผศ.ญาณวิทย์ กุญแจทอง รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ถ้าผู้ประท้วงจะฟ้องจริงๆ คณะกรรมการที่ตัดสินรางวัลก็ไม่มีปัญหา เพราะกรรมการทุกคนมีศักดิ์ศรีและตัดสินรางวัลที่คุณภาพ

“ถ้าไม่เข้าใจแล้ว ก็พูดกันลำบาก ถ้าเขาจะฟ้องก็ คือเท่าที่มีเสียงคณะกรรมการแต่ละท่าน เขาก็บอกว่าเขาไม่มีปัญหาอะไร เพราะเจตนากรรมการก็ตัดสินไปด้วยคุณภาพ กับงานที่ศิลปินเขาสร้างออกมา และกรรมการทุกท่านมีศักดิ์ศรีพอ”

ขณะที่ นายอนุพงษ์ ศิลปินเจ้าของภาพภิกษุสันดานกา ก็ยืนยันว่า ไม่หวั่นไหวหากถูกฟ้อง เพราะตนมีเจตนาที่ดีในการสร้างงานชิ้นนี้

“ผมไม่หวั่นไหวกับการฟ้องร้องนะ ผมคิดว่าตัวเจตนาเป็นตัวตัดสินว่า เรามีเจตนาดีหรือไม่ดี อย่างที่ผมกล่าวไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เจตนาของผมคือ ต้องการปกป้องพระพุทธศาสนาของผมเหมือนกัน แต่มันสื่อออกมาในลักษณะของภาพเขียน ภาพเขียนก็เป็นการสร้างหรือกระตุ้นจิตสำนึกที่ดีของคนว่า คุณอย่าทำบาป ถ้าคุณทำอย่างนี้ไปแล้วเนี่ย คุณต้องมีผลของกรรมออกมาในรูปลักษณะแบบนี้นะ ซึ่งโบราณเขาก็เขียนเอาไว้”

ลองไปฟังทัศนะของฝ่ายต่างๆ ว่าจะรู้สึกอย่างไร ที่ผู้ประท้วงขู่จะฟ้องทุกคนที่เกี่ยวข้องกับภาพภิกษุสันดานกา

ภิกษุณีธัมมนันทา แห่งวัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม บอกว่า ถ้าฟ้องจริง ก็ไม่เป็นไร ความจริงจะได้ปรากฏ และว่า จริงๆ แล้ว ต้องขอบคุณศิลปินเจ้าภาพของภาพภิกษุสันดานกาที่นำข้อมูลในพระไตรปิฎกมาสะท้อนเป็นภาพ ซึ่งพระที่ดีก็ไม่ควรจะติดใจภาพสะท้อนดังกล่าว แต่ควรตรวจสอบตัวเองว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

“มันอยู่ในพระไตรปิฎกนะ ไม่ใช่ศิลปินคนนั้นเป็นคนพูดนะ มันเป็นข้อมูลที่อยู่ในพระไตรปิฎกเอง เป็นพระพุทธบัญญัติว่า ถ้าหากว่าพระเราทำตัวเหมือนกา มีลักษณะ 10 อย่างอย่างนี้ ก็เรียกว่า ภิกษุสันดานกา มีหนังสือที่ให้ตรวจสอบภิกษุนะ วางขายตามท้องตลาด ที่เขาคัดเอาตรงนี้ลงมาเลย ยิ่งไปกว่านั้นนะ เพราะฉะนั้นหลวงแม่มองว่า เราเป็นพระ ถ้าหากว่าชาวบ้านเขาว่าอะไร เราต้องฟัง และเราต้องไม่ทำตัวอย่างนั้น ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ พระพุทธเจ้าเหมือนกับเป็นการพยากรณ์ล่วงหน้าว่า ถ้ามีการทำอย่างนี้เนี่ย จะไม่ได้รับความศรัทธาจากชาวบ้าน และจะเป็นการทำให้พระศาสนาเสื่อมเสีย จึงเตือนสติเอาไว้ ถ้าหากว่าเราเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราก็ควรจะมีความมั่นคง แต่ถ้าหากว่าเราอาจจะทำอะไรผิดพลาดไป เราน่าจะได้ตรวจสอบตัวเอง”

ด้าน อ.ปรีชา สุวรรณทัต นายกสภามหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล นครราชสีมา และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า นอกจากภาพภิกษุสันดานกาจะไม่หมิ่นสงฆ์แล้ว ยังเป็นการตักเตือนให้คนเราเห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาด้วย และว่า หากผู้ประท้วงฟ้องศิลปินและคณะกรรมการตัดสินฯ จริงๆ ก็ให้ฟ้องไป เพราะยังไงก็ไม่สามารถเอาผิดได้ไม่ว่าจะทางอาญาหรือแพ่งก็ตาม

“ในแง่กฎหมาย ความผิดเกี่ยวกับศาสนาตามประมวลกฎหมายอาญาเนี่ย ไม่มีโทษในเรื่องนี้เลย ไม่มีอะไรเข้าข่ายเลย ความผิดเกี่ยวกับศาสนาก็มีเรื่องของการกระทำต่อวัตถุในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูปอย่างนี้ เป็นลักษณะของการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือเรื่องของการแต่งกายใช้เครื่องหมายที่ไม่ได้เป็นพระภิกษุ และเข้าไปก่อให้เกิดการรบกวนในที่ประชุมสงฆ์ อันนี้ผมยืนยันได้ กฎหมายอาญามีเพียง 3 เรื่อง 3 มาตราซึ่งเป็นความผิดอาญา ในด้านละเมิดทางแพ่ง ก็ไม่มีอะไรเข้าข่ายเลย”

ขณะที่ อ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มองการประท้วงภาพภิกษุสันดานกาของสงฆ์ และฆราวาสกลุ่มนี้ว่า เป็นเพราะบางคนมองพระสงฆ์เป็นเหมือนพระพุทธรูป จะแตะต้องไม่ได้ จะมีรูปพระสงฆ์ในทางไม่ดีออกมาไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะพระสงฆ์ก็เป็นคนธรรมดา มีทั้งดีและไม่ดี และถูกวิจารณ์ได้เป็นเรื่องธรรมดา และที่สำคัญ ภาพนี้ก็วิจารณ์พระสงฆ์ที่ไม่ดี ไม่ใช่พระสงฆ์ที่ดี

“ผมก็มองว่าเป็นการวิจารณ์พระสงฆ์ที่ไม่ดี เพราะพระสงฆ์ก็เป็นคนธรรมดา ก็มีทั้งคนดีคนไม่ดี ในประวัติศาสตร์ก็จะมี พระพุทธเจ้าก็พูดออกมา ก็แสดงว่ามีพระที่ไม่ดี พระที่ไม่ดีก็โดนจับสึก โดนลงโทษลงอะไรต่างๆ นานา โดนวิจารณ์ได้เป็นเรื่องธรรมดา (ถาม-บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ทีพระลามกมั่วสีกา ไม่เห็นพระเหล่านี้ออกมาประท้วงหรืออะไรบ้างเลย?) ก็เห็นด้วยนะ จริงๆ แล้วต้องมีการสังคายนา ปฏิรูปพระพุทธศาสนา หมายความว่าน่าจะมีการดูแลเรื่องวินัยสงฆ์หรือให้พระมีการศึกษามากขึ้น ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็บวชได้ ถ้าบวชแล้วทำอะไรก็ได้ มันบ่อยเกินไป แล้วก็ไปโทษว่าเป็นปัจเจกชนเนี่ยไม่ได้ องค์กรสงฆ์ต้องดูแล เวลาเกิดพระไม่ดีขึ้นมาเนี่ย ไปโทษว่าเป็นปัจเจกชน แล้วทำไมคุณปล่อยให้มีการบวช ทำไมไม่มีการดูแล น่าจะมีการปฏิรูปเรื่องนี้ ไหนๆ ก็เกิดเรื่องแบบนี้แล้ว ก็น่าจะมีการถกเถียงกันให้ประชาชนฉลาดขึ้น จะได้มีปัญญาในการมองพุทธศาสนามากขึ้น”

ด้าน นายสมภพ บุตรราช ศิลปินร่วมสมัยชื่อดัง มองภาพภิกษุสันดานกาว่า นอกจากจะไม่ได้หมิ่นสงฆ์แล้ว สงฆ์น่าจะได้ประโยชน์จากภาพนี้ด้วยซ้ำ เพราะศิลปินสะท้อนภาพให้เห็นว่า สังคมขณะนี้กำลังมองหรือมีความรู้สึกต่อพระสงฆ์อย่างไร เพราะพฤติกรรมของพระที่ไม่ดีมีปรากฏให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ ดังนั้นแทนที่จะออกมาต่อต้าน น่าจะสังคายนาตนเองมากกว่า โดยดูพฤติกรรมของพระสงฆ์พม่าเป็นตัวอย่าง

“ถ้าเปรียบเทียบ สงฆ์เราที่มาประท้วงเนี่ยประท้วงเพื่อตัวเองนะ ไม่ได้ประท้วงเพื่อศาสนาเท่าไหร่ผมว่า และไม่ได้ทำให้คนอื่นด้วย อย่างพระพม่าเขายังประท้วงเพื่อสิทธิเสรีภาพ แต่ของเราประท้วงเพื่อสิทธิของตัวเอง อย่างคราวที่แล้วที่ (สงฆ์บางส่วนเรียกร้อง) ให้บรรจุศาสนา(พุทธเป็นศาสนาประจำชาติใน รธน.) ก็แสดงความคิดเห็นได้ แต่การออกมาประท้วงมาทำโน่นทำนี่ มันยิ่งแย่ยิ่งกว่าชาวบ้านอีก ผมว่าสงฆ์น่าจะสังคายนาตัวเองได้แล้ว ผมว่าต้องมาคุยกัน พระผู้ใหญ่ด้วย มันไม่เหมาะไม่ควร มาคุยกันดีดีในลักษณะแบบให้ชี้แจงต่อกัน ไม่ใช่มาบังคับให้เขาต้องถอนรางวัล”

ขณะที่ นายถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะและอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองการประท้วงภาพภิกษุสันดานกาของสงฆ์และฆราวาสกลุ่มนี้ว่า สะท้อนว่าคนเรามักชอบให้พูดแต่ด้านดี ส่วนด้านไม่ดีก็ซุกเอาไว้ ทั้งที่งานศิลปะต้องสะท้อนความจริงของสังคมทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านดีและด้านที่เหลวแหลก จึงไม่เข้าใจว่า ผู้ประท้วงจะประท้วงทำไม ประท้วงเพราะกลัวว่า ถ้าเรื่องนี้ถูกเปิดเผยแล้ว เดี๋ยวเรื่องไม่ดีอื่นๆ จะถูกเปิดเผยตามมา หรือประท้วงเพราะเห็นดีเห็นงามกับการกระทำชั่วๆ ที่อยู่ในพุทธศาสนา

“ถ้าไม่มีเรื่องราวแบบนี้ ภาพนี้ก็ไม่มี เพราะศิลปินเขาก็เขียนจากความจริงที่มันเกิดขึ้น แต่ไม่มีใครอยากไปพูด เรามักจะพูดในแง่ที่พูดไม่ได้ เป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งบ้านเรามันเยอะเกินไปแล้วผมว่า มันขาดระบบการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงมิติทั้ง 2 ด้าน เรามักจะพูดแต่ด้านดี ด้านไม่ดีเรามักจะละเลยและนิ่งเฉย โดยเฉพาะในเรื่องของศาสนา ไม่มีใครไปแตะ ใครแตะก็เป็นเรื่องทันที ทั้งๆ ที่มันมีเรื่องความชั่วร้าย พระเสพเมถุน พวกอลัชชี พวกปลุกเสกสารพัด ไม่เห็นมีใครมาต่อต้าน แต่พอแค่เป็นผลงานศิลปะ ทำไมเดือดร้อนกันเกินเหตุ อันนี้ผมว่า จริงๆ แล้วพระที่มาต่อต้านหรือคนที่มาต่อต้านเคยดูงานศิลปะ รู้เรื่องศิลปะหรือเปล่าก็ไม่รู้ ศิลปะมันควรเป็นเรื่องราวที่สะท้อนได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความงดงามหรือความชั่วร้าย ความเหลวไหลเหลวแหลก มันก็ควรจะสะท้อนในตัวของมันเองออกมา เพียงแต่ว่ากลุ่มนี้อาจจะมองว่า ไม่อยากให้เปิดเผยเท่านั้นเอง เพราะถ้าเกิดว่ามาเปิดเผยเรื่องนี้ แล้ว เกรงว่าเรื่องอื่นมันก็จะถูกเปิดเผยด้วย”

“ผมคิดว่างานนี้ถ้า(ผู้ประท้วง) ฟ้อง มันก็จะยิ่งถูกเปิดเผยมากขึ้น เพราะเรื่องที่ศิลปินวาดก็มีอยู่ในพุทธวัจนะที่บันทึกเอาไว้ เรื่องของกา เรื่องของหมา เรื่องอะไรต่อมิอะไร มีอยู่ในพระไตรปิฎกด้วยซ้ำไป มันไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่ศิลปิน คือศิลปินไม่ได้คิดขึ้นมาเองหรือเขียนขึ้นมาเองจากจินตนาการว่าอยากประชดประชัน แต่เขาเขียนจากเรื่องราวที่มีอยู่และมาปรับประยุกต์ให้มันสอดคล้องกับสังคมร่วมสมัยเท่านั้นเอง และผมคิดว่างานจิตรกรรมฝาผนังเก่าๆ ที่มีอยู่ตามวัดตามวา ก็มีเยอะแยะที่เขียนสะท้อนความจริงทางสังคมแบบนี้ ในเรื่องของการทำชั่วของพระสงฆ์องค์เจ้าที่ประพฤติตัวไม่ดีจะต้องได้รับโทษอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ผมถึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้น พระหรือฆราวาสกลุ่มนี้ก็ไปลบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มันมีเรื่องราวที่ไม่ดีของตัวเองทิ้งให้หมดทั่วประเทศเลย จะได้ไม่ต้องมีใครรับรู้”

นายถนอม ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้แต่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ยังออกมาปกป้องและร่วมเคลื่อนไหวกับสงฆ์และฆราวาสกลุ่มนี้ ด้วยการหาช่องทางทางกฎหมายเพื่อฟ้องดำเนินคดีศิลปินเจ้าของภาพภิกษุสันดานกาและผู้เกี่ยวข้อง แต่ทำไมทางฝ่ายศิลปินซึ่งมีองค์กรที่รู้เกี่ยวกับงานศิลปะอย่างดี อย่าง”สำนักงานศิลปะร่วมสมัย”(สศร.) กลับพากันนิ่งเฉย ไม่ลุกขึ้นมาอธิบายให้สังคมได้รับรู้ว่า ผลงานชิ้นนี้สะท้อนอะไร ทั้งที่สังคมกำลังรอรับการอธิบายจากผู้รู้อยู่ ซึ่งภาวะนิ่งเฉยนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากสำหรับสังคมไทยขณะนี้

นายถนอม ในฐานะนักวิจารณ์ศิลปะและอาจารย์สอนศิลปะ ยังแสดงความเห็นด้วยว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรต้องจัดแสดงภาพภิกษุสันดานกาต่อไป เพราะการที่คณะกรรมการฯ ตัดสินให้รางวัลแก่ผลงานชิ้นใด โดยมองว่าเป็นผลงานที่มีคุณค่าและสะท้อนสังคมได้สุดยอดแล้ว ต้องให้ผลงานชิ้นนั้นได้ปรากฏต่อสาธารณชน ไม่ใช่นำไปเก็บไว้(เพียงเพราะมีคนบางกลุ่มออกมาต่อต้าน) เพราะคุณค่าและความหมายของภาพทุกภาพอยู่ที่ว่า ภาพนั้นได้ทำงานของมันหรือไม่ โดยภาพจะทำงานของมันได้ ก็ต่อเมื่อได้แสดงต่อสาธารณะ ซึ่งภาพภิกษุสันดานกาได้ทำงานของตัวเองแล้ว โดยเป็นตัวแทนของการวิพากษ์วิจารณ์สังคมของสงฆ์ได้อย่างดีแล้ว!!

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"โดย คุณอมรรัตน์ ล้อถิรธร



ไปข้างบน