ขยับกาย สบายชีวี ด้วยวิถีพุทธ
สมาธิ คือ อาการใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง หรืออาการใจหยุดนิ่งแน่วแน่ไม่ซัดส่ายไปมา มีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใส สว่างไสวผุดขึ้นในใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความบริสุทธิ์นั้นด้วยใจตนเอง อันจะก่อให้เกิดทั้งกำลังใจ
กำลังปัญญา และความสุขแก่ผู้ปฏิบัติ
จริงหรือที่ สมาธิ สามารถบำบัดโรคได้ ?
ศาสตร์ใหม่แห่งการบริหารกายวิถีพุทธ
“บริหารกายวิถีพุทธ” เป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่ใช้หลักในการจัดระเบียบของกายจนเป็นระบบของความคิด เพื่อให้กายซึ่งเป็นที่อยู่ของจิตโปร่งโล่ง เบา สบาย ผ่อนคลาย ก่อนที่จะขับเคลื่อนจิตภายในกายไปตามจุดเคลื่อนต่างๆ เพื่อให้เกิดตัวรู้ และพลังปราณภายในกาย ศาสตร์แห่งการบริหารกายวิถีพุทธนี้ สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกเพศ และทุกวัย
การเผยแพร่ศาสตร์ดังกล่าว ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปีและในปี 2550 มูลนิธิธรรมอิสระ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการสร้างเครือข่ายบริหารกายวิถีพุทธ โดยการอบรมคณะครูและนักเรียนตัวแทนจากทั่วประเทศ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ให้ได้เรียนรู้และฝึกภาคปฏิบัติกระบวนการ บริหารกายวิถีพุทธ เพื่อสร้างแกนนำภายในโรงเรียน สามารถเป็นต้นแบบที่ถูกต้อง และเผยแพร่ไปยังชุมชนใกล้เคียงต่อไป
หลักวิชาบริหารกายวิถีพุทธ รังสรรค์โดย “หลวงปู่พุทธะอิสระ” วัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งขณะธุดงค์อยู่ในป่าและถ้ำ ได้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นกับท่าน เช่น โรคหลอดลมอักเสบ ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นหน้าอก สายตาฝ้าฟาง มีลมออกตา
โรคปวดตามข้อ กล้ามเนื้ออักเสบ ท่านจึงได้ใช้ท่าทางต่างๆ ผนวกกับการเจริญสติในการรักษาอาการเจ็บป่วยเหล่านั้น ซึ่งนอกจากจะบรรเทาจากโรคต่าง ๆ ได้ดีแล้ว ยังทำให้สติตั้งมั่นอยู่ได้นานอีกด้วย ซึ่งแต่เดิมหลวงปู่ไม่ได้คิดจะถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่ผู้ใด เพราะคิดว่าผู้อื่นอาจเข้าใจตามได้ยาก แต่เมื่อญาติโยมไปขอคำปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพบ่อยขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ ท่านจึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะถ่ายทอดวิชาให้ เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถสร้างสุขภาพอนามัยให้แก่ตัวเองได้ โดยในเบื้องต้น ท่านได้ถ่ายทอดท่านั่ง 11 ท่า ให้พิสูจน์กันด้วยตนเอง ซึ่งหากจะให้เกิดผลดังกล่าวมาข้างต้น จะต้องฝึกฝนให้ได้อย่างคล่องแคล่วลื่นไหลติดต่อกันทุกท่าจนรวมเป็นหนึ่งท่า
วิชากายบริหารวิถีพุทธ เป็นการฝึกสติขั้นพื้นฐานในรูปแบบการบริหารกายที่ควบคู่ไปกับการบริหารจิตด้วยศาสตร์และศิลป์ มีทั้งสิ้น 84 ท่า ใน 4 อิริยาบถ คือ นั่ง ยืน เดิน นอน แต่ละท่าเน้นการบริหารลมหายใจเข้าออกพร้อมการบริหารโครงสร้างทุกระบบของร่างกาย ทั้งที่เป็นกระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท ระบบการไหลเวียนโลหิต และอื่น ๆ
เพื่อสุขภาวะแบบองค์รวม
นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรต ประธานแผนส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ให้การสนับสนุนโครงการ “ขยับกาย สบายชีวี วิถีพุทธ” ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิธรรมอิสระ มากว่า 4 ปี
เนื่องจากโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกิจหลักของสสส.ที่ต้องการสนับสนุนและพัฒนากระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ อันนำไปสู่สุขภาวะของประชาชนและสังคมไทย นอกจากนั้น ยังเป็นศาสตร์การออกกำลังกายแขนงใหม่ควบคู่ไปกับการฝึกสมาธิขั้นพื้นฐานที่สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกเพศ ทุกวัย และเสียค่าใช้จ่ายน้อยมากเมื่อเทียบกับการออกกำลังกายชนิดอื่นๆ ซึ่งเหมาะกับสภาพสังคมและภาวะเศรษฐกิจทุกวันนี้
และยังเป็นการดำเนินรอยตามกระแสพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้อีกทางหนึ่ง
ประธานแผนส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ สสส. และ มูลนิธิธรรมอิสระ รวมทั้งเครือข่ายอื่นๆ ในโครงการฯ ประสบความสำเร็จกับการจัดประกวดโครงการ “ขยับกาย สบายชีวี วิถีพุทธ” เฟ้นหาพรีเซ็นเตอร์ของโครงการ เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนในสถานศึกษาทั่วประเทศ ได้หันมาออกกำลังกายแนวใหม่ที่เรียกว่า “บริหารกายวิถีพุทธ” มาแล้ว
ก็มาถึงโครงการต่อเนื่องในปี 2550 ที่เราเปิดตัวในวันนี้ โดยใช้ชื่อว่า “โครงการสร้างเครือข่ายการบริหารกายวิถีพุทธ”
“เราได้ขยายมาสร้างเครือข่ายการบริหารกายวิถีพุทธ ด้วยการเปิดอบรมคณะครู อาจารย์ นักเรียน ทำหน้าที่เป็นแกนนำในสถานศึกษาเพื่อเผยแพร่ศาสตร์แห่งการออกกำลังกายแนวใหม่ที่อิงวิถีพุทธ รวมถึงอบรมความรู้และวิธีการออกกำลังกายให้แก่ประชาชนผู้รักสุขภาพ โดยจะเป็นต้นแบบที่ถูกต้องในการถ่ายทอดการออกกำลังกายแนวใหม่ให้แก่ประชาชนในชุมชนของตนเองต่อไป” นายวิวัฒน์ กล่าว
ความน่าสนใจของศาสตร์บริหารกายวิถีพุทธ
ด้าน นายจิโรจน์ ทีปกานนท์ รองประธานมูลนิธิธรรมอิสระ แกนหลักในการเผยแพร่ศาสตร์แห่งการออกกำลังกายแนวใหม่ที่อิงวิถีพุทธมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการออกกำลังกายที่เรียกว่า “บริหารกายวิถีพุทธ” เริ่มจากการรังสรรค์ของ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือหลวงปู่พุทธะอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม มีด้วยกัน 84 ท่า รวมอยู่ใน 4 อิริยาบถหลัก คือ นั่ง ยืน เดิน นอน แต่ในเบื้องต้นได้มีการถ่ายทอดไว้เพียง 11 ท่าในอิริยาบถนั่ง แต่ละท่าเน้นการบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไปพร้อมๆ กับการฝึกสมาธิขั้นพื้นฐาน หรือกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
“ขณะที่ หลวงปู่พุทธะอิสระ ธุดงค์อยู่ในป่าและถ้ำ ได้เกิดอาการเจ็บป่วยหลายๆ อย่างพร้อมกันทั้ง หลอดลมอักเสบ ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นหน้าอก สายตาฝ้าฟาง มีลมออกตา โรคปวดตามข้อ กล้ามเนื้ออักเสบ หลวงปู่จึงได้ใช้ท่าทางต่างๆ ผนวกกับการเจริญสติในการรักษาอาการเจ็บป่วยเหล่านั้น ซึ่งนอกจากจะบรรเทาจากโรคต่างๆ ได้ดีแล้ว ยังทำให้สติตั้งมั่นอยู่ได้นานอีกด้วย”
รองประธานมูลนิธิธรรมอิสระ กล่าวต่อว่า แต่เดิมหลวงปู่ไม่ได้คิดจะถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่ผู้ใด เพราะคิดว่าผู้อื่นอาจเข้าใจตามได้ยาก แต่เมื่อญาติโยมไปขอคำปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ หลวงปู่จึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะถ่ายทอดวิชาให้ เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถสร้างสุขภาพอนามัยให้กับตัวเองได้ ซึ่งในเบื้องต้นได้ถ่ายทอดท่านั่ง 11 ท่า ให้พิสูจน์กันด้วยตนเอง ซึ่งหากจะให้เกิดผลดังกล่าวมาข้างต้น จะต้องฝึกฝนให้ได้อย่างคล่องแคล่วลื่นไหลติดต่อกันทุกท่าจนรวมเป็นหนึ่งท่า
“เป็นการฝึกตนเองให้เข้าใจธรรมชาติของชีวิต ปรับสภาพภายในกายให้เกิดความพอดี เกิดพลังทางกาย พลังทางจิต สร้างสุขภาวะในลักษณะที่เป็นองค์รวม ทั้งกาย จิต วิญญาณ คือสภาวะของความรู้สึกสงบ นิ่ง มั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสุข มีสภาพร่างกายที่ผ่อนคลาย เบาสบาย อวัยวะต่างๆ แข็งแรง เป็นผลให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายจิโรจน์ เล่าให้ฟัง
หลักสูตรการฝึกอบรม
“โครงการสร้างเครือข่ายการบริหารกายวิถีพุทธ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ รองประธานมูลนิธิธรรมอิสระ กล่าวในตอนท้ายว่า เป็นการเปิดอบรมคณะครู อาจารย์ เยาวชนในสถานศึกษาทั่วประเทศ รวม 30 แห่ง โดยพิจารณาคัดเลือกครู-อาจารย์ โรงเรียนละ 2 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 5 คน มาฝึกอบรมการออกกำลังกาย “บริหารกายวิถีพุทธ” อย่างถูกต้องกับคณะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น กลุ่มของครู-อาจารย์ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2550 ณ อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ จากนั้นจะเปิดอบรมให้กับนักเรียนแกนนำ ในวันที่ 8-10 ธันวาคม 2550 ที่สถานปฏิบัติธรรมเขาดินหนองแสง จังหวัดจันทบุรี
“เราเปิดอบรมครูพี่เลี้ยงเป็นกลุ่มแรก และต่อด้วยนักเรียนแกนนำ เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมก็จะมีคู่มือการฝึกฝนและวีซีดีประกอบ เพื่อนำกลับไปฝึกฝนด้วยตัวเอง โดยครูอาจารย์ที่ผ่านการอบรมไปแล้ว ทางโครงการฯ จะคอยติดตามผล ด้วยการให้เงินทุนสนับสนุนการทำวิจัยแก่คณะครูอาจารย์ หลังจากเปิดสอนกิจกรรมการออกกำลังกายแนวใหม่นี้ในโรงเรียนของตน ส่วนนักเรียนที่เป็นแกนนำของเรา ก็จะได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท จากการทำหน้าที่ถ่ายทอดและเป็นพี่เลี้ยงให้กับพี่ๆ น้องๆ และเพื่อนๆ ในโรงเรียนครบ 1 ปีเต็ม เพื่อเด็กๆ จะได้มีกำลังใจและมีความสุขในการทำหน้าที่ของเขาด้วย”
นอกจากจะจะเปิดอบรมครู-อาจารย์ และนักเรียนแกนนำแล้ว สำหรับประชาชนทั่วไปที่รักสุขภาพและการออกกำลังกาย สามารถมาพิสูจน์และเรียนรู้การออกกำลังกาย “บริหารกายวิถีพุทธ” ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
“ผมอยากจะทิ้งท้ายคำพูดของหลวงปู่พุทธะอิสระที่ว่า “ไล่ตามโรค คงยากที่จะชนะโรค ทำไมไม่หาวิธีทำให้ไม่เกิดโรค ดูจะง่ายกว่า” ซึ่งเรากำลังเชิญชวนให้ทุกคนหันมาดูแลเอาใจใส่ตัวเองด้วยการออกกำลังกายที่อิงวิถีพุทธ ซึ่งหลวงปู่ได้รังสรรค์ขึ้น ใช้เวลาวันละไม่กี่นาที แต่เราจะเหนื่อยมาก หลังจากนั้นจะรู้สึกสดชื่น เพราะแต่ละท่ามีแรงต้านภายใน ทำไปก็เหมือนกับได้นวดไปด้วย ลดอาการปวดเมื่อยไหล่ แขน ข้อศอก เอว คอ หลัง ข้อมือ หน้าอก หน้าท้อง สะโพก ต้นขา อวัยวะภายใน อย่างหัวใจ ปอด ไต ม้าม เลือดลมเดินได้สะดวก ขับลมในกระเพาะ ที่สำคัญคือทำให้มีสติตั้งมั่นดีเยี่ยม” นายจิโรจน์ กล่าวในที่สุด
การบริหารกายวิถีพุทธ ถือเป็นการออกกำลังกายที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างกายกับจิต และถือเป็นภูมิปัญญาตะวันออก โดยใช้หลักกายานุปัสนาสติปัฏฐาน ที่ประกอบด้วย 3 วิธีปฏิบัติ คือ
1. อานาปานสติบรรพ คือ การมีสติ ระลึกรู้ลมหายใจเข้าและออก
2. สัมปชัญญะบรรพ คือ มีสติรู้อาการโยกเคลื่อนไหว
3. อิริยาบถบรรพ คือ สติรู้อาการยืนเดินนั่งนอน
นอกเหนือไปจากนั้นการบริหารกายวิถีพุทธ ยังถือเป็นการบริหารกายและจิต เพื่อให้เกิดสติ สมาธิ และพัฒนาจิตของผู้ฝึก ไปตามการเคลื่อนไหว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ฝึกเป็นคนมีสมาธิ มีสติตั้งมั่น สุขภาพแข็งแรง และมีการจัดระเบียบร่างกายในทางที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถฝึกฝนได้ในชีวิตประจำวัน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานที่ ทุกเวลา และไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
****************
สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ประสานงานโครงการสร้างเครือข่ายบริหารกายวิถีพุทธ โทรศัพท์ 02629- 2211 ต่อ 1117-8 หรือ ทางเว็บไซต์ www.mannature.com
ช่วงเวลาการฝึกอบรมมีดังนี้
* การฝึกอบรมครูพี่เลี้ยงแกนนำ วันที่ 30 พ.ย. ถึง 2 ธ.ค. 2550 (3 วัน 2 คืน)
ณ อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์
* ค่ายอบรมนักเรียนแกนนำ วันที่ 8 ถึง 10 ธ.ค. 2550 (3 วัน 2 คืน)
ณ สถานปฏิบัติธรรมเขาดินหนองแสง จ.จันทบุรี
* สำหรับประชาชนที่สนใจ วันเสาร์ที่ 27 ต.ค. เวลา 9.00 – 12.00 น.
วันเสาร์ที่ 24 พ.ย. เวลา 9.00 – 12.00 น.
วันเสาร์ที่ 22 ธ.ค. เวลา 9.00 – 12.00 น.
ณ อุทยานอนุรักษ์สุขภาพ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์
*****************
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|