พระปัญญานันทภิกขุ...ภิกษุสี่แผ่นดิน
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
แม้วันนี้ “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” หรือ “พระพรหมมังคลาจารย์” จะมีอายุมากถึง 96 ปี แต่ทุกวันของท่านยังคงดำเนินไปเพื่อกิจแห่งพระพุทธศาสนา ทั้งการเทศน์สั่งสอนประชาชนจนถึงการชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ โดยทุกๆ เช้าวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ การแสดงปาฐกถาธรรมโดยหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้ดำเนินมากว่า 50 ปี จนเรียกได้ว่าเป็นประเพณีหนึ่งของพุทธศาสนิกชน
หลวงพ่อได้เล่าให้ญาติโยมอย่างติดตลกว่า สำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบรางวัล “พระแก่” ให้หลวงพ่อ เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนความดี ในฐานะที่ “แก่แล้วแต่ยังไม่หยุดทำงาน”
ภาพหลวงพ่อนั่งบนรถเข็นไปตามทางเดินในวัด พร้อมกับใบหน้าที่ยิ้มแย้มของบรรดาศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างนั่งลงกราบไหว้ตามทางที่หลวงพ่อไป หลวงพ่อจะยกมือทักทาย จับศีรษะเด็กๆ ที่มาเป็นกราบไหว้ข้างๆ รถเข็นด้วยความเมตตา
หลายคนอาจไม่ทราบว่าหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุมี “พี่น้องร่วมสาบาน” ใน “ยุทธจักรแห่งธรรมะ” ที่นำทัพต่อสู้กับ “ฝ่ายอธรรม” หรือ “กิเลส” ซึ่งอยู่ภายในจิตใจมนุษย์
ท่านปัญญานันทภิกขุเป็นท่านน้องเล็ก พระบุญชวนเขมาภิรัตน์เป็นท่านพี่รอง ท่านพุทธทาสภิกขุ คือท่านพี่ใหญ่! อุดมการณ์เพื่อศาสนาของหลวงพ่อจึงไม่แตกต่างจาก “ปราชญ์แห่งแผ่นดิน” อย่างท่านพุทธทาสภิกขุ
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
“ข้าพเจ้า ขอถวายชีวิตจิตใจนี้ แด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอมอบกายใจแด่พระพุทธศาสนา จะทำงานให้แก่พระศาสนาจนตลอดชีวิต” หลวงพ่อได้กล่าวคำอธิษฐานต่อหน้าพระบรมธาตุกลางเมืองนครศรีธรรมราช ภายหลังเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ไม่ถึงพรรษา ระหว่างนั้นได้มีโอกาสเทศน์เป็นครั้งแรกด้วยความบังเอิญ จึงเริ่มฝึกการเทศน์จนเริ่มมีชื่อเสียง
วันหนึ่ง หลวงพ่อได้ออกเดินทางไปพร้อมกับพระบุญชวนเพื่อกลับไปเยี่ยมท่านพุทธทาส หลังจากวันนั้นทั้งสามเกิด “อุดมการณ์” อันแน่วแน่ที่ตรงกัน กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการศึกษาค้นคว้า “แนวทางใหม่” ให้แก่พระพุทธศาสนา
แต่เดิม หลวงพ่อตั้งใจไว้ว่าจะไม่เป็นสมภารที่วัดใด นอกเสียจากว่าเป็นวัดใหม่หรือวัดร้างที่ไม่มีพระสงฆ์ เพราะหากมีพระประจำวัดอยู่แล้ว จะทำการปฏิรูปสิ่งต่างๆ ได้ลำบาก กระทั่งเมื่อปี 2503 อธิบดีกรมชลประทานได้นิมนต์หลวงพ่อปัญญาฯ ลงมาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ในสมัยนั้น การเดินทางมาวัดนี้ค่อนข้างลำบากเพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ ทว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลวงพ่อที่ต้องการสร้างรากฐาน พัฒนาและบุกเบิกการเข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงหลวงพ่อเริ่มงานจากการ “ปฏิรูปทางจิตใจ” ไม่เน้นการสร้างพุทธสถานโอ่อ่าอลังการ มีการแก้ไขพิธีกรรมทางศาสนาบางอย่าง เช่น พิธีบวชที่เน้นความเรียบง่าย โดยผู้ที่มีความประสงค์จะบวชจะต้องผ่านการทดสอบโดยการสวดมนต์เช้า-เย็น ส่วนพิธีงานศพ ไม่อนุญาตให้มีการเล่นพนัน กินเหล้าในงาน งดเว้นการสวดบาลี เพราะเห็นว่าสวดไปคนก็ฟังไม่รู้เรื่อง ท่านจึงเปลี่ยนเป็นการเทศน์เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แทน
จวบจนถึงปัจจุบัน ภาพอันน่าปลาบปลื้มปีติได้เกิดขึ้นทุกวันอาทิตย์ ณ ลานไผ่แห่งวัดชลประทานฯ แห่งนี้ ซึ่งจะเต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชนจำนวนหลักร้อยหลักพัน ไม่ใช่เหตุเพราะมีงานปลุกเสกหรือแจกเครื่องรางของขลัง หากแต่เป็นเพราะพุทธานุภาพของหลวงพ่อที่ได้เทศน์สั่งสอนผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย จนทำให้ที่นี่คลาคล่ำไปด้วยประชาชน ทั้งคนหนุ่มสาว ครอบครัว และคนชรา ที่ต่างมาร่วมกันมาทำบุญตักบาตร เลี้ยงเพลพระ ไม่ต้องไปให้ใครเสกวัตถุมงคลให้ มานี่ มาที่วัดชลประทานฯ นี่จะ “เสกความดี” ใส่ตัวให้
ด้วยความที่หลวงพ่อเป็น “นักพัฒนา” ในวันนี้ วัดชลประทานฯ จึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับสงฆ์ หากแต่ยังประโยชน์สำหรับฆราวาสเพื่อศึกษาพระธรรมและทำกิจกรรมทางศาสนา ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมเพื่อเยาวชนไทย
ทุกวันนี้ท่านปัญญานันทภิกขุดำรงวัตรปฏิบัติอย่างเรียบง่าย กุฏิที่อาศัยหาได้มีข้าวของเครื่องใช้ที่เกินความจำเป็นแห่งสงฆ์ไม่ นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ภิกษุและสามเณรทั่วไป
หากย้อนกลับไป หลวงพ่อได้ปฏิบัติงานเพื่อพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อายุเพียง 22 พรรษา โดยภารกิจหลักของท่านคือ การเทศน์ ท่านมีชื่อเสียงทางด้านการแสดงปาฐกถาธรรมมาตั้งแต่อดีต โดยตระเวนเดินสายมาแล้วทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากท่านพูดภาษาอังกฤษได้ โดยสไตล์การเทศน์จะตรงไปตรงมา เลี่ยงภาษาบาลี
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
บางครั้งท่านร้องเพลงกลอนให้ฟัง
แม้ว่าวันนี้หลวงพ่อจะไม่สามารถเทศน์ได้นานเหมือนก่อน หากแต่ปณิธานที่ตั้งไว้ยังคงไม่เสื่อมคลาย “ความมุ่งหมายของข้าพเจ้าอยู่ที่การประกาศคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา”
“เห็นคนโง่แล้วสงสาร” ...เพราะมีคนจำนวนมากที่ยังไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับ “ธรรมมะ” เหตุนี้เองจึงผลักดันให้เกิดท่านทำงานด้านการสอนอย่างต่อเนื่อง
นักสังคมสงเคราะห์เป็นอีกบทบาทหลักของพระปัญญานันทภิกขุ ท่านไม่เคยทิ้งผู้ประสบภัยและมักชวนญาติโยมให้ทำบุญเพื่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านี้ด้วย
ถาวรวัตถุเพื่อสาธารณประโยชน์ อาทิ ตึก 80 ปี ปัญญา นันทะในโรงพยาบาลชลประทาน ตึก 92 ปีปัญญานันทะที่มหาวิทยาลัยสงฆ์วังน้อย นับเป็นโครงการใหญ่ที่มีหลวงพ่อเป็นผู้ระดม “บุญ”
รวมถึงเมกะโปรเจกต์อย่าง “พระอุโบสถกลางน้ำ” ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยปณิธานในการสร้างถาวรวัตถุชิ้น “สุดท้าย” ของหลวงพ่อ
“เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้จะรองรับภิกษุได้ 20,000 รูป ”
ไม่เพียงแต่ใช้เป็นที่ชุมชุมของสงฆ์ หากแต่พระอุโบสถแห่งนี้ยังมุ่งหมายให้ไทยเป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา สามารถใช้การประกอบพิธีทางศาสนาของชาวพุทธ “ทั่วโลก” และใช้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์เพื่อทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทำลายไปในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยา
ทุกครั้งที่หลวงพ่อต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ท่านจะบ่นอยากกลับวัด
“เป็นห่วงงาน”
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ชาตะ-11 พ.ค. 2454 มรณะ-10 ต.ค. 2550
|