ครั้งหนึ่งกับหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ชาตะ-11 พ.ค. 2454 มรณะ-10 ต.ค. 2550
เห็นข่าวมรณภาพของพระพรหมมังคลาจารย์หรือที่รู้จักว่าพระปัญญานันทภิกขุ และเรียกตามธรรมเนียมไทยสั้นๆ ว่า หลวงพ่อปัญญาฯ แล้ว ก็อดคิดถึงครั้งหนึ่งในชีวิตที่ต้องเข้าไปสัมพันธ์กับท่านในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ได้
ตอนนั้นคือปี 2525 หรือเมื่อ 25 ปีก่อน อันเป็นช่วงที่กรุงเทพฯ ของเรามีอายุครบ 200 ปี และระบอบประชาธิปไตยมีอายุครบ 50 ปี ทั้งสองวาระนี้มีการจัดงานเฉลิมฉลองกันตามสมควร โดยเป็นที่แน่นอนว่า งานแรกย่อมยิ่งใหญ่กว่างานหลัง แต่ที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลวงพ่อปัญญาฯ นั้นคืองานหลัง
เวลานั้นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตนเองสังกัดอยู่ได้ร่วมกับองค์กรอื่นๆ อีกหลายสิบองค์กรจัดงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” ขึ้นมา ซึ่งถ้าหากไม่นับงานใหญ่ที่มีขึ้นในเดือนมิถุนายนแล้ว เฉพาะองค์กรที่สังกัดนั้นยังได้มีกิจกรรมหนึ่งจัดต่อเนื่องกันตลอดทั้งปี นั่นคือ การบรรยายชุด “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย”
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
และหลวงพ่อปัญญาฯ ก็เป็นท่านหนึ่งที่ได้รับเชิญให้มาเป็นผู้บรรยายในหัวข้อที่มีชื่อว่า “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” และในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบกับงานนี้โดยตรง จึงมีหน้าที่ที่จะต้องไปนิมนต์หลวงพ่อปัญญาฯ ด้วยตนเอง ซึ่งรวมตลอดถึงการไปรับไปส่งในวันที่ท่านบรรยายจริง
หากนับกันในปี 2525 แล้ว หลวงพ่อปัญญาฯ ก็อยู่ในวัย 71 นับว่าสูงพอสมควร ตอนที่นำจดหมายเชิญไปนิมนต์ท่านนั้น ท่านอ่านจดหมายไปพลางก็ถามไปพลาง ครั้นแจ้งหัวข้อไปทางวาจา หลวงพ่อปัญญาฯ ก็ตอบรับนิมนต์ทันที
หลังจากวันที่เชิญวันนั้นไปแล้ว ก็เฝ้ารอให้ถึงวันที่หลวงพ่อปัญญาฯ จะมาบรรยายโดยตลอด ด้วยว่าตั้งแต่เกิดมาจนโตเป็นหนุ่มในเวลานั้นยังไม่เคยได้ฟังหลวงพ่อปัญญาฯ บรรยาย (ธรรม) หรือเทศน์เลยแม้แต่ครั้งเดียว มีแต่ได้ยินกิตติศัพท์ของท่านว่าเป็นพระนักเทศน์หรือเป็นพระสายปฏิบัติเท่านั้น
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ดังนั้น พอถึงวันนั้นจริงๆ จึงได้ตั้งใจฟังที่ท่านบรรยาย และก็สนุกจริงๆ เรียกได้ว่าการบรรยายของหลวงพ่อปัญญาฯ ฟังได้ไม่รู้เบื่อ ที่จำได้แม่นก็คือ บรรยากาศตลอดช่วงที่ท่านบรรยายนั้น จะมีเสียงหัวเราะอยู่เป็นระยะๆ
แต่สิ่งที่หลวงพ่อปัญญาฯ บรรยายแล้วยังอยู่ในความทรงจำมาจนถึงทุกวันนี้นั้นมีอยู่ 2 ประเด็น และตลอดเวลา 25 ปีที่ผ่านมานี้ ประเด็นทั้งสองมักจะถูกหยิบยกมาเล่าให้ญาติสนิทมิตรสหายฟังอยู่เสมอหากมีโอกาสหรือจังหวะที่ประจวบเหมาะ
ประเด็นแรกคือเรื่องเกี่ยวกับระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต หลวงพ่อปัญญาฯ บรรยายว่า การที่จะมีประชาธิปไตยที่ดีนั้น ผู้คนในสังคมนั้นพึงมีระเบียบวินัยคอยกำกับตัวเองอยู่ด้วย จากนั้นหลวงพ่อปัญญาฯ ก็ยกตัวอย่างด้วยการเล่าถึงประสบการณ์ของท่านเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ฟัง ประสบการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ท่านกำลังโดยสารอยู่ในรถไฟขบวนหนึ่ง
หลวงพ่อปัญญาฯ เล่าว่า ในตู้รถไฟที่ท่านโดยสารอยู่นั้น นอกจากจะมีคนไทยด้วยกันเองแล้ว ก็ยังมีทหารญี่ปุ่นอีกจำนวนหนึ่งร่วมอยู่ด้วย ท่านว่า เท่าที่สังเกตดูแล้วไม่ค่อยจะได้เห็นทหารญี่ปุ่นจะลุกเดินไปมาสักเท่าไร ยกเว้นแต่เฉพาะเข้าห้องน้ำเท่านั้น แทบทุกคนจะนั่งนิ่งไม่ไหวติง นานๆ ครั้งจึงสนทนากันที ซึ่งก็พอจะเดาได้ว่าคงถามไถ่กันว่า รถไฟมาถึงที่ไหนแล้วแค่นั้น
ทหารญี่ปุ่นกลุ่มนี้ยังคงอยู่ในกิริยาที่ว่านั้นจนถึงเวลาเที่ยง จากนั้นทุกคนก็ขยับตัวพร้อมกันโดยหยิบเอากล่องข้าว (มื้อเที่ยง) ที่เตรียมมาออกมากินกัน ท่านเล่าว่า การกินมื้อเที่ยงของทหารญี่ปุ่นกลุ่มนี้ใช้เวลาไปตามสมควร และดูมีความเรียบร้อยไม่มูมมาม จนเมื่อกินเสร็จสรรพ ทุกคนก็จะอยู่ในกิริยาเดิม คือนั่งนิ่งไม่ไหวติง
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
เล่ามาถึงตรงนี้ หลวงพ่อปัญญาฯ ก็หันกลับมาว่ากันถึงคนไทยด้วยกันเองที่อยู่ในตู้รถเดียวกันนั้น ที่ท่านว่าตลอดเวลาดังกล่าว นอกจากจะนั่งๆ นอนๆ หรือส่งเสียงพูดคุยกันตามสบายแล้ว สิ่งที่สามารถเห็นได้เป็นปกติอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การกินที่แตกต่างไปจากทหารญี่ปุ่น
หลวงพ่อปัญญาฯ เล่าว่า คนไทยหากไม่เตรียมอาหารมากินแล้ว ก็จะซื้อกินในขณะที่รถไฟจอดในแต่ละสถานี ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถเห็นได้จนทุกวันนี้ แต่ที่ต่างไปจากทหารญี่ปุ่นก็คือ คนไทยกินไปได้เรื่อยๆ เรียกได้ว่าถึงสถานีไหนก็มักจะซื้อของกินเล็กๆ น้อยๆ มากินอยู่เสมอ
“ถึงสถานีไหนก็ซื้อกิน พอรถออกก็กิน...กิน...กินไปได้ตลอด...ผิดกับทหารญี่ปุ่น” ว่ามาถึงตรงนี้เสียงฮาก็ลั่นห้อง
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
เสียงฮานี้เองที่ทำให้เห็นถึงชั้นเชิงในการบรรยายของหลวงพ่อปัญญาฯ ว่าลึกซึ้งจริงๆ คือท่านไม่ได้ชี้ตรงๆ ว่า เรื่องที่เล่ามาไปเกี่ยวอะไรกับระเบียบวินัยที่พึงมีในวัฒนธรรมประชาธิปไตย อีกทั้งน้ำเสียงที่เล่าก็มิได้ตำหนิติเตียนใครแต่อย่างใด แต่ทุกคนที่ฟังในวันนั้นก็เข้าใจนัยที่ท่านต้องการจะสื่อได้เป็นอย่างดี
อีกประเด็นหนึ่งที่จำได้นั้น เป็นประเด็นที่คนที่รู้จักหลวงพ่อปัญญาฯ รู้กันดีอยู่แล้ว นั่นคือ ประเด็นที่เกี่ยวกับการเชื่อในไสยศาสตร์ของคนไทยเราเอง
เกี่ยวกับประเด็นนี้หลวงพ่อปัญญาฯ ท่านวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระยิ่งนัก ตลอดเวลาที่ท่านบรรยายในประเด็นนี้ ทำให้อดทึ่งและชื่นชมในความกล้าหาญของท่านไม่ได้ เพราะสิ่งที่ท่านวิพากษ์วิจารณ์นั้น หากเป็นในยุคสมัยนี้แล้วก็คงจะเข้าข่ายคำเตือนที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”
นั่นคือ อาจจะมีคนคิดว่า หลวงพ่อปัญญาฯ กำลังลบหลู่ความเชื่อในทางไสยศาสตร์เอาได้ง่ายๆ
นอกจากความกล้าหาญที่ว่าแล้ว หลวงพ่อปัญญาฯ ยังได้เชื่อมโยงให้เห็นอีกด้วยว่า ในความเชื่อทางไสยศาตร์ที่คนไทยมีอยู่นั้น สัมพันธ์กับเรื่องของพิธีกรรมอยู่ไม่น้อย นั่นคือ ยิ่งเชื่อมาก พิธีกรรมที่สนองตอบต่อความเชื่อก็ยิ่งซับซ้อนมาก และเมื่อซับซ้อนมากก็ยิ่งหมายถึงรายจ่ายที่สูงยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ตรงนี้เองที่หลวงพ่อปัญญาฯ ชี้ว่าเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล และไม่อยู่ในสารบบของหลักคำสอนในพุทธศาสนาแต่อย่างใด
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
กล่าวอีกอย่างก็คือว่า ชาวพุทธที่แท้จะต้องไม่ยึดถือหรือเชื่อถือในเรื่องไสยศาสตร์
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้หมายความว่า หลวงพ่อปัญญาฯ ปฏิเสธเรื่องของพิธีกรรมโดยสิ้นเชิง เป็นอยู่แต่ว่า พิธีกรรมที่ท่านยอมรับนั้น เป็นพิธีกรรมที่มีเหตุมีผลและไม่สลับซับซ้อนจนดูฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ที่สำคัญก็คือว่า ต้องเป็นพิธีกรรมที่เจริญด้วยสติและปัญญาจริงๆ
จากความทรงจำทั้งสองเรื่องที่เล่ามาเกี่ยวกับหลวงพ่อปัญญาฯ นี้ แม้เวลาจะผันผ่านมาถึง 25 ปีแล้วก็ตาม แต่เราก็พบว่า ทั้งสองเรื่องนี้หาได้ลดหย่อนผ่อนคลายลงไม่ ตรงกันข้ามกลับยิ่งหนักข้อขึ้นทุกวัน
เช่นเราจะเห็นได้ว่า เฉพาะการเลือกตั้งอันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยนั้น มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันมากเพียงใด มากจนต้องสร้างมาตรการต่างๆ มาควบคุมความไร้ระเบียบวินัยในเรื่องที่ว่านี้ด้วยต้นทุนที่สูงอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับพิธีกรรมความเชื่อทางไสยศาสตร์นั้น ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพก็คงชี้ให้เห็นอยู่โทนโท่
หลวงพ่อปัญญาฯ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2454 และมรณภาพเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550 สิริรวมอายุ 96 ปี ยามที่อยู่ในเพศบรรพชิตหรือยามเมื่อมรณภาพนั้น ท่านได้รับการเคารพนับถือและเป็นที่ยกย่องศรัทธาของผู้คนโดยทั่วไป เหมือนดังที่รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และท่านพุทธทาสภิกขุเองก็ได้รับ
แต่เหตุใดสิ่งอันเป็นที่มาแห่งการเคารพนับถือและยกย่องศรัทธานั้น จึงมิได้ถูกสืบทอดด้วยการปฏิบัติจริง ปฏิบัติดี และปฏิบัติชอบ? มีอะไรบกพร่องผิดพลาดในสังคมไทยกระนั้นหรือ?
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|