หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ชมสุดยอดพระไทย ที่ “พิพิธภัณฑ์พระกำนันชูชาติ”

ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์พระ กำนันชูชาติ

เชื่อว่าแทบทุกบ้านของคนไทยที่เป็นชาวพุทธ ย่อมจะต้องมีพระเครื่องหรือพระพุทธรูปติดบ้านติดตัวอย่างน้อยก็คนละองค์ เพราะพระเครื่องกับคนไทยนั้นดูจะอยู่คู่กันมานานจนเป็นความคุ้นชินไปแล้ว ฉันเองก็มีพระเครื่องห้อยคอมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เหมือนกัน แต่เชื่อว่าคงไม่มีบ้านไหนจะมีพระเยอะเท่ากับที่บ้านของกำนันชูชาติ มากสัมพันธ์ แน่ๆ

กำนันชูชาติคนที่ว่านี้ ก็คือผู้เป็นเจ้าของ “พิพิธภัณฑ์พระ กำนันชูชาติ” ในแถบพุทธมณฑลสาย 2 ที่ฉันมาเยือนในวันนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดีที่จะได้ไปไหว้พระนับหมื่นองค์ในคราวเดียวแล้ว ก็ยังจะได้ชมบรรดาพระเครื่องที่รวบรวมไว้มากที่สุดในประเทศที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกด้วย และไม่เพียงแต่มีมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังเป็นพระเครื่องที่ล้วนแล้วแต่หายาก มีมูลค่ามหาศาล ถือเป็นเพชรน้ำหนึ่งของวงการพระเครื่องแทบทั้งสิ้น

พระรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน และพระพุทธรูปประจำพระองค์

บนถนนพุทธมณฑลสาย 2 นี้ จะสังเกตว่าบ้านหลังไหนคือที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พระฯ ก็ง่ายนิดเดียว เพราะหน้าบ้านจะมีพระพรหมองค์ใหญ่ตั้งอยู่ริมถนนเห็นได้ชัดเจน เมื่อเข้าไปภายใน ก็จะได้พบกับพระเครื่องและพระพุทธรูปมากมายด้านใน โชคดีที่ในวันนี้ฉันได้พบกับกำนันชูชาติซึ่งเป็นเจ้าของบ้านพอดี จึงเป็นโอกาสดีที่มีเจ้าของพิพิธภัณฑ์มาเป็นผู้ให้ข้อมูล

ฉันถามกำนันชูชาติถึงเหตุที่ทำให้มาสนใจพระเครื่อง กำนันจึงเริ่มเล่าถึงความสนใจในพระเครื่องที่มีมาตั้งแต่เด็กเพียงสิบกว่าขวบเท่านั้นเอง โดยในคุณพ่อคุณแม่ได้ส่งกำนันชูชาติมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลซึ่งเป็นโรงเรียนคริสต์ จึงเกรงว่าศรัทธาในศาสนาพุทธจะลดน้อยลงไป จึงให้ห้อยพระติดคอไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ และเป็นเหตุให้เริ่มสนใจพระเครื่องมาตั้งแต่นั้น อีกทั้งคุณพ่อซึ่งก็เป็นคนที่สะสมพระเครื่องอยู่บ้าง กำนันชูชาติจึงได้คลุกคลีกับวงการพระเครื่องตั้งแต่เด็ก โดยกำนันใช้คำว่า “หมกมุ่นอยู่กับพระเครื่อง” คอยเสาะหาของดี ของที่มีแล้วจะอยู่ยงคงกระพัน ไปตามหาทั่วประเทศไทย จนตอนนี้ในพิพิธภัณฑ์พระแห่งนี้มีพระเครื่องอยู่กว่า 10,000 องค์ และมีพระบูชาหรือพระพุทธรูปอยู่อีกประมาณ 300 องค์ด้วยกัน แต่ไม่ได้นำออกโชว์ให้ชมในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด

“ความคิดที่จะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ก็เพราะมีความคิดว่า ถ้าเก็บไว้ดูคนเดียวก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร อีกทั้งอยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเปรียบเทียบพระเครื่องของจริงกับของปลอมอีกด้วย ตอนนี้ก็เปิดมาเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ประมาณสิบปีแล้ว และก็ไม่ได้คิดว่าพิพิธภัณฑ์นี้เป็นของตัวเองคนเดียว แต่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของ” กำนันชูชาติ กล่าว

ทีนี้ก็เข้าไปดูด้านในพิพิธภัณฑ์กันบ้างดีกว่า ภายในจัดแบ่งพื้นที่เป็นสองชั้นด้วยกัน เริ่มชมจากชั้นล่างกันก่อน ซึ่งก็มีทั้งพระเครื่องและพระบูชา โดยพระบูชานั้นก็เป็นพระพุทธรูปในสมัยต่างๆ เช่น สมัยทวารวดี เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา และพระพุทธรูปศิลปะแบบต่างๆ เช่น แบบเขมร แบบอินเดีย เป็นต้น

กำนันชูชาติ มากสัมพันธ์

ด้านพระเครื่องที่เป็นจุดเด่นในพิพิธภัณฑ์นี้ก็มีให้ชมมากมาย เป็นพระเครื่องที่มาจากแทบทุกส่วนในประเทศไทย ทั้งวัดสุทัศน์ วัดระฆัง วัดพิกุลทอง ฯลฯ มีทั้งพระปิดตา พระเกจิอาจารย์ต่างๆ รวมไปถึงพระองค์เล็กกระจิ๋วหลิวเท่าเมล็ดข้าวหรือพระนารายณ์แผลงศรเนื้อทองคำ สมัยอยุธยา ซึ่งได้รับการบันทึกในกินเนสบุ๊คให้เป็นพระองค์เล็กที่สุดในโลก พระสมเด็จวัดระฆัง พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน-สุโขทัย-อู่ทอง เป็นพระพุทธรูปสามสมัยอันมีนามเป็นมงคลและมีพุทธศิลป์ที่งดงามเป็นอย่างมาก พระกริ่งเปาปุ้นจิ้น และพระกริ่งที่หาดูได้ยาก เช่น พระกริ่งปวเรศ พระกริ่งสุริยวรมันของเขมร พระกริ่งนเรศวรที่สร้างโดยสมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

แต่ของชิ้นเอกในพิพิธภัณฑ์ที่หลายๆ คนอยากจะเห็นและอยากจะครอบครองเป็นเจ้าของมากที่สุด และก็เป็นพระเครื่องที่กำนันชูชาติภูมิใจก็คือพระเบญจภาคี ซึ่งก็ได้แก่ พระรอดลำพูน สมเด็จวัดระฆัง พระซุ้มกอ กำแพงเพชร พระนางพญา และพระผงสุพรรณ ซึ่งกำนันชูชาติก็ได้แต่งคำกลอนเกี่ยวกับพระเบญจภาคีไว้อย่างไพเราะว่า

พระซุ้มกอ หนึ่งในพระเบญจภาคี

“พระรอด รอดสมนาม จามเทวี ศรีลำพูน
สมเด็จโต พรหมรังสี ใหญ่ได้ดี วัดระฆัง
ซุ้มกอ เพชรกำแพง พระยาศรีฯแจง กูไม่จน
นางพญา เมตตาดี วิสุทธิกษัตรี เมืองสองแคว
ผงสุพรรณ คงชาตรี ปิยทัสสีฯ เมืองสุพรรณ”

และนอกจากนั้นก็ยังมีพระปิดตามหาอุตม์ พระปิดตามหาเสน่ห์ พระยอดขุนพล ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงและเป็นที่ใฝ่หาของนักเล่นพระเครื่องทั้งหลายอีกด้วย และกำนันชูชาติก็ได้แต่งคำกลอนไว้ให้กับพระทั้งสามชุดนี้อีกด้วย

ตู้จัดแสดงพระเบญจภาคีพระพุทธรูปมีค่าต่างๆ

และพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่เป็นชิ้นสำคัญก็คือ พระบูชาประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งมีคนไปพบที่ร้านขายของเก่าในเมืองจีนจึงได้ซื้อกลับมาและนำมาขายต่อให้กับกำนันชูชาติ ที่เชื่อว่าเป็นพระบูชาประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินก็เนื่องจากว่า ตรงฐานพระพุทธรูปได้มีภาษาจีนโบราณตอกไว้ แปลเป็นไทยได้ว่า พระราชาเคยเป็นเจ้าของ พระพุทธรูปองค์นี้ตั้งอยู่คู่กับพระรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่กำนันชูชาตินับถืออยู่ก่อนแล้ว

จากนั้นฉันเดินขึ้นไปชมต่อบนชั้นที่สอง ซึ่งมีพระกรุล้ำค่าสมัยโบราณจากนครหริภุญชัย เมืองละโว้ เมืองสวรรคโลก เมืองชากังราว เป็นต้น อีกทั้งมีพระพุทธรูปที่รวบรวมมาจากจังหวัดต่างๆ ทั้งสิงห์บุรี-ชัยนาท ลพบุรี เชียงใหม่-ลำพูน พิษณุโลก กำแพงเพชร เป็นต้น และห้องด้านในก็เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปทั้งหมด ซึ่งก็มีพระปางต่างๆ ทั้งปางไสยาสน์ ปางห้ามสมุทร ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ฯลฯ เรียกว่าดูพระกันจนตาลายคล้ายจะเป็นลมกันเลยทีเดียวเนื่องจากมีจำนวนเยอะมาก

เมื่อฉันลองให้กำนันประมาณมูลค่าของพระเครื่องและพระบูชาเหล่านี้ กำนันบอกว่าราคาของพระเครื่องเหล่านี้ถือว่าประเมินไม่ได้ เพราะพระเครื่องไม่ได้มีบาร์โค้ดเหมือนสินค้าอื่นๆ แค่พระเครื่องชุดเบญจภาคีก็เป็นสิบๆ ล้านแล้ว หากจะให้ประเมินทั้งหมดก็คงจะประเมินไม่ได้

แน่นอนว่าเมื่อมีสิ่งของมูลค่ามากมายอย่างนี้ก็ย่อมต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย กำนันชูชาติบอกกับฉันว่า ก็กลัวเรื่องความปลอดภัยเหมือนกัน แต่ก็เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงทำใจว่าเมื่อเขาให้เรามาเป็นคนดูแลรักษา จะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องยอมรับ

สำหรับคนชอบพระเครื่อง รับรองไม่ผิดหวัง

เห็นพระเครื่อง พระพุทธรูปจนละลานตาไปหมด แต่หลังจากที่สอดส่ายสายตาอยู่จนทั่วแล้ว ก็ยังไม่เห็นจตุคามเลยสักองค์เดียว เลยเอ่ยปากถามกำนันว่า ไม่นิยมจตุคามหรืออย่างไร ก็ได้ยินกำนันตอบมาว่า ที่มีความศรัทธาในพระเครื่องนั้นก็เนื่องจากมีความเชื่อในเรื่องของพุทธคุณ เมื่อก่อนนี้เขาสร้างพระเครื่องขึ้นเพื่อแจกให้ทหารที่ออกไปรบกับข้าศึก ไม่ใช่สร้างขึ้นเพื่อพุทธพานิช แต่สมัยนี้มีการสร้างจตุคามกันไปทั่ว ทั้งที่ในแต่ละวัดก็มีโบสถ์มีพระพุทธเจ้าในโบสถ์ ก็ยังทำจตุคามขายกัน ดูแล้วไม่สมควร และตอนนี้กระแสจตุคามก็เงียบไปแล้ว ไม่ใช่ของจริง เหมือนเป็นการค้ามากกว่า

ก่อนจะลาจากพิพิธภัณฑ์พระฯ ไป กำนันพูดกับฉันเป็นการส่งท้ายว่า “คนเล่นพระก็เหมือนติดยาเสพติด นั่งส่องพระจนถึงตีหนึ่งตีสองไม่ยอมนอน มีบางคนบอกว่าเราสะสมพระไว้เยอะ เป็นคนมีบุญ จริงๆแล้วไม่ใช่ แต่เป็นคนมีกิเลสหนาไม่รู้จักพอต่างหาก” กำนันชูชาติ กล่าว

*****************************************

พิพิธภัณฑ์พระกำนันชูชาติ ตั้งอยู่ที่ 5/9 ถ.พุทธมณฑลสาย 2 (ระหว่างสี่แยกทศกัณฐ์-สนามกีฬาพาณิชยการราชดำเนิน) แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 200 บาท สอบถามรายละเอียดโทร.08-6374-0505

การเดินทาง จากสะพานปิ่นเกล้าวิ่งมาทางถนนบรมราชชนนี (ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) วิ่งลอดใต้สะพานต่างระดับฉิมพลี แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 2 วิ่งมาประมาณประมาณ 3 ก.ม. ผ่านแยกไฟแดงสองแยก จะเห็นพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ทางขวามือ จุดสังเกตคือมีพระพรหมตั้งอยู่หน้าบ้าน

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการออนไลน์" โดย : คุณหนุ่มลูกทุ่ง



ไปข้างบน