ไหว้พระพุทธชินราช ประหลาดใจในลานพระยืน!?!
พระพุทธชินราชองค์เก่า(ก่อนการบูรณะปี 47)
หลังการลงรักปิดทองบูรณะองค์พระพุทธชินราชใหม่ในปี พ.ศ.2547 หลายๆคนตั้งข้อสังเกตว่าองค์พระพุทธชินราชเปลี่ยนไป
โดยเฉพาะบริเวณพระพักตร์ที่ดูกระด้างขึ้น ไม่อมยิ้ม ต่างจากพระพักตร์องค์เก่า(ช่วงก่อนการบูรณะ)ที่ดูอิ่มเอิบอมยิ้มเล็กน้อย ทำให้ผู้เข้าไปกราบไหว้รู้สึกประทับใจในความงาม และรู้สึกอบอุ่นมั่นใจ เกิดความเลื่อมใส สบายอก สบายใจ ในพลังแห่งศรัทธา
เรื่องนี้ทาง(เจ้าหน้าที่)กรมศิลป์ผู้ทำการบูรณะได้ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะพระพุทธชินราชองค์ใหม่(ช่วงหลังการบูรณะ) เพิ่งทำการลงรักปิดทองได้ไม่นาน สีสันแสงเงาของทองจึงเปล่งประกายเหลืองอร่ามจัดจ้าสว่างตา หลายคนๆที่ชินตากับพระพักตร์พระพุทธชินราชองค์เก่าที่เหลืองซีดหม่นจึงเกิดไม่คุ้นตา เลยทำให้รู้สึกไปว่าพระพักตร์พระพุทธชินราชองค์ใหม่ดูกระด้างไม่อมยิ้มอิ่มเอิบเหมืององค์เก่า
พูดถึงเรื่องนี้ ผมว่าขึ้นอยู่กับมุมมองและความคุ้นตาของแต่ละคน ส่วนผมเคยนำรูปพระพักตร์ของพระพุทธชินราชองค์เก่ากับองค์ใหม่มาเปรียบเทียบกัน
อืม...ผมรู้สึกว่าพระพักตร์องค์ใหม่ดูกระด้างไม่อมยิ้มต่างจากองค์เก่าจริงๆด้วย
พระพุทธชินราชองค์ใหม่(หลังการบูรณะปี 47)
หรือนั่นอาจจะเป็นเพราะสีสันแสงเงาของทองใหม่ตามที่กรมศิลป์ระบุไว้ก็เป็นได้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมถือว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะไม่ว่าพระพุทธชินราชองค์เก่าหรือองค์ใหม่ ผมก็ยังเคารพศรัทธาและยกย่องว่าท่านเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในเมืองไทยอยู่ดี
และถ้าได้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดพิษณุโลกหรือเมืองสองแควคราใด ผมก็มักจะไม่พลาดการไปสักการะขอพรองค์พระพุทธชินราชอยู่เสมอ
ถ้าไหว้พระแล้วจิตสงบ สบายใจ ใครจะว่างมงายก็เชิญเขาว่าไปเหอะ เพราะใจของเราจิตของเรา คนอื่นจะมารู้ดีกว่าเราได้ไง
ด้วยเหตุนี้ในการไปเยือนเมืองสองแควหนล่าสุดเมื่อสัปดาห์กว่าๆที่ผ่านมา ผมจึงไม่พลาดการไปไหว้พระพุทธชินราชหรือหลวงพ่อใหญ่เอาฤกษ์เอาชัยด้วยประการทั้งปวง แต่การไปไหว้พระพุทธชินราชในครั้งนี้ ต่างไปจากทุกครั้งตรงที่ ผมร่วมเดินทางไปกับขบวน “เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล” ของททท. ที่มี อ.คฑา ชินบัญชร เป็นวิทยากรนำเที่ยว
งานนี้เนื่องจากเป็นการเที่ยวสุขใจเสริมมงคล ไม่ใช่เที่ยวดูดวงผมจึงไม่ได้รบกวนให้ อ.คฑา ดูดวงไพ่ยิบซีให้แต่อย่างใด แต่เมื่อ อ.คฑา มานำเที่ยวแล้ว เรื่องข้อมูลความรู้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนั้นไม่ต้องห่วง มีให้ฟัง-ให้ชมกันเพียบ ที่สำคัญคือมันทำให้ผมได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารหรือวัดใหญ่แห่งเมืองสองแควนั้น นอกจากองค์พระพุทธชินราชที่งดงามที่สุดแห่งสยามประเทศแล้ว ในวัดแห่งนี้ยังมีสิ่งน่าสนใจให้เที่ยวชมและสักการบูชากันอีกมากมาย
บานประตูประดับมุก ที่วิหารพระพุทธชินราช
โดยหลังจากที่เปิดประเดิมความเป็นมงคลด้วยการเข้าไปไหว้พระพุทธชินราชแล้ว ผมก็ไม่ได้ไปไหนไกลหากแต่เดินไปชมจิตรกรรมฝาผนังรูปพุทธประวัติและรูปทวยเทพเทวดาอยู่ในวิหารพระพุทธชินราชนั่นแหละ ก่อนที่จะตาม อ.คฑาไปชมงานพุทธศิลป์ที่เป็นดังหญ้าปากคอก ซึ่งที่ผ่านมาผมมองข้ามไปตลอดนั่นก็คือ บานประตูประดับมุกตรงด้านหน้าทางเข้า-ทางออกของวิหารพระพุทธชินราชนั่นเอง
บานประตู 2 บานซ้าย-ขวานี้ มีลวดลายส่วนใหญ่เป็นพวกสัตว์ในวรรณคดี อาทิ ราชสีห์ ครุฑ กินรี และสัตว์หิมพานต์อื่นๆที่ผมไม่คุ้นตาอีกหลายตัว ที่ลวดลายทั้ง 2 บานนั้นประดับมุกอย่างสวยงามวิจิตรจนได้ชื่อว่าเป็นบานประตูประดับมุกที่งดงามที่สุดในเมืองไทยเลยทีเดียว
นอกประตูงามที่สุดมองเข้าไปเห็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดแล้ว หน้าประตูยังมีเสน่ห์ด้วยมนต์เพลงระนาดเดี่ยวฝีมือคุณลุง ที่พรมมือบรรเลงขับกล่อมสร้างเสริมบรรยากาศการไหว้พระพุทธชินราชให้มีสีสันแบบไทยๆมากยิ่งขึ้น
ออกจากวิหารพระพุทธชินราช ผมเดินย้อนกลับไปบริเวณหน้าวัดฝั่งแม่น้ำน่านตรงวิหารหลังเล็กริมต้นโพธิ์ใหญ่ เพื่อสักการะองค์ “พระเหลือ” ที่ตามตำนานระบุไว้ว่า พระยาลิไทได้รับสั่งให้ช่างนำทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราช และพระพุทธรูปอีก 2 องค์ มาหล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์เล็กองค์นี้ ซึ่งเชื่อกันว่าใครที่มาไหว้พระเหลือแล้วจะมีเงินทองเหลือกินเหลือใช้
พระเหลือ
เรื่องนี้ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ถ้าใครที่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่ประมาณตน ต่อให้ไหว้พระเหลือทุกวันหลังอาหาร ชาตินี้คงไม่มีทางที่จะมีเงินเหลือเหลือใช้หรอก แต่ถ้าใครที่ไม่ประมาทกับเศรษฐกิจชีวิต รู้จักอดออมใช้จ่ายอย่างพอเพียง ไม่ว่าจะไหว้พระองค์ไหนชีวิตนี้ก็คงมีเงินเหลือเก็บเอาไว้ใช้บ้างตามฐานะ
ความพอเพียง ไม่ประมาท รู้จักประมาณตนนี่แหละคือหนึ่งใน “แก่นธรรม” ที่จะว่าไปนี่คือสิ่งที่ปฏิบัติยากเย็นเป็นอย่างยิ่งสำหรับปุถุชนคนธรรมดา โดยเฉพาะคนที่ยังสลัดกิเลสไม่พ้น เรื่องนี้ไม่ต้องไปดูใครที่ไหน เพียงส่องกระจกผมก็พบเงาสะท้อนของมนุษย์ที่ยังเปี่ยมด้วยกิเลสยืนหน้าแป้นแล้นอยู่เบื้องหน้าในกระจกนั่นเอง
เสร็จสรรพจากไหว้พระเหลือ เวลายังเหลืออีกบาน อ.คฑา บอกให้เดินเข้าทางประตูเล็กๆข้างวิหารพระพุทธชินราช เพื่อไปสักการะพระพุทธรูปอีก 2 องค์ที่สร้างขึ้นพร้อมๆกับพระพุทธชินราชนั่นก็คือ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ที่ในตำนานกล่าวว่า ใน ปี พ.ศ. 1500 เมื่อพระยาลิไทสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โดยได้ระดมสุดยอดช่างฝีมือทั้งจากเมืองศรีสัชนาลัย เชียงแสน หริภุญชัย มาช่วยกันหล่อพระพุทธรูป
ปรากฏว่าการเททองหล่อพระทำสำเร็จเพียง 2 องค์ คือพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ส่วนพระพุทธชินราช ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถเททองหล่อองค์พระได้ เล่นเอาช่างยอดฝีมือถอดใจไปตามๆกัน แต่จู่ๆได้มีชีปะขาว(หรือตาปะขาว)โผล่มาจากไหนไม่รู้เดินเข้ามาช่วยเททอง จนทองแล่นเต็มองค์เกิดเป็นพระพุทธชินราชองค์งามที่เราเห็นกันในทุกวันนี้
ตามตำนานว่ากันว่าชีปะขาวท่านนี้ คือพระอินทร์แปลงกายมาช่วยเททอง เพราะหลังหล่อพระพุทธชินราชเสร็จสมบูรณ์ชีปะขาวก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งไว้เพียงตำนานอันเพริศแพร้วให้คนรุ่นหลังได้เล่าขานสืบต่อไป ซึ่งองค์พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาที่ผมไปไหว้นั้น เป็น 2 องค์จำลองส่วน 2 องค์จริงปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ
พระพุทธเจ้าเข้านิพพาน
ทั้ง 2 องค์เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่มีพุทธศิลป์งดงามมาก ในวิหารพระพุทธชินสีห์นอกจากจะมีองค์พระพุทธชินสีห์สีทองงามอร่ามตาประดิษฐานแล้ว ยังมีข้าวของเครื่องใช้โบราณให้ชมกันอีกด้วย
ส่วนในบริเวณวิหารพระศรีศาสดา นอกจากองค์พระศรีศาสดาสีทองงามเด่นเป็นสง่าแล้ว ยังมีหลวงพ่อดำ หนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองสองแคว ประดิษฐานอยู่ใกล้ๆกันให้พุทธศาสนิกชนได้ไปกราบไหว้บูชา อีกทั้งยังมีธรรมาสน์สวดและธรรมาสน์เทศน์ 2 หลังงามตั้งอยู่ใกล้ๆให้ชมกันอีกด้วย
สำหรับพระพุทธรูปอีกหนึ่งองค์ในวัดใหญ่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผมเป็นอย่างยิ่งก็คือ “พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน” ในวิหารพระพุทธเจ้าเข้านิพพานหรือวิหารแกลบ ที่ดูแปลกตาไม่เหมือนพระพุทธรูปที่ไหนๆเนื่องจากมีลักษณะเป็นหีบศพสีทอง มีพระบาทพระพุทธเจ้ายื่นออกมา 2 ข้าง พร้อมด้วยสาวกมีพระมหากัสสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพอยู่รอบๆ โดยมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั่งอยู่ด้านหลัง ซึ่งททท.ระบุว่ามีเพียงองค์เดียวในเมืองไทยคือที่วัดใหญ่แห่งนี้
ลานพระอัฏฐารส(พระยืน)แห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
มาถึงพระพุทธรูปองค์สุดท้ายที่ผมไปไหว้คือ พระอัฏฐารส ที่เป็นพระพุทธรูปในฉากเปิดของภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาค 2
พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยุคเดียวกับพระพุทธชินราชในปางประทับยืนยกพระหัตถ์ขวามีขนาดสูงใหญ่ประทับกลางแจ้งแบบสงบนิ่ง เดิมพระอัฏฐารสไม่ได้ยืนกลางแจ้งตากแดดตากฝนอย่างทุกวันนี้ หากแต่ประดิษฐานอยู่ในวิหารขนาดใหญ่ แต่วิหารหลังนี้ได้พังทลายลงไปนานแล้ว
จากวิหารพระยืนกลายเป็นลานพระยืนที่เหลือเพียงซากกำแพงวิหารกับซากเสาศิลาแรงขนาดใหญ่ หรือที่เรียกขานกันว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” ที่เมื่อมองเข้าไปจะเห็นองค์ปรางค์วัดใหญ่ที่กำลังบูรณะอยู่เป็นฉากหลัง
ในขณะที่องค์ปรางค์ประธานกำลังบูรณะอยู่ บริเวณลานพระยืนหรือเนินวิหารเก้าห้องในวันที่ผมไปนั้นเพิ่งบูรณะพื้นเสร็จใหม่ๆไปหมาดๆ
ที่นี่ อ.คฑา อธิบายถึงลักษณะเด่นของการก่อสร้างในสมัยสุโขทัยว่าจะนิยมใช้ศิลาแรง ดูได้จากซากเสาศิลาแรงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ส่วนสมัยอยุธยานั้นก็จะเด่นในเรื่องของอิฐที่ดูได้จากแท่นหน้าองค์พระยืนและซากกำแพงของวิหาร ซึ่งสันนิษฐานวิหารที่นี่น่าจะมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยอยุธยา เพราะดูจากลักษณะของอิฐแบบอยุธยาที่ยังหลงเหลืออยู่
ส่วนการบูรณะพื้นในยุคนี้ พ.ศ.นี้ อ.คฑา ตั้งข้อสังเกตแบบไม่ปลื้มพร้อมบ่นว่า ใครหนอเป็นคนดูแลด้านการแผ่นปูพื้นใหม่ของลานพระยืน เพราะดูแล้วมันออกแนวหลุดๆไม่กลมกลืนเข้ากันกับของเดิมเอาเสียเลย
อืม...เมื่อผมก้มลงมองพื้นที่เพิ่งบูรณะใหม่ด้วยแผ่นหินสีเทาจางๆ ก็เห็นจริงตามนั้น เพราะดูแล้วมันประหลาดประดักประเดิดพิลึก หรืออาจะเป็นเพราะเพิ่งซ่อมแซมยังไม่เก่าคร่ำเลยดูไม่คุ้นตาหรือเปล่าก็ไม่รู้
แต่ถึงยังไงผมว่ามันก็ดูไม่เข้ากันอยู่ดี แต่ไอ้ครั้นจะว่าไปสำหรับคนที่เขาทำการบูรณะซ่อมแซมนี่อาจจะเป็นความงามและความลงตัว(ทั้งด้านการเงินและการก่อสร้าง)ในแบบฉบับและรสนิยมของเขาก็เป็นได้
เอ...หรือนี่เป็นเอกลักษณ์ของการบูรณะอาคารเก่าในยุคนี้ พ.ศ.นี้ ที่ตามวัดวาอารามส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับงาน “พุทธไสย์” มากกว่างาน “พุทธศิลป์”
ในขณะที่การอนุรักษ์บรรดาวัดเก่าทั้งหลาย ณ วันนี้ แม้จะมีกฎหมาย(พ.ร.บ.)ให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดูแลด้านการอนุรักษ์บูรณะซ่อมแซมก็ตาม แต่ก็ยังมี พ.ร.บ. สงฆ์ที่ว่าด้วยการมีสิทธิ์โดยเด็ดขาดภายในวัด และนี่เลยทำให้เรื่องของการอนุรักษ์และบูรณะบรรดาวัดเก่าแก่ ยังคงเป็นปัญหาโลกแตกที่ขัดแย้ง ถกเถียงกันอยู่มิรู้จบระหว่างกรมศิลป์กับเจ้าอาวาส ว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการโดยเด็ดขาดกันแน่
แต่จากส่วนใหญ่เท่าที่ผมเห็นมาก็คือ ไม่ว่ากรมศิลป์กับเจ้าอาวาสจะเห็นต่าง และเถียงกันไปเถียงกันมาหนักแค่ไหน
ปรากฏว่าตาอยู่ผู้ชนะ มักจะเป็น “ผู้รับเหมา” เสมอ
*****************************************
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชและพระพุทธรูปน่าสนใจอีกมากตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ริมถนนพุทธบูชา ต.ในเมือง อ.เมือง ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" โดย คุณปิ่น บุตรี
|