ไหว้ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์เมือง "อุดร" ขอพรให้สัมฤทธิ์ผล
พระพุทธรัศมี พระประธานในพระอุโบสถวัดโพธิสมภรณ์
ต้องขอยอมรับว่าในช่วงหลังๆที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนไทยนิยมท่องเที่ยวเชิงธรรมะ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันมากขึ้น เหตุผลหนึ่งคงเนื่องมาจากสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันที่รุมเร้าสภาพจิตใจของผู้คนให้กระทบกระเทือนในด้านต่างๆ หลายๆคนจึงหลีกหนีปัญหาโดยการมุ่งหน้าเข้าวัด เข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
สำหรับ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เอง แม้จะไม่มีปัญหาหนักหนาสาหัสขนาดนั้น แต่การไปเที่ยวเชิงธรรมะก็ถือเป็นการเสริมมงคลให้กับชีวิตอีกทางหนึ่ง อย่างในครั้งนี้ที่เรามีโอกาสร่วมทริปมงคลไปกับอาจารย์ “คฑา ชินบัญชร” ในเมืองอุดรธานี จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายต่อหลายท่าน
พระขอ เชื่อกันว่าหากเราขออะไรก็จะได้อย่างนั้น
งานนี้ อ.คฑา แกไม่ได้มาเที่ยวเฉยๆแต่แกยังมาทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ คำแนะนำในการไหว้พระตามวัดต่างๆอีกด้วย โดยวัดแรกที่พวกเราไปประเดิมเสริมสิริมงคลกันก็คือ “วัดโพธิสมภรณ์” ที่สร้างขึ้นในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 โดยมหาอำมาตย์ศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ เนติโพธิ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ปัจจุบันมีหลวงปู่จันทร์ศรี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
หลังจากที่พวกเรากราบไหว้ขอพรจากหลวงปู่จันทร์ศรีแล้ว ก็พากันไปกราบ พระพุทธรัศมี พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีสัตตนาคนหุต(เวียงจันทร์) อายุประมาณ 600 ปี และพระประธานองค์นี้ยังมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเศียรด้วย
จากนั้น อ.คฑา นำพวกเราเดินอ้อมพระอุโบสถไปยังด้านหลัง ซึ่งมีซุ้มฝาผนังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาแลง ปางประทานพรขนาดองค์เล็กๆ สมัยลพบุรี อายุราว 1,300 ปี พระพุทธรูปองค์นี้ชาวเมืองอุดรให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก มักจะมีคนมากราบไหว้ขอพรอยู่เสมอ จนมีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระขอ” ซึ่งหมายถึงหากเราขออะไรก็จะได้อย่างนั้นนั่นเอง
จากวัดโพธิสมภรณ์ พวกเราเดินทางต่อไปยัง “ศาลหลักเมือง” ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญของชาวอุดรฯ ศาลหลักเมืองเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 แต่เมื่อเวลาผ่านไปสภาพของศาลได้ทรุดโทรมลงมาก จึงได้ทำการสร้างใหม่โดยได้รับการออกแบบจากศิลปินแห่งชาติ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ด้วยสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานไทยอีสานที่สวยงาม เมื่อดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ ได้อัญเชิญองค์ท้าวเวสสุวัณ อันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุดรธานีมาประดิษฐานเคียงคู่กับอาสน์ศาลหลักเมืองใหม่แห่งนี้
ท้าวเวสสุวัณตั้งตระหง่านเคียงคู่กับอาสน์ศาลหลักเมืองอุดรธานี
สำหรับผู้ที่ได้มาสักการะศาลหลักเมืองอุดรฯรวมถึงคณะเรา อ.คฑา แนะนำว่า ศาลหลักเมืองเป็นสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ทางด้านความมั่นคง ทั้งหน้าที่การงาน การเงิน การดำเนินชีวิต ดังนั้นการขอพรให้ขอพรที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชีวิต และจากตำนานของจังหวัดอุดรฯมีเคล็ดลับว่า หากเข้าประตูไหนให้ออกประตูนั้นจะทำให้การขอพรได้อนิจสงค์มากขึ้น
เมื่อพวกเราตั้งจิตอธิฐานขอพรกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็พากันเดินออกทางประตูเดียวกับที่เข้าตามเคล็ด แล้วไปสักการะ “ท้าวเวสสุวัณ” หนึ่งใน 4 ท้าวจตุโลกกบาล ปกครองเหล่าอสูรและยักษ์ ตลอดจนภูตผีปีศาจทั้งหลาย ส่วนเคล็ดลับในการไหว้ขอพรท่านท้าวเวสสุวัณ อ.คฑา บอกว่าให้ขอพรให้ศัตรู หมู่มาร หรือผู้ที่คิดร้ายกับเราแพ้ภัยตนเอง หรือกลับใจมาเป็นมิตร
และบริเวณใกล้กับท้าวเวสสุวัณ ยังมี “พระพุทธโพธิ์ทอง” สันนิฐานว่าสร้างมาแล้วกว่าพันปี ได้ถูกอัญเชิญมาจากวัดร้างบ้านเพียปู่ อ.ไชยวาน มาประดิษฐานไว้ที่ทุ่งศรีเมือง จ.อุดรฯ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ส่วนเคล็ดลับของการขอพรพระพุทธโพธิ์ทองคือ การขอให้เรามีร่มโพธิ์ร่มไทร มีผู้ใหญ่ให้การช่วยเหลือ สนับสนุน และขอให้เราเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของคนอื่นๆด้วย หลังจากขอพระแล้วให้ไปเก็บใบโพธิ์ที่ร่วงหล่นแล้วทางด้านหลังของศาลเพื่อนำกลับไปบูชา บางคนเก็บใบเดียว บางคนก็เก็บหลายใบฝากเพื่อนฝูงญาติมิตร ก็ตามแต่อัธยาศัย
หลวงพ่อนาค วัดมัชฌิมาวาส มีชื่อเสียงในเรื่องของความรัก
สถานที่ถัดไปพวกเราไปยัง “วัดมัชฌิมาวาส” หรือที่ชาวบ้านละแวกนั้นนิยมเรียกว่า “วัดเก่า” เนื่องจากวัดแห่งนี้เคยเป็นวัดร้างมาก่อน วัดนี้มีพระพุทธรูปหินสีขาวปางนาคปรก หรือที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อนาค” ศิลปะสมัยทวาราวดีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ที่ผู้คนที่มากราบไหว้มักจะนิยมขอในเรื่องของความรัก ทั้งความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ครูอาจารย์ต่อศิษย์ หรือความรักของหนุ่มสาวก็ได้ทั้งนั้น
หลังขอพรเรื่องต่างๆกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ถวายของเป็นคู่ เช่น เชิงเทียนหนึ่งคู่ และตักน้ำมนต์ในโอ่งด้านข้างหลวงพ่อนาคมาประพรมใส่คนที่เรารักเพื่อให้สมหวัง แต่สำหรับ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ไม่รู้จะประพรมน้ำมนต์ให้ใคร ก็เรามันไร้คู่ตุนาหงัน ได้แต่ขอพรให้มีคนชอบของแปลกหลงเข้ามาในชีวิตเผื่อจะได้เจอะเนื้อคู่กับเขาบ้าง
ศาลเจ้าปู่-ย่า มีความเชื่อว่าท่านทั้ง 2 ใจดีมีเมตตา
จากความชุ่มชื่นหัวใจในเรื่องของความรักในทุกๆรูปแบบแล้ว เราเดินทางต่อไปยังสถานที่ถัดไป คือ “ศาลเจ้าปู่-ย่า” ที่ได้รับการกล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความเมตตาแก่คนยากไร้หรือผู้มีทุกข์โศก ภายในศาลเจ้าปู่-ย่า ประกอบไปด้วยศาลต่างๆ 6 ศาล โดยเราจะใช้ธูปรวม 30 ดอก จุดไหว้ตั้งแต่ศาลที่ 1 เรียงไปจนศาลที่หก ปักกระถางธูปตรงกลาง 3 ดอกหมายถึงความเคารพเลื่อมใสบูชา ปักด้านซ้าย-ขวาอีกข้างละ 1 ดอก เพื่อเป็นการบูชาองค์เทพอารักขาของเทพเจ้านั้นๆด้วย
โดยเริ่มบูชาจุดแรกที่ “ศาลเทพยดาฟ้าดิน”
ศาลต่อไปคือ “ศาลเจ้าปู่-ย่า”
ศาลที่สามคือ “ศาลเจ้าพ่อหนองบัว”
ศาลที่สี่คือ “ศาลเจ้าที่”
จุดต่อไปคือ “พระสังกัจจายน์” และ
จุดสุดท้ายคือ “ฉั่งง่วนส่วย” เทพที่เชี่ยวชาญในการปราชญ์ ซึ่งเป็นที่นิยมบูชาของเหล่านักเรียนนักศึกษาในการสอบครั้งสำคัญๆเป็นอย่างยิ่ง
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่อไปตั้งอยู่กลางเมืองอุดร คือ “อนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ ศิลปาคม” ซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ท่านผู้นี้เป็นผู้ก่อตั้งเมืองอุดรขึ้นเมื่อ พ.ศ.2436 พร้อมทั้งวางผังเมือง วางระเบียบราชการปกครองบ้านเมือง ทำคุณแก่ชาวเมืองอุดรฯนานัปการ ชาวเมืองอุดรฯ จึงได้สร้างอนุสาวรีย์พระองค์ทรงยืนในเครื่องแบบนายพลตรีแห่งกองทัพบกไทย เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของพระองค์
อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดร
การกราบไหว้ขอพรอนุสาวรีย์แห่งนี้จึงเกี่ยวพันในเรื่องของความวิริยะอุสาหะ การแข่งขัน ความก้าวหน้า โดยการตั้งจิตอธิฐานและบนบานด้วยการวิ่งแก้บนรอบอนุสาวรีย์ฯ 3,5,7,9 รอบแล้วแต่กำลัง และถวายม้ากับดาบซึ่งเป็นกุศโลบายว่า จะต้องมีความมานะบากบั่น ต้องมีความเพียรก่อน จึงจะถึงยังจุดมุ่งหมาย
เจดีย์องค์ใหญ่ในวัดป่าบ้านจิก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้
จากนั้นเราไปกันที่ “วัดทิพยรัฐนิมิตร” หรือ “วัดป่าบ้านจิก” ภายในวัดแห่งนี้มีเจดีย์องค์ใหญ่สวยงาม ฐานคล้ายทะนานที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุในครั้งพุทธกาล สร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2544 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และรูปเหมือนหลวงปู่ถิร จิตธมโม เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
เดินเข้าไปด้านในจะเห็นอุโบสถ 3 ชั้นแลดูสวยงามเช่นกันด้วยศิลปะผสมไทย-อยุธยา เล่ากันว่าแต่ก่อนบริเวณนี้เป็นสระน้ำ เจ้าอาวาสนิมิตเห็นพญานาคจึงได้สร้างอุโบสถขึ้นกลางน้ำและสร้างบันไดเป็นรูปพญานาค
และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอุดรฯที่พวกเราได้ไปเยือนเป็นแห่งสุดท้ายคือ “วัดป่าบ้านตาด” ที่พำนักของ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ” หรือที่คุ้นหูคุ้นปากกันว่า “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” นั่นเอง ภายในวัดป่าบ้านตาดนั้นร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ใหญ่นานาชนิด จึงเป็นสถานที่พักพิงของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ อาทิ ไก่ป่า กระแต กระรอก แย้ นก หมูป่า
ภายในวัดป่าบ้านตาดนี้ หากใครเคยมาจะรู้ว่าบรรยากาศ ความเงียบสงบ ให้ความรู้สึกที่เป็นวัดป่าจริงๆ รวมทั้งสิ่งปลูก ก็ล้วนแล้วแต่ทำและใช้อย่างพอเพียงพออยู่ได้ทั้งสิ้น ดังนั้น "ผู้จัดการท่องเที่ยว" คิดว่าวัดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการไปปฏิบัติธรรมจริงๆโดยเฉพาะเท่านั้น
อุโบสถ 3 ชั้นศิลปะผสมไทย-อยุธยา เล่ากันว่าสร้างขึ้นตามนิมิตของเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านจิก
และก่อนที่พวกเราจะจบทริปสุขใจเสริมมงคลในครั้งนี้ พวกเราทุกคนก็ได้ร่วมใจกันนั่งสมาธิพร้อมอุทิศส่วนกุศล เป็นการปิดท้ายการเดินทางอันอิ่มบุญอิ่มใจ และไม่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะบันดาลให้ได้ดังหวังหรือไม่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ไม่อาจจะพิสูจน์ได้ หากแต่คนที่เชื่อและยึดมั่นทำในสิ่งที่ดี ไม่ช้าก็เร็วจะต้องได้สิ่งดีๆ ตอบแทนอย่างแน่นอน
*****************************************
สอบถามข้อมูลไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เมืองอุดรฯเพิ่มเติมได้ที่ ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 5 โทร.0-4232-5406-7
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์"
|