หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ทักษาปกรณ์ ศาสตร์แห่งราชสำนัก ย้อมใจไทยเป็นสีชมพู

'ในหลวง' ฉลององค์สีชมพู

ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์สีชมพูสดใส เสด็จพระราชดำเนินออกจากโรงพยาบาลศิริราชกลับสู่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ด้วยพระพักตร์ที่แจ่มใส ทรงแย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์ต่อพสกนิกรของพระองค์ ที่เฝ้ารับเสด็จตั้งแต่ในโรงพยาบาลและตลอดสองข้างทางที่เสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนงนั้น ได้สร้างความปีติและประทับใจแก่ปวงชนชาวไทยอย่างเหลือล้นมิรู้ลืม

สีชมพูนี้ เป็นสีที่นายสุเมธ พุฒพวง นักวิชาการช่างศิลป์ 7 กลุ่มงานศิลปะประยุกต์กลุ่มจิตรกรรมศิลปะประยุกต์และลายรดน้ำ ผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ 80 พรรษา ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ได้นำแพรแถบสีชมพูมาประดับไว้ในตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 โดยสีชมพูตามความหมายของตราสัญลักษณ์นี้ หมายถึง สีอายุตามโหรา ศาสตร์ทักษาพยากรณ์ ซึ่งตรงกับวันอังคารของพระองค์ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพในวันจันทร์ สีชมพูเป็นสีประจำอายุตามหลักโหราศาสตร์ไทย หมายถึงการ มีสุขภาพและพลานามัยที่สมบูรณ์


นั่นคือคำอธิบายความสำคัญของสีชมพู

แต่เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบ หรือไม่รู้อย่างแท้จริงว่า “ทักษา” คืออะไร มีที่มาอย่างไร

ในบรรดาองค์ความรู้ด้านมงคลพิธีและโหรา ศาสตร์ของไทยที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนั้น จะว่าไปแล้วมีรากฐานมาจากที่อื่นเสียมาก ไม่ว่าจะเป็นฮินดู พม่า มอญ หรือขอม แม้แต่ดวงจักรราศีถือเป็นเพชรชิ้นเอกแห่งโหราศาสตร์ไทยก็มีรากฐานมาจากโหราศาสตร์ฮินดู แต่ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยจริงๆ ก็ดูจะมีเรื่องทักษาพยากรณ์นี่เองที่เป็นของไทยแท้ แต่ถึงกระนั้นการสร้างบ้านแปลงเมืองของบรรพบุรุษไทยให้เจริญรุ่งเรืองมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็ล้วนแต่พึ่งพาหลักทักษาปกรณ์ทั้งสิ้น

บางคนยังเข้าใจว่าทักษาของไทยตกทอดมาจากฮินดูเช่นกัน เพราะทางฮินดูมีศาสตร์เรื่อง “ทศา” หรือ Dasha ซึ่งทางโหราศาสตร์ไทยก็นำมาใช้ในเรื่องดาวเสวยอายุ และเรียกกันว่า “มหาทักษา” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ “ทักษา” แท้ๆ ของไทย

ระบบทักษาไทยนั้นหมายถึงการไล่วันทั้งเจ็ดทาง ทักษิณาวัตร คือเวียนขวาไปตามผังดาวทักษา เพื่อจะรู้ว่าวันใด ดีหรือไม่ดีสำหรับตัวเอง โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ แทนด้วย ๑ จันทร์ ๒ เวียนไปจนถึงศุกร์ ๖ และตำแหน่งของแต่ละวันจะมีความหมายต่างกันไป เริ่มจาก บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และกาลกิณี หากเกิดวันไหนก็เริ่มนับวันนั้นเป็นภูมิบริวาร เช่นเกิดวันพุธ นับ ๔ เป็นบริวาร เสาร์ (๗) เป็นอายุ พฤหัสฯ (๕) เป็น เดช เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชสมภพในวันจันทร์ (๒) จึงทรงมีดาวอังคาร (๓) เป็นดาวอายุ ซึ่งหมายถึงพระสุขภาพ พลานามัย สีของอังคารคือสีชมพู ดังนั้นในทางทักษาสีชมพูจึงส่งเสริมพระสุขภาพพลานามัยของพระองค์ ส่วนสีเหลืองนั้นเป็นสีประจำพระองค์เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพในวันจันทร์

หลักทักษานี้มีความเป็นมายาวนานเพียงใดไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ตามคำบรรยายของ พ.อ.เอื้อน มนเทียรทอง โหราจารย์ใหญ่คนหนึ่งของไทยในคัมภีร์โหราศาสตร์ศิวาคม ระบุว่า ทักษาพยากรณ์ทรงพระนิพนธ์โดยสมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช หรือ พระเจ้าลือไทย (พระเจ้าลิไทย) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงสุโขทัย มหาปราชญ์ผู้ทรงพระนิพนธ์ “ไตรภูมิพระร่วง” โดยคัมภีร์ทักษาปกรณ์ที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์นั้นเป็นภาษาบาลี ชื่อว่า “ทักษสังคหปกรณ์”

ต่อมาสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี สมเด็จพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงถอดความภาษาบาลีเป็นภาษาไทยเป็นลิลิต “ลิลิตทักษาพยากรณ์” ซึ่งปัจจุบันต้นฉบับสมุดไทยดำและสมุดไทยขาวของลิลิตนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ

ระบบทักษานี้ถือได้ว่าเป็นแม่บทที่ครอบคลุมพิธีกรรมและการวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ในบ้านเมืองมาช้านาน ซึ่งเดิมใช้กันในราชสำนักเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดทำเลตั้งเมือง การวางดวงเมือง การวางฤกษ์ขึ้นครองราชย์ และวางฤกษ์พิธีกรรมต่างๆ การตั้งชื่อเจ้านาย การกำหนดยุทธวิธีในตำราพิไชยสงคราม การเคลื่อนทัพ ตั้งทัพ และการคัดเลือกแม่ทัพนายกอง

เนื่องด้วยหลักทักษาครอบคลุมหลักเกณฑ์สำคัญในการดำรงชีวิตอย่างกว้างขวาง เช่น ทิศ ธาตุ ตัวอักษร สี ชัยภูมิ การวางฤกษ์ อายุพระเคราะห์ ทักษาจึงเริ่มเผยแพร่ออกสู่สามัญชนซึ่งนำปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้กลมกลืน

ดังนั้นทักษาจึงเป็นที่ยกย่องมากในอดีต แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคนไทยในปัจจุบันละทิ้งหลักเกณฑ์ของทักษาไปเสียมากด้วยอาจเห็นว่าเป็นเรื่องงมงาย ส่วนโหรไทยเองก็มีไม่น้อยที่ทิ้งเรื่องทักษาไป ด้วยเพราะหลักเกณฑ์บางส่วนสืบทอดกันมาอย่างตกหล่นจนโหรในปัจจุบันถกเถียงกันไม่ได้มติ หรือบางส่วนนำทักษาไปใช้อย่างไม่รู้จริงทำให้ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จึงหันไปหาศาสตร์สากลต่างๆ แทน ทั้งที่เรื่องทักษานี้เป็นคัมภีร์แม่บทที่ครอบคลุมโหราศาสตร์ไทยไว้อย่างลึกซึ้งกว้างขวางดังที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “ลิลิตทักษาพยากรณ์” ว่า

คัมภีร์คำพิทยพร้อง พรตพรหม
คือชาติทักษาสยัม พากย์พี้
พิศาลแสดงคัม ภีรภาพ
ตำรับในนิตินี้ กว่ากว้างพิสดาร

กระแสเสื้อมงคลสีชมพูมาแรงตามความคาดหมาย


เสื้อชมพูฟีเวอร์

อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่จุดกระแสความนิยมในการสวมเสื้อสีชมพูมี มาจาก ร้านภูฟ้า ที่ได้จำหน่ายเสื้อโปโลที่ระลึกสีชมพู ปักคำถวายพระพรลายพระหัตถ์พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “80 พรรษาพระชนมายั่งยืน” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 จำนวน 1 หมื่นตัว ซึ่งจำหน่ายหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว

นางเกตุวลี พิศาลบุตร คณะทำงานดำเนินงานร้านภูฟ้า กล่าวถึงที่มาของเสื้อดังกล่าวว่า ตอนที่ตราสัญลักษณ์ 80 พรรษาออกมา จะมีความหมายของตราสัญลักษณ์ว่า แถบแพรสีชมพู หมายถึงสีอายุตามโหราศาสตร์ทักษาพยากรณ์ ซึ่งตรงกับวันอังคารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คำว่า สีอายุก็เหมือนกับว่า ถวายพระพรให้ทรงมีพระชนมพรรษายั่งยืนนาน

ประชาชนหลายคนมารอซื้อเสื้อโปโลสีชมพู “รุ่นปีหนูใหญ่ ไทยรวมพลัง”

“จริงๆ คอลเลกชันเสื้อสีเหลืองเราก็ปักถวายพระพรว่า 80 พรรษา พระชนมายั่งยืน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานลายพระหัตถ์คำถวายพระพรนี้ และตอนนี้ก็ยังขายอยู่ ต่อมาทางภูฟ้าก็ผลิตเป็นเสื้อสีชมพูเมื่อประมาณเดือน ส.ค. จำนวน 1 หมื่นตัว ขายในราคา 350 บาท ซึ่งขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว” นางเกตุวลี กล่าว

วัตถุประสงค์ในการผลิตเสื้อสีชมพูก็เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ได้พระราชทานลายพระหัตถ์มาตั้งแต่ต้น ประกอบกับร้านภูฟ้าเองทุกปีจะทำคอลเลกชันปีนักษัตร ซึ่งปีนี้ทรงพระกรุณาพระราชทานวาดภาพฝีพระหัตถ์รูปหนู โดยใช้ชื่อคอลเลกชันว่า “ปีหนูใหญ่ ไทยรวมพลัง”

สำหรับเสื้อคอลเลกชันใหม่ปีชวดนี้ ภูฟ้าทำออกมาทั้งหมด 7 หมื่นตัวและวางจำหน่ายในราคา 350 บาททุกสาขา โดยสีชมพูจะผลิตมากเป็นพิเศษคือราว 1.6 หมื่นตัว ซึ่งหากมีกระแสตอบรับมาก ก็อาจจะเพิ่มจำนวนอีก 1-2 หมื่นตัว ทั้งนี้นางเกตุวลี กล่าวว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงย้ำเรื่องของคุณภาพของสินค้าที่ผลิตออกมา โดยจะต้องมีคุณภาพที่ดีและราคาเหมาะสมที่ประชาชนจะสามารถซื้อไปเป็นที่ระลึกได้

ภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ



เสื้อเหลือง-เสื้อชมพู กลายเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

หากย้อนกลับไปดูความนิยมของเสื้อเหลืองที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นปี 2549 ขณะนั้นเกิดกระแสความต้องการเสื้อเหลืองอย่างมหาศาล เพราะคนไทย ต้องการสวมใส่เพื่อแสดงความจกรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ในวันที่ 9 มิ.ย. 2549 และก็ใส่ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปี 2550 ที่จะมีการเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่มีพระชนมพรรษาครบรอบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค. ที่จะถึงนี้

กระแสเสื้อเหลืองฟีเวอร์ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าทำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้มีการโก่งราคาขายสูงกว่าปกติถึง 3-4 เท่าตัว จากปกติเสื้อคอปกที่มีตราสัญลักษณ์ทรงครองราชย์ 60 ปี ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 250 บาท ราคาได้เพิ่มสูงขึ้นไปถึง 400-800 บาท เลยทีเดียว

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ต้องออกมาสกัดการฉวยโอกาสเก็งกำไรเสื้อเหลืองหลายวิธี รวมทั้งการลงมาผลิตเสื้อเหลืองเอง เพื่อแทรกแซงตลาดไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสอาศัยความจงรักภักดีเป็นเครื่องมือเอาเปรียบประชาชน

ต้องยอมรับว่าเสื้อเหลืองนั้นได้กลายเป็นเสื้อที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไปแล้วเพราะสวมใส่ได้ทุกโอกาส เป็นที่ยอมรับว่าใส่แล้วสุภาพเรียบร้อย

ในครั้งนี้เมื่อกระแสเสื้อสีชมพูเกิดขึ้น กรมการค้าภายในได้ออกมาล้อมคอกก่อนที่ปัญหาเสื้อชมพูจะลุกลาม ซ้ำรอยปัญหาเสื้อเหลือง โดยให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจตลาดเสื้อผ้า เพื่อทราบถึงปริมาณความต้องการของประชาชน รวมทั้งสำรวจราคาว่าขณะนี้เสื้อสีชมพูจำหน่ายในท้องตลาดอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ เพื่อป้องปรามการขายเสื้อสีชมพูในราคาสูงเกินจริง

หากประเมินสถานการณ์ผู้ที่สวมใส่เสื้อเหลืองจากประชากรจำนวน 60 ล้านคน มีเสื้อเหลืองคนละ 1 ตัว เท่ากับว่ายอดความต้องการเสื้อเหลืองเท่ากับ 60 ล้านตัวเช่นกัน และเชื่อว่ายอดความต้องการคงไม่แตกต่างกันมากนักเท่าไหร่ เนื่องจากสีชมพูประชาชนรับรู้ว่าเป็นสีที่จะถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้มีพระพลานามัยสมบูรณ์ ประชาชนจะหาซื้อเสื้อชมพูมาสวมใส่ เสริมกับเสื้อเหลือง

ดังนั้นการเตรียมการรับมือกระแสเสื้อชมพูเป็นสิ่งที่รอบคอบไม่น้อย กรมการค้าภายใน จึงได้ประสานผู้ผลิตทำการผลิตเสื้อโปโลสีชมพู เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นล็อตแรกประมาณ 3 หมื่นตัว โดยจะจำหน่ายราคาใกล้กับเสื้อสีเหลือง

นายคมสรรค์ วิจิตรวิกรม ประธานศูนย์บริการส่งออกโบ๊เบ๊ ได้ประเมินว่า ความต้องการเสื้อชมพูที่มีเพิ่มขึ้นในระยะนี้ คงไม่เท่ากับความต้องการเสื้อเหลืองของประชาชนในขณะนั้น ที่มีความต้องการ 3-4 แสนตัว/เดือน ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาเสื้อชมพูขาดแคลนจนเกิดการปั่นราคาสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ประชาชนรัดเข็มขัด กระแสเสื้อชมพูจึงเป็นลักษณะที่ประชาชนจะจัดหามาใส่เสริมควบคู่กับเสื้อเหลืองเท่านั้น

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ "โพสต์ทูเดย์"



ไปข้างบน
แลกเปลี่ยนความรู้ - แสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่นี่
ความเห็นท้ายข่าว: 
โดยคุณ: 

เชื่อมต่อฐานข้อมูลไม่ได้